- คลังความรู้
- แท้จริงแล้ว… ความตายไม่ใช่ศัตรู
แท้จริงแล้ว… ความตายไม่ใช่ศัตรู
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์
เรื่องโดย a day BULLETIN
“ความตายไม่ใช่ศัตรู และมันก็ไม่ใช่เพื่อน มันเป็นธรรมชาติที่อยู่เคียงคู่ไปกับชีวิตเรา”
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ให้สัมภาษณ์กับ a day BULLETIN แบบเอ็กซ์คลูซีฟสุด ๆ เป็นครั้งแรกที่ออกมาปรากฏตัวกับสื่อ หลังจากที่ล้มป่วยครั้งใหญ่ในวัย 79 ปี เป็นโรคหัวใจ ตามด้วยผลพวงที่ซับซ้อนต้องนอนรักษาตัวในห้องไอซียูนานถึง 3 สัปดาห์ ใช้เวลาเป็นเดือน ๆ กว่าที่จะฟื้นตัวกลับมา เพื่อบอกเล่าประสบการณ์และบทเรียนชีวิตอันล้ำค่า
ในฐานะผู้ก่อตั้งและประธานที่ปรึกษา บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม เธอสนใจศึกษาธรรมะ ชีวิต และความตายมาอย่างยาวนาน มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์เรื่องการตายดีสำหรับสังคมไทย เธอเป็นวิทยากรและช่วยรวบรวมองค์ความรู้ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยระยะท้าย จนเมื่อต้องมาเผชิญหน้ากับภาวะเจ็บป่วยครั้งนี้ด้วยตัวเอง
นี่คือบทสนทนาแบบคำต่อคำ ว่าเธอคิดและมองความตายอย่างไร
ชีวาคือพลังของชีวิต
เหตุที่เราตั้งชื่อบริษัทนี้ว่า ชีวามิตร เพราะต้องการบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตก็คือ ‘ชีวา’ ซึ่งหมายถึงพลังของชีวิต ความสดใส การเคลื่อนไหว สติปัญญา และอื่น ๆ ในตัวเราที่ทำให้ชีวิตมีคุณภาพ สำหรับตัวป้าเอง ชีวาก็คือความกระตือรือร้น อยากเรียนอยากรู้ อยากมีส่วนสร้างสุขให้กับโลก
เพราะว่าแก่มากแล้ว ป้าก็อยากเล่าอดีตให้ฟัง ไม่รู้ว่าจะเสียเวลาคุณไหม แต่ฟังเอาไว้ก็คงไม่เสียหลาย สมัยอายุ 18 - 19 ปี เรียนจบแค่มัธยมมาจากอังกฤษ ป้ากลับมาเป็นนักข่าวอยู่หนังสือพิมพ์ บางกอกเวิลด์ (Bangkok World) บรรณาธิการสมัยนั้นชื่อ ดาร์เรลล์ เบอร์ริแกน (Darrell Berrigan) เป็นอเมริกันที่เคยทำงานในหน่วย OSS (The Offfiice of Strategic Services ซึ่งต่อมาเปลี่ยนมาเป็น Central Intelligence Agency หรือ CIA) บรรดาลูกน้องชอบเรียกเขากันว่าแบร์รี เขารู้จักกับ จิม ทอมป์สัน และเคยทำงานสืบราชการลับด้วยกันที่เมืองจีน หลังจากนั้นก็มาอยู่เมืองไทยกันทั้งสองคน เขาเป็นเพื่อนสนิทกันมาก สมัยที่ป้าทำงานอยู่ บางกอกเวิลด์ ก็เห็น จิม ทอมป์สัน แวะมาเยี่ยมแบร์รีบ่อย ๆ
ต่อมา ดาร์เรลล์ เบอร์ริแกน ถูกยิงตายในรถที่จอดอยู่ในสวนลุม ที่เกิดเหตุนั้นคล้ายว่าเป็นคดีเรื่องรักร่วมเพศ คือสภาพศพปลดกางเกง คว่ำหน้า และถูกยิงที่ขมับ กลายเป็นคดีฆาตกรรมที่โด่งดังมากในช่วงนั้น เพราะหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในยุคนั้น ก็มีบางกอกเวิลด์ และบางกอกโพสต์ ที่เป็นคู่แข่งกัน ตอนนั้นมีข่าวใหญ่มากสองข่าว คือความตายของแบร์รี ช่วงปลายปี 2508 กับการหายตัวอย่างลึกลับไปในป่ามาเลย์ของ จิม ทอมป์สัน ต้นปี 2510 ห่างกันแค่ปีกว่า ๆ นอกจากนั้น ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน น้องสาวของจิมก็ถูกคนร้ายบุกเข้าไปฆ่าในที่พักในนิวยอร์ก
คดีของเบอร์ริแกนยังคงติดค้างอยู่ในใจป้าจนถึงทุกวันนี้ คือยังไม่มีใครรู้แน่เลยว่าเขาถูกฆ่าเพราะอะไร ฆาตกรเป็นใคร หลายคนเชื่อว่าเป็นเรื่องทางการเมือง ป้าเคยคุยกับ คุณเภา สารสิน ผู้เป็นหัวหน้าสอบสวนคดีนี้ ในขณะที่คุณเภายืนยันว่าเป็นคดีฆาตกรรมเกย์ สำหรับป้า ป้ามองแบร์รีว่าเป็นทั้งครูและเป็นทั้งพ่อทางวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นวิชาที่ติดตัวป้ามาจนถึงทุกวันนี้
มีการพูดกันว่า ‘Once a Journalist, always a Journalist.’ หมายความว่า ถ้าคุณเคยเป็นนักข่าว คุณก็จะเป็นนักข่าวตลอดไป ซึ่งป้าว่ามันจริงนะ คือความอยากรู้อยากสืบเสาะหาความจริงจะติดอยู่ในตัวเราไปตลอด เมื่อสองสามปีก่อนตอนที่ไปวอชิงตัน ป้าก็ไปที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งชื่อว่า นิวเซียม (Newseum) มีทุกอย่างที่เกี่ยวกับข่าวและการทำข่าว ป้าชอบมาก ๆ แบบแทบจะกราบพวกนักเรียนไทยที่อเมริกาให้ไปเยี่ยมชมที่นี่กัน และอีกแห่งหนึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับสายลับ ข้างในนั้นก็มีทุกอย่างเกี่ยวกับกิจการสายลับสมัยก่อน อยากจะเล่าให้ฟังว่าตอนสาว ๆ ป้าชอบเรื่องสายลับมากนะ ชอบซื้อพวกเครื่องอุปกรณ์สายลับเพื่อใช้ในการทำงาน สมัยนั้นใคร ๆ เห็นก็บอกว่าป้าบ้ามาก ๆ
ตอนเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์นี้ก็บังเอิญเห็นเขาติดป้ายประกาศไว้ว่า วันรุ่งขึ้นจะมีงานบรรยายเรื่องคดี จิม ทอมป์สัน ประหลาดไหมที่บังเอิญมาเจองานนี้พอดี คนที่มาบรรยายเป็นอดีต CIA ที่รับผิดชอบการค้นหา เขาบอกว่าเป็นการค้นหาที่ใช้คนมากที่สุด และยาวนานที่สุดในประวัติการทำงานของ CIA ปรากฏว่าบรรดาคนที่ไปนั่งฟัง ตอนท้ายงานก็ยกมือแสดงความเห็นเยอะแยะ และแต่ละคนที่ยกมือเป็นอดีตสายลับ CIA เกือบทั้งนั้นเลย มีอดีตนักข่าวอยู่บ้าง และป้ากับพวกที่ไปด้วยกันเป็นคนไทยรวม 4 คน ป้าก็เลยยกมือพูดเป็นคนสุดท้าย บอกว่าเราเคยทำงานให้ ดาร์เรลล์ เบอร์ริแกน และรู้จักกับ จิม ทอมป์สัน มาก่อน ป้าก็วิเคราะห์ทฤษฎีของเขา ถึงช่วงจบงานคนฟังก็เดินมาทักทาย ขอจับไม้จับมือกันใหญ่ (หัวเราะ)
ด้วยความรู้สึกตื่นเต้นกับเรื่องราวต่าง ๆ แบบนี้แหละ ที่ทำให้ป้ารู้สึกมีชีวิตชีวา และตอนนี้ก็อยากมาทำให้กลุ่มชีวามิตร เพราะอยากรู้ว่าชีวิตและความตายมันคือยังไงกันแน่
สติที่ตั้งมั่นในวันที่เจ็บป่วย
ประสบการณ์การเจ็บป่วยครั้งที่เพิ่งผ่านมา ทำให้ป้าได้เรียนรู้เรื่องความตาย ถึงแม้จะคิดว่ามันไม่ใช่ศัตรู แต่ก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นเพื่อนหรอกนะ มันสอนอะไรป้าเยอะมาก
ป้าล้มอยู่ตรงนี้เลย (ชี้ให้ดู) ก่อนหน้าวันที่จะล้ม ป้าก็มีอาการแปลก ๆ กับตัวเอง แต่ไม่ทันคิดอะไร ตอนนั้นป้าไปอินเดีย ไปที่พุทธคยา คือป้าเป็นชาวพุทธที่พยายามฝึกฝนปฏิบัติอย่างตั้งใจ เราคิดไว้อยู่แล้วว่าความตายไม่ใช่ศัตรู แต่เราก็ไม่อยากเกิดอีกแล้ว ไม่อยากเกิด ไม่อยากตาย รู้สึกว่าพอแล้ว ป้าก็ไปเที่ยวพุทธคยา ศึกษาศาสนา ไปเดินที่นั่นเจ็ดวัน เดินเยอะมาก เหนื่อยมาก ระหว่างนั้นก็มีอาการแปลก ๆ เหมือนจะเป็นลมอยู่เรื่อย แต่ก็ไม่บอกใคร ไปกับลูก แต่ก็ไม่ได้บอกลูกว่าจะเป็นลม
พอกลับมาเมืองไทยก็ยังไปร่วมงานปีใหม่ของโรงพยาบาลจักษุ รัตนิน แถมยังขึ้นไปเต้นร็อกอยู่บนเวที เต้นแบบดุเดือดเลยล่ะ ลูกน้องก็ดีใจตื่นเต้นกันใหญ่ว่า ป้าอายุขนาดนี้ยังแข็งแรงได้แบบนี้ ตอนเต้น ๆ อยู่นั้นก็เหมือนจะล้มอีกแล้ว แต่เราก็ไม่ได้บอกใคร ก็ไม่นึกว่ามันจะเป็นอะไรร้ายแรง จนวันรุ่งขึ้นมานั่งประชุมอยู่ที่นี่ ประชุมเสร็จแป๊บเดียวก็ล้มเลย มันล้มจริง ๆ เลย
ตั้งแต่ก่อตั้งชีวามิตรมา ป้าก็เคยคิดเล่น ๆ กับตัวเองว่าถ้าจะต้องตายด้วยโรค เราจะเลือกโรคอะไรดี… เราก็ตอบว่าโรคหัวใจเถอะ… คือคิดเล่น ๆ ไว้กับตัวเอง วันนั้นที่ป้าล้ม นอนแอ้งแม้ง ลูกสาวรีบพาเข้าห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาล ป้าก็นอนอยู่บนเตียงรอหมอ มีหมอเดินเข้ามา เขาก็บอกว่าคุณป้าเป็นโรคหัวใจนะ ป้าก็บอกว่า “เย้!” คุณหมออีกคนที่รู้จักกันดีก็หัวเราะแล้วร้องว่า “เห็นด้วย!”
แต่มันไม่ใช่แค่นั้นนะ ยังมีความซับซ้อนและผลพวงที่ไม่มีใครนึกถึงตามมาหลายอย่าง สรุปแล้วอยู่โรงพยาบาลรวมเดือนหนึ่งเต็ม ๆ อยู่ในไอซียูสามอาทิตย์ แต่ละวัน ๆ จะมีข่าวร้ายเข้ามาบอกป้าเพิ่มขึ้น ๆ แถมมีโรคแทรกซ้อนเป็นความดันขึ้นมาอีก อะไรต่อมิอะไรเยอะแยะ กว่าจะประคับประคองให้ฟื้นขึ้นมาได้ พอหมอจะให้ออกจากโรงพยาบาล วันรุ่งขึ้นก็ไปวิจารณ์หนังบนเวที โครงการจุฬาพาเพลิน ซึ่งป้าร่วมริเริ่มกับ คุณหมอสุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย แห่งศูนย์พัฒนาสมองผู้สูงอายุของโรงพยาบาลจุฬาฯ และ คุณสัณห์ชัย โชติรสเศรณี แห่งศูนย์ภาพยนตร์แห่งชาติ เราจัดเป็นการฉายหนังดี ๆ ให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีอายุ 50 ขึ้นไปดูฟรี ฟังร่วมในการวิเคราะห์วิจารณ์ ขอโฆษณาโครงการนี้ซะเลย เราทำกันสองเดือนครั้ง ทำมาเกือบ 3 ปีแล้ว จากมีคนเข้ามาดูกันแค่ 40 กว่าคน กลายเป็นมีแฟนประจำ มากันครั้งละ 200 กว่าคนแล้ว
หมอก็อนุญาตให้ไปขึ้นเวที เขาบอกว่าถือเป็น Stress Test (ทดสอบกำลัง) ไปพูดก็สนุกสนานดี คิดว่าจะได้ไปพักฟื้นที่บ้านแล้ว ไม่ต้องติดเตียงไอซียู ขอยกให้คนไข้อื่นเขาได้ใช้บ้าง แต่คืนนั้นก็ทรุดฮวบลงอีกครั้ง มีอาการใหม่ที่เกิดแทรกเข้ามา ก็ต้องกลับเข้าไอซียูอีกรอบ (หัวเราะ) เป็นอะไรที่ทีมหมอเครียดกันเลย สามีกับลูก ๆ ก็ชักไม่แน่ใจว่าจะรอดไหม แต่คนไข้ไม่ยักเครียด จนเดี๋ยวนี้มองย้อนไปก็ไม่รู้ว่าทำไมเราไม่เครียด ไม่กลัว คล้ายว่าเรื่องมันจะเกิด มันก็เกิด มันจะเป็น มันก็เป็น และมันก็เป็นไปแล้ว หมอเจ้าของไข้ก็ตั้งใจรักษาคนไข้ดีที่สุดแล้ว
อาการทรุดฮวบลงครั้งนี้ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีสำหรับชีวามิตรได้เลย คือเช้าวันหนึ่งคุณหมอเจ้าของไข้ก็มายืนปลายเตียง และพูดว่ามีเรื่องยากมากให้ป้าตัดสินใจ ป้าถามว่าเรื่องอะไร หมอบอกว่าให้ป้าตัดสินใจเลือกว่าจะเสี่ยงด้านไหน ระหว่างสมองกับหัวใจ ป้าก็ตอบปุ๊บเลยว่า เอาสมองไว้ เสี่ยงหัวใจ แล้วเราก็ยื่นมือมาแปะกันแบบนักเลงเลย โอเค ตามนี้
คือก่อนหน้านี้ หมอเจ้าของไข้ได้ไปถามลูกชาย ลูกชายก็บอกว่าให้หมอถามแม่โดยตรงเลยดีกว่า เขารู้ว่าแม่จะต้องการอย่างนั้น สิ่งนี้แหละที่ป้าว่าดีมาก ๆ คือทั้งหมอและญาติให้เกียรติผู้ป่วยในฐานะเจ้าของชีวิตและชีวา เคารพสิทธิ์เราที่จะเลือกและตัดสินใจด้วยตัวเอง
โดยทั่วไป หมออาจจะไม่กล้าบอก ไม่กล้าอธิบายหรือถามคนไข้ตรง ๆ ในเรื่องที่เขาคิดว่าคนไข้จะรับได้ยาก แต่สำหรับคนที่รับได้ ป้าคิดว่าประสบการณ์ครั้งนี้แหละแสดงให้เห็นบทบาทของหมอ บทบาทของญาติ และบทบาทของผู้ป่วย อย่างที่น่าจะเป็น หมอไม่ต้องกังวลใจเพราะคนไข้มีส่วนเป็นผู้ตัดสินใจว่านี่คือทางเลือกของฉัน คนไข้เองก็รู้สึกสงบกับใจตัวเอง เพราะการตัดสินใจนั้นเป็นทั้งการเข้าใจและการยอมรับบนพื้นฐานของความเป็นจริง
หมอก็อธิบายความเสี่ยงต่อทางเลือกแต่ละทางให้ป้าฟังอย่างตรงไปตรงมา ว่าการรักษาแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไร อาจจะส่งผลต่อเนื่องกันต่ออวัยวะไหนบ้าง อย่างไร ผลที่เลวร้ายที่สุดคืออะไร ที่ดีที่สุดคืออะไร กระบวนการรักษาเป็นอย่างไร แน่นอนว่าหมอและญาติต้องเข้าใจคนไข้ให้ดี เพราะคนไข้บางคนอาจจะรับไม่ได้
ซึ่งนี่แหละคืองานของชีวามิตร การให้ความรู้ความเข้าใจกับคนที่สนใจที่จะเตรียมตัวเตรียมใจตัวเองและคนรอบข้าง เพื่อความพร้อมที่จะพบความเจ็บป่วยและความตาย ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายและจิตใจ ความสัมพันธ์และจากพราก ด้านกฎหมายและทรัพย์สิน น้อยคนที่เกิดมาแล้วจะไม่พบความแก่ ความเจ็บป่วย และที่แน่นอนคือความตาย ป้ามองว่า ชีวิตกับความตายเป็นคู่จูงมือกันอยู่ทุกเวลา
ท่านอาจารย์ไพศาล วิสาโล ท่านว่าทุกอย่างที่เรากินเพื่อยังชีวิตเป็นสิ่งที่ตาย ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ นี่เรื่องจริงเลยนะคะ ข้าวปลาหมูเห็ดเป็ดไก่ที่เรากินก็ล้วนตายแล้วทั้งนั้น แล้วจะว่าความตายเป็นศัตรูได้ยังไง ชีวิตอยู่คู่กับความตายโดยตลอด
พอเราตกลงกันได้แบบนี้ก็เข้าสู่กระบวนการรักษา ป้าขอไม่เล่ารายละเอียดนะแต่จะเล่าประสบการณ์ Hallucination (ประสาทหลอน) ระหว่างที่สะลึมสะลือหลังตื่นจากยาเฟนทานิล (Fentanyl) ประสบการณ์นี้ทำให้ประจักษ์กับใจเลยว่าการปฏิบัติธรรมในพุทธวิถีนั้นทำให้เรามีสติสมาธิที่จะอยู่กับฐานความเป็นจริง และพิจารณาความเป็นไปอย่างไม่วูบวาบหวั่นไหวได้
วันนั้นพอรู้ตัวก็เห็นเหมือนกำลังอยู่ในป่าที่มืดสลัว เป็นป่าที่คล้ายถูกไฟไหม้ ต้นไม้บางต้นยังมีใบเป็นพุ่มดำ ตรงที่เป็นกิ่งดำเกรียมยื่นออกมาดูคล้ายกระดูกซี่โครงมนุษย์ มองเข้าไปในป่านั้นด้วยความฉงน ป้าก็ลองเดินเข้าไป ด้วยเชื้อของความเป็นนักข่าวไง ‘Once a Journalist, always a Journalist.’ (หัวเราะ) เราอยากรู้อยากเห็นตลอดมา ก็ตัดสินใจเดินเข้าไปสำรวจให้เข้าใจ
หลังจากนั้นก็เคยเอาไปเล่าให้พระอาจารย์ที่มาเยี่ยมที่โรงพยาบาล ท่านสอนว่าเราไม่ควรเดินเข้าไปในภาพหลอน แต่ตอนนั้นเราก็มีสติอยู่ตลอดนะ ซ้อนอยู่กับภาพหลอน เป็นสติที่รู้ตัวทั่วพร้อมทั้งกายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกายที่นอนอยู่ ในขณะเดียวกัน เมื่อไหร่ที่ลืมตาก็เห็นว่าเป็นห้องพักฟื้น เป็นการรับรู้สามด้านที่ซ้อนกันอยู่ ป้าได้ทดลองมองเห็นสลับไปมาระหว่างภาพหลอนเมื่อหลับตา กับภาพจริงในห้องผ่าตัดเมื่อลืมตา พร้อมกับการมีสติอยู่กับการเห็นทั้งสองอย่าง เห็นเลยว่า อะไรที่เราเห็นว่าจริง มันก็ไม่จริงอยู่ตลอด
พอเขามาเข็นจากห้องพักฟื้น ภาพหลอนก็หายไป ภาพห้องพักฟื้นก็ไม่มีแล้วเช่นกัน
ป้าอยากเล่าประสบการณ์ภาพหลอนให้ฟัง เพราะอยากให้ทุกคนได้เห็นตามจริงว่า ทุกสิ่งในชีวิตไม่แน่ไม่นอน ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งปฏิบัติฯ ก็ทำให้เห็นชัดเจนว่า จริง ๆ แล้วเราไม่สามารถควบคุมการแปรเปลี่ยนของกายใจตัวเองได้ เหมือนที่พระพุทธเจ้าสอนว่าทุกสิ่งเป็นอนัตตา เป็นกระบวนการของเหตุปัจจัยและผลของมันที่เป็นเหตุปัจจัยต่อกันไปเรื่อย ส่วนทางวิทยาศาสตร์ก็ว่าสิ่งที่เรารู้สึกนึกคิดนั้นล้วนเป็นพลังงานที่เกิดขึ้นจากสมองและปฏิกิริยาทางเคมีกับไฟฟ้า Electrochemical Reaction ซึ่งก็เป็นวงจรเช่นกัน เราจึงไม่ใช่เจ้าของตัวเราอย่างแท้จริงเลย
ตระเตรียมไว้ตั้งแต่วันนี้
ป้าคิดเอาเองว่า ถ้าตายด้วยโรคหัวใจน่าจะทรมานน้อยที่สุด ความจริงเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จนครั้งนี้ป้ารู้จักอาการหัวใจวาย ซึ่งมันยังไม่ใช่หัวใจวายจริง ๆ แต่เกิดจากการกระทบประสาทที่สวิตช์ให้เกิดอาการคล้ายหัวใจวาย นานเพียงแค่ 1 - 2 นาที ทำให้พอรู้รสชาติของมันเลยละ (หัวเราะ) มันเจ็บแบบ โอ้โฮ… ไม่แค่เจ็บนะ แต่เราต้องดิ้นรนหายใจอีกด้วย
พอผ่านพ้นไปแล้วก็มาคิดว่าดีแล้วที่ประสบการณ์จริงทำให้เราฉลาดขึ้น ชีวิตพลิกวับไปก็กลายเป็นความตาย เหมือนเหรียญสองหน้า มันอยู่ที่ตัวเราเองว่าจะมองความตายอย่างไร ไม่มีใครอยากตายหรอก แต่นั่นคือธรรมชาติ คุณรู้เหรอว่าจะตายวันไหน ที่ไหน เมื่อไหร่
สำหรับป้า ถ้าเลือกได้ก็อยากตายที่บ้าน ป้าทำ Living Will ไว้แล้ว เราไม่รู้หรอกว่าจะมีสติดีพอขณะที่ต้องเผชิญกับความตายจริง ๆ ไหม และเราทุกคนก็ต้องอยู่กับความไม่รู้นี้ไป ที่ทำได้คือฝึกฝนใคร่ครวญให้ใจมันยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ การยอมรับไม่ใช่เรื่องของการพ่ายแพ้หรือเอาชนะ แต่เป็นเรื่องของการเข้าใจธรรมชาติของชีวิตอย่างแท้จริง
ป้าบอกทีมงานชีวามิตรบ่อย ๆ ว่า อาจจะเป็นคนป่วยระยะท้ายที่ร้องโอดโอยก็ได้ เพราะเราไม่รู้จริง ๆ หรอกว่าตัวเองพร้อมรับแค่ไหนในเรื่องของความเจ็บปวด ใครอยากรู้ อยากเห็น อยากเรียนรู้ ลองเดินเข้าไปสำรวจและทดลองรับประสบการณ์เจ็บป่วยหนัก ๆ แบบนี้ดู
พระอาจารย์ที่มาเยี่ยมบอกว่า โยมโชคดีมาก คนอื่นเขาหัวใจวายตายไปเลย แต่โยมนี่ได้กลับมาเล่าในภายหลัง มันเหมือนการทำงานให้กับชีวามิตร ที่เราได้ฟังเรื่องเล่าในภายหลังจากคนอื่นมากมาย คนที่มาเล่าเรื่องราวความเจ็บป่วย เรื่องการสูญเสีย เรื่องการดูแลคนป่วยระยะท้าย เรื่องความตายของคนที่เขารัก เขาเป็นแบบนั้นเป็นแบบนี้ เกี่ยวกับพ่อแม่ เกี่ยวกับลูก เกี่ยวกับคู่ชีวิตของเขา
เรื่องราวเหล่านั้นมันทำให้เราได้เรียนรู้กันก่อน เมื่อเกิดสถานการณ์จริงก็จะได้ไม่ต้องตกใจ เหมือนฉีดวัคซีนไว้แล้ว คิดแค่ว่ามันเป็นของมันแล้ว มันเกิดขึ้นกับเราแล้ว แค่นั้นเอง เราจะทำอย่างไรในปัจจุบันให้ดีที่สุด ให้ปัจจุบันเป็นเหตุให้วงจรธรรมชาติของเหตุ ปัจจัย ผล มันหมุนไปในทางที่จะพ้นทุกข์
และอีกสิ่งสำคัญที่เรียนรู้คือ หมอและพยาบาลในห้องไอซียูและซีซียูเขาทำงานกันหนักจริง ๆ เพราะฉะนั้น อย่าไปคาดหวังให้เขาต้องยิ้มต้องแย้ม หรือทำอะไรให้เราเป็นพิเศษ มีเพียงเราที่นอนอยู่บนเตียงทั้งวันทั้งคืนนี่แหละที่จะช่วยกันยิ้มให้เขา ทักทายเขา ทำให้มีกำลังใจในการทำงาน ตอนนอนอยู่ในไอซียูถ้าไม่เจ็บปวดอะไร ป้าก็จะยิ้มให้หมอและพยาบาลที่เข้ามาดูแล พอได้ยิ้มให้แล้ว ไม่มีใครบึ้งตึงใส่เราหรอก เพราะเราต่างก็เป็นปฏิกิริยาของกันและกัน คนไข้ยิ้มแย้มผ่อนคลาย หมอและพยาบาลก็จะยิ้มแย้มผ่อนคลายด้วย พอมีบางครั้งที่เจ็บจริง ๆ จะโอดโอยบ้าง เขาจะได้เชื่อว่าเราเจ็บปวดจริง เพราะปกติแล้วเราจะยิ้มหวาน (หัวเราะ) เวลานอนติดเตียงนาน ๆ มันจะมีนะความเจ็บความปวดน่ะ หลังนี่แข็งเป็นแผ่นกระดานเลย
ความเจ็บป่วยครั้งนี้ถือเป็นโชคดี เป็นการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้ป้าเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการแพทย์การพยาบาล และยิ่งกว่านั้นก็คือธรรมชาติของกายใจ ทั้งความรู้และความไม่รู้ของเราล้วนมีความสำคัญกับพลังชีวิต ความไม่รู้เป็นฐานให้หาความรู้ ความรู้มีทั้งรู้โลกรู้ธรรม ป้าคิดว่าความรู้ทั้งสองด้านช่วยให้ป้าอยู่กับอาการป่วยไข้ครั้งนี้ได้โดยที่ไม่เสีย ‘ชีวา’