- คลังความรู้
- Peaceful Death เรียนรู้ความตายให้เข้าใจชีวิต
Peaceful Death เรียนรู้ความตายให้เข้าใจชีวิต
Peaceful Death องค์กรสำคัญที่สร้างความตระหนักรู้ให้คนไทยเห็นความสำคัญเรื่องการวางแผนชีวิตระยะท้าย และเตรียมพร้อมเรื่องการตายดีได้อย่างยั่งยืน
เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร
“ความตายพูดได้” “สมุดเบาใจ” “ชุมชนกรุณา”
โครงการสร้างสรรค์เหล่านี้เกิดขึ้นโดย Peaceful Death อีกหนึ่งองค์กรสำคัญที่สร้างความตระหนักรู้เรื่อง “การตายดี” ให้กับสังคมไทยมายาวนานกว่าสิบปี พี่สุ้ย - วรรณา จารุสมบูรณ์ ผู้มีบทบาทขับเคลื่อนงานของ Peaceful Death เล่าว่า
“แรงบันดาลใจที่มาทำงานด้านนี้เกิดจากการดูแลคุณพ่อที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง แล้วเกิดคำถามว่า จะดูแลท่านให้ไม่ต้องทรมาน สามารถมีชีวิตช่วงระยะท้ายอย่างที่ท่านปรารถนาได้อย่างไร จนเมื่อคุณพ่อจากไปแล้ว จึงได้ศึกษาเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ได้อ่านหนังสือของพระอาจารย์ไพศาลที่แปลจาก The Tibetan Book of Living and Dying และเรียนรู้ว่าการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือใกล้ตาย ให้ไปสู่หนทางของการตายดีนั้นสามารถทำได้ นี่เป็นจุดเริ่มต้นให้เข้ามาทำงานในโครงการต่าง ๆ ของเครือข่ายพุทธิกา เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เรื่อยมาจนกระทั่งในปี 2561 ก็ได้รับการสนับสนุนให้ออกมาทำงานเป็นกลุ่มอิสระในนาม Peaceful Death”
โครงการสำคัญของ Peaceful Death นั้นมีจุดเริ่มต้นจาก “ความตายพูดได้” ซึ่งต่อยอดจากงานของเครือข่ายพุทธิกา โดยเน้นรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้สังคมเห็นความสำคัญของการเตรียมตัวตาย และการวางแผนชีวิตระยะท้าย มีแนวคิดหลักว่า ถ้าสื่อสารพูดคุยเรื่องความตายในครอบครัว ในสังคมจนเป็นเรื่องปกติ และยอมรับว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ก็จะทำให้เกิดการวางแผนคุณภาพชีวิตระยะท้าย (Advance Care Planning) รวมถึงการเขียนพินัยกรรมชีวิต (Advance Directive หรือ Living Will) ตามมาในที่สุด
จากโครงการแรก Peaceful Death ต่อยอดไปสู่การรณรงค์ให้ทำ “สมุดเบาใจ” เครื่องมือในการถ่ายทอดเรื่องความตายที่พูดคุยกันออกมาเป็นรูปธรรม สมุดเบาใจไม่เพียงเป็นตัวช่วยให้ทุกคนรู้ว่าจะคุยเรื่องความตายในหัวข้ออะไร ยังใช้สื่อสารเพื่อบอกความต้องการ หรือเจตนาในการดูแลสุขภาพช่วงสุดท้ายของชีวิตไว้ล่วงหน้า และยังส่งผลให้กลับมาทบทวนการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ทบทวนความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ใครคือคนสำคัญ และอะไรคือคุณค่าหรือเป้าหมายในการดำเนินชีวิต ในอีกมุมหนึ่ง สมุดเบาใจยังเป็นเครื่องมือที่สื่อแสดงถึงความรักต่อลูกหลานที่จะมาดูแลในช่วงสุดท้ายของชีวิต เมื่อพวกเขาทำทุกอย่างตามที่เจ้าของชีวิตปรารถนา การจากลาก็จะไม่ทำให้คนที่อยู่ต่อไปรู้สึกผิด เพราะได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้วนั่นเอง
อีกโครงการสำคัญ คือ “ชุมชนกรุณา” เกิดจากการทำงานอย่างต่อเนื่องมาระยะหนึ่ง จนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมว่า ในครอบครัวที่มีคนกำลังจะตายมักเข้าไม่ถึงองค์ความรู้และเครือข่ายที่สนับสนุนช่วยเหลือ ยิ่งในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว หลายครอบครัวต้องเผชิญกับช่วงชีวิตระยะท้ายอย่างโดดเดี่ยว ชุมชนกรุณาจึงเป็นพื้นที่ของการช่วยเหลือเกื้อกูลและดูแลกัน ทั้งเพื่อนบ้าน จิตอาสา ตลอดจนเครือข่ายการดูแลแบบประคับประคอง ที่เชื่อมโยงประสานจนเกิดเป็น Eco System ที่เอื้อให้การตายดีเกิดขึ้นได้จริง ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมให้คนอยู่ดีและตายดี ไม่ให้คนป่วยถูกทิ้งไว้เพียงลำพัง และช่วยเหลือกันจนกระทั่งจากโลกนี้ไป
และเพราะกระบวนกรชุมชนเป็นฟันเฟืองสำคัญของชุมชนกรุณา Peaceful Death จึงออกแบบหลักสูตรในการสร้างกระบวนกรที่เข้าใจผู้ป่วย เข้าใจชุมชน และเข้าใจระบบสุขภาพ จนสามารถทำงานเชื่อมโยงคนในชุมชนให้เข้าถึงความรู้ เข้าถึงเครือข่ายการดูแลแบบประคับประคอง และมีความสัมพันธ์ที่ดี นำไปสู่ระยะสุดท้ายที่ดี โดย Peaceful Death คอยสนับสนุนให้เกิดชุมชนกรุณาขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
นอกจาก 3 โครงการหลักนี้แล้ว การสื่อสาร เผยแพร่ข้อมูลความรู้ บทความดี ๆ การจัดอบรม จัดเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ก็เป็นงานที่เราได้เห็น Peaceful Death ทำมาตลอด จนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องคุณภาพชีวิตระยะท้ายและการตายดีในสังคมได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ
ไม่เพียงเท่านี้ Peaceful Death และ ชีวามิตร ยังร่วมกันพัฒนาแบบฟอร์มออนไลน์ หนังสือแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิต (Advance Directives) หรือ Living Will เพื่อให้คนไทยเข้าถึงการทำ Living Will ได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น
เพราะเราเชื่อว่า นี่เป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่อง ส่งเสริมสนับสนุนกัน สังคมไทยจึงจะเกิดความตระหนักรู้ เห็นความสำคัญเรื่องการวางแผนชีวิตระยะท้าย และเตรียมพร้อมเรื่องการตายดีได้อย่างยั่งยืน
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Peaceful Death