Knowledge cover image
10 ตุลาคม 2567
  1. คลังความรู้
  2. ตายก่อนตาย เข้าใจชีวิต

ตายก่อนตาย เข้าใจชีวิต

“ขุนเขา สินธุเสน” ใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือส่งต่อความรู้เรื่องชีวิต ในนิทรรศการ “สามวันสุดท้าย เพื่อการตายอย่างสงบ”


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

“ขุนเขา สินธุเสน” อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง นักเขียน นักจิตวิทยา และผู้ที่ชอบท้าทายตัวเองออกไปนอกกรอบของขีดจำกัดความเป็นมนุษย์ในหลาย ๆ ด้าน เพิ่งเสร็จสิ้นนิทรรศการ “สามวันสุดท้าย เพื่อการตายอย่างสงบ” ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ณ BB House Khlongton 



นิทรรศการ 3 วันที่ว่านี้ ขุนเขาออกแบบมาเพื่อนำเสนอความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ซึ่งเขาศึกษากระบวนการเตรียมตัวตายมาในระยะเวลาหนึ่งผ่านข้อมูลงานวิจัย ศึกษาทำความเข้าใจร่างกายอย่างมีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ภายใต้การดูแลของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ แล้วตระเตรียม วางแผน ซักซ้อมร่างกายมาหลายเดือนก่อนที่จะมาถึงวันจริง ที่เขานำร่างกายของตนมาเป็นเครื่องมือในการจัดทำนิทรรศการครั้งนี้ ด้วยการทำ Dry fasting หรือการอดน้ำและอาหารตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเวลา 3 วันเต็ม 


อาจดูเป็นการหาเรื่องท้าทายตัวเองอีกรูปแบบหนึ่ง ทว่าเป้าหมายของความกล้าบ้าบิ่น (ที่หลายคนอาจอุทานขึ้นเมื่อได้ยินรูปแบบของนิทรรศการ) นี้ เขายืนยันว่าไม่ใช่เพื่อแสดงอัตตาตัวตนของตัวเองแต่อย่างใดเลย หากแต่เพื่อส่งสารถึงคนดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อตัวผู้ป่วยเอง และผู้คนทั่วไปได้เรียนรู้และเข้าใจกระบวนการตามธรรมชาติของร่างกาย โดยเฉพาะการเข้าใจถึงกลไกร่างกายในระยะใกล้เสียชีวิตว่าเป็นเช่นไร อันเป็นสาระสำคัญที่ “ชีวามิตร” ต้องการสื่อสาร ขุนเขาเลือกสร้างนิทรรศการนี้แทนการบอกเล่า หรือเขียนเป็นหนังสือ เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้เนื้อหาการงานของ “ชีวามิตร” ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นเท่าที่เสียงของเขาจะส่งออกไปได้อย่างทรงพลัง  



การออกแบบนิทรรศการ “สามวันสุดท้าย เพื่อการตายอย่างสงบ”


เตียงผู้ป่วยถูกแขวนโยงด้วยลวดสลิงกลางห้องนิทรรศการ ลอยคว้างอยู่บนอากาศกว่า 2 เมตร ที่ซึ่งขุนเขาใช้เวลานอนอยู่บนนั้นตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่ม พร้อมได้ยินเสียงเครื่องมือทางการแพทย์ที่ดังตลอดเวลาโดยไม่พูดไม่สื่อสารใด ๆ ไม่กินไม่ดื่ม ไม่เข้าห้องน้ำ ตลอดระยะเวลา 3 วันเต็ม เขาออกแบบกระบวนการนี้เพื่อแสดงถึงผู้ป่วยระยะท้ายที่ไม่สามารถสื่อสาร หรือไม่ต้องการกินและดื่มสิ่งใด เพื่อจัดการร่างกายก่อนจากโลกนี้ไปตามกระบวนการธรรมชาติ 


หลังสองทุ่มเขาจะลงมาจากเตียงผู้ป่วย เพื่อไลฟ์สดราวครึ่งชั่วโมงผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของตนเอง บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่ตนเองเผชิญ ชวนให้ผู้ฟังตระหนักถึงภาวะของคนไข้ที่ต้องอยู่บนเตียง สื่อสารไม่ได้ หลังจากนั้น เขาจะนั่งทำงาน คิดงาน และหากง่วงจะปีนขึ้นไปนอนด้านบนเตียงผู้ป่วยนั้นอีกครั้ง หรือหากไม่ง่วงหรือเพลียเกินไปเขาจะขึ้นไปบนเตียงนั้นอีกครั้งเมื่อถึงเวลา 9 โมงเช้าของวันใหม่ เป็นเช่นนี้ซ้ำ ๆ 3 วันแห่งนิทรรศการ โดยไม่กินไม่ดื่มสิ่งใดแม้แต่น้ำเปล่า


ขุนเขาอธิบายความคิดนี้ว่า 


“แต่ละวันที่ลงมาถ้าเกิดง่วงมาก ตอนกลางคืนจะขึ้นไปนอนข้างบน แต่ถ้าไม่ง่วงน่าจะอยู่ข้างล่างตลอด แล้วค่อยขึ้นไปอีกทีตอนเริ่มนิทรรศการช่วง 9 โมง เพราะว่านิทรรศการมีช่วง 11 ชั่วโมงเท่านั้นต่อวัน แต่งดน้ำงดอาหารโดยสิ้นเชิงตลอดเวลาสามวัน ถามว่าเพราะอะไร เพราะว่า ถ้าเกิดเราลองดูผู้ป่วย เราถามผู้ป่วยระยะท้าย เค้ามีความเข้าใจผิดกันหลายอย่างว่าเราต้องฝืนให้น้ำให้อาหารทั้งที่ร่างกายปฏิเสธแล้ว แล้วร่างกายก็อย่างที่บอกนะครับ ปอดบวม ตัวบวม ลำไส้อักเสบ กระเพาะอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด มากมาย เพราะเราเข้าใจผิดว่านั่นคือสิ่งที่ดี ผมเลยเอาสิ่งที่เข้าใจผิดมารวมกับเรื่องงดน้ำงดอาหาร คนเราเข้าใจว่า งดน้ำงดอาหารสามวันตาย ผมเคยทำเกินสามวัน และผมไม่ได้แนะนำให้ใครไปทำเด็ดขาด นั่นไม่ใช่ประเด็นผมเลยนะ ประเด็นคือ เรามีอะไรอยู่บ้างในชีวิตที่เราเข้าใจผิด แค่อยากให้เราพยายามเปลี่ยน ผมเคยเขียนไว้ในบทความแล้วว่า ความเชื่อเปลี่ยนได้ด้วยความรู้ ถ้าเราเชื่อว่าเราต้องกินอาหารเข้าไป แล้วเรารู้แบบใหม่ เราอาจดูแลไปอีกแบบ”  


ผนังด้านหนึ่งในห้องนิทรรศการเป็นเนื้อหาความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับนิทรรศการครั้งนี้ รวมถึงข้อมูลทางการแพทย์และลิงก์ไปสู่คลิปต่าง ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ช่วยเพิ่มความเข้าใจเรื่องการเตรียมตัวตายอย่างมีสติและการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตให้เป็นไปตามธรรมชาติอย่างที่สุด



สามวัน เพื่อผู้อื่น, ห้าวัน เจ็ดวัน เพื่อใครกัน?


“เหตุที่เป็น 3 วันนั้น ต้องเล่าว่าตอนแรกสุดผมจะทำ 7 วัน ผมเคยทำ 7 วันและเคยไลฟ์ผ่านยูทูป เห็นตลอดเวลาเจ็ดวันเจ็ดคืน 24 ชั่วโมง แต่ตอนผมทำ 7 วันผมบอกเลยว่าโหดมาก ก็แน่นอนว่าอดข้าวอดน้ำเจ็ดวัน โหดสุด ๆ ฝึกมาค่อนข้างนานมากเลย แต่ผมรู้สึกว่าถ้าผมมานอนเฉย ๆ 7 วัน หนึ่งถามว่าโหดไปไหม มันอาจไม่ได้โหดไปเท่ากับเหตุผลว่าผมมานอนทำไม อืมมม! มีคนถามผม จำไม่ได้ว่าใครถามนะครับ แต่เป็นคำถามที่ดีมาก ถามว่า 7 วันทำเพื่อใคร? คำถามดีมากจริง ๆ มันก็จะเป็นผมทำเพื่อผมเอง ฉันต้องทำ 7 วันเพราะฉันเคยทำ ฉันต้องทำให้ได้ ... โห! คำถามนี้ดีมาก ผมชอบมาก เออ ถ้าผมอยากให้คนแค่เข้าใจชีวามิตร มันไม่เกี่ยวว่าต้องนาน มันไม่เกี่ยวเลย ไม่ได้สำคัญ มันแค่มีสิ่งนี้อยู่ แล้วเราทำให้ดี! ทีแรกจะปรับเป็น 5 วันแห่งลมหายใจ 7 วันแห่งลมหายใจ สุดท้ายไม่จำเป็น คุยไปคุยมา แค่ 3 วันก็พอแล้ว แค่ให้มีสิ่งนี้เกิดขึ้นมาแล้วคนได้รู้  


ผมดีใจมาก ๆ เลยที่มีคนเข้าใจชีวามิตรแล้วพูดถึงกันต่อแบบในจำนวนที่ทำให้ผมรู้สึกดีใจมาก ๆ จึงเป็นคำตอบว่า 3 วัน เพราะผมว่าถ้า 7 กับ 5 วัน มันเป็นเพื่อตัวเอง มันไม่ได้ช่วยอะไรขึ้นมาเท่าไรเลย แล้วทำไมไม่เป็น 4 หรือ 2 ล่ะ แน่นอนไตร / สาม ความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นกฎไตรลักษณ์ ไตรสิกขา ไตรปิฎก หลายอย่างที่เป็นไตรมันเป็นความสวยงาม และมันมีความคล้องจอง สาม กับ สุด ...โอเค จะ สอง กับ สุด ก็ได้ แต่มันดูน้อยไปนิด สี่ กับ สุด ผมว่า สี่ มันไม่ค่อยสวยเนอะ” (ยิ้ม)  


ขุนเขาขยายความต่อออกไปในเรื่องความคิดการอดข้าวอดน้ำว่า เขาฝึกตนเองเริ่มตั้งแต่หนึ่งวัน สองวัน สามวัน จนถึงเจ็ดวัน และเคยท้าทายตัวเองอดอาหารถึง 21 วัน แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะต้องการฝึกตนเอง และเรียนรู้เรื่องขีดจำกัดของร่างกาย ขณะที่การอดน้ำอดอาหารครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ทำขึ้นเพื่อสังเกตและเรียนรู้เรื่องกลไกของร่างกายเพื่อเข้าใจถึงผู้ป่วยระยะสุดท้าย เขาเล่าอีกด้วยว่าประสบการณ์แต่ละครั้งก็แตกต่างกันไป และเล่าถึงข้อดีของการดูแลร่างกายด้วยการ fasting ในแง่การแพทย์ 


“สิ่งเหล่านี้ฝึกให้ร่างกายภายในเราแข็งแกร่ง immune system แข็งแกร่ง เชื้อโรคอะไรเบลอ ๆ เข้ามา ร่างกายเราเจออะไรหนักกว่านั้นละ ก็จัดการมันได้ อันนี้คือสาเหตุ มีอีกหลายเหตุผลมากแต่เดี๋ยวจะกลายเป็นเรื่องนั้นไป คือ ข้อดีมันมี และไม่มีใครรู้หรอกครับว่าหลายครั้งที่ผมฝึกอดน้ำอดอาหาร ก็เพื่อนิทรรศการครั้งนี้ด้วย” 



ต้นกำเนิดนิทรรศการ


ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ขุนเขาใช้ชีวิตที่สหรัฐอเมริกาเป็นหลัก จะกลับมาเมืองไทยเมื่อมีโปรเจ็คที่น่าสนใจ การกลับมาเมืองไทยของเขาครั้งนี้ มีสิ่งหนึ่งในใจที่เขาตั้งใจทำเพื่อผู้มีพระคุณของเขา “คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์” ซึ่งเขาได้สนทนาแลกเปลี่ยนและสอบถามสิ่งที่คุณหญิงจำนงศรี หรือป้าศรีของเขากำลังทำอยู่ และเขาต้องการมีส่วนในการผลักดัน “ชีวามิตร” ซึ่งสาระแก่นแกนของชีวามิตรคือการสร้างความเข้าใจในการใช้ชีวิตที่ดีเพื่อการจากไปอย่างดี นั่นเป็นสิ่งที่ป้าศรีของเขาอยากให้ผู้คนได้รู้จักมากขึ้น เขาจึงศึกษาหาข้อมูลทางการแพทย์อย่างหนัก แล้วพัฒนาแนวคิดออกมาเป็นนิทรรศการดังกล่าว 


“ผมคุยกับป้าศรี ท่านอยากให้ผมไปศึกษาว่ากลไกสุดท้ายของร่างกายของผู้ป่วยระยะท้ายเกิดอะไรขึ้น จากประสบการณ์ของท่านที่อยู่กับแพทย์และพยาบาลมาหลายคน ท่านก็เป็นเจ้าของโรงพยาบาลด้วย ท่านพบว่า ทุกคนยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า การที่เราค่อย ๆ ให้ผู้ป่วยชัทดาวน์ร่างกายลง ทานน้ำทานอาหารน้อยลง เป็นส่วนที่ (เกือบ) ดีเสมอกับผู้ป่วยทุกคน ถ้าทำถูกต้องและเป็นชั้นเป็นตอน นอกจากศพจะสวยงาม และจะดูสงบ มีความสุขกาย สบายใจ 


พอคุยแล้ว ผมก็บอก ได้ครับ ผมจะทำให้ดีที่สุด โดยไปทำการบ้านเรื่องนี้ แต่ไม่ใช่แค่การบ้านแต่จะทำเป็นนิทรรศการ ก็เลยแชร์ให้ท่านฟังว่ามีไอเดียอย่างนี้นะ จะแขวนตัวเองไว้ เพื่อให้เกิดการพูดถึง เพราะถ้านอนอยู่เฉย ๆ ก็ไม่มีใครอยากสนใจ ถ้าเราเขียนบทความแชร์ คนก็อาจจะอ่านบ้างและก็อาจจะไม่สนใจ ไปดูอะไรบันเทิงดีกว่า ก็เลยเกิดไอเดียอย่างนี้มา เพราะเป็นสัญลักษณ์ดี จริง ๆ ป้าศรีห่วง กลัวว่าจะไม่ดี ไม่เหมาะกับเรา แต่ว่าตัวผมเองรับโจทย์ไว้แล้วเอาไปคิดต่อว่าทำอย่างไรจะดีที่สุด จะเน้นในทางความรู้และวิชาการ ไม่ได้ดูสนุกไปเรื่อย อย่างที่เห็นด้านหลังเป็นบทความที่กลั่นกรองมาแล้ว และคลิปวิดีโอจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอีก 12 คลิป ภาษาไทยและอังกฤษ เหมาะกับการให้ข้อมูลครับ 


สิ่งหนึ่งที่ดีใจที่สุด โดยที่ไม่ได้บอกใครเท่าไรนะ ผมไม่ได้บอกป้าศรี แล้วท่านแชร์เอง ผมก็โอเค มีความสุขแล้ว ต่อให้มีคนมาดูงานนิทรรศการคนเดียว แต่อย่างน้อย เราทำตามโจทย์ตามความต้องการสองอย่างของเราแล้วคือ ต้องการตอบแทนท่าน และต้องการยิ่งกว่านั้นคือให้คนรู้จักชีวามิตร รู้จักวิธีการที่จะเข้าใจผู้ป่วย ก็เลยพยายามทำออกมา ก็ยังมีความผิดพลาดอะไร แต่ทุกอย่างมันก็มีความไม่สมบูรณ์แบบ อันนี้ตอบคำถามที่ว่าจุดเริ่มต้นคือเหตุผลนั้น”  




ไลฟ์อะไรในแต่ละวัน


“จริง ๆ ตั้งใจไว้อย่างหนึ่งนะว่าจะมีไลฟ์แต่ละวัน เพราะคิดว่าฉันคงต้องประสบอะไรบางอย่างที่มันเป็นเศษเสี้ยวที่ผู้ป่วยต้องเจอ อยากเอาเศษเสี้ยวนั้นมาลองแบ่งปัน แม้ผมจะเคยไลฟ์ตอนอดน้ำอดอาหาร 7 วัน หรืออดอาหาร 21 วัน ผมก็ไม่ได้ไลฟ์ในแง่ประสบการณ์แทนตัวผู้ป่วยแบบนี้นะครับ คนละโฟกัสกัน แต่ละครั้งไม่เคยต้องทำแบบนี้ และรู้สึกว่า เออ โอเคละ ได้สัมผัสละ”  


ในไลฟ์แต่ะวัน ขุนเขาสะท้อนภาวะของการพูดไม่ได้ ได้แต่นอนฟังเสียงเครื่องมือแพทย์ ไม่ได้เข้าห้องน้ำ แม้จะมีหลุดบ้างเพราะความร้อนหรือเสียงรบกวน แต่เขาพยายามมีสติและดำเนินรูปแบบของนิทรรศการอย่างที่ตั้งใจมากที่สุด ทุกไลฟ์ในท้ายวันมุ่งเน้นไปเพื่อสื่อสารว่า อย่ายัดเยียดอะไรให้คนป่วย ให้ดูแลผู้ป่วยอย่างไร อาการทรมานจากการนอน ร้อน หนาว เสียง และแสงสว่างต่าง ๆ นั้นกระทับโสตประสาทอย่างไร และมีผลต่อการพักผ่อนอย่างไร 


ตระหนักรู้คุณค่าชีวิตผู้อื่นยิ่งขึ้น เมื่อเฉียดตาย


ถามขุนเขาเรื่องการเฉียดตาย เขาเล่าว่าเคยมีครั้งหนึ่งหลังจากโปรเจ็คท้าทายตัวเองคือวิ่ง 10 กิโลเมตรหลังอดอาหาร 10 วัน หรือภาวะหัวใจเต้นผิดปกติในช่วงที่อดน้ำอดอาหาร 7 วัน และอดอาหาร 21 วัน แต่เพราะความรู้ด้านการแพทย์ที่ศึกษามาอย่างหนัก ทำให้เขาเรียนรู้ว่าหัวใจเต้นผิดปกติที่อันตรายเป็นอย่างไร และต้องแก้ไขอย่างไร 


“จริง ๆ เฉียดตายตอนที่ทำไม่ค่อยมีนะครับ แต่มีอันหนึ่งที่ผมคิดว่าจะไม่ทำอีกแล้ว คือตอนอดน้ำอดอาหาร 7 วัน หรืออดอาหาร 21 วัน มีตื่นมากลางดึก แล้วรู้สึกว่าหัวใจผมเต้นแรงแปลก ๆ แต่ผมศึกษามาดีแล้ว ว่าแปลกแบบไหนที่ได้ แปลกแบบไหนที่ไม่ได้ แปลกที่ไม่ได้คือ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ Cardiac Arrhythmia เต้นเร็วมาก ๆ แต่ครั้งนั้นไม่ใช่ แค่รู้สึกว่า มันหวิว ๆ หายใจไม่ทั่วท้อง มันวีค อ่อนแอมากตรงนี้ ผมก็ลุกขึ้นมานั่งสมาธิแล้วจับชีพจร แล้วก็แบบ…นั่งอยู่นานเลย คนที่ดูไลฟ์ของผมจะเห็น ผมก็ดูหัวใจเราเป็นยังไงบ้าง มันก็โอเค เพราะไม่ใช่อย่างที่ศึกษามาแล้วว่ามันเป็นแบบที่กำลังจะเสียชีวิต 


ที่เกิดขึ้นคือตอน 21 วันเกิดครั้งหรือสองครั้ง และตอน 7 วันครั้งหนึ่ง ซึ่งผมขอย้ำแล้วย้ำอีกว่าอย่าไปทำนะครับ ถ้าไม่ศึกษามาอย่างละเอียด แต่ว่าที่ผมใกล้เสียชีวิตจริง ๆ มีครั้งเดียว เมื่อผมทำชาเล้นจ์ คืออดข้าว 10 วันแต่ไม่ได้อดน้ำแล้วไปวิ่ง 10 กิโลเมตรภายใน 1 ชั่วโมง อันนี้ไม่ว่าอย่างไรก็อย่าทำเด็ดขาด ไม่ว่าจะศึกษามาดีแล้วหรือไม่ดี ตอนนั้นผมทำเพราะว่าผมเด็กกว่านี้เยอะชอบท้าทายตัวเองมากเกินไป” 


ขุนเขาเล่าถึงภาวะหลังวิ่ง อาเจียนอย่างหนัก หัวใจเต้นผิดปกติจนเกือบหัวใจวาย และเขาตระหนักว่าตนเองเกิดภาวะร่างกายเป็นกรดมากเกินไป หลังจากแก้ไขได้ทันท่วงที (เพราะศึกษาข้อมูลมาเยอะ) เขาจึงรอดพ้นความตายได้ บทเรียนครั้งนั้นสอนให้เขาเห็นความสำคัญของชีวิต ทั้งชีวิตของตนเองและคนรอบ ๆ ตัว 


“ผมว่าผมได้เห็นคุณค่าของคนที่อยู่รอบข้างมากยิ่งขึ้น ก็คือเราโชคดีที่เรามีคนรอบข้างที่ดี เพราะว่าครั้งที่ผมใกล้ตายผมหายได้เพราะน้ำด่าง ถามว่าใครซื้อน้ำด่างให้ แม่ซื้อให้นานแล้ว และผมก็เก็บไว้ ไม่เคยคิดว่าเราจะมีภาวะร่างกายเป็นกรดมากเกินไป หรือ metabolic acidosis เกิดขึ้นได้ แม่ซื้อให้เพราะแม่แค่อยากให้เราดื่มสิ่งดี ๆ เราก็เก็บไว้นานแล้วไม่ได้ใช้ ตอนนั้นถ้าไม่มีน้ำด่าง ผมอาจจะตายไปแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นเหมือนธีมที่เราทำเสมอว่า ไม่มีทางที่เราจะทำได้ถ้าขาดคนรอบช้าง และทุกครั้งที่ทำก็จะขอบคุณว่าเรามาถึงจุดนี้ได้เพราะเค้า ถ้าเราสำเร็จเพราะมีคนรอบข้างช่วยเหลือเรา เราไม่มีทางทำคนเดียวได้ แต่ถ้าเราล้มเหลว คนที่เสียใจที่สุดคือพวกเค้า ฉะนั้นเป็นคำตอบว่า รักชีวิตตัวเองมากขึ้นนั้นมั้ย ก็มีบ้าง แต่รักชีวิตของคนที่รักเรามากขึ้นอีก นี่แน่นอนครับ” 



ชีวิตคือโอกาส


“ผมว่า ชีวิตคือ โอกาส (หยุดคิด) ชีวิตคือโอกาส” คือคำตอบของคำถามว่าชีวิตคืออะไร 


“ขยายความคือ ชีวิต สุดท้ายแล้วมันคือการเติมคำในช่องว่าง คนจะถามว่าความหมายของชีวิตคืออะไร คือ ชีวิตของคนเราไม่เหมือนกับกล้อง ไม่เหมือนกับไมค์ที่ติดอยู่นี้ คือ เราซื้อมามันจะมีบอกว่าให้เอาไปใช้ทำอะไร ใช้ยังไง มีคู่มือ แต่คนเราเกิดมาไม่มีคู่มือ คนเราเกิดมาโล่ง ๆ ภาษาปรัชญาเซน ปรัชญาพุทธ เรียกว่า โซระ... ผมชอบคำนี้มากจนผมสักไว้ที่หลัง คือมันแปลว่า สุดท้ายแล้วเนี่ยคือ ความว่าง ชีวิตจึงเป็น ความว่าง และ โอกาส คำเหมือนกันเลยนะ คำเดียวกัน 


ถ้าสมมติว่าชีวิตถูกกำหนดว่าเราต้องเป็นอะไร ทำอะไร เราก็จะไม่มีโอกาสในการสร้างอะไรที่เป็นของเราขึ้นมาเลย หลายคนบอกว่า ชีวิตไม่มีความหมายเลย ชีวิตมันว่างเปล่ามาก จริง ๆ ผมตบเข่าฉาดเลย! มันต้องว่างสิ เราถึงเติมอะไรเข้าไปได้ เพราะฉะนั้น “ชีวิตมันว่างเปล่า” จึงเป็นคำพูดที่ถูกต้อง 


สุดท้ายก็จะบอกว่า ชีวิตคือโอกาส ถ้าแก้วที่เต็มเราย่อมเติมอะไรไม่ได้ แต่ชีวิตเป็นแก้วที่ว่าง เราจึงมีโอกาสเติมอะไรเข้าไปได้ เติมความทุกข์ ความสุข เติมคุณค่า เติมความเจ็บปวด เติมการให้ เติมการรับ เติมความงดงาม เติมความสุขสงบ ทรงพลัง เติมอะไรเข้าไปก็ได้หมด เพราะสุดท้ายแล้วมันอยู่ที่เราเลือกเองว่า ชีวิตจะคืออะไร เพราะเราได้โอกาสนั้นมาแล้ว” 


แล้วชีวิตขุนเขาเล่า เขาเติมอะไร? 


“ชีวิตสำหรับผมเอง เอาเป็นคำกลอนละกันนะครับ เป็นกลอนที่อยู่ในงานนิทรรศการนี้ด้วย 


ขอให้ความตายเป็นแค่เพื่อนสนิทที่คุณกลับไปหา

ขอให้เวลาเป็นโอกาสในสร้างคุณค่าให้แก่ผู้คน 

ขอให้ชีวิตเป็นสิ่งที่คุณสัมผัสได้ในทุกแห่งหน

ขอให้คุณไม่มีวันอับจนในปัญญาและความเข้าใจ 


และผมก็ลงท้ายว่า “จงดำรงอยู่อย่างสุขสงบและทรงพลัง ตลอดไป”



ชีวิตและความตาย คือเพื่อนที่เดินไปด้วยกัน


เมื่อมุมมองชีวิตของขุนเขาคือความว่างเพื่อที่จะเติมโอกาสต่าง ๆ ให้มีคุณค่าและความหมาย นิทรรศการที่เขาออกแบบและจัดทำขึ้นครั้งนี้ ได้ทำให้เขากลับมาทบทวนเรื่องภาวะสุดท้ายของชีวิตและความตายมากยิ่งขึ้นอย่างน่าสนใจทีเดียว 


“ชีวิต จริง ๆ แล้ว ถ้าเรามองดี ๆ มันน่าสนใจตรงที่ว่า ตัวกำหนดว่าเราจะล้มเหลว หรือสมมติว่าวันหนึ่งเราล้มเหลว ตัวกำหนดไม่ใช่วันที่เราล้มเหลว แต่คือก่อนที่เราจะล้มเหลว ก่อนหน้านั้น ตัวกำหนดว่าจะสำเร็จก็เป็นตัวก่อนหน้านั้นว่าเราใช้ชีวิตยังไง หุ่นเราจะดีหรือไม่ดี ก็ไม่ใช่ตอนที่เรายกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูป แต่คือก่อนหน้านั้นทุกอย่าง การที่เราจะป่วยหรือไม่ป่วย อยู่ที่ว่าก่อนหน้านั้นเราดูแลร่างกายอย่างไร จึงเป็นคำตอบว่าความตายกับชีวิตจึงเป็นเหมือนสิ่งที่มาเตรียมเรา


ความตาย สุดท้ายแล้วเราจะตายอย่างไร ไม่ได้กำหนดที่วินาทีสุดท้ายที่เราตาย แต่กำหนดที่ก่อนหน้านั้น ฉะนั้นจึงเป็นเหมือนม้วนฟรึบกับไปที่คำถามที่แล้วว่าแล้วชีวิตคืออะไร ก็กลับไปที่ว่า คือโอกาส แล้วโอกาสคืออะไรบ้าง แล้วแต่คนอาจจะตอบหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า แต่อีกหนึ่งโอกาสของชีวิต โอกาสในการเตรียมตัวตายอย่างสุขสงบ ชีวิตทั้งหมดคือโอกาสที่ว่า แล้วแต่ละวันเราจะใช้อย่างไร เพราะฉะนั้นความเกี่ยวพันระหว่างชีวิตกับความตาย ผมว่าเหมือนกับความเกี่ยวพันของทุกคู่ตรงข้ามในธรรมชาติ คือจริง ๆ แล้วไม่ได้ตรงข้ามแต่คำนึงถึงกันและกัน พระอาทิตย์ที่ค่อย ๆ ดับลงตอนกลางคืน สุดท้ายแล้วทำให้แสงสุดท้ายยามสนธยาสวยงาม ผมว่านั่นแหละคือชีวิตเรา ที่กำลังค่อย ๆ ดับลง แต่มันทำให้เกิดความสวยงามมหาศาล ถ้าสุดท้ายแล้วเราใช้ชีวิตมาอย่างรู้แล้วว่า แสงสุดท้ายของสนธยา ไม่ได้ผ่านเข้ามาให้เราเสียใจ แต่แสงสุดท้ายยามสนธยา ผ่านเข้ามาเพื่อให้หมู่เมฆและหมู่เมฆาได้มีแสงสะท้อนที่งดงามที่สุดในวันนั้น”



ใช้ชีวิตให้มีคุณค่าเพื่อจากไปอย่างงดงาม


ขุนเขายืนยันว่าแม้มีเพียงคนเดียวที่ได้รับสิ่งที่เขาอยากบอกเล่าผ่านนิทรรศการก็นับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งแล้ว “ผมแค่พยายามครับ ก็ยังมีอะไรที่ต้องทำให้ดีขึ้นอีกเยอะมาก” ท้ายเสียงคำว่าเยอะนั้นเขาเน้นเสียงสูงและยาว เพื่อย้ำว่าเขายังอยากทำอะไรให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นมากยิ่งขึ้น


“ผมขอเสริมนิดหนึ่งครับ คือ จริง ๆ แล้วมันเป็นธีมอันหนึ่งที่ผมอยากแชร์มาก จะมีคนไม่เข้าใจตอนผมอดน้ำอดอาหาร 7 วัน ผมไม่ได้บอกใครว่าผมฝึก ผมซ้อมเพื่องานนี้ ผมรู้อยู่แล้วว่าต้องฝึกให้มากกว่าของจริงอย่างน้อยสองหรือสามเท่า ถามว่าทำไมเราไม่บอก? หนึ่ง เพื่อให้เซอร์ไพรส์ สองงานยังไม่เกิด tell no one if the action is none อย่าไปบอกใครถ้าเรายังทำไม่สำเร็จ เพราะความสำเร็จอาจเห็นได้ในแสงแฟลช แต่มันต้องถูกสร้างมาจากเปลวไฟเงียบ ๆ ในห้องมืด ๆ ไม่มีใครเห็น ผมพยายามทำให้มันได้ก่อน ทำให้มันส่วนตัว อยากบอกว่ามันมีอีกหลายเรื่องมากเลยในชีวิตของคนเราที่เราต้องเจอ และคนจะไม่เข้าใจเรา เรานั่งทำอะไรอย่างนี้ หาเงินหรือปลูกต้นไม้แบบดาบวิชัย เค้ามีเป้าหมายของเค้าอยู่แล้วว่าทำเพื่ออะไร แล้วสุดท้ายคนค่อยมาเข้าใจเป้าหมายของเค้าเพราะสิ่งที่เค้าทำมันสำเร็จ หลาย ๆ ครั้ง หลาย ๆ คนเป็นอย่างนั้น


สุดท้ายขอยกนิทานที่ผมชอบเป็นตัวอย่าง Annie and the whale ผมเคยแชร์ในไลฟ์แล้ว มีครูคนหนึ่งให้เด็กวาดรูปปลาวาฬ เด็กทุกคนก็วาดปลาวาฬ โห สวย อันนี้เก้าเต็มสิบ แปดเต็มสิบ สิบเต็มสิบ แล้วมีเด็กคนหนึ่งชื่อ แอนนี่ที่ไม่ได้วาด แต่ระบายสีฟ้าทั้งแผ่นกระดาษ ครูก็ถามว่าเธอไม่วาดเหรอ นี่ส่งแล้วเหรอ แอนนี่ก็บอก เดี๋ยว ๆ แต่ส่งอันนี้ไปก่อนก็ได้ อันนั้นได้ 0 นะ ปลาวาฬเธอน่ะอะไร ไม่มีรูปปลาวาฬเลย ปรากฏว่าแอนนี่ไปเอากระดาษนี้มา 100 แผ่น ระบายสีฟ้าต่อกันเป็นรูปปลาวาฬ ต่อกันทั้งห้อง เต็มห้องเลย เค้าบอกว่าเพราะว่าปลาวาฬต้องใหญ่ เสร็จแล้ว อึ้ง นี่เป็นนิทาน ผมแค่อยากบอกว่า เวลาเราทำส่วนใหญ่ยิ่งถ้าเราไม่พูดนะ คนจะเห็นแต่สีฟ้า ๆ ...และสงสัยว่าทำอะไร เพื่ออะไร ซึ่งก็มีบ้างนะ แต่เค้าไม่ได้เห็นว่าผมกำลังวาดรูปอะไร  


จริง ๆ อยากเป็นกำลังใจให้ทุกคนมากกว่าว่า จงเป็นน้องแอนนี่ วาดปลาวาฬของคุณไป สุดท้ายแล้วคนที่อยู่ตรงนั้นเพื่อที่จะรอดูปลาวาฬของเรา เค้าจะเข้าใจว่าปลาวาฬของเรามันสวยงามและยิ่งใหญ่ขนาดไหนแต่เราต้องใช้เวลา ค่อย ๆ วาดทีละแผ่น จนเป็นจริงขึ้นมา อันนั้นเราต้องใช้ความอดทนและอดใจ จำไว้ว่าสุดท้ายแล้ว แม้การเดินลงเขามันจะง่ายกว่าการปีนเขาที่สูงชัน แต่ถ้วยรางวัลไม่เคยถูกตั้งไว้ที่ตีนเขา การทำสิ่งใหญ่ ๆ มันจะยาก แม้คนจะว่าและไม่เข้าใจ ไม่เป็นไรครับ ถ้วยรางวัลอยู่ที่โน่นครับ ทำเข้าไป วาดปลาวาฬต่อไป เดี๋ยวคนที่เข้าใจเขาจะเข้าใจเราเอง เหมือนดอกไม้ เหมือนฤดู ถ้าถึงวันที่ดอกไม้จะผลิ เดี๋ยวถึงฤดูมันก็ผลิ เราไปเร่งยังไงดอกไม้ก็ไม่บาน ถึงฤดูใบไม้ร่วง ดอกไม้จะร่วง ใบไม้จะร่วง เราไปยื้อไว้ก็ร่วงอยู่ดี 


คนเราผมว่าก็อย่างนั้น เมื่อพร้อมจะเข้าใจก็เข้าใจ ผมยื้ออะไรไว้ถ้ามันจะไปมันก็ไป วันหนึ่งถ้าคนที่เรารักจะตาย หรือเราจะตาย ยื้อไว้เท่าไร่ก็ไม่มีทางได้ 


กลับมาที่ธีมงาน เราทำให้ดีที่สุดอย่างเดียว วาดปลาวาฬต่อไป เตรียมพร้อมต่อไป ใช้ชีวิตให้เป็นโอกาสในการสร้างคุณค่าให้ตัวเองและผู้อื่นให้ดีที่สุดตราบลมหายใจสุดท้าย” 



ชมรายการ "เพื่อนชีวิต" ตอนที่ 1 "ตายก่อนตาย เข้าใจชีวิต" ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร




ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรอยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads