Knowledge cover image
31 มีนาคม 2568
  1. คลังความรู้
  2. ใจดีกับตัวเอง

ใจดีกับตัวเอง

อุทุมพร ยาวิชัย : หญิงสาวผู้เกือบสูญสิ้นความทรงจำ


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

“ชื่อโบ๊ทนะคะ อุทุมพร ยาวิชัย 

ตอนนี้ทํางานอยู่มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นผู้ช่วยเก็บข้อมูลเรื่องสมุนไพรและเรื่องภูมิปัญญาพื้นบ้าน ก่อนมาทํางานนี้ทําโปรดักชั่นมาก่อน เป็นเจ้าหน้าที่ข้อมูลในบริษัททีวีบูรพาและประสานงานกองถ่ายค่ะ”


ย้อนไปราว 3 - 4 ปีที่แล้ว หากเราถามหญิงสาวร่างเล็กคนนี้ว่าเธอเป็นใคร คำตอบที่ได้จะต่างไปอย่างสิ้นเชิง เพราะวันนั้นเธอจำตัวเองไม่ได้เลย  

ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากหลังจากมีไข้เพียงไม่กี่วัน แล้วเธอก็ค่อย ๆ ลืม ค่อย ๆ ลืม เหมือนสวิตช์ความทรงจำค่อย ๆ ดับลงทีละจุด ทีละจุด


บทสนทนาครั้งนี้โบ๊ทเล่าถึงชีวิตที่อยู่กับความเจ็บป่วยด้วยโรค “เม็ดเลือดขาวทำลายสมอง” และการฟื้นตัวโดยมี “เพื่อน” อยู่ในทุกช่วงของการรักษา และเล่าให้เธอฟังถึงชีวิตของเธอเองในช่วงที่สูญเสียความทรงจำ เพื่อนเป็นเบื้องหลังสำคัญที่ทำให้เธอกลับมาเป็นเธอในวันนี้ ซึ่งโบ๊ทบอกว่าการกลับมาจำอะไรต่าง ๆ ได้ ใช้ชีวิตได้ปกติในเวอร์ชั่น “นิวโบ๊ท” นี้ต่างไปจากเดิมมาก เพราะได้ค้นพบว่าอะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับชีวิต คำพูดบางคำพูดของเธอฟังจับใจ เธอว่า 


“ชีวิตเหมือนกล่องใบหนึ่งที่ว่างเปล่า” เมื่อเราไม่เหลือความทรงจำใด ๆ  



เมื่อไม่เหลือความทรงจำ แต่ “เพื่อน” จับสังเกตได้ก่อนใคร

โบ๊ทเล่าย้อนว่า ก่อนป่วยเธอเป็นคนจริงจังและค่อนข้างกดดันตัวเองเรื่องการใช้ชีวิตและการงาน เพราะคิดเสมอว่าไม่ได้จบสายตรงทางด้านสื่อสารมวลชนมาจึงต้องทำงานให้หนักเพื่อพิสูจน์ตัวเองให้ได้ นี่อาจเป็นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายรับความตึงเครียดลึก ๆ นั้นไม่ไหวจนอาการเจ็บป่วยแสดงออกมา 

“เริ่มจากเป็นไข้อ่อน ๆ ก่อนแล้วก็เริ่มจําตัวเองไม่ได้ จำไม่ได้ถึงขนาดที่ว่าต้องขออนุญาตแฟนไปเข้าห้องน้ำ แล้วก็เริ่มคุยแบบวนไปวนมา เริ่มเห็นตัวนั้นตัวนี้อยู่ในห้อง เห็นคนมาจ้องมองอยู่บนแอร์ อันนี้คือที่คุยกับเพื่อนและเพื่อนเล่าให้ฟังนะคะ เริ่มอ่อนแอ ไม่ค่อยกินข้าว ไม่หลับไม่นอน ไม่มีแรง เพื่อนบอกว่าโบ๊ทตอนนั้นคือจําได้แบบระยะสั้น ๆ แล้วก็จะวนมาถามเรื่องเดิมเพราะว่าจําไม่ได้ว่าถามไปแล้ว” 


ชีวิตในช่วงนั้น แทบทุกวันโบ๊ทจะคุยโทรศัพท์กับเพื่อนคนหนึ่ง และเพื่อนคนนี้เองก็เริ่มสังเกตว่าเธอไม่เหมือนเดิม 


“โบ๊ทมีเพื่อนคนหนึ่งที่ทํางานอยู่เมืองจีนแต่โทรไลน์คุยกันตลอด ช่วงที่เขามาเมืองไทยก็เริ่มจับสัญญาณได้ว่าคุยแล้วเหมือนไม่ใช่เพื่อนตัวเอง เลยให้เพื่อนอีกสองคนที่อยู่กรุงเทพฯ ขับรถมาดูและคิดว่าต้องพาไปหาหมอแล้ว เขาคิดว่าโบ๊ทน่าจะเป็นซึมเศร้า เพราะว่าออกจากงานน่าจะเครียด หมอคนแรกที่ไปพบคือจิตแพทย์ แต่หมอก็บอกว่าที่ไม่ได้เป็นอาการทางจิตเพราะว่ามันเป็นเฉียบพลัน จึงให้ไปหาหมอระบบประสาท ตรวจอีกหลายครั้งกว่าจะเจอเพราะว่าทีซีสแกนก็ไม่เจออะไร จากนั้นเริ่มจําไม่ได้มากขึ้น มากขึ้น มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็ไม่หลับไม่นอน เริ่มลุกเดิน เดินไปเรื่อย ๆ อยากไปไหนก็ไป ต้องล็อคห้องไว้หรือมัดไว้เพราะว่าไม่อยู่กับที่ เพื่อน ๆ และแฟนกลัวว่าเราจะออกไปนั่นไปนี่แล้วหาไม่เจอ บางทีบอกว่าไปเข้าห้องน้ำ เสร็จแล้วก็ไม่ยอมกลับเข้าห้องนอนแต่เดินไปเรื่อย ๆ”


ช่วงที่อาการหนักขึ้นเพื่อนพาเธอกลับเชียงรายซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ ไปรักษาตัวอยู่กับครอบครัว เมื่อพบสาเหตุของโรค โบ๊ทก็กลับเข้ามากรุงเทพฯ อีกครั้งเพื่อใช้สิทธิ์ในการรักษาพยาบาล ช่วงนั้นเพื่อนหลาย ๆ คนช่วยดูแลประคับประคองให้เธอค่อย ๆ ฟื้นตัว 


“ที่โบ๊ทดีขึ้นน่าจะเพราะสองส่วน คือกินยาด้วย แล้วก็ฝึกฟื้นความจำด้วย ทำทุกทางเลย ความจํามันก็เริ่มปะติดปะต่อ คือช่วงที่โบ๊ทป่วย มือถือก็เล่นไม่ได้คือใช้อะไรไม่ได้ ไม่รู้จัก จำไม่ได้ ใช้มือถือไม่เป็น ใช้คอมพิวเตอร์ไม่ได้ ก็ค่อย ๆ กลับมาเรียนรู้ แต่พอมันเริ่มกลับมาก็เหมือนค่อย ๆ ต่อติดเอง


หมอบอกว่าช่วงแรกที่มาหาหมอ ไม่พูดไม่ตอบโต้เลย ถามอะไรก็ไม่พูด แล้วก็ต้องฝึกพูดใหม่ ฝึกอ่านใหม่ ฝึกบวกเลขใหม่ แม้กระทั่งฝึกกล้ามเนื้อมือ หัดขีดเส้น วาดสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม แล้วก็ฝึกจําเป็นคํา ๆ ต้นไม้ บ้าน ดอกไม้ ถอยหน้า ถอยหลัง อะไรอย่างนี้ค่ะ พูดกลับไปกลับมา แล้วหมอก็จะบันทึกไว้ว่าพัฒนาการเป็นอย่างไร


หมอบอกว่าโรคนี้ยังมีคนเป็นน้อยอยู่ แล้วด้วยความที่มีคนเป็นน้อย หมอจึงตอบไม่ได้ว่ารักษาแล้วมันจะหายไหม เพราะว่าบางทีก็เจอคนไข้ที่ล้มเหลวในการรักษามากกว่าคนไข้ที่หาย แต่บังเอิญว่ายามันอาจจะถูกกับโรค แล้วโบ๊ทก็ไปหาคลินิกคู่ขนานด้วย ซึ่งช่วงที่ยังไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไรหมอก็ให้ยาตามอาการ ให้ยานอนหลับ ให้ยาฆ่าเชื้อไปก่อน ไม่รู้ว่าเชื้ออะไรก็ฆ่าไปก่อน พอเริ่มรู้ก็มียาสเตรีย์รอยด์และอื่น ๆ ตามมา” 



มี “เพื่อน” เป็นเพื่อนชีวิต  


“โบ๊ทรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากเลยที่เรามีเพื่อนที่เป็นเหมือนครอบครัวของเรา และคนรักของโบ๊ทก็ดีมาก ๆ แม้ว่าวันนี้เราจะไม่ได้ร่วมทางกันแล้วแต่ที่ผ่านมาคือเขาดูแลเราดีมาก เพื่อนและแฟนในวันนั้นเป็นเหมือนยาตัวหนึ่งที่ทำให้โบ๊ทกลับมาได้”  


เธอบอกว่าเพื่อน ๆ จะเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตช่วงนั้นให้ฟัง บางเรื่องก็นึกไม่ถึงว่าถ้าไม่ป่วยเธอจะมีบุคลิกอย่างน้ันจริง ๆ หรือ 


“โบ๊ทจําไม่ได้เลย แต่ว่าก็มีภาพเก่า ๆ ที่เพื่อนเก็บไว้บ้างและเพื่อนก็เล่าให้ฟังด้วย ตอนนั้นผอมมากแต่เพื่อนบอกว่าบางทีก็ดูสนุกมากนะคะ เพื่อนพาไปเต้นแอโรบิคในโรงพยาบาลจนโดนหมอดุ เพราะว่าหมอให้ยานอนหลับเนื่องจากเราไม่ค่อยนอน หมอกลัวว่าเราจะไปเป็นอะไร ตอนนั้นคือช่วงอยู่เชียงรายค่ะ” 


หรืออย่างตอนที่เธอถูกบล็อกหลังเพื่อทำการตรวจรักษา เธอบอกว่าไม่รู้เลยว่าเจ็บหรือไม่เจ็บ 


“ไม่มีโอกาสได้รู้สึกว่าบล็อกหลังมันเจ็บหรือไม่เจ็บเพราะจำไม่ได้ หรือเข้าห้องน้ำเพื่อนก็ต้องไปเฝ้าเพราะบางทีเข้าไปแล้วก็ทําอะไรเองไม่ได้ และเพื่อนก็บอกอีกด้วยว่าหลาย ๆ คนทำอะไรให้เราบ้าง เช่น พี่บางคนขับรถตระเวนล้างพระธาตุเพื่ออธิษฐานจิตให้ บางคนไปทําบุญให้ ความช่วยเหลือมาแบบทั่วทุกทิศทาง 


ตอนที่จำอะไรไม่ได้ เพื่อนบอกว่าโบ๊ทมีความฉลาดมากแม้ว่าจะไม่ว่าไม่รู้เรื่องแล้ว อย่างตอนโดนหมอผูกแขนไว้ก็ร้องให้คนช่วย…ช่วยด้วย ช่วยด้วย หรืออย่างตอนเพื่อนสั่งให้ไรเดอร์เอาอาหารมาส่ง ไม่รู้ว่าจะให้มาส่งตรงไหน โบ๊ทก็เดินไปหยิบซองจดหมายแล้วก็บอกว่าที่อยู่อยู่ตรงนี้” 


ถามโบ๊ทว่าในความคิดของเธอนั้นมีอะไรเป็นเพื่อนชีวิต คำตอบแรกที่โบ๊ทพูดขึ้นคือ ความรู้สึกตัว คำตอบนี้สะท้อนถึงภาวะของผู้ที่เผชิญการสูญเสียความทรงจำแล้วได้ฟื้นคืนกลับมาอย่างชัดเจน เราจึงถามต่อว่ายังมีอีกไหม เพื่อนชีวิตที่สำคัญสำหรับการมีชีวิตอยู่ในวันนี้ คำตอบคือ “เพื่อน” 


“เพื่อนและเรื่องความสัมพันธ์ค่ะ เพราะว่ามีส่วนสําคัญในการใช้ชีวิต เพื่อนที่ว่าเป็นเพื่อนมัธยมคนหนึ่ง มัธยมปลายคนหนึ่ง เพื่อนมหาวิทยาลัยสองคน เพื่อนที่ทำงานทีวีบูรพาคนหนึ่ง แล้วที่เหลือก็มาจากรอบทิศเลยค่ะ เจ้านายก็มา เพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่เคยไปถ่ายทำก็โทรหา ระดมทุนผ่านหัวหน้าเรา หัวหน้าเก่าก็มาด้วย” 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เธอพูดคำ ๆ หนึ่งออกมา ซึ่งหากเป็นโบ๊ทในวันก่อนป่วยเราจะไม่ได้ยินสิ่งนี้เลย


“เพื่อน ๆ ทำให้พบว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของทุกคน แต่เราชอบคิดว่าเราไม่เป็นส่วนหนึ่งของใคร ชอบคิดว่าเราเก่งไม่พอ ดีไม่พอ แต่จริง ๆ คือเขารักเรา แต่เราแค่…อาจจะรักตัวเองไม่มากพอ” 


“เราเคยคิดว่าเป็นภาระของใคร ๆ แต่เขาอาจไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นภาระ พอเราหายแล้ว เริ่มถามอะไรต่าง ๆ เมื่อเพื่อน ๆ เล่าให้ฟังก็รู้สึกว่าแต่ละคนเสียสละเพื่อเราเยอะมาก อย่างมาอยู่บ้านเพื่อนที่ปราจีนบุรีเพื่อฟื้นฟูตัวเอง เราก็อยู่กับครอบครัวเพื่อน แล้วพ่อเพื่อนปกติต้องฟังวิทยุทุกเช้า แต่อารมณ์เราเริ่มฉุนเฉียวเดินไปบอกว่าให้ปิดวิทยุ พ่อก็ต้องปิด ไม่ได้ฟัง และกิจวัตรเขาก็ต้องเปลี่ยน แม่เพื่อนที่ต้องดูแลพ่อก็ต้องมาดูแลเราด้วย แม้แต่แมวเพื่อนยังไม่ได้ใช้ชีวิตแบบปกติเลย (หัวเราะ) คือโบ๊ทไปจับแมวมาและสวดมนต์ใส่แมว ไม่รู้ทำไม แต่ทำตลอด ทุกวันนี้แมวยังเกลียดโบ๊ทอยู่เลย เดินเข้าบ้านนี่คือถ้าได้ยินเสียงโบ๊ทมันวิ่งหนีเลย 


เพื่อนทำงานอยู่กรุงเทพฯ พอโบ๊ทกลับจากเชียงรายมารักษาตัวที่กรุงเทพฯ เพื่อนก็ให้ไปพักฟื้นบ้านที่ปราจีนฯ ทุกคนเวียนกันมาดูแล มันอาจจะเป็นภาระที่เขาเต็มใจทําให้ ถ้าโบ๊ทเลือกได้ก็คงเลือกที่จะไม่ป่วยดีกว่า ไม่เจ็บดีกว่า เพราะว่าทุกคนต้องทํางานแล้วก็ต้องมาดูแลเราอีก แฟนโบ๊ทก็เสียสละเยอะถึงแม้ว่าตอนนี้จะแยกทางกันแล้ว แต่ช่วงที่โบ๊ทป่วยเขาดูแลเต็มที่ ดูแลทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าจะมีความหวังว่าหายมั้ย เพราะกว่าจะหาโรคเจอก็ใช้เวลาพอสมควร”


“ในวัย 30 กว่าไม่มีใครคิดว่าโบ๊ทจะป่วยอย่างนั้น และไม่มีใครเชื่อว่าจะกลับมาได้ด้วยซ้ำ”



กายกับใจไม่ตรงกัน


“กายใช้ชีวิตปกติได้ คือร่างกายไม่เป็นอะไรมากแต่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เพราะเราไม่มีใจที่รับรู้ความรู้สึก เรียกว่าดูแลตัวเองไม่ได้เพราะเราไม่รู้เนื้อรู้ตัว หายใจอยู่ก็จริง มีร่างกายอยู่ก็จริง แต่ไม่รู้ว่าตัวเองรู้สึกอะไร มันจําไม่ได้ เวลากินก็กินเยอะมากเพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะอิ่มเมื่อไหร่หรือบางทีก็ไม่กินเลย 


คือกายกับใจมันไม่ได้อยู่ด้วยกัน


แล้วชีวิตเราครึ่งหนึ่งต้องพึ่งเพื่อน พึ่งที่บ้าน พึ่งแฟนให้ดูแล เพราะควบคุมตัวเองไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ช่วงเวลานั้นกินเวลาประมาณ 6 เดือนค่ะ” 


ช่วงที่โบ๊ทรู้สึกว่ากายกับใจกลับมาอยู่ด้วยกันคือช่วงที่เธอเริ่มดูแลตัวเองได้ เช่น เข้าห้องน้ำเองได้ อาบน้ำ ทานข้าว ล้างจาน ทำความสะอาดบ้านเองได้ 


เรื่องง่าย ๆ ที่เราเคยคิดว่ามันไม่ได้มีความหมาย แต่พอเรากลับมาทําได้ โบ๊ทรู้สึกว่าแค่ตื่นมาแล้วทํากิจวัตรประจําวันได้เองอันนี้คือเก่งมากแล้ว 


เราสงสัยว่าถ้าจำอะไรไม่ได้ก็คงไม่รับรู้ถึงความทุกข์ความเจ็บปวดเลยใช่ไหม เธอบอกว่า ใช่ มันไม่ทุกข์ พอกายกับใจเจอกันก็จะรู้จักความสุขความทุกข์เหมือนปกติ แล้วอย่างไหนจะดีกว่ากันเล่า เราถามเธอ 


“ทุกวันนี้ก็ยังมีความทุกข์อยู่นะคะ แต่เราไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่เท่าแต่ก่อน เมื่อก่อนอะไรก็เป็นเรื่องใหญ่หมดเลย โกรธใครสักคนหนึ่งก็เรื่องใหญ่มาก ไม่อยากเจอไม่อยากนั่นนี่ แต่พอผ่านความเจ็บป่วยมาก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรใหญ่กว่าเรื่องนี้แล้ว โบ๊ทยังเจ็บอยู่ ยังทุกข์อยู่ แต่มันไม่เท่าไรแล้ว


จะมีบางจังหวะที่รู้สึกทุกข์ แต่บางจังหวะก็มีความรู้สึกว่า เออ โชคดีแค่ไหนแล้วที่กลับมาได้ คือช่วงที่ป่วยและรักษา ร่างกายโบ๊ทเปลี่ยนเยอะมากเพราะกินสเตียรอยด์เพื่อกดภูมิ จากน้ำหนักปกติแค่ 42 พอกินยาน้ำหนักขึ้นไป 70 กว่า หน้าบานมาก ตัวใหญ่มาก เราไม่เคยเห็นตัวเองในเวอร์ชั่นนี้ ไม่เคยจินตนาการถึงตัวเองในเวอร์ชั่นนี้ แล้วก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาร่างเดิมได้ไหม มันก็มีผลกับการใช้ชีวิตอยู่พอสมควร ร่างกายเราไม่เคยรับน้ำหนักมากขนาดนี้เลย เวลาเดินมันจะเจ็บเข่ามาก แต่ผ่านไปก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันกลับมาขนาดนี้เราโชคดีมากแล้ว เพราะหมอบอกว่าปกติคนไข้จะกลับมาแค่ 70% นะ แต่ความจำโบ๊ทหายไปแค่ช่วงที่ป่วยเท่านั้น ความจำก่อนหน้านั้นก็กลับมาปกติค่ะ”



ใจดีกับตัวเองเพื่อสัมผัสไปถึงใจของคนอื่น 


“โบ๊ทเวอร์ชั่นก่อนป่วยกับเวอร์ชั่นหลังต่างกันค่ะ ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อนก็บอกว่าเราไม่เหมือนคนก่อน เมื่อก่อนไปเที่ยวด้วยกันถ้านัดเวลาเป๊ะ ๆ แล้วเพื่อนยังไม่มาโบ๊ทก็จะเริ่มแล้ว จะเริ่มมีอาการงอน ไม่พูดหรือพูดน้อยลง หงุดหงิด แต่ตอนนี้ไม่เป็นไร มาเมื่อไหร่ก็ไปเมื่อนั้น ถ้าไม่ใช่เรื่องงานที่เราจำเป็นจะต้องเป๊ะขนาดนั้น เหมือนเราไม่ได้โกรธกับทุกเรื่องเหมือนแต่ก่อน


บางทีชีวิตมันก็ดูมีสาระ แล้วบางทีก็ดูไม่มีอะไรเหมือนกันนะคะ แต่รู้สึกว่าการมีชีวิตแล้วยังรู้ตัวอยู่ เป็นโอกาสที่เราจะได้รู้จักตัวเอง และเหมือนได้ทบทวนว่ามีอะไรที่เรายังค้างอยู่บ้าง มีเรื่องอะไรที่เรายังเจ็บกับมันซ้ำ ๆ แล้วยังวนมาเจ็บกับมันอีก โบ๊ทว่าอันนี้มันเป็นสัญญาณที่ชีวิตกําลังบอกว่า มีบางอย่างที่เราจะต้องเคลียร์ ต้องทําความเข้าใจ หรือจะต้องปล่อยมัน”


โบ๊ทพูดว่าการได้กลับมาเป็นปกติอย่างทุกวันนี้ ทำให้อยากเข้าใจตัวเองมากขึ้น และมีเป้าหมายอยากจากไปโดยไม่ต้องกลับมาอีก 


“นี่คือเรื่องที่โบ๊ทอยากทำให้ได้ก่อนที่จะตายอีกรอบหนึ่งจริง ๆ และทุกวันนี้โบ๊ทไม่ได้มีเป้าหมายเรื่องความสำเร็จอื่นเลย” 


เธอเล่าว่าตอนที่กลับมาจำตัวเองได้ สิ่งที่ตระหนักคือเธอต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตทั้งในแง่ร่างกายและจิตใจ


“ตอนกลับมาจำได้ โบ๊ทจำความรู้สึกตอนนั้นได้เลยค่ะ โอ้โห เราใจดีกับตัวเองมากขึ้นเพราะเหมือนกับที่ผ่านมาเราคิดว่าดูแลตัวเองดีแล้ว แต่พอป่วยก็รู้ว่ามันต้องมีอะไรสักอย่างที่ไม่ปกติ ที่เราไม่ได้ดูแลตัวเองดีจริง ๆ มันมีอะไรที่เราพยายามลืมอยู่รึเปล่า มีอะไรที่เราพยายามกดมันไว้รึเปล่า พอถึงภาวะหนึ่งมันก็ออกมาเป็นโรคทางกาย



ใจดีกับตัวเอง ยกตัวอย่างก็คือโบ๊ทไม่ค่อยกดดันตัวเองเท่าไหร่แล้ว ค่อย ๆ ฝึกตัวเอง มีอะไรทําก็ทำไป แล้วก็ใจดีกับร่างกาย กินอาหารดี ๆ มีประโยชน์ พยายามออกกําลังกาย ไม่เอาความรู้สึกที่ไม่ดีมาใส่ตัวเอง


ทัศนคติที่เรามีกับตัวเองก็เปลี่ยนไปเยอะ รู้สึกว่าเวลามันจะตายมันนิดเดียวเอง เราไม่ได้มีชีวิตยืนยาวขนาดนั้น แล้วถ้าตายไปยังไม่ทันได้ทําอะไรเลย หรือแม้กระทั่งตายไปแล้วยังมีความโกรธ หรือยังมีเรื่องที่เราไม่ได้จัดการค้างอยู่ข้างใน มันก็ไม่น่าจะโอเค พอเรากลับมาได้เลยรู้สึกว่าจะไม่กดดันตัวเองเท่าแต่ก่อนแล้ว ไม่โกรธตัวเองนานหรือไม่โกรธคนอื่นนาน 


ความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ก็ดีขึ้น ที่ดีขึ้นเพราะใจดีกับตัวเองมากขึ้นก็ใจดีกับคนอื่นมากขึ้น แต่ก่อนเราอาจจะใจดีกับคนอื่นแต่ไม่ค่อยใจดีกับตัวเอง เวลาโกรธเราก็จะเก็บมันไว้นาน แต่พอหลัง ๆ เราใจดีกับตัวเองด้วย เราโกรธก็โกรธตรง ๆ รู้มันตรง ๆ ก็ปล่อยได้เร็วขึ้น อย่างน้อยรู้ว่าข้างในมันร้อนอยู่ มันร้อนน้อยลงหรือมันไม่ร้อนแล้ว ก็ฝึกอยู่กับลมหายใจน่ะค่ะ ตั้งใจใช้ชีวิตทำทุกวันให้ดีเพราะเราไม่รู้ ตอบไม่ได้เลยว่าโรคจะกลับมาอีกไหม แต่ก็ไม่ค่อยอะไรมากแล้วเพราะรู้ว่าเดี๋ยวเราก็ตายแล้ว”


ถามเธอว่าผ่านความเป็นความตายขนาดนั้นกลัวตายไหม เธอบอกว่าตอนนั้นไม่มีความจำจึงไม่ทันได้รู้สึกกลัว 


“แต่ว่ามันจะมีสภาวะท้าย ๆ ที่โบ๊ทกึ่งหลับกึ่งตื่น เหมือนเราออกไปยืนดูตัวเองแล้วเห็นว่ามีคนป้อนน้ําส้ม ป้อนข้าวป้อนน้ำ แล้วเราก็ลุ้นว่าให้ขอให้ฟื้นเถอะเพราะเห็นทุกคนพยายาม แต่ไม่รู้หรอกนะว่าเป็นตัวเองที่นอนอยู่ตรงนั้น ไม่แน่ใจว่านั่นมันเป็นฝันหรืออะไร ถ้าถามว่ากลัวตายไหม จริง ๆ ตอนนี้ต้องตอบว่ากลัว โบ๊ทกลัวตายแบบไม่รู้ตัวมากกว่า คือก่อนหน้านี้ตอนที่ปกติดีก็อยากตายแบบรู้เนื้อรู้ตัว แต่พอเราไม่ได้เตรียมตัวและไม่คิดว่าเราจะเจ็บป่วยอย่างนั้น มันเป็นจังหวะที่เหมือนภาพตัดไปเลย แล้วพอกลับมาได้ทําให้รู้สึกว่า…เออ เรื่องเตรียมตัวตายเป็นเรื่องที่ต้องฝึกอีกเยอะ และต้องฝึกได้แล้ว เพราะเราไม่รู้ว่าจะตายวันไหน”



การใช้ชีวิตที่ดีของโบ๊ท


ในบทสนทนามีคำว่าใช้ชีวิตที่ดีเราจึงขอให้เธอขยายความ


“การใช้ชีวิตที่ดีของโบ๊ทคือการเป็นส่วนหนึ่งของของใครสักคนหนึ่ง หมายถึงเพื่อน หมายถึงความสัมพันธ์กับคนที่อยู่รอบตัวเรา แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของงานที่มีประโยชน์ หรืองานที่มีความหมายกับคนอื่นด้วย”


และนี่คือเหตุผลสำคัญที่โบ๊ทตัดสินใจตอบรับเป็นส่วนหนึ่งบนเวที “วิชาชีวิต Life on Stage” กับชีวามิตรเมื่อ 31 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา 


“ตอนนั้นจริง ๆ โบ๊ทยังลังเลอยู่ว่าจะไปดีไหม เพราะลิสต์รายชื่อแต่ละท่านดูแล้วเป็นคนมีชื่อเสียง ประสบความสําเร็จหมดเลย โบ๊ทเป็นคนธรรมดาคนเดียวที่ชีวามิตรโทรมาชวน ก็ไม่แน่ใจว่าเราจะไปคุยอะไรให้ฟัง แล้วเราไม่ได้ถนัดกับการยืนต่อหน้าคนเยอะ ๆ แต่ก็ตัดสินใจไปเพราะคิดว่าชีวิตที่ได้กลับมา ทุกคนทุ่มเทกับเราเยอะมาก หมายถึงทั้งเพื่อนแล้วก็พี่ ๆ เลยคิดว่าถ้ามีอะไรที่พอจะแบ่งปันหรือเล่าสู่กันฟังได้ก็อยากทํา คือวันจริงสั่นมาก (ยิ้ม) แล้วก็เป็นในรอบ 10 กว่าปีหรืออาจจะ 20 ปีก็ได้ที่โบ๊ทไปยืนต่อหน้าคนเยอะ ๆ ค่ะ”


“ชีวิตมันไม่แน่นอนนะคะ ถ้าเรารู้สึกดีกับใครก็พูดมันออกไปเถอะ” 



ถามเรื่องการงานที่ทำทุกวันนี้ว่าเป็นเพราะเธอเคยเจ็บป่วยใช่ไหมจึงเลือกที่จะทำงานนี้ เธอตอบว่า 


“งานที่ทำเป็นงานออกพื้นที่เก็บข้อมูลสมุนไพร บันทึกภูมิปัญญาในแต่ละพื้นที่ เป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ทําเรื่องนี้อยู่ ก่อนหน้ารับงานนี้งานโปรดักชั่นสุดท้ายที่โบ๊ททำคือซีรีส์สารคดีชุด “หมอยา ‘บันทึกสุดท้ายโลกไม่ลืม’ ได้ทําข้อมูลแล้วก็ออกกองไปกับพี่ ๆ และหมอยาสมุนไพรในชุมชน พออาจารย์ (ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร-รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร) ชวนมาทํางานด้วยก็ตัดสินใจมาร่วมงานเลยค่ะ


นี่คือองค์ความรู้ของแผ่นดินเรา และมูลนิธิฯ ก็ผลักดันให้ยาสมุนไพรหลาย ๆ ตัวเข้าสู่บัญชียาหลัก หมายความว่าเราจะสามารถลดการใช้ยาจากต่างประเทศได้โดยใช้ทรัพยากรของประเทศเราเอง แต่มันก็มีกระบวนการทํางานกับเกษตรกร การทํางานด้านสิ่งแวดล้อม แม้โบ๊ทจะไม่ได้ทําทั้งหมดแต่เมื่อได้เป็นส่วนหนึ่งในงานทำให้เรารู้สึกว่าเป็นงานที่เราโอเค ถามว่างานนี้เติมเต็มเราไหม มันอาจจะเป็นส่วนที่เขาเรียกว่าอะไรนะ อืมม อาจเป็นผลจากการที่เราผ่านการเจ็บป่วยมาด้วย จากที่เราไม่เคยรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของใครเท่าไร พอหลังจากเราฟื้นกลับมา โบ๊ทรู้สึกว่าเวลาทําอะไรจะเป็นเป็นเนื้อเป็นตัวกับสิ่งที่ทํามากขึ้น” 



เพราะทุกวันนี้งานเธอเกี่ยวข้องกับสมุนไพร เราจึงหยอดคำถามไปว่า การได้รับการรักษาด้วยเคมีอย่างสเตียรอยด์มีผลอะไรไหม เธอตอบได้อย่างน่ารักมากว่า 


“จริง ๆ ตอนนั้นต้องขอบคุณสเตียรอยด์นะคะที่ทําให้โรคมันสงบได้ แต่พอหลังจากนั้นต้องล้างพิษที่ยังค้างอยู่ในร่างกาย โบ๊ทใช้สมุนไพรช่วยเยอะค่ะ ใช้สมุนไพร ใช้อาหาร ใช้การออกกําลังกาย” 


ในฐานะที่เป็นคนเคยทำงานสารคดี ถามเธอว่าถ้าให้ทำสารคดีชีวิตของเธอเอง แก่นของเรื่องจะเป็นอย่างไร 


“ทุกคนก็มีเรื่องราวของตัวเอง คิดว่าชีวิตที่ผ่านมาก็เต็มที่กับมันแล้ว และชีวิตก็มีจังหวะที่ขึ้นจังหวะที่ลง มีจังหวะที่เราชอบและไม่ชอบ ถ้าให้ทำสารคดีของโบ๊ท แก่นน่าจะเป็นเรื่องการยอมรับแล้วก็อยู่กับมันให้ได้” 


เธอว่าการมีชีวิตนั้น “การยอมรับ” ในสิ่งต่าง ๆ อย่างที่มันเป็นคือสิ่งสำคัญ และที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับการมีชีวิตอยู่คือ “ความทรงจำ”


“วันที่เราจําไม่ได้หรือไม่มีความทรงจำอยู่ รู้สึกว่าชีวิตเหมือนเป็นกล่องใบหนึ่งที่ว่างเปล่า เพราะเราไม่มีความรู้สึกอะไรเลย พอกลับมามีความทรงจําหรือระลึกได้ จําได้ โบ๊ทคิดว่าแม้จะเจ็บปวดแต่มันก็ดีกว่าไม่เหลือความทรงจำอะไรเลย”



ชมรายการ “เพื่อนชีวิต” ตอนที่ 5 “ใจดีกับตัวเอง” โบ๊ท - อุทุมพร ยาวิชัย


ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรอยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads