- คลังความรู้
- สุขสุดท้าย - Dying well
สุขสุดท้าย - Dying well
เลือกปลายทางชีวิตให้เป็นความสุขที่ต้องการ
เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร
"ปลายทางของชีวิตกับความสุขที่ต้องการ" คุณจะตอบคำร้องขอนั้นอย่างไร...
“สุขสุดท้าย - Dying well” ภาพยนตร์สั้นเรื่องแรกของชีวามิตร ที่ได้รับการสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นภาพยนตร์ที่เกิดจากความตั้งใจจะสื่อสารให้ผู้ชมเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ช่วงสุดท้ายของชีวิต หากต้องเผชิญกับโรคร้ายที่รักษาไม่หาย และรู้ดีว่าจะต้องจากไปในที่สุด ถ้ายังมีทางเลือกที่จะทำให้ชีวิตในปลายทางนั้นมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างใจต้องการ เราจะเลือกอย่างไร และสิ่งสำคัญคือ ถ้าเป็นความต้องการของคนที่เรารัก เราควรเคารพความต้องการนั้นอย่างไร
เรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่แม่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย กับลูกชายที่ความพยายามหาทางรักษาทุกวิธีให้แม่หาย และยืดเวลาในชีวิตออกไปให้ยาวนานที่สุด แต่กลับลืมหยุดฟังเสียงของเจ้าของชีวิต เพราะความรัก ความผูกพัน ทำให้แม่และลูกต่างมองกันคนละมุม และคำว่า “ดีที่สุด” ในแต่ละมุมก็มองไม่เหมือนกัน
หลายคนที่ได้รับชมภาพยนตร์สั้นความยาวเพียง 6 นาทีกว่าเรื่องนี้ไปแล้ว ก็มีหลากหลายมุมมองที่สะท้อนกลับมา โดยเฉพาะเรื่องของการเคารพในสิทธิของเจ้าของชีวิต ไปจนถึงทางเลือกของการดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative care ซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพในช่วงระยะท้ายแบบองค์รวมที่มุ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต และความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วย เช่นเดียวกับนักแสดงและผู้กำกับที่ได้บอกเล่าถึงความรู้สึก เมื่อได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้
“ก่อนมารับงานแสดงหนังสั้นเรื่องนี้ ไม่เคยรู้จัก Palliative Care มาก่อนเลย แต่เข้าใจเรื่องความตายดีว่า เป็นธรรมชาติที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่ได้” ต้นอ้อย ปิณฑิรา สิงหเสม ผู้รับบทแม่ เล่าถึงความเข้าใจเรื่องการดูแลแบบประคับประคองก่อนมารับบทนี้ “พอได้อ่านบทก็ชอบมาก พยายามทำการบ้านเพื่อตีโจทย์ และถ่ายทอดสิ่งที่หนังต้องการสื่อออกมาให้ดีที่สุด
“ในครอบครัวเคยมีประสบการณ์ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่จากไปด้วยโรคมะเร็ง จึงเห็นด้วยกับทางเลือกเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง อยากให้คนไทยมีความรู้ ความเข้าใจ เพื่อทำให้ชีวิตในช่วงสุดท้ายมีความหมาย ได้ทำสิ่งที่อยากทำ ได้อยู่กับครอบครัวที่เรารัก และยอมรับได้ว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ถ้าได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า กับคนที่เรารักและรักเรา ให้ช่วงสุดท้ายของชีวิตมีความสุขมากที่สุด ก็จะทำให้สามารถจากไปอย่างสงบได้”
ปุณ - ศิริปัญญา จันทิหล้า ผู้รับบทลูกชาย พูดถึงความรู้สึกหลังจากได้รับบทบาทใน “สุขสุดท้าย” ว่า “สิ่งที่ผมเห็นจากหนังสั้นเรื่องนี้ คือการยอมรับความคิดของอีกคนหนึ่ง คนที่เรารัก หรือคนในครอบครัว ถ้ารับฟังและเข้าใจกันย่อมดีกว่าเอาแต่ตัวเองเป็นหลัก ยิ่งในช่วงสุดท้ายของชีวิต ถ้าได้ใช้เวลาร่วมกัน ได้ทำในสิ่งที่คนที่เรารักอยากให้เราทำให้ ใช้ชีวิตอยู่กับเขาอย่างมีความสุข ทำให้เขายิ้มได้แบบเต็ม ๆ เมื่อเขาจากไป แน่นอนว่าความสูญเสียย่อมเจ็บปวด แต่เชื่อว่ามันจะเจ็บปวดน้อยลง แล้วก็จะจำในสิ่งดี ๆ ที่มีร่วมกันเมื่อเราต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไป
“การได้มีส่วนร่วมในหนังสั้นเรื่องนี้ยังทำให้ผมมีมุมมองชีวิตเปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องการวางแผน ผมมองในมุมมองของผู้ป่วย ถ้าเราได้รับความคุ้มครองในสิทธิที่ควรได้รับ และมีประโยชน์ต่อตัวเราเอง ทั้งในเรื่องการดูแลตัวเองและดูแลครอบครัวเราด้วย ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีมากที่ทุกคนควรจะได้รับเหมือน ๆ กัน”
ในส่วนของ กนกพันธ์ จินตนาดิลก ผู้เขียนบท และกำกับภาพยนตร์ บอกกับเราว่า “เมื่อรับงานเรื่องนี้ก็ได้ไปหาข้อมูลการดูแลแบบประคับประคอง ทำให้เข้าใจว่า นี่เป็นทางเลือกที่ไม่ใช่การดูแลแค่ร่างกาย แต่ก็ไม่ได้ทิ้งการรักษาไปเลย เป็นการดูแลแบบองค์รวมทั้งร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ ไปจนถึงเรื่องครอบครัว ชุมชน เรียกว่าใส่ใจในทุกอย่างของชีวิต จึงคิดว่าหนังสั้นเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพราะหลาย ๆ คนก็ยังไม่รู้จักทางเลือกนี้เลย
“ตอนเขียนบท ผมนึกถึงคนป่วยที่ต้องอยู่โรงพยาบาลนาน ๆ หลายคนอยากกลับไปอยู่บ้าน ไปอยู่กับลูกกับหลาน กับความทรงจำ ความผูกพันที่ตัวเองมี มันเป็นเหมือนยาบำรุงหัวใจ เลยคิดว่าถ้าจะสื่อเรื่องนี้จะเน้นความต้องการของผู้ป่วยที่รู้ดีว่า โรคที่ตัวเองเป็นมันค่อนข้างรุนแรง ถึงรักษาไปก็อาจไม่มีทางหาย จึงใช้คำว่า “อยากกลับบ้าน” มาสื่อถึงความต้องการของผู้ป่วยที่อยากไปมีความสุขครั้งสุดท้ายที่บ้านของตัวเอง”
ด้วยความตั้งใจของชีวามิตรและทีมงานที่ร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวของ “สุขสุดท้าย” เชื่อว่า อาจทำให้คุณได้คิดทบทวนอีกครั้งถึงปลายทางของชีวิต หากวันสุดท้ายของคนที่คุณรักและรักคุณมาถึง คุณจะตอบคำร้องขอนั้นอย่างไร…
รับชมพร้อมกันได้ที่ https://youtu.be/n3XJAL4Ex6U