- คลังความรู้
- เบื้องหน้าที่สวยงามมาจากเบื้องหลังแห่งความพยายาม
เบื้องหน้าที่สวยงามมาจากเบื้องหลังแห่งความพยายาม
ดร. อริสรา กำธรเจริญ
เรื่องโดย a day BULLETIN
‘ดาวค้างฟ้า’
ดาวที่ยังค้างฟ้าอยู่แม้พระอาทิตย์จะเริ่มทอแสงขึ้นวันใหม่ ไม่ต่างอะไรจากเธอคนนี้ ‘หมวย’ – ดร.อริสรา กำธรเจริญ ที่เริ่มปรากฏตัวบนหน้าจอจากการเป็นผู้ประกาศรายการที่ช่อง 9 อสมท และหลังจากคว้าตำแหน่งรองสาวแพรวในปี 2539 เธอก็ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงอย่างเต็มตัว ทั้งเล่นละคร เป็นพิธีกร และเป็นผู้ประกาศข่าว ที่ในช่วงหนึ่งนั้นแทบเรียกได้ว่า เปิดโทรทัศน์ช่วงไหนต้องได้เห็นหน้าของเธอในบทบาทที่แตกต่างกันไป
และไม่ใช่แค่หน้าจอเท่านั้น หากนอกจอเองเธอก็รับหลายบทบาทเช่นกัน ทั้งอดีตอาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการบริหารมูลนิธิรักษ์ไทย และอีกบทบาทสำคัญที่เพิ่งเริ่มต้น กับการเป็นแม่ ที่เธอรอคอยมานานถึงสิบห้าปี ดูเหมือนว่าไม่ว่าจะในบทบาทไหน เธอคนนี้ก็ทำได้ดีในทุกหน้าที่เสมอมา
ถึงหัวใจของการทำงานในบทบาทที่แตกต่าง เบื้องหลังนั้นสวยงามเหมือนเบื้องหน้าจริงหรือไม่ และการทำในสิ่งที่ตัวเองรัก สร้างประโยชน์ให้ผู้อื่นผ่านงานที่ทำนั้น ทำให้ชีวิตมีชีวาอย่างไร ติดตามอ่านต่อได้ในบทสัมภาษณ์นี้
คุณหมวยดูเป็นคนทำหลายอย่างตลอดเวลา ช่วงนี้รับบทบาทอะไรบ้าง
เป็นผู้ประกาศข่าวรายการ เที่ยงวันทันเหตุการณ์ ทางช่องสาม และกำลังจะมีรายการ ครอบครัวเดียวกัน ทาง Thai PBS รอคอยจะได้เข้าสตูดิโอเพื่อถ่ายทำรายการ นอกจากนั้นก็มีงานพิธีกรบ้าง ส่วนบทบาทอาจารย์ เราลาออกจากการเป็นอาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมาได้ประมาณสองปีกว่าแล้ว แต่ยังคิดถึงงานสอนเสมอ ถ้ามีโอกาสก็อยากกลับไปทำหน้าที่อาจารย์อีก อาจเป็นอาจารย์พิเศษ หรือรูปแบบอื่นจริง ๆ ตอนออกมาก็เสียใจมากนะ แต่ก็ทำให้ได้เวลาเพิ่มมากขึ้น มีเวลาเลี้ยงลูก และก็ได้ลองทำอย่างอื่นเพิ่มเติม
เมื่อประตูบานหนึ่งปิด บานใหม่จะเปิด
สิ่งใหม่ที่เริ่มลองทำหลังจากพักบทบาทอาจารย์ เพิ่งเขียนโครงการเพื่อขอทุนทำสื่อจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขอทุนทำรายการเพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยค้นหาตัวเอง มันเริ่มจากเราเห็นปัญหาว่า มีเด็กไทยจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากเป็นอะไร ทำอะไรได้ดี ถ้าเขาสามารถค้นพบได้ตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะช่วงต้องตัดสินใจเส้นทางเรียนก็จะเป็นประโยชน์กับเขามาก และได้อ่านงานวิจัยด้านทรัพยากรบุคคล มีคำสัมภาษณ์ของผู้บริหารบริษัทจัดหางานที่บอกว่า เด็กไทยไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอาชีพอะไร หลายคนเลือกอาชีพตามเพื่อน พอทำงานก็ไม่มีความสุข ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน พอเราพบปัญหานี้ก็เลยสนใจ ลองเขียนขอทุน ตอนนี้ก็อยู่ในระหว่างทำโปรดักชันแล้ว
โครงการนี้ชื่อว่า ‘ความสุขของผู้ค้นพบ’ เราคัดเลือกบุคคลผู้ที่ค้นพบว่า ตัวเองชอบอะไร ทำอะไรได้ดีตั้งแต่เด็ก เป็นคนมีฝัน แล้วมุ่งมั่นเดินตามความฝันของตัวเอง หลากหลายกลุ่ม เช่น ข้าราชการ เกษตรกร คนพิการ ศิลปิน นักกีฬา แล้วทำคลิปวิดีโอเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชน เห็นความสำคัญของการค้นหาตัวเอง และความสุขที่เกิดจากการได้ทำในสิ่งตัวเองรัก
อย่างมีคุณหมอท่านหนึ่งที่บ้านยากจนมาก ต้องเดินวันละ 4 - 5 กิโลไปโรงเรียน แต่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นหมอ พยายามต่อสู้กับปัญหาทุกอย่าง จนวันนี้ได้เป็นคุณหมอสมใจ ทำงานที่โรงพยาบาลในจังหวัดศรีสะเกษ หรือเด็กไทยคนหนึ่งที่กำพร้าแต่เด็ก แต่รู้ว่าตัวเองชอบร้องเพลง สร้างโอกาสให้ตัวเองจากเวทีประกวด จนปัจจุบันเป็นนักร้องโอเปราอยู่ที่ยุโรป ในกลุ่มนักกีฬา ได้ น้องเมย์ รัชนก มาร่วมอยากเป็นแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ ให้เห็นว่า ถ้ามีฝันแล้วเดินตามฝัน ไม่มีอะไรที่จะเป็นอุปสรรคได้
ริเริ่มสื่อสร้างสรรค์ว่าด้วยความสุขของผู้ค้นพบ แล้วเส้นทางการค้นพบตัวเองของคุณเป็นอย่างไร เริ่มจากตรงไหน
เส้นทางค้นพบตนเอง จากแรงบันดาลใจใกล้ตัว เราชัดเจนแต่เด็กเลยว่า อยากเป็นครู ตอนเด็กชอบเล่นสอนหนังสือ ไม่เคยเล่นเป็นนักเรียนเลย เล่นกระดานดำ เอาขนมมาแจกนักเรียน ซึ่งก็เป็นพี่น้องตัวเองนี่แหละ มีปากกาแดงตรวจข้อสอบ ให้ดาว มองย้อนกลับไปก็เห็นว่านี่ คือสิ่งที่เราอยากเป็น น่าจะเป็นเพราะมีครูต้นแบบตั้งแต่เด็ก จากอนุบาลวัฒนา ประถม มัธยมที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ เรามีครูประจำชั้นที่น่าประทับใจ ทำให้เราอยากเป็นครูมาแต่ไหนแต่ไร เช่น ครูประจำชั้น ป.1 ชื่อครูฉวีวรรณ จำได้ว่าครูชอบใส่รองเท้าส้นสูง เห็นแล้วก็อยากจะใส่บ้าง (หัวเราะ)
พอเข้ามัธยมปลาย พี่ชายสอบติดคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน จนได้เป็นผู้กำกับ ตอนนี้ทำรายการ รู้ไหมใครโสด (คุณนพพร กำธรเจริญ) พี่ชายนี่แหละเป็นแรงบันดาลใจให้เรามาเรียนวารสารฯ ทั้งที่เราเรียนสายวิทย์ แต่เราสังเกตตัวเองว่าเวลามีกิจกรรม เรากลับชอบไปเป็นพิธีกร ชอบแสดงออก ก็เลยคิดว่าเราน่าจะชอบด้านนี้ แล้วเห็นบทบาทจากพี่ชายด้วยว่าเรียนแล้วสนุก ได้ไปกองถ่าย เลยเลือกวารสารฯ อันดับหนึ่งเลย
พอได้เข้าไปเรียนก็ลองทำงานตลอด เคยสมัครเป็นผู้ประกาศพิเศษของช่อง 9 ต้องนั่งรถเมล์จากธรรมศาสตร์หลายต่อกว่าจะไปถึงช่อง 9 อสมท ได้ครั้งละ 150 บาท ถูกหักภาษี หักค่าเดินทางแล้วไม่เหลือเท่าไหร่ หมดแรงด้วย แต่ก็ชอบมาก เลยคิดว่าห้องเรียนและสตูดิโอนี่แหละที่เป็นที่ของเรา เราเป็นตัวเองมากที่สุด สมัยที่เป็นอาจารย์และทำงานทีวีด้วยจึงมีความสุขมาก สอนเสร็จรีบมาสตูดิโอ อ่านข่าว ไม่เหนื่อยเลย
หาที่ของเราให้เจอ แล้วเราจะอยู่กับมันได้นาน
เราสนุกกับการสอนมาก เวลาเหนื่อย ๆ เข้าไปสอนหนังสือนี่แรงมาจากไหนไม่รู้ ก่อนเข้าสอนบางทีคิดว่า เหนื่อย หมดแรง แต่พอเข้าห้องไปสอน ออกจากห้องนี่มันมีพลังมากเลย เรารู้สึกว่าเด็กส่งพลังให้เรา และมันเป็นที่ของเราด้วย เหมือนกับจัดรายการแหละ เวลาเราได้อยู่กับกล้อง รู้สึกว่าได้พูดกับผู้ชม มันสนุกมาก
งานสอนและงานสื่อสารมันเป็นตัวเราจริง ๆ อย่างทุกครั้งที่เห็นนักศึกษาฝึกงาน ในรายการข่าวเที่ยง เราก็ชอบไปพูดคุยกับเขา ถ้ามีโอกาสก็จะแนะนำ เราชอบความไฟแรงของเด็กฝึกงานที่เขาจะมีไฟ พร้อมทำทุกอย่าง เวลาใครเชิญเป็นวิทยากรก็ยินดี ยังอยากเจอเด็ก ๆ อยู่
คุณได้รับแรงบันดาลใจจากต้นแบบหลายคนในชีวิต ในตอนนี้ถ้ามีคนมองคุณเป็นต้นแบบ อยากเป็นต้นแบบในเรื่องอะไร
ถ้าให้เป็นต้นแบบ คงอยากเป็นต้นแบบเรื่องความอดทน เรื่องความอยากเรียนรู้ สมัยฝึกงานช่อง 9 จำได้ว่าตอนนั้น ใครให้ทำอะไรทำหมดเลย อยากออกไปทำข่าวไปทำสกู๊ป คนมักมองว่าเด็กสมัยนี้ไม่หนักเอาเบาสู้ ก็อยากให้เขามีความอดทน พี่ชอบทำงาน ไม่ชอบปล่อยเวลาให้ผ่านไป น่าจะได้ความขยันมาจากพ่อกับแม่ที่ทำงานไม่มีเสาร์อาทิตย์เลย ซึ่งก็อาจไม่ค่อยดี ต้องบาลานซ์บ้าง แต่นี่ก็เบาลงเยอะ ตอนจบปริญญาเอกใหม่ ๆ นี่ทำงานเยอะมาก เรารู้สึกว่าทุกวันที่ได้ทำงานคือการเรียนรู้ ได้พัฒนาตัวเองทุกวัน ได้แก้ปัญหา ขอบคุณทุกงานเลยที่ทำให้เรามีโอกาสได้แสดงความสามารถ
เบื้องหน้าสวยงาม ทุกอย่างดูสมบูรณ์แบบ เบื้องหลังนั้นสวยงามเช่นนั้นไหม
มันก็เหนื่อยนะ มีบางงานที่เราทำแล้ วเราคิดว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ แต่ก็พยายามให้กำลังใจตัวเอง อย่างตอนทำงานข่าวกับพี่ยุทธ (สรยุทธ สุทัศนะจินดา) พี่ยุทธก็จะให้กำลังใจเสมอว่า ไม่เป็นไร มันมีวันให้เราแก้ตัวใหม่ ทำให้ดีขึ้นได้ในทุกวัน หรือถ้าทำพิธีกร ก็มีเหมือนกันที่บางงานเปอร์เฟ็กต์มาก แต่บางงานเรารู้สึกว่ามันยังไม่ดีเท่าไหร่ ก็จัดการความรู้สึกตัวเองยากเหมือนกัน แต่ก็ต้องพยายามให้กำลังใจตัวเองแหละว่ าเรียนรู้จากข้อผิดพลาด แล้วทำให้ดีขึ้นในงานหน้า
สนุกในงานเพื่อตนเอง สร้างคุณค่าผ่านงานเพื่อผู้อื่น
ตอนที่เป็นครู เวลาได้เห็นเด็กเขานำสิ่งที่เราสอนไปใช้ บอกว่าเราเป็นแรงผลักดันในชีวิตของเขา มันชื่นใจ ความสำเร็จของเขามันทำให้ใจเราพองโต แต่ตอนนี้เราไม่ได้ทำหน้าที่ครูแล้ว การจัดรายการมันก็ทำให้เรามีความสุขเหมือนกัน ช่วงโควิด - 19 นี้ หรือน้ำท่วมปีก่อน ที่เราก็มีโอกาสได้ไปช่วยเหลือคน มันก็ทำให้เห็นว่าบทบาทของสื่อสารมวลชนสามารถช่วยคนได้ ดีใจที่เราได้อยู่ในฟันเฟืองที่ช่วยให้คนได้ข้อมูล ช่วยสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่ไปถึงผู้คนได้ อย่างตอนนี้ทำไมเงินช่วยเหลือไปถึงช้าจัง กระบวนการมันเป็นอย่างไร หรือมันมีกระบวนการในการร้องเรียน ยื่นทบทวนสิทธิ์ได้นะ หรือถ้าไม่ได้จริง ๆ ก็เดินไปธนาคารกรุงไทยใกล้บ้าน ข้อมูลแบบนี้มันช่วยเขาได้
ภูมิใจที่บทบาทเล็ก ๆ ของเราในวงการสื่อสารมวลชนมันส่งผลต่อชีวิตคนได้ หรือในเชิงเนื้อหา จากแต่ก่อนที่เป็นผู้ประกาศข่าวใหม่ ๆ เรายังไม่มีโอกาสคัดเลือกข่าว ตอนแรก ๆ ก็ยังอ่านตาม แต่ตอนนี้ด้วยประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ก็มีส่วนร่วมมากขึ้นในการคิดว่าควรนำเสนอข่าวอะไร นำเสนอแบบไหนให้มีคุณค่าต่อสังคม
จากที่เรียนในเชิงทฤษฎีว่าคุณค่าข่าวเป็นอย่างไร ควรนำเสนอข่าวอย่างไร แต่พอมันสั่งสมประสบการณ์มาเรื่อย ๆ ก็เริ่มมองเห็นว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้น เราสามารถมีส่วนร่วมสร้างความเข้าใจในสังคมอย่างไร ในฐานะนักสื่อสารมวลชน ถ้าเรามีความสุขจากงานที่ทำ มันก็จะถ่ายทอดไปสู่คนอื่นเอง ไม่ใช่แค่งานสื่อสารมวลชนนะ ทุกอาชีพมันส่งผลต่อคนอื่นหมดเลย ถ้าเราชอบอะไร แล้วทำสิ่งนั้นด้วยความชอบ ยังไงเราก็จะทำมันได้ดี แล้วมันก็จะมีประโยชน์เอง
เบื้องหน้าของความสมบูรณ์แบบมาจากเบื้องหลังที่เคี่ยวกรำ ฝึกฝนตัวเองอย่างหนัก
เราพยายามฝึกฝนตัวเองไปด้วยตลอด อย่างสมัยเรียนที่เรารู้ว่า อยากอ่านข่าว อาจารย์มหาวิทยาลัยบอกว่าถ้าเราอยากอ่านข่าว เราต้องฝึกอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ ช่วงแรกเราอาจจะอ่านได้หกบรรทัดในหนึ่งลมหายใจ แต่ถ้าฝึกเรื่อย ๆ ลมหายใจเราจะยาวขึ้น เสียงเราจะกลมขึ้น เราก็ฝึก เราอาจจะโชคดีตรงที่รู้ว่าอยากทำอะไร แล้วก็พยายามฝึกฝน พยายามหาโอกาส ทุกวันนี้ก็ยังฝึกอ่านอยู่นะ แต่ก่อนนี่จำได้เลยว่านั่งฝึกอ่านจากที่บ้าน ตอนนี้เราก็ยังฝึกฝนอยู่ในเรื่องการออกเสียง คนขับรถของเรารู้เลยว่าทุกเช้าในรถ เราจะอาาา… ออกมาดัง ๆ ก็ต้องพยายามฝึกแล้วเรียนรู้
งานที่ทำมันมีอะไรให้เรียนรู้อยู่เสมอ บางทียังนั่งดู พี่หนุ่ม กรรชัย ในรายการโหนกระแส อยากรู้วิธีการสัมภาษณ์ของพี่หนุ่ม ถ้าไม่รีบไปไหน ก็จะนั่งดูต่อในสตูฯ หรือการเขียนขอทุน เราอยากทำสื่อดี ๆ ออกมาก็พยายามหาโอกาสที่จะให้เราได้ทำงานสื่อสารรณรงค์ นอกจากหาโอกาส ก็หาความรู้อยู่ตลอดว่าแคมเปญดี ๆ มันเป็นยังไง
ขยัน อดทน พยายาม ทั้งในเรื่องงาน และชีวิตส่วนตัว
ตอนแรกที่แต่งงานใหม่ ๆ คิดว่ามีลูกง่าย พอสอบติดก็ต่อเอกเลยอีกห้าปี จบเอกมางานเยอะมาก สนุกกับงาน พอจะมีลูกก็เลยมีลูกยาก ทำกิฟต์มาติดเอาครั้งที่สิบ เราทำมาหมดแล้ว เรียนได้ ทำงานได้ แต่ยังไม่เคยสัมผัสบทบาทการเป็นแม่ มีแต่คนบอกว่าต้องมีลูกนะ มันชื่นใจ เลยคิดว่ามันต้องมีอะไรดีสิ ไม่เห็นมีใครพูดเลยว่ามีลูกแล้วเปลือง เสียความสุขส่วนตัว ไม่เห็นมีเลย มีแต่คนบอกว่ามันมีความสุข เลยลองความพยายามดู อยากรู้ว่ามีลูกแล้วเป็นยังไง อยากรู้ความรู้สึกผูกพันแม่ลูก พอมีแล้วก็วิเศษมาก มันทำให้เรายิ้มได้ อยากกลับบ้าน ทำให้รู้ว่าชีวิตมีความหมาย ต้องดูแลตัวเองดี ๆ นะ จะได้อยู่กับลูกนาน ๆ
ปรัชญาจีน และประสบการณ์ที่ผ่านมาบอกให้รู้ว่า ‘อนาคตมันจะจัดการตัวเอง’
เราเชื่อในสถาบันครอบครัวว่ามันเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ถ้าครอบครัวแข็งแรงก็จะเป็นเกราะป้องกันจากสิ่งไม่ดี กับลูกก็พยายามให้ความรัก ใกล้ชิด ให้เวลากับเขามากที่สุด หวังเพียงว่าความรักของพ่อแม่จะนำทางเขาไปสู่สิ่งที่ดี มันก็จริงที่สังคมเปลี่ยนไปเยอะ แต่มีคำของนักปราชญ์จีนบอกว่า ‘อนาคตมันจะจัดการตัวเอง’ ลูกจะปรับตัว อยู่ได้เอง ไม่ต้องกังวลกับเขามาก เราทำได้เพียงให้รากฐานที่ดีกับเขา ให้การศึกษา ให้ความรัก การดูแล แต่ชีวิตมันเป็นของเขา วันหนึ่งที่เขาเติบโต เราเชื่อว่าเขาจะจัดการตัวเขาได้ ในที่สุดเขาก็จะต้องยืนอยู่ได้ด้วยตัวของเขาเอง เราแค่ทำหน้าที่ความเป็นแม่ตอนนี้ให้ดีที่สุด
พี่เชื่อว่าธรรมชาติมันจะจัดการตัวเอง สิ่งมีชีวิตทั้งหมดล้วนปรับตัว ทุกอย่างมันเคลื่อนไปตลอด อย่างช่วงเวลาก่อนคุณพ่อจะเสีย มันก็เหมือนกับว่าธรรมชาตินั้นได้เลือกวิธีการที่ดีที่สุดในการจัดการกับสถานการณ์นั้นแล้ว
บทเรียนการจากไปกะทันหันของผู้เป็นพ่อ ที่สอนให้เต็มที่ในเหตุ ปล่อยวางในผล
เรามารู้ว่าพ่อเป็นมะเร็งตับ และอีกสองอาทิตย์เขาเสียเลย พ่ออายุแปดสิบ แต่ไม่มีสัญญาณมาก่อน แค่บ่น ๆ ว่าปวด เราก็คิดว่าเป็นการปวดธรรมดา พอเรารู้ก็สั่งยาตัวหนึ่งมาให้พ่อกิน แต่กินได้ไม่เท่าไหร่ พ่อก็ไม่ไหว แต่ก่อนไปเขาก็ยังกินข้าวได้อยู่เลย จังหวะที่จะไปก็แป๊บเดียวเอง ตอนนั้นสภาพจิตใจแย่มาก เพราะมันกะทันหัน ไม่มีใครคิด ไม่ได้สั่งลาอะไร ไม่มีใครเตรียมตัว ไม่มีการพูดถึงพินัยกรรม ไม่มีการพูดถึงรูปแบบการจัดงาน ทุกอย่างมันฉุกละหุกมาก ตั้งตัวไม่ทัน แต่หลายคนก็บอกว่า ดีแล้วที่พ่อไม่ทรมานมาก ญาติพี่น้องบอกว่าเราทำได้ดีแล้ว ทุกคนปลอบใจว่าธรรมชาติเลือกแล้วว่าจะให้พ่อไปแบบนี้ การจากไปของพ่อทำให้เราเรียนรู้เยอะมาก ว่าเราต้องปฏิบัติกับคนที่เรารักให้ดี
ทุกข์ที่สุดคือการพลัดพราก หากจะรู้ว่าต้องจาก อยากคุยกันมากกว่านี้ อยากทำทุกอย่างให้เต็มที่ อยากมีเวลาคุยกันมากกว่านี้ ก็เรียนรู้ว่าทุกข์ที่เจ็บปวดที่สุดคือ ทุกข์ของความพลัดพราก มันทุกข์ที่สุดเลย แต่เราต้องอดทนแล้วต้องผ่านไปให้ได้ เวลาเรามีความทุกข์ เราต้องอดทนแล้วอยู่กับมัน แล้วเดี๋ยวมันจะผ่านไป ตอนนั้นร้องไห้ทุกวันสามเดือน ช่วงนั้น มีแต่คนอยากให้ติดลูกมาก จะได้ลืมความเศร้า ก่อนหน้านั้นแท้งไปก็เลยหยุดทำกิฟต์ แต่พอพ่อเสีย ก็มีแต่คนบอกว่าอยากให้พยายามอีกครั้งจะได้มีลูก สุดท้ายก็มีลูกช่วงนั้นแหละ ตอนแท้งก็เสียใจ ร้องไห้อยู่นะ แต่ช่วงนั้นเป็นท้องอ่อน ๆ ไม่กี่สัปดาห์
แต่ตอนพ่อเสียมันมีความผูกพัน เราเห็นเขา อยู่ด้วยกันมาตลอดตั้งแต่เกิด เรียนรู้จากสิ่งที่พ่อทำ เลียนแบบสิ่งที่พ่อเป็น วิธีสานต่อลมหายใจพ่อให้ยังอยู่กับเรา พ่อจะสอนให้คิดดี ทำดี ซื่อสัตย์ อดทน ขยันแบบนี้ก็ได้จากพ่อมา สิ่งที่พ่อทำให้เห็นมาตลอดก็คือ การให้ ก็เป็นสิ่งที่เราพยายามทำต่อจากพ่อตลอด หลังพ่อเสียไปโรงพยาบาล เห็นคนเข็นรถให้พ่อแม่แล้วรู้สึกอิจฉามาก ทำบุญด้วยอะไร มีโอกาสได้ดูแลพ่อแม่ ได้อยู่กับพ่อแม่ ใครที่ยังมีพ่ออยู่ก็อยากให้ดูแลพ่อมาก เพราะวันที่ไม่มีเขาให้ดูแลนี่เจ็บปวดที่สุด
บทบาทนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2540 ทางมูลนิธิเห็นว่าเรามีโอกาสพูดกับสื่อ น่าจะสามารถถ่ายทอดงานรักษ์ไทยได้บ้าง ไปลงพื้นที่เอาเรื่องมาเล่า ก็ตอบไปว่างานง่ายมาก ทำได้เลย งานสื่อสารเป็นงานของเราอยู่แล้ว ก็ลงพื้นที่ร่วมกับรักษ์ไทยมาเรื่อย ๆ ในหลายประเด็น ตั้งแต่ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม อนามัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงและเด็ก แรงงานข้ามชาติ ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ คนทุกคนล้วนมีสิ่งให้เราเรียนรู้ได้ สังเกต ชื่นชมอย่างจริงใจ และนำมาปรับใช้กับตนเอง
อีกงานสำคัญของมูลนิธิรักษ์ไทย คือการส่งเสริมศักยภาพผู้หญิง เราได้เห็นว่าคนไม่ว่าจะลำบากแค่ไหนเขาก็มีพลังของเขา เช่น ผู้หญิงในสามจังหวัดที่บางคนสูญเสียสามีไป พอทางรักษ์ไทยเข้าไปสนับสนุนเรื่องวิชาชีพ เขาก็กลายมาเป็นผู้นำครอบครัวได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีผู้หญิง และผู้คนอีกหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากหลายสาเหตุของสังคม เรามองว่าคนเราไม่ต้องเหมือนกัน ผู้หญิง ผู้ชายไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพราะคนแต่ละคนก็มีสไตล์ต่างกันอยู่แล้ว
ดีเสียอีก มันทำให้เราได้เรียนรู้คน ดูว่าตัวเรายังขาดอะไร แล้วเราจะหยิบสิ่งที่ดีจากคนอื่นได้อย่างไร เช่น เราเป็นคนเราเป็นคนประนีประนอม ก็จะชอบเรียนรู้ความเด็ดขาดจากคนอื่น เช่น ความเด็ดขาดจาก บก. เวลาเขาตัดข่าว ตัดสินใจ เพื่อศึกษา ไม่ได้จะเป็นแบบเขานะแต่อยากรู้ว่าเขาจัดการยังไง ไม่เกี่ยวว่าเขาจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย หรือพวกหนังสือประวัติบุคคลนี่ก็ชอบอ่าน อยากรู้ว่าคนที่เขาสำเร็จแล้วเขาทำอย่างไร มันเหมือนเป็นทางลัด แล้วมาปรับใช้กับชีวิตเรา
ความอดทน: บทเรียนจากอัตชีวประวัติของ ดอกเตอร์หมวย อริสรา
ถ้าเราจะเป็นต้นแบบเรื่องอะไรได้บ้าง คิดว่าคงเป็นเรื่องความขยันและความอดทน เราเชื่อว่าพอทำงานมาถึงจุดหนึ่ง ด้วยระบบต่าง ๆ มันจะฝึกให้ทุกคนเก่งอยู่แล้ว อย่างการเรียนปริญญาเอก กระบวนการตั้งแต่สอบเข้า หลักสูตร คอร์สเวิร์ก ถ้าผ่านกระบวนการพวกนั้นมา จุดหนึ่งทุกคนจะถูกเคี่ยวให้เก่งเท่ากัน แต่ทำไมบางคนทำสำเร็จ พี่ว่ามันอยู่ที่ความขยัน อดทน เหมือนกับงานอื่น ๆ ที่งานมันจะเคี่ยวกรำให้ทุกคนเก่งเท่ากัน แต่คนขยันจะไปต่อ คือท้อได้นะ เหนื่อยได้ แต่ต้องทำต่ออย่างต่อเนื่อง แล้วหมั่นฝึกฝน อดทน เรียนรู้ตลอด
ทำงานมาหลายปีก็ยังต้องคอยหมั่นตรวจสอบตัวเอง เรียนรู้ข้อดีของคนที่เราเห็นรอบตัว แล้วทำให้ตัวเองดีขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายถ้าจะมีใครเห็นเป็นต้นแบบก็น่ายินดี แต่ที่แน่ใจได้เลยคือเราจะภูมิใจกับตัวเอง