Knowledge cover image
12 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. การจัดกระเป๋าเดินทางครั้งสุดท้าย ที่ลงมือทำได้ตั้งแต่วันนี้

การจัดกระเป๋าเดินทางครั้งสุดท้าย ที่ลงมือทำได้ตั้งแต่วันนี้

พีระพัฒน์ เหรียญประยูร


เรื่องโดย a day BULLETIN

ชีวิตคนเราจริง ๆ แล้วไม่มีอะไรยากและไม่มีอะไรวุ่นวาย เพราะในวาระสุดท้าย เราทุกคนเอาอะไรติดตัวไปด้วยไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้น การจัดกระเป๋าเพื่อเตรียมตัวออกเดินทางครั้งสุดท้าย โดยหลักการแล้วจึงเป็นเพียงแค่การสร้างความมั่นคงปลอดภัย จัดการเอกสารทางกฎหมาย สะสางสิ่งที่เหลืออยู่เมื่อเราจากไป โดยเราต้องทำทุกอย่างไว้ตั้งแต่ในตอนนี้ ตอนที่ยังมีชีวิตแข็งแรงอยู่


‘คุณอั๋น’ – พีระพัฒน์ เหรียญประยูร Head of Wealth Planning กลุ่มงานไพรเวตแบงกิ้ง ธนาคารกสิกรไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการวางแผนการเงิน ได้ให้คำแนะนำกับเราถึงสิ่งที่ต้องพิจารณาในการจัดกระเป๋าครั้งสุดท้าย ว่าประกอบด้วยความต้องการในอนาคตของเรา 2 ด้านคือ

1 เราเองอยากจะมีความเป็นอยู่อย่างไรเมื่อเข้าสู่ระยะท้ายของชีวิต และ

2 เราอยากจะให้ญาติรอบตัวเข้ามาช่วยทำตามความต้องการนั้นอย่างไร

 

ปัจจัยภายนอกที่เราต้องพิจารณา เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนการจัดกระเป๋าเดินทาง ประกอบด้วย สิทธิขั้นพื้นฐานที่เราทุกคนมี การวางแผนการเงินการลงทุนส่วนตัวตั้งแต่วันนี้ และการเตรียมเอกสารทางกฎหมาย เพื่อให้ญาติหรือทรัสต์มาจัดการแทนเมื่อเราเข้าสู่ระยะท้าย

 

รู้สิทธิขั้นพื้นฐาน

สิ่งที่ต้องรู้ไว้คือเรื่องโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่รักษาได้หรือรักษาไม่ได้ และเราในฐานะประชาชนมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลเพียงไร


“อย่างเช่นกรณีของพนักงานที่บ้านคนหนึ่ง เขาใช้ชีวิตเต็มที่ กินดื่มเที่ยวสนุกสนานจนติดโรคร้าย ญาติมาพาเขากลับบ้านต่างจังหวัดเพื่อนอนรอความตาย ในขณะที่ความเป็นจริงแล้วเขามีสิทธิได้รับยาเพื่อรักษาอาการและเพิ่มภูมิคุ้มกัน เราจึงไปตามเขากลับมากรุงเทพฯ เพื่อมารับยาและการรักษาพยาบาล จนกระทั่งอาการค่อย ๆ ดีขึ้น และทุกวันนี้เขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติและทำงานได้ต่อไป”


สิ่งที่เราทุกคนต้องทำคือรักษาสุขภาพให้ดีก่อน เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคร้ายและโรคเรื้อรัง ซึ่งจะช่วยลดค่ารักษาพยาบาล ตอนเราแก่ชราไปจะได้ไม่ต้องใช้เงินที่เราสะสมไว้มากนัก คนที่ดูแลตัวเองไม่ดี เงินเก็บทั้งชีวิตของเขาจะหายไปกับการรักษาโรคในระยะท้าย เช่น มะเร็ง เบาหวาน และการล้างไต นี่คือโรคเบสิกที่สุดที่เราทุกคนจะต้องเจอ แต่เรากลับไม่สนใจเลย

 

สิ่งที่ทุกคนต้องรู้คือเรามีสิทธิการรักษาขั้นพื้นฐานอยู่ เริ่มต้นจากกลุ่มข้าราชการมีบัฟเฟอร์ชั้นหนึ่ง ต่อมาคือกลุ่มคนมีบัตรทองและมีประกันสังคม ก็เป็นบัฟเฟอร์อีกชั้นหนึ่ง แต่เมื่อตรวจเจอโรคร้าย เงินค่ารักษาพยาบาลจะข้ามเกินขีดของบัฟเฟอร์เหล่านี้ และตรงนี้เองที่เราต้องเตรียมการรับมือให้ดี


จัดกระเป๋าการเงิน

“เรื่องราวของคนรู้จักคนหนึ่ง เขาลากิจไปทำธุระที่บ้านนานห้าหกเดือน จนกลับมาทำงาน ผมก็ถามว่าไปไหนมา เขาบอกว่าคุณพ่อเส้นเลือดในสมองแตก จึงเพิ่งขายบ้านไปเพื่อนำเงินมารักษาคุณพ่อ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาอยากยื้อพ่อไว้ มีอะไรก็ขายไป ตอนนี้คุณพ่อพักฟื้นอยู่ในสถานดูแล เขาทำงานมีรายได้ไม่เยอะนักหรอก แต่ตอนนี้เขาต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูและรักษาพยาบาลเดือนละหลายหมื่นบาท”


คุณอั๋นบอกว่า สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นให้เห็นเป็นประจำรอบตัวเรา ทั้งที่ทุกคนรู้ดีว่ามันเกิดขึ้นกับเราและญาติพี่น้องของเราแน่นอน ทำไมเราไม่วางแผนไว้เลย

1 เริ่มต้นวางแผนการเงินของตัวเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เกินบัฟเฟอร์ออกมา เมื่อถึงเวลานั้นเราจะไม่ต้องขายบ้านหรือเสียทรัพย์สินไปจนหมด

2 ศึกษาข้อมูลค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเหล่านี้ โดยเฉลี่ยตกอยู่ที่เท่าไหร่ โดยไม่ต้องคำนวณจากโรงพยาบาลหรูหรา แต่เป็นโรงพยาบาลธรรมดา ๆ เราจะเห็นตัวเลขเงินที่ต้องเก็บเอาไว้เอง นี่ไม่ใช่เงินออมเอาไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ แต่เป็นเงินก้อนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นไปกว่านั้น เมื่อเกิดวินิจฉัยเจอโรคอะไร มีการคำนวณกันว่าเงินเฟ้อในค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลจะสูงกว่าเงินเฟ้อในภาพรวมของเศรษฐกิจอยู่ 2 - 3 เท่าตัว เพราะฉะนั้น มันคือเงินก้อนที่เราจะต้องเตรียมหามาให้ครอบคลุม

3 วางแผนย้อนกลับมาว่าเมื่ออายุยืนขึ้น ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลสูงขึ้น เราจะอยู่กันอย่างไร ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและประกันสุขภาพที่ขายอยู่อาจจะไม่ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าแต่ละคนได้ดีพอ เราอาจจะต้องวางแผนเฉพาะสำหรับตัวเองให้รัดกุม


จัดแจงเอกสาร

อีกส่วนหนึ่งซึ่งอยู่นอกเหนือจากการวางแผนการเงินคือ การตระเตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้เรียบร้อยเผื่อไว้ในยามที่เราช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องทำพินัยกรรมและหนังสือมอบอำนาจต่าง ๆ เพื่อให้ญาติช่วยจัดการเรื่องราวต่าง ๆ แทน


“คนรุ่นเก่าไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้มาก่อนก็เลยไม่เคยวางแผน เขาแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป ในกรณีของคนที่มีฐานะ และมีครอบครัวช่วยดูแลก็ยังปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง แต่ในกรณีของที่ไม่มีครอบครัว ไม่มีเงินเก็บมากมาย จะรับมือได้อย่างไร แนวโน้มประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ และมีคนแก่ที่อยู่กันเองโดยไม่มีคนดูแลจำนวนมาก จะทำอย่างไร”


วงการธนาคารและนักกฎหมายกำลังวางแผนกันผลักดันให้ภาครัฐออกกฎหมายตั้งทรัสต์ในประเทศไทยได้ trust for special need เพราะเราพบว่าคนแก่ซึ่งไม่มีลูกหลาน ไม่สามารถบริหารจัดการเงินเก็บของตัวเองได้ ไปธนาคารเบิกเงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลตัวเองก็ลำบาก ดังนั้น การตั้งทรัสต์จะช่วยแก้ปัญหา

 

รวมถึงกลุ่มพ่อแม่ที่มีลูกพิการ ดูแลตัวเองไม่ได้ พ่อแม่กลุ่มนี้จะตายตาไม่หลับ เพราะเขาไม่รู้ว่าเมื่อถึงวันที่ลูกเขาต้องอยู่เอง จะอยู่อย่างไร trust for special need จะมาตอบโจทย์แบบนี้ได้ด้วย เอาเงินก้อนหนึ่งฝากไว้เลย เอาไปบริหารจัดการ แล้วก็เอาดอกผลมาดูแลลูก


“ภาพที่อยากเห็นในอนาคตคือ คุณวางแผนจัดกระเป๋าไว้ตั้งแต่ตอนนี้ แบ่งเงินก้อนหนึ่งไว้กับทรัสต์ เผื่อไว้กรณีที่คุณจัดการเองไม่ได้ ทรัสต์ก็จะจัดการแทนคุณ ทำหน้าที่เหมือนลูกหลาน คือไปติดต่อโรงพยาบาลอย่างไร ไปเข้าเนอร์สซิงโฮมอย่างไร ไปจนถึงวันตายที่ทรัสต์จะมาจัดงานศพให้ คนแก่ในต่างประเทศได้ประโยชน์จาก rust for special need แบบนี้อย่างมาก และบ้านเราควรจะมีได้แล้ว” คุณอั๋นเสนอแนวคิด


กล่าวโดยสรุป สุดท้ายแล้วก็ย้อนกลับไปที่เรื่องสุขภาพก่อน ชีวิตก็มีอยู่แค่นี้เอง คือสองก้อนหลัก ๆ หนึ่ง เตรียมตัวตั้งแต่ตอนแรกรักษาสุขภาพ สิทธิขั้นพื้นฐาน จัดกระเป๋า วางแผนในอนาคตและย้อนกลับมาเตรียมตัวตอนนี้ และสอง เมื่อเข้าสู่ระยะท้าย เราช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เราจะทำเอกสารต่าง ๆ เตรียมไว้เพื่อมอบหมายให้คนอื่นเข้ามาจัดการเรื่องราวแทนเรา


ถ้าผู้ป่วยเองวางแผนไว้ดี ลูกหลานก็จะสบาย ทำไปพร้อมกันตั้งแต่วันนี้ ความเจ็บป่วยและความตายมันไม่ใช่เรื่องของเราคนเดียว แต่เป็นเรื่องของลูกหลานเราด้วย

a day BULLETIN avatar image
เรื่องโดยa day BULLETIN-

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads