Knowledge cover image
10 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. คู่มือชีวามิตร: อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข

คู่มือชีวามิตร: อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข

เรียนรู้เพื่อ “อยู่ดี - ตายดี”


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

หนังสือความรู้เรื่องการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อคุณภาพชีวิตระยะท้ายและการตายดี “คู่มือชีวามิตร : อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข” เป็นหนังสือที่ชีวามิตรจัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยรวบรวมความรู้เรื่องการดูแลแบบประคับประคอง และแนวทางของการดูแลคุณภาพชีวิตให้ “อยู่ดี - ตายดี” ครบถ้วนทั้ง 5 มิติ ได้แก่ มิติการแพทย์ มิติจิตใจ มิติสื่อสาร/สังคม มิติกฎหมาย และมิติเศรษฐกิจ ผ่านข้อมูลและคำแนะนำจากที่ปรึกษาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ


หนังสือเล่มนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างมากไม่เพียงกับผู้ป่วย หรือผู้ดูแลเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์สำหรับคนทั่วไป หากต้องการเรียนรู้เพื่อวางแผนชีวิตของตนเอง เนื้อหาภายในเล่มอัดแน่นด้วยความรู้ที่ถูกย่อยให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย ถ่ายทอดผ่านภาพประกอบสวยงาม ไล่ลำดับเนื้อหาให้ทำความเข้าใจได้ง่าย 


บทที่ 1 ทางเลือกที่เลือกได้ 

ทำความเข้าใจกับความแตกต่างของ การรักษาเพื่อให้หายจากโรค (Curative Care) กับทางเลือกในการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ที่มุ่งเน้นคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยมีความสุขสบายมากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ซึ่งทั้งสองแนวทางนี้สามารถดำเนินควบคู่กันไปได้ตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่า เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด โดยผ่านการวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้า (Advance Care Planning) 

 

บทที่ 2 ร่างกายกำลังบอกลา: สรีรวิทยาภาวะใกล้เสียชีวิต

เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของมนุษย์เมื่อเดินทางมาถึงระยะท้ายของชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และถูกกำหนดโดยธรรมชาติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การทำความเข้าใจกับสรีรวิทยาที่เปลี่ยนไปเมื่อเข้าสู่ระยะใกล้เสียชีวิต จะทำให้ผู้ดูแลสามารถให้การดูแลที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้ 



บทที่ 3 ข่าวร้ายที่กลายเป็นดี

การบอกข้อมูลเรื่องการเจ็บป่วยระยะท้าย คนส่วนใหญ่มองว่าเป็น "ข่าวร้าย” และลำบากใจเมื่อต้องบอกกับผู้ป่วย แต่ถ้าลองในอีกมุมหนึ่งจะเข้าใจมากขึ้นว่า นี่ไม่ใช่ข่าวร้าย แต่เป็น “ความจริง” ที่ผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิได้รับรู้เกี่ยวกับความเจ็บป่วยของตนเอง มาเรียนรู้วิธีการแจ้งข่าวที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจของผู้ป่วยจากบทเรียนนี้กัน


บทที่ 4 จัดกระเป๋าครั้งสุดท้าย

แนะนำแนวทางการวางแผนการเงินเบื้องต้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้ชีวิตหลังเกษียณอายุ ไปจนถึงระยะสุดท้ายของชีวิตให้ราบรื่น เริ่มจากทำรายการทรัพย์สิน/หนี้สิน คาดการณ์ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณและวางแผนการลงทุน วางแผนการส่งต่อทรัพย์สินให้ทายาท รวมถึงต้องสื่อสารให้ลูกหลานได้รับรู้เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกัน ซึ่งเป็น "การจัดกระเป๋าครั้งสุดท้าย" ที่สำคัญต่อตัวเอง และสำคัญต่อบุคคลที่อยู่ข้างหลังเมื่อเราจากไป


บทที่ 5 ความปรารถนาที่แท้จริง

คนที่มีความต้องการอย่างชัดเจนว่า ถ้าการเจ็บป่วยดำเนินมาถึงจุดที่รักษาไม่หาย ไม่ต้องการให้ยื้อชีวิตในวาระสุดท้าย ควรวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้า (Advance care planning) โดยปรึกษากับทีมสุขภาพ และสื่อสารให้ครอบครัวเข้าใจตรงกัน จากนั้นทำ Living Will ไว้เป็นเอกสารช่วยสื่อสารความต้องการในวาระสุดท้ายที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยตนเองได้แล้ว เพื่อเป็นตัวช่วยตัดสินใจให้ได้รับการดูแลรักษาที่ตรงตามความปรารถนาของเจ้าของชีวิต

 

บทที่ 6 ผู้พิทักษ์-ผู้อนุบาลผู้ป่วย

“ผู้พิทักษ์" และ "ผู้อนุบาล” แตกต่างกันอย่างไร รวมถึงวิธีการขั้นตอนต่าง ๆ ที่สำคัญในการดำเนินการแต่งตั้งผู้ดูแลทั้งสองแบบ  เพื่อให้ผู้ดำเนินการแทนตามกฎหมายเมื่อเจ็บป่วยระยะท้ายมีสิทธิ์รับผิดชอบ ตัดสินใจ และทำธุรกรรมต่าง ๆ แทน ช่วยลดข้อขัดแย้งในครอบครัว ป้องกันการถูกเอาเปรียบจากคนที่ไม่หวังดี และช่วยลดความกังวลที่อาจเป็นเรื่องค้างคาใจจนจากไปอย่างไม่สงบ

 

บทที่ 7 แค่เพียงพอก็พอแล้ว 

การรักษาแบบไหนที่จำเป็น แค่ไหนจึงจะเพียงพอและเหมาะสมกับอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นสำหรับผู้ป่วยระยะท้าย หาคำตอบได้จากบทนี้ เพราะกระบวนการรักษาต่าง ๆ ที่เรารู้จัก อย่างการรักษาในไอซียู ฟอกไต ปั๊มหัวใจ ใช้ยากระตุ้นหัวใจ หรือกระตุ้นความดันเลือด ใส่ท่อหายใจทางปาก หรือเจาะคอ อาจไม่มีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยระยะท้าย และบางครั้งกลับยิ่งเพิ่มความทุกข์ทรมานมากขึ้นให้กับผู้ป่วย

 

บทที่ 8 ดูแลแผลกดทับ

การเรียนรู้และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของผู้ป่วยระยะท้าย ป้องกันการเกิดแผลกดทับ และการดูแลรักษาเมื่อเกิดแผลกดทับจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อให้เข้าใจวิธีป้องกัน และการดูแลเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานจากปัญหาเหล่านี้ ทำให้แผลกดทับก็จะไม่กลายมาเป็นปัญหากดดันให้ทุกคนที่กำลังเผชิญกับการจากลา ต้องเจ็บปวดหัวใจ เพิ่มมากขึ้นอีก

 

บทที่ 9 จัดการความเจ็บปวดอย่างเข้าใจ

ผู้ป่วยระยะท้ายจำนวนมากที่ลูกหลานอยากให้ยื้อชีวิตไว้ ทำให้สมองยังคงรับรู้ความเจ็บปวด และความรู้สึกเจ็บปวดก็จะพุ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความทุกข์ทรมานอย่างถึงที่สุด มาทำความเข้าใจกับธรรมชาติของความเจ็บปวด เพื่อให้เราสามารถเตรียมรับมือกับความเจ็บปวดในผู้ป่วยระยะท้ายอย่างเหมาะสม ตามความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วย และทำให้ช่วงเวลาสุดท้ายในชีวิตของคนที่เรารัก เป็นการจากลาอย่างสุข สงบ และสบายมากที่สุด

 

บทที่ 10 เยี่ยมไข้ให้รู้สึกดี

การเยี่ยมไข้ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะทางใจของผู้ป่วยเช่นเดียวกัน นี่จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ควรใส่ใจ ทั้งการเตรียมตัวอย่างเหมาะสม คำพูดที่ควรใช้ เพื่อให้การไปเยี่ยมไข้นั้นเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุน และประคับประคองจิตใจของผู้ป่วยให้เกิดความรู้สึกสุขสงบ สบายใจ ตราบจนลมหายใจสุดท้าย

 

บทที่ 11 ใจที่อยู่เหนือกาย

การประคับประคองจิตใจของผู้ป่วยระยะท้าย และผู้ดูแลผู้ป่วย ให้มีความสงบสุข พร้อมยอมรับความเป็นไปตามธรรมชาติ สามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง และจากไปด้วยดี เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย มาทำความเข้าใจกับองค์ประกอบในการดูแลจิตใจด้วยการลดอารมณ์ด้านลบ ส่งเสริมอารมณ์ด้านบวก และช่วยประคับประคองจิตในให้ผ่องแผ้ว

 

บทที่ 12 จากอย่างหมดห่วง

เรียนรู้ และทำความเข้าใจกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ที่ต้องประคับประคองจิตใจ ช่วยจัดการความเครียด จัดการความวิตกกังวล และดูแลด้านจิตวิญญาณ เพราะองค์ประกอบเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ดูแลจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจากไปอย่างสงบ และไม่มีห่วง



ชมคลิป คู่มือชีวามิตร: อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข ทั้ง 12 ตอนได้ที่ https://youtube.com/playlist?list=PLJX8sviz2fOPtOVb_AeU00dm7K8NiZvlF

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรชีวามิตรเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดี และจากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads