“… ตายเมื่อตาย ย่อมกลาย ไปเป็นผี ตายไม่ดี ได้เป็นที่ ผีตายโหง ตายทำไม เพียงให้ เขาใส่โลง ตายโอ่โถง นั้นคือตาย เสียก่อนตาย…”
วรรคหนึ่งในบทกลอนที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้แสดงคติธรรมไว้ให้ชาวพุทธได้ตระหนักถึงการตายก่อนตาย เพราะคนส่วนใหญ่มองว่าความตายเป็นเรื่องของอนาคต หากแต่ความจริงแล้ว ความตายเกิดขึ้นทุกช่วงขณะ คำถามคือในช่วงเวลาสุดท้ายซึ่งเราจะต้องพบอย่างแน่นอน เราจะจัดการอย่างไรในวันนั้น เพื่อให้การจากไปมีคุณภาพและงดงาม
ศาสตราจารย์ แสวง บุญเฉลิมวิภาส คณะนิติศาสตร์ และที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ชีวิตของคนยุคนี้วิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้า แต่คนมองเรื่องความตายแบบถอยหลัง มองว่าความตายเป็นเรื่องน่ากลัว แทนที่จะได้รับความรู้ในการวางแผน กลับเสียโอกาสเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย ” ศาสตราจารย์ แสวง บุญเฉลิมวิภาส แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
ความตายแม้เป็นเรื่องไม่แน่นอน แต่เราสามารถออกแบบวางแผนได้ระดับหนึ่ง ด้วยการทำ Living Will หรือหนังสือแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิต การเขียนแสดงความต้องการในเอกสารนี้จะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างญาติผู้ป่วย และทีมสุขภาพ รวมถึงสามารถบอกความต้องการอื่น ๆ เมื่อถึงวาระสุดท้าย
ปัจจุบัน Living will มีกฎหมายรองรับ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ที่เขียนว่า
บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงการยืดการตายในวาระสุดท้ายของตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การกำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฎิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดชอบทั้งปวง
พว.อมรพันธุ์ ธานีรัตน์ พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เสริมว่า บางคนอาจสงสัยว่า ทำไมเราต้องมาเขียน Living Will บอกกันด้วย
เหตุที่เราต้องเขียน เพราะเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิต ไม่มีสติสัมปชัญญะแล้ว อำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลจะไปอยู่ในที่ญาติและผู้ให้บริการสาธารณสุข ซึ่งบ่อยครั้งที่การตัดสินใจของทั้งสองฝ่ายนี้ไม่ตรงกัน จนเกิดเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและทีมสุขภาพ นอกจากนี้ สิ่งที่ทำลงไปอาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการ
ดังกรณีตัวอย่างที่ คุณอมรพันธุ์เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์จริงที่มีผู้ป่วยมะเร็งได้แสดงความจำนงไว้ว่าเธอจะไม่ขอใส่เครื่องช่วยหายใจ เพราะเธอคิดว่าหากต้องตาย ขออย่าต้องทรมานจากการใส่เครื่องมือแพทย์ และขอรับการการดูแลแบบประคับประคอง เธอได้บอกกับพ่อแม่ของเธอไว้ แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น
ในช่วงที่เธออาการโคม่าที่บ้าน ญาติได้พาเธอไปโรงพยาบาล ทีมแพทย์ฉุกเฉินก็ใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อรักษาชีวิตของเธอไว้ตามปกติ และเมื่อถึงวาระสุดท้ายเธอได้ขอให้แพทย์ พ่อแม่ และญาติพี่น้อง ให้ช่วยถอดท่อช่วยหายใจอีกครั้งและจากไปอย่างสงบ ดังนั้น การเขียน Living Will หรือแจ้งความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรจะช่วยให้มีหลักฐานเพื่อสื่อสารกับแพทย์ได้อย่างมั่นใจขึ้น ทั้งนี้ การเขียนเอกสารมิใช่การขอเร่งให้ตายเร็วขึ้น แต่เป็นการขอตายอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ มิใช่การอยู่เพราะการยืดชีวิตจากเครื่องมือแพทย์
Palliative Care คืออะไร
นพ.ธารินทร์ เพ็ญวรรณ อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้กล่าวถึงความหมายของคำนี้ไว้ว่า
“Palliative Care คือ การดูแลผู้ป่วยและญาติแบบเชิงรุก องค์รวม ในกลุ่มโรคที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่เน้นให้หายขาด โดยเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยมีความสุขสบาย ไม่ทุกข์ทรมานจากตัวโรคและอาการต่างๆ”
กลุ่มโรคที่ต้องการการดูแลแบบ Palliative Care ได้แก่ โรคมะเร็ง อัมพาต/สมองขาดเลือด ผู้ป่วยไตวาย โรคหัวใจวายและปอดอุดกั้นระยะท้าย ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุติดเตียง ผู้ป่วย HIV/AIDS ผู้ป่วยเด็กระยะท้าย และผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม
การเข้ารับการดูแลแบบประคับประคองทำได้เมื่อไหร่?
“เมื่อไหร่ที่หมอถามว่า คุณจะประหลาดใจหรือไม่ถ้าผู้ป่วยจะเสียชีวิตในไม่กี่เดือน/ สัปดาห์/วัน ข้างหน้า เมื่อนั้นที่คนไข้ต้องการรับการดูแลแบบประคับประคอง” นพ.ธารินทร์กล่าว
การดูแลแบบนี้สิ่งที่แพทย์สามารถทำให้กับคนไข้ได้คือ 1. บรรเทาอาการ 2. รบรรเทาอาการปวด 3. ดูแลจิตใจของผู้ป่วย 4. การดูแลจิตใจของญาติ
– – – – – – – – – – –
จาก Workshop การอบรม “ อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข ” 31 มีนาคม 2561 ณ โรงแรมตะมาลี จ.นครศรีธรรมราช
จัดโดย ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ