Knowledge cover image
12 ธันวาคม 2567
  1. คลังความรู้
  2. ชีวิตเป็นเพียงหินก้อนเล็ก ๆ ก้อนหนึ่ง

ชีวิตเป็นเพียงหินก้อนเล็ก ๆ ก้อนหนึ่ง

ชลิต สภาภักดิ์ ช่างภาพสารคดีผู้มองชีวิตไม่ต่างจากก้อนหินเล็กๆ ก้อนหนึ่ง


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

“ร่างกายของผมเหมือนก้อนหินก้อนหนึ่งที่ถูกหิมะห่มคลุม มีเพียงลมหายใจแผ่วเบาเท่านั้นที่ทำให้ผมแตกต่างจากก้อนหินบนภูเขา เกือบ 2 เดือนตลอดเส้นทางภูเขาอันยิ่งใหญ่นี้ การเดินทางของผมเหมือนก้อนหินที่กลิ้งลงมาจากภูเขาแล้วกลิ้งลงแม่น้ำไหลตามแรงของน้ำเชี่ยวไปหยุดนิ่งที่ไหนสักที่ ผมเห็นชีวิตของผู้คนหลากหลายรูปแบบ เห็นภูมิประเทศที่ยิ่งใหญ่ และเห็นว่าตัวเองไม่ต่างจากก้อนหินเล็ก ๆ ก้อนหนึ่ง”

บางส่วนของเนื้อหาประกอบหนังสือรวมภาพถ่าย (photo book) ระหว่างเดินทางร่วมสองเดือนบนเทือกเขาหิมาลัย ในชื่อ “Like a Stone” ของช่างภาพสารคดี “ชลิต สภาภักดิ์” หรือโก๊ะ ซึ่งเขาจัดพิมพ์ขึ้นจำหน่ายในจำนวนจำกัดและขายหมดเกลี้ยงไปแล้ว 

ก้อนหินเล็ก ๆ ก้อนนี้กลิ้งอยู่บนเส้นทางการถ่ายภาพและการใช้ชีวิต ความเป็นและความตาย หลากหลายเส้นทาง โดยมุ่งมั่นให้ภาพถ่ายของตนสะท้อนเรื่องราวของคนธรรมดามากมายบนผืนโลก

 

“ผมคิดว่าภาพถ่ายเล่าเรื่องสังคมได้เหมือนกัน มันอยู่ที่มุมมองการเดินทาง และชุดภาพถ่ายของพ่อก็เป็นเรื่องทางสังคมด้วย โดยตัวผมเองจริง ๆ มีเรื่องในสังคมที่ผมอยากเล่าอีกมาก” 

“ชีวามิตร” ชวนติดตามบทสนทนาผ่านความคิดความรู้สึกของช่างภาพสารคดีหนุ่มคนนี้ ผู้มีโอกาสเดินทางถ่ายภาพในมุมที่หลายคนอาจไม่เคยเห็น ได้พบกับความเฉียดตายบนเทือกเขาสูงกว่า 5,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ย้อนเล่าถึงที่มาของการเดินทางบนถนนสายช่างภาพสารคดี (จากอาชีพช่างภาพสายบันเทิง) ซึ่งมาจากการถ่ายภาพครอบครัว และชุดภาพถ่ายในช่วงสุดท้ายของชีวิตพ่อจนกลายเป็นหนังสือภาพที่เขาภาคภูมิใจ และเป็นหนึ่งในนิทรรศการ “พระ เด็ก ศิลป์ ปราชญ์ มอด ที่แกลลอรี่ 1984+1” จังหวัดสุพรรณบุรี บ้านเกิดของเขาเอง ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นหนทางการเป็นช่างภาพสารคดีทุกวันนี้



ชีวิตไม่ต่างจากหินก้อนหนึ่ง Like a Stone 

โก๊ะพูดถึงที่มาของทริปที่ทำให้เกิดคำว่า Like a stone ว่า 


“ที่ไปที่มาคือผมมีโอกาสได้ไปทํางานที่อินเดียตอนเหนือ หิมาจัลประเทศ (Himachal Pradesh) แล้วก็ไปลาดัก นอกจากไปถ่ายงานที่ได้รับ assign มาแล้ว ก็เลยคิดว่าเราไม่ค่อยได้มีโอกาสไปทางนั้นแบบไปนาน ๆ อย่างสองเดือน ผมก็เลยเอากล้องฟิล์มที่ใช้อยู่ประจําไปด้วยเพื่อที่ว่าจะได้ทํางานตัวเองในช่วงพัก ก็กะว่าชิลล์ ๆ เดินทางไปแล้วก็ถ่ายรูปไปเป็น road trip อะไรอย่างนี้ แต่ว่าพอไปจริง ๆ แล้วมันหนักหนาสาหัสกว่านั้นเยอะเลย ทั้งสภาพภูมิอากาศ และผมก็กินอาหารอินเดียไม่ค่อยได้ อย่างแรกเลยที่กลัวคือ ผมไม่รู้ว่าจะท้องเสียหรือเปล่า เพราะผมเคยท้องเสียหนัก ๆ จากอาหารเป็นพิษกลางป่าที่เชียงรายครั้งหนึ่ง ตอนนั้นไปทำงาน ต้องให้น้องขับรถลงมาส่งที่โรงพยาบาลเวียงป่าเป้าตอนดึก ตั้งแต่วันนั้นมาท้องไส้เรามันเปราะบางมากเลยต้องระวังตัวนิดหนึ่ง ทีนี้พอไปอินเดียก็ต้องเจออาหารที่ไม่คุ้นเคย ผมก็เลยไม่ค่อยกล้ากินข้าว ทำให้ระหว่างการเดินทางมันขาดสารอาหารบางอย่าง เนื้อสัตว์ไม่ค่อยมีอยู่แล้ว แล้วเมืองที่ผ่านส่วนใหญ่ก็เป็นมังสวิรัติทั้งหมด บางอย่างก็กินไม่ได้ ผมเลยกินแต่ขนมปังกับแยม แล้วก็ชากับช็อกโกแลตอยู่หลายวันมากจนน้ำหนักลดไป ผมคิดว่าน่าจะลดเป็น 10 กิโลได้นะ ร่างกายก็คงไม่ไหว แล้วก็ต้องเดินตลอด เพราะวิธีการทํางานก็คือเดินแล้วก็ถ่ายรูป เดินแล้วถ่ายรูปอยู่ประมาณ 45 วัน ผ่านภูมิประเทศที่แบบ…ต่ำสุดก็คือ 2,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ประมาณยอดดอยอินทนนท์บ้านเรา ส่วนสุดสูงสุดก็ 5,300 เมตร ก็ประมาณยอดดอยอินทนนท์สองลูกทบกัน เดินผ่านทั้งป่าสน ภูเขาหิน ทะเลทราย



“แล้วที่พีคคือช่วงที่เดินผ่านทะเลทรายแล้วฝนตก แล้วอีกวันหิมะตก วันที่ผมถ่ายรูปนี้ (โก๊ะเปิดหนังสือ) ตะคริวขึ้นที่ท้อง จนเดินไม่ไหวผมต้องไปนอนในรถพยาบาลชั่วโมงหนึ่ง หมอให้กินยาแก้ปวดเกร็ง แล้วก็กินชานมแพะเพื่อให้ร่างกายได้สารอาหาร เพราะว่าขาดทั้งสารอาหาร ขาดทั้งน้ำ น้ำก็กินไม่ได้เลยเพราะว่ามันเย็นมาก หาน้ำอุ่นกินก็ยากเพราะว่าเป็นทะเลทรายไม่มีร้านขายของ ผมเริ่มเป็นตะคริววันแรก อะ แป๊บเดียวหายราวชั่วโมงหนึ่ง หายแล้วก็ไปทํางานต่อ วันนั้นมีคนขับพาไปนอนที่ห้องแห่งหนึ่ง 


พออีกวันหิมะตก อุณหภูมิลดลงอีก แต่เราก็ยังต้องเดินข้ามเขาซึ่งเป็นจุดสูงสุดของทริปนี้ 5,328 เมตรโดยประมาณ คือเราจำเป็นต้องผ่านตรงนั้นถ้าเราไม่ไปหิมะจะปิดเส้นทาง แล้วความกดอากาศก็ยิ่งแย่ลงเพราะพอหิมะตกออกซิเจนก็น้อยลง ตอนขึ้นไปปกติดีมากเลยไปถึงจุดสูงสุดผมก็ยังลงไปถ่ายรูปได้อยู่ แต่พอผ่านไป 2- 3 นาที อาการเดิมมาละครับ เกร็งที่ท้อง เป็นตะคริว ผมคิดเอาเองว่าเดี๋ยวเรานอนนิดหนึ่งก็คงหาย ตอนนั้นขึ้นไปนั่งรถไม่ได้เดินกับคณะแล้ว เอาจริง ๆ ถ้ายังฝืนเดินตรงนั้นมีโอกาสต้องถูกตัดขาสูงมาก เพราะอาการมันหนักขึ้น ๆ เริ่มเกร็งไปที่ขา ที่เท้า ตะคริวกินทั้งตัวเลย มือผมเนี่ยอยู่อย่างนี้เป็นชั่วโมง (เกร็งมือให้ดู) จนรถค่อย ๆ ขับไต่ระดับลงมาประมาณ 3,500 เมตรถึงหมู่บ้านที่ชื่อว่า “รุมเซ” (Rumtse) ที่ผมคิดว่าเป็นโอเอซิสกลางเทือกเขาหิมาลัย เริ่มมองเห็นสีเขียวของต้นไม้ ตอนนั้นผมรู้สึกแบบ…รอดละว่ะ คือยังไม่ตาย”  


โก๊ะอธิบายถึงความรู้สึกที่ทำให้เขาเปรียบชีวิตว่าเหมือนก้อนหินเล็ก ๆ ก้อนหนึ่งที่ถูกหิมะห่มคลุม ซึ่งตนเองไม่สามารถควบคุมอะไรในร่างกายได้เลย เราจึงถามเขาว่ามันคือภาวะเฉียดตายใช่ไหม? 

“ผมว่าไม่มีครั้งไหนที่ผมจะใกล้ความตายเท่านี้ ระหว่างนั้นน่ะในใจก็คือ ขอโทษลูกแล้วว่า เฮ้ย พ่อเลี้ยงเอ็งมาได้แค่นี้นะ หน้าลูกลอยไปลอยมาแล้ว ตอนนั้นผมดูอัตราการเต้นของหัวใจที่นาฬิกา หัวใจเต้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ 120 กว่าแหละ คือปกติผมเป็นคนออกกําลังกายหัวใจผมเต้นอยู่ที่ 60 - 70 แล้วมันไม่ใช่แบบแว้บ ๆ แต่นานเป็นชั่วโมงที่ผมต้องอยู่อย่างนั้น เพื่อนคนหนึ่งคอยนวด แล้วก็อีกคนคอยป้อนน้ำอุ่น เพราะว่าผมไม่สามารถขยับตัวได้เลย หายใจได้อย่างเดียว แต่ผมก็นึกในใจว่าเราก็ยังโชคดีนะที่หายใจแล้วมันยังไม่ติดขัด หน้าอกมันยังไม่แน่นเป็นแต่ความเกร็ง ปอดเรายังทํางานอยู่นะ พอรถค่อย ๆ ลงไปอาการค่อย ๆ ดีเหมือนผมเจอสวรรค์ เจอทุ่งดอกไม้สีเขียว ๆ แล้วก็มันก็ค่อย ๆ คลายจากมือไป 

เหตุการณ์นั้นมันให้บทเรียนอะไรกับการใช้ชีวิตของเราไหม? เราถามโก๊ะอย่างสนใจ 


หลังจากนั้นผมรู้สึกว่าอยากทํางานแล้วก็บาลานซ์ชีวิตให้ดีที่สุด ทำงานที่มีประโยชน์กับคนอื่น ได้ใช้ชีวิตแบบที่อยากใช้ ณ ตอนนี้นะครับ หมายถึงได้ทำงานที่ตัวเองชอบ ได้ทำงานแบบ personal และได้ทํางาน assignment ที่มันไม่บิดเบี้ยวจากตัวเองเกินไป มีเงินเลี้ยงลูก อยู่กับครอบครัว แล้วก็อยากมีโอกาสในการทํางานมากขึ้น 



บันทึกเรื่องของพ่อด้วยภาพถ่ายช่วงสุดท้ายก่อนจากลา

อย่างที่เกริ่นในบทเปิดว่าโก๊ะเริ่มอาชีพการเป็นช่างภาพสายบันเทิง ทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ พอช่วงปลายปี 2554 ที่น้ำท่วมหนัก เขาตัดสินใจลาออกและย้ายกลับไปอยู่สุพรรณบุรีกับครอบครัว ตลอดเวลาตั้งแต่เรียนด้านการถ่ายภาพกระทั่งทำงาน เขานึกถึงการถ่ายภาพเชิงสารคดีมาตลอด และอยากให้ภาพหนึ่งภาพของเขาแทนคำพูดล้านคำเหมือนดังภาพดี ๆ ที่วงการถ่ายภาพยกย่องและให้คุณค่ากัน 

“เวลาทํางานถ่ายภาพผมรู้สึกว่าการที่เราจะพัฒนางานเราต้องซ้อมเยอะ ๆ ดังนั้นผมก็จะถ่ายรูปตลอด มีพี่คนหนึ่งที่ผมนับถือสอนผมว่าสิ่งที่คุณจะฝึกได้ดีที่สุดก็คือการถ่ายรูปคนในครอบครัวให้เป็นธรรมชาติที่สุด เพราะถ้าคุณยกกล้องถ่ายคนในครอบครัว เขาจะมีความรู้สึกว่าถ่ายทำไมเราอยู่ด้วยกันทุกวัน ผมก็จะถ่ายรูปแฟน ถ่ายแม่ ถ่ายพ่อ ถ่ายรูปลูก หลาน พี่สาว พี่เขยตลอด ทำจนคนที่บ้านชิน แล้วมาถึงวันหนึ่งที่พอรู้ว่าพ่อป่วยเราก็ยังถ่ายรูป พ่อก็ไม่ได้รู้สึกว่าแปลกอะไร มันก็ถ่ายของมันปกติ”

“ผมมีความสนใจเป็นพิเศษช่วงที่พ่อป่วย เพราะเราก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นต่อมั้ย ถ้าพ่อหายก็ดี ถ้าพ่อไม่หายแล้วปลายทางมันจะเป็นยังไง ทุกคนก็ต้องเตรียมใจ เตรียมพร้อมที่จะต้องจัดการ เพราะว่าจริง ๆ ครอบครัวเราเป็นครอบครัวใหญ่ มีตายาย มีย่า แล้วระหว่างที่พ่อป่วยยายก็ติดเตียงอยู่สองปีแล้วนะ แม่เป็นคนดูแล ผมก็ถ่ายรูปยาย เล่นกับยาย เวลาไปถ่ายรูปยาย ยายก็จะยิ้มเพราะว่าแกขยับตัวไม่ได้แกจะยิ้มอย่างเดียว ตอนยายกินแม่ก็ดูแล ผมว่าการถ่ายรูปก็เป็นการสร้างสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างหนึ่ง แต่ว่าโดยส่วนตัวคือเราไม่ได้อยากให้ต้องมายืนเรียง ๆ กันแล้วก็ถ่ายภาพ แล้วด้วยเทคโนโลยีทำให้เราถ่ายรูปได้เยอะกว่านั้นโดยไม่ต้องกลัวเสียดายฟิล์ม มันเลยได้โมเมนต์ของความเป็นคนธรรมดาที่ละเอียดลึกซึ้ง แต่ว่าไอ้สิ่งเหล่านี้มันมารู้สึกตอนโต ตอนที่เราทำงานมาพักหนึ่งแล้ว งานสารคดีถ้าเราทําเรื่องที่เรารู้ดี รู้ว่ามันจะเกิดอะไรต่อไป แล้วมันก็มีฟีลหมือนเราเป็นชุดแรกที่ไปสู่การถ่ายสารคดีจริงจัง 


“พอถ่ายรูปไปเรื่อย ๆ เราก็เข้าใจความเป็นเป็นมนุษย์ไปเรื่อย ๆ สําหรับผมนะ เพราะว่าเราเป็นคนธรรมดาที่ไม่ต้องมาจัดแสดงอะไร ไม่ต้องมีฟอร์มเรื่องภาพลักษณ์อะไร บางทีแม่นอนเปลเราก็ถ่ายรูปนั้นไว้ เขานั่งปอกมะพร้าวอยู่ผมก็ถ่ายไว้ ผมรู้สึกว่าเราได้อยู่กับโมเม้นต์จริง ๆ ของความเป็นอยู่ พ่อป่วยแม่ดูแลพ่อ พ่อไปหาหมอ มีกระบวนการอะไรยังไง เราก็ถ่ายไป แล้วก็ใช้ความรู้ในการแตะประเด็นเรื่องสารคดีเข้าไปเสริมนิดหน่อย แล้วก็มันก็เป็นเรื่องของจังหวะเวลาที่ที่เราค่อย ๆ เรียบเรียงเป็นช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง”  


ถามโก๊ะถึงการถ่ายภาพพ่อในช่วงสุดท้ายว่าต่างจากการบันทึกภาพเหตุการณ์ประจำวันทั่วไปไหม เขาตอบด้วยน้ำเสียงสงบว่า 


เป็นไปตามอารมณ์เหมือนกัน ผมบันทึกทั้งความสุข ความเศร้า ความเสียใจ ความสูญเสีย ผมรู้สึกว่า เออ พ่อป่วยเราก็สงสารพ่อ พ่อก็เจ็บปวด แต่เราในพาร์ทหนึ่งก็ต้องให้กําลังใจพ่อ แล้วก็เล่นกับพ่อบ้าง…อะ พ่อยิ้มหน่อยดิ อะไรอย่างนี้ครับ บางทีมันมีบางจุดที่เราก็จุกไปเหมือนกัน เราก็เรียนรู้จากตรงนั้นแหละ ยกตัวอย่างเช่น พ่อมีวิทยุธานินทร์ของแกอยู่ใกล้ตัวตลอด บางทีแกก็นอนพักผมอยากจะเปิดเพลงให้ฟัง ก็ถามว่าพ่ออยากฟังเพลงมั้ย …ไม่ค่อยอยาก ไม่ค่อยสบายอะ ฟังเพลงอะไรก็ไม่ค่อยเพราะ… หรือเรื่องกินข้าว มนุษย์คนหนึ่งแค่อยากจะกินข้าวทางปากยังยาก ผมก็เรียนรู้จากตรงนั้นในเรื่องความเป็นมนุษย์ บางคนฝันใหญ่โต แต่พอวันหนึ่งถึงวันที่ตัวเองป่วย แค่กินข้าวยังยาก 



พ่อเป็นมะเร็งที่หลอดอาหาร ผมคิดว่ามันมีบางส่วนที่เรารู้สึกว่า เออ น่าจะทําได้ดีกว่านี้ซึ่งผมว่าทุกคนคงคิดเหมือนกันแหละเมื่อมีใครในครอบครัวป่วย เราไปหาหมอ ทีนี้หมอวินิจฉัยว่าไม่เป็นหรอก ยังไม่ถึงเวลา เราก็เลยรู้สึกว่าการวินิจฉัยง่าย ๆ กับด้วยความที่เราเป็นคนที่ไม่มีฐานะ การที่จะไปตรวจอย่างละเอียด หรือว่าใช้เงินเยอะ ๆ ในการตรวจแทบเป็นไปไม่ได้ มันก็เลยทําให้เรารู้สึกว่าถ้าเกิดว่ารู้เร็วกว่านี้ ร่างกายยังไม่ทรุดโทรมมาก แต่กว่าจะรู้ก็… เออ รักษายังไงก็ไม่หายแน่ เราก็ได้แค่... (หยุดพูด) 


แต่เวลาผมอยู่กับพ่อ เขาก็ไม่ได้แสดงความเจ็บปวดให้เห็น ไม่เคยแสดงความกลัวให้ผมเห็น ด้วย เพราะเอาจริง ๆ ลูกพี่ลูกน้องของพ่อก็คือไม่มีใครอายุถึง 60 เลยที่เป็นผู้ชาย ผมคิดว่าเป็นวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของคนยุคนั้น การดื่มหรือว่าอาหารที่มันไม่โอเค เพราะว่ามันอยู่ช่วงยุคใช้ยาเยอะ เป็นเกษตรกรที่ใช้สารเคมีด้วย ก็อาจจะมีผลรวม ๆ กัน แต่ถ้าถามในเรื่องความรู้สึกนึกคิด ผมว่าแกไม่กลัวแค่มีความรู้สึกห่วงลูก แต่ว่าพวกเราก็โตแล้ว เราอาจยังมีน้อยหน่อย ตอนนั้นบ้านเรายังไม่มีไม่มีรถ ไม่มีแอร์ ไม่มีอะไรทั้งนั้น แกพูดเสมอว่าผมต้องไปทํางานไกล อยากจะถูกหวยแล้วซื้อรถให้ผมคันหนึ่ง แต่แกไม่โอดโอยเลย คือถ้าไม่เจ็บปวดจริง ๆ แกแทบไม่เรียกร้องอะไร ผมรู้สึกว่าพ่ออาจจะแข็งแกร่งกว่าผมด้วยนะครับตอนนั้น



“ช่วงที่พ่อป่วยรู้สึกว่า เออ! มันมีแง่มุมบางอย่างของครอบครัวชนชั้นล่างอย่างพวกเราที่อยากบันทึกไว้ ตอนแรกก็ไม่ได้คิดจะเผยแพร่อะไรเพราะว่าผมทำงานแบบนี้ตลอดอยู่แล้ว แต่ทีนี้ระหว่างทํางานพอเอารูปมาดู มันมีบางอย่างที่สอนให้เราใช้ชีวิตต่อไปยังไงได้ เหมือนตอนนั้นผมก็เริ่มทำงานถ่ายภาพสารคดีแต่มันยังไม่เป็นชิ้นเป็นอันอะไร ผมคิดว่าอันนี้น่าจะเป็นงานที่ทำแล้วเป็นชิ้นเป็นอันชิ้นแรกเลย แล้วมันจบด้วยไทม์ไลน์ของมัน คือพ่อเสียงานก็จบ เป็นงานที่ถูกบังคับให้จบ”  





จากภาพถ่ายกลายมาเป็น photo book ที่เล่าช่วงสุดท้ายของพ่อผ่านเลนส์กล้องของลูก โก๊ะเล่าว่า 

ช่วงปี 2555 มีงานประกวดภาพถ่ายของ National geographic มีพี่คนหนึ่งซึ่งเคยเห็นโพสต์ในเว็บบอร์ดกลุ่มเพื่อนช่างภาพ เขาแนะนำว่าให้ลองส่งภาพประกวดงานนี้ ผมก็เลยลองส่งและได้รางวัลที่ 2 มา นั่นเป็นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทําให้ผมได้ถ่ายงานให้ National geographic ทีนี้งานก็ได้เดินทางไปอยู่ในสื่อออนไลน์บ้าง ไปฉายแสดงที่โน่นที่นั่นที่นี่บ้าง ไม่เยอะมาก และผมก็รู้สึกว่ามันผ่านมา 10 กว่าปีแล้ว และก็ด้วยความพร้อมเรื่องเงิน เรื่ององค์ความรู้ในการทําหนังสือ และผมก็รู้สึกว่างานภาพถ่ายสําหรับผมถ้าจะให้มันจบงานจริง ๆ ควรจะเป็นอะไรสักอย่างที่มันจับต้องได้ ไม่ใช่ไฟล์ดิจิตัลที่เราเอาไปรวมกัน ผมก็เลยทำหนังสือออกมา 35 เล่ม เพื่อที่ว่าวันหนึ่งหากผมตายไปแล้ว ไฟล์มันหาไม่เจอหรือว่าอะไร หนังสือก็ยังน่าจะอยู่กับใครสักคนที่ซื้อไปใน 35 เล่มนี้ 

นอกจากหนังสือแล้ว ภาพถ่ายบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับพ่อยังเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการศิลปะกลุ่มที่แกลลอรี่โกดังข้าวเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งโก๊ะตั้งใจเลือกภาพมาแสดงเพื่อถ่ายทอดเรื่องเล่าตั้งแต่พ่อเริ่มป่วย และแม่ที่คอยดูแลซัพพอรต์พ่อตลอดเวลา งานของโก๊ะมีเนื้อหาสะท้อนชีวิตของชาวนาในท้องทุ่งสุพรรณบุรีที่เขาเชื่อว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่าส่วนตัว แต่เป็นภาพสะท้อนของชีวิตในสังคมอีกชนชั้นหนึ่งที่มีอยู่จริง เป็นชนชั้นเกษตรกรที่ต้องเผชิญปัญหามากมายและดิ้นรนเพื่อจะไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า 


“ระบบเกษตรกรรมบ้านเรามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ครับ ถ้าคุณไม่ใช้สารเคมีคุณก็ไม่ได้ผลผลิต เพราะว่าการทําซ้ำที่เดิมนาน ๆ มันต้องใช้สารเคมี แล้วก็ใช้อย่างไม่มีความรู้ด้วย ไม่มีใครมาสอนว่าคุณต้องใช้ยาอะไรยังไง คุณแค่ผสมตามนี้ ไม่มีใครมาสอนคุณด้วยว่าต้องใส่ถุงมือ ใส่หน้ากากอะไร ไม่มีครับ เกษตรกรจากไปด้วยโรคมากมาย สำหรับผมนะมากมายที่ปลูกข้าวให้คนกิน แล้วสิ่งที่คนเมืองได้ก็คือผลผลิตที่มากสารเคมี เรื่องพวกนี้ต้องพูดกันระดับนโยบาย แต่ในส่วนตัวที่ผมสัมผัสเรียนรู้จากการใช้ชีวิตของพ่อทำให้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมไม่ดื่มเหล้า ทําตัวเองให้ดีที่สุด และทำให้ผมมุ่งไปทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผมมีโอกาสได้ไปทํางานเกี่ยวกับเรื่องระบบการเกษตรของปกากะญอ เฮ้ย! เออ…ทําไมเค้าไม่ใช่สารเคมีแล้วยังได้ผลผลิต อะไรอย่างนี้ แต่ว่ารูปแบบมันอาจจะแตกต่างกัน เพราะว่าอันนี้มันเป็นเกษตรอุตสาหกรรม เกษตรที่ทำขาย แต่อันนั้นใช้กินในครอบครัว ผมเกิดมาพ่อก็ปลูกข้าวขายแล้ว ยังดีที่ผมยังมีโอกาสได้กินอาหารตามไร่ตามนาบ้าง ไม่เหมือนตอนนี้ที่เราต้องไปตลาด 



และงานนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทําให้เราให้ผมได้ไปเจออะไรหลาย ๆ อย่าง เจอชีวิตหลาย ๆ รูปแบบ ที่ว่างานนี้ผมหมายถึงงานภาพถ่ายพ่อ เพราะคนที่ได้เห็นงานเขารู้สึกว่าเราถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ได้เป็นธรรมชาติ ทำให้ผมได้โอกาสเข้าไปทำงานในพื้นที่ ในชุมชนซึ่งเป็นสิ่งที่ผมถนัด ได้ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องวิถีชีวิต เรื่องที่ดีงาม เรื่องการพัฒนาชุมชน หรือกระทั่งเรื่องต่าง ๆ ในด้านไม่ดี อย่างเช่นการทําร้ายร่างกายกันในครอบครัว เราได้เรียนรู้ในมิติชุมชนหรือผู้คนในวัฒนธรรมอื่น ๆ


จากภาพถ่ายพ่อและครอบครัว สู่ภาพถ่ายอีกหลายชีวิต  

ดวงตาของโก๊ะเป็นประกายเมื่อนึกถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เขามีโอกาสเข้าไปรับรู้และเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องเล่าอันห่างไกลมาสู่ผู้คนผ่านสายตาและมุมมองของเขาในฐานะช่างภาพ บางเรื่องเล่ากลายเป็นบทเรียนในชีวิต บางเรื่องราวทำให้เขาพยายามผลักดันตัวเองให้ทำงานดียิ่งกว่าเก่าเพื่อส่งเสียงของคนเล็ก ๆ เหล่านั้นออกไปสู่ภายนอกได้กว้างกว่าเดิม 

“ผมได้เรียนรู้อะไรมากมายจากการทำงานเป็นช่างภาพ ได้เดินทางไปในที่ต่าง ๆ อย่างเช่นการได้ไปดูแม่ผู้ลี้ภัย ต้องไปคลอดที่โรงพยาบาล หรือว่าแม่ที่อยู่ห่างไกลต้องออกมาเช่าบ้านรอคลอด ได้เรียนรู้เรื่องระบบเกษตรที่ต่างไป ได้ทํางานในประเด็นที่เป็นชีวิตผู้คนธรรมดา ผมว่าช่วงนี้องค์กรที่อยากให้ผมไปทำงานก็คือไปถ่ายทอดชีวิตคนธรรมดาที่มีคุณค่าหลาย ๆ ด้าน การทำงานก็ทำให้วิธีคิดบางอย่างผมเปลี่ยนไป แต่ที่แน่ ๆ คือ ประสบการณ์ก็ทำให้เรารู้จักระวังเวลาทำงานมากขึ้น อย่างบางทีเราไปเจอเรื่องซีเรียส เรื่องที่ไม่ดี เรื่องที่ทำให้จิตใจเราดาวน์ เราต้องพยายามเรียนรู้เรื่องพวกนี้เยอะเลยว่าเราจะจัดการยังไง ผมเคยนะ เคยเก็บเอามาคิดเยอะ ๆ ทําให้ร่างกายแย่ เช่น สมมติด้วยเรื่องง่าย ๆ นะ ผมไปทำงานกับพี่น้องปกากะญอ ได้เห็นวิถีชีวิตเขา แล้ววันดีคืนดีก็มีคนมาทําลายข้าวของในไร่เขา ในสิ่งที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย! มันดีงามมากเลยนะคุณมาทำลายมันทำไม อะไรอย่างนี้ที่ทำให้จิตใจเรารู้สึกกับมันมากว่า…ทำไมคนไม่เข้าใจสักที”

“หรือทริปทำงานบนเทือกเขาหิมาลัย ผมก็จะสังเกตและสนใจคนธรรมดา ๆ อย่างคนนั่งทุบหินอยู่ทั้งวันทั้งคืนบนที่ที่ไม่มีออกซิเจนน่ะ แล้วก็ไม่มีน้ำจะกิน เราเอาน้ำไปให้เค้ากินทีเดียวหมด 1.5 ลิตรเลยเพราะมันแห้งแล้งมาก เราก็ได้งานอันนั้นมาด้วย หรืออย่างระหว่างทางที่เราผ่านสะพานหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์น้ำมารุนแรงมากพัดสะพานพังหมดเลย พอเดินทางแล้วรู้เลยว่า เออ! ชีวิตเรามันเล็กจริง ๆ” 



อยากมีร่างกายที่ดีเพื่อทำงานในช่วงที่กำลังมีความสุข

“ผมไม่ได้คิดว่าผมจะมีอายุยืนยาวเลยนะ ผมอยากมีร่างกายที่ดีเพื่อที่จะทำงานในช่วงที่ผมกำลังมีความสุข ผมดูแลสุขภาพปกตินะครับ ผมออกกำลังกาย ผมวิ่ง ไม่ได้กินอาหารมั่วซั่ว ไม่ดื่ม ไม่เที่ยว ไม่นอนดึก คือเอาจริง ๆ ถ้าเกิดว่าผมทํางานได้ตามเป้าที่ผมวางไว้ผมจะไปตอนไหนก็ได้”

แล้วตามเป้าน่ะหมายถึงอะไรหรือ?  

“ก็คืออาจจะสัก 10 ปีนี้ผมอาจจะทํางานอีกซัก 4 - 5 ชุดที่ที่ผมอยากทำ นอกจากงานแล้วแฟนผมดูแลลูกได้ ผมไม่ได้รู้สึกว่าการจากไปมันเป็นเรื่องที่.. แต่คือคนข้างหลังเขาไม่ได้คิดอย่างเรานะ เพียงแต่ผมรู้สึกอยากมีชีวิตที่แข็งแรง ทำงานที่ดี ดูแลครอบครัวในช่วงระยะเวลาหนึ่งให้ดีที่สุด ไม่ใช่แบบ โอ้โห อยู่ไปถึง 80 แต่ทำอะไรไม่ได้ตั้งแต่ 50 หรือทำได้แบบนิด ๆ หน่อย ๆ แต่ถ้าถึง 50 แล้วเราได้ทำงานเต็มอิ่มอย่างที่เราอยากทำ ก็โอเค พอละ แล้วงานถ่ายภาพนี่กําหนดด้วยร่างกายนะครับ ถ้าร่างกายไม่ไหวเหมือนเดิมมันจะบ่งบอกในงานเลย ร่างกายเปลี่ยนวิธีคิดมันจะเปลี่ยน งานตอนอายุ 50 ผมอาจจะนิ่ง ๆ แต่เราเลือกในเชิงประเด็นให้มันลึกขึ้น


ชีวิตคือความเชื่อมโยง

คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงหากพูดว่าโก๊ะคือช่างภาพสารคดีที่ประสบความสำเร็จในการทำงานเชิงประเด็นชุมชน สังคม และผู้คนเล็กน้อยอันหลากหลายคนหนึ่งในเส้นทางการทำงาน ไม่ใช่การการันตีด้วยโล่รางวัลหรือการประกาศเกียรติคุณใด ๆ นั่นหรอก แต่ความสำเร็จดังกล่าวสะท้อนอยู่ในคุณค่าและเนื้อหาของภาพทุกภาพที่ผ่านสายตาและมุมมองของเขา การทำงานคือการเชื่อมโยงชีวิตและจิตใจของเขากับผู้คนที่เขาเข้าไปสัมผัสสัมพันธ์แล้วถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด 



ชีวิตผมขับเคลื่อนด้วยการเชื่อมโยงกับคนอื่น ถ้าผมไม่เชื่อมโยงคนอื่นการถ่ายภาพของผมก็ไม่ได้มีความหมายอะไร ผมอยากให้ตัวเองเข้าไปเชื่อมโยงอยู่กับชีวิตคนอื่นแล้วเล่าเรื่องให้อีกคนหนึ่งรู้ ยิ่งถ้าเป็นปัญหาที่คนเข้าใจผิด เช่น นาย ก. ถูกนาย ข. เข้าใจผิดว่าเป็นคนเลว ผมอยากเข้าไปดูว่า นาย ก. เลวยังไง แล้วก็ถ่ายทอดออกมาว่า จริง ๆ เค้าทําอยู่นะ คุณเข้าใจเค้าใช่ไหม ชีวิตผมมีความหมายเมื่อได้เชื่อมโยงกับคน ได้ทําอะไรเพื่อคนอื่น มันมีโปรเจ็คหนึ่งชื่อ Save Birth For All เป็นโปรเจ็คที่เข้าไปสอนหมอตำแยให้ทําคลอดอย่างปลอดภัย เอาชุด kit ไปให้หมอตำแยในพื้นที่ห่างไกลที่แม่ไม่สามารถออกมาคลอดที่โรงพยาบาลได้ ผมไปอยู่ที่แม่สะเรียง 10 กว่าวันเพื่อไปถ่ายรูป แล้วส่งงานไปที่ลอนดอน คนได้เห็นว่าโปรเจ็คนี้ดีจัง คือไม่ใช่ว่าวิดีโอที่ผมถ่ายนี้มันดีจัง แต่หมายถึงการคิดเรื่องระบบสาธารณสุขที่ถูกจำกัดด้วยงบประมาณรัฐอันนี้มันดีจัง เค้าก็ให้งบประมาณทําต่อ 5 ปีเป็นสิบล้าน ผมรู้สึกว่า เออ เนี่ย เวลาคุณไปเชื่อมโยงกับคน คุณเล่าเรื่องคนแบบนี้แล้วมีคนมาช่วยเหลือ ถ้าคุณไม่มีความสุขผมก็ไม่รู้จะว่าไงนะ ผมมีความสุขมาก ผมรู้สึกว่าชีวิตเรามีความสุขเพราะการทําแบบนี้ไง ผมทําเรื่องไร่หมุนเวียนของปกากะญอที่คนบอกว่าไร่เลื่อนลอย เผาป่านู่น นี่ นั่น ทีนี้พอทำไปมีคนรุ่นใหม่มาสนใจแล้วเขาบอกว่า เออ สิ่งที่เขาคิดมันไม่ใช่ ผมมีความสุขมากเลยที่คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้กับเรื่องนี้ คืออันนี้แหละถ้าทําได้ไปเรื่อย ๆ จนเริ่มทำไม่ไหว จะตายก็ไม่เป็นไร 


สำหรับผมความตายเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่ง เพียงแต่เราควรเลือกว่าก่อนตายเราจะทำอะไร และการตายดีก็คือการได้ทําสิ่งที่ตัวเองอยากทําแล้วคนอื่นได้ประโยชน์ แต่รูปแบบการตายเป็นโรคหรือเป็นอะไรก็ได้”



ชมรายการ “เพื่อนชีวิต” ตอนที่ 3 “ชีวิตเป็นเพียงหินก้อนเล็ก ๆ ก้อนหนึ่ง” โก๊ะ - ชลิต สภาภักดิ์





ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรอยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads