เมื่อถามว่าสิ่งใดต่อไปนี้ที่ปล่อยวางได้ง่ายที่สุดระหว่างทรัพย์สิน คนรัก และสังขารร่างกาย หลายคนตอบอย่างมั่นใจว่าปล่อยวางทรัพย์สินได้ง่ายที่สุด แต่ความเป็นจริงคือ หลายคนกลับปล่อยโอกาสเตรียมการด้านทรัพย์สินให้หลุดลอยไป และเสียชีวิตก่อนที่จะจัดการให้เรียบร้อย
พินัยกรรม (will) คือเครื่องมือทางกฎหมายสรรทรัพย์สินให้ผู้อยู่เบื้องหลัง เพื่อเตรียมตัวสู่การจากไปอย่างหมดห่วง
ผู้ที่มีชื่อในพินัยกรรมมีสิทธิ์ได้รับมรดกตามที่เอกสารได้ระบุไว้ แต่ถ้าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรม ทรัพย์สินจะตกไปยังทายาทตามหลักเกณฑ์และลำดับที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ระบุไว้
ทุกคนสามารถทำพินัยกรรมได้ ยกเว้น
- ผู้เยาว์อายุไม่ครบ 15 ปี บริบูรณ์
- บุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
- คนจริตวิกลในเวลาทำพินัยกรรม
พินัยกรรมทำได้ 2 แบบ คือแบบเขียนด้วยลายมือเองทั้งฉบับ และแบบที่ไม่ได้เขียนเอง แต่พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับจะเป็นที่นิยมกว่า เพราะง่ายต่อการพิสูจน์ว่า ขณะทำพินัยกรรมนั้น ผู้เขียนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์
วิธีเขียนมีดังนี้
1. ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเขียนข้อความในพินัยกรรมทั้งฉบับ ด้วยลายมือของตนเอง
2. ระบุชื่อผู้รับทรัพย์สินในพินัยกรรมให้ชัดเจน โดยผู้รับทรัพย์สินอาจเป็นญาติพี่น้อง หรือบุคคลใดก็ได้ ถ้าเป็นหน่วยงาน ต้องเป็นหน่วยงานที่เป็นนิติบุคคล
3. ลงวัน เดือน ปี ขณะทำพินัยกรรม
4. ผู้เขียนต้องลงลายมือชื่อ (ลายเซ็น) ไว้ในพินัยกรรมนั้น จะลงลายนิ้วมือไม่ได้
>> ข้อสังเกต <<
- พินัยกรรมแบบนี้ไม่ต้องมีพยานรู้เห็นการทำพินัยกรรมแต่อย่างใด
- หากมีการลงลายเซ็นพยานในพินัยกรรม พยานในพินัยกรรมจะไม่มีสิทธ์ิรับทรัพย์
- หากมีพินัยกรรมหลายฉบับ ให้ถือฉบับล่าสุดเป็นสำคัญ พินัยกรรมที่เขียนก่อนหน้านั้นถือเป็นโมฆะ
– – – – – – – – –
ที่มา: บทความ ดูแลร่างกายและจัดการทรัพย์สินอย่างไรให้หายห่วง โดย ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส