- คลังความรู้
- ทำวันนี้ให้สุดหัวใจ เพื่อให้เป็นวันที่ดี
ทำวันนี้ให้สุดหัวใจ เพื่อให้เป็นวันที่ดี
ครูนุ่น - สรีภรณ์ สระนพงษ์
เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร
ผู้หญิงตัวเล็ก หน้าตาคมคาย แววตามุ่งมั่น น้ำเสียงกังวานใสทรงพลัง เธอมีสโลแกนประจำตัวว่า “ครูนุ่นสนุกไปเรื่อย ๆ” และไม่เคยคิดจะหยุดใช้ชีวิตอยู่แค่เพียงบทบาทใดบทบาทหนึ่ง อะไรที่เธอสามารถทำได้และแม้ยังไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่ แต่หากมีคนเอ่ยปากขอให้ช่วย เธอก็พร้อมลุยสุดกำลัง ไม่ว่าจะเป็นบทบาทนักร้อง บทบาทครูสอนร้องเพลง บทบาทผู้ก่อตั้งกลุ่มพลังเล็ก ๆ กลุ่มจิตอาสาเพื่อสนับสนุนการทำงานของศูนย์บริรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช บทบาทผู้ก่อตั้งและผู้จัด Dream and Musical the Charity (DM the Charity) บทบาทครูผู้ชวนให้พ่อแม่ และเด็ก ๆ ตระหนักเรื่องการตายดีเลือกได้ผ่านกิจกรรมอันหลากหลาย บทบาทพี่สาวของน้องชายเพียงคนเดียวที่ป่วยตั้งแต่วัยเด็ก เข้าออกโรงพยาบาลแทบทุกวัน บทบาทหม่ามี้ของน้องธรรมะ (ลูกชายของน้องชายที่เธอช่วยเลี้ยงด้วย) และที่สำคัญคือบทบาทลูกสาวคนโตของครอบครัว ซึ่งหล่อหลอมทุกอย่างให้กลายเป็น “ครูนุ่น-สรีภรณ์ สระนพงษ์” Dream Catcher Studio
ชีวามิตรมีโอกาสพูดคุย รับฟังเรื่องราวหลากหลายสีสันของครูนุ่น เรื่องเล่าของเธอหลั่งไหลราวสายน้ำ ทั้งไหลเชี่ยว แรงและลึก ใครจะรู้บ้างว่ากว่าจะเป็น จะมี และจะให้ได้อย่างทุกวันนี้ ผู้หญิงตัวเล็กคนนี้ต้องผ่านสุขทุกข์ ขึ้นลง และความไม่แน่นอนของชีวิตหนักหนาเพียงใด จนสามารถตกผลึกเปล่งประกายอย่างเป็นธรรมชาติ ธรรมดา และมีความสุขในหัวใจได้อย่างแท้จริง
ตอนหนึ่งในบทสนทนา เธอเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในชีวิต หลังพบจุดเปลี่ยนมากมายผ่านบทเรียนด้านสุขภาพกายและใจของตัวเอง สุขภาพร่างกายของน้องชาย การเรียนรู้ผ่านความรัก ความสุข ความทุกข์ ความเชื่อ ธรรมะ จิตอาสา เธอพูดขึ้นว่า
“ความคิดของนุ่นเปลี่ยนไปมากหลังจากที่ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้หันกลับมามองตัวเอง การที่เราจะมอบความสุขให้ผู้อื่นมันจะต้องมอบความสุขทั้งด้านกายทั้งด้านจิตใจทุกอย่าง และให้ตัวเองด้วย เพราะว่าถ้าเราไม่มอบให้กับตัวเองเราจะไปทำให้ผู้อื่นมีความสุขได้อย่างไร”
เครื่องบินกระดาษ: ละครเวที DM the Charity ครั้งที่ 15
“ปล่อยให้ลอย ๆ ไป มีขึ้นมีลงกำหนดไม่ได้ ก็คล้ายชีวิตเรานี้
ไม่มีความแน่นอน ไม่ได้มีแค่เรื่องดี สุขทุกข์ไม่รู้จะมีเมื่อไหร่
ปล่อยให้มันเป็นไป แค่ทำวันนี้ให้สุดหัวใจ เพื่อให้เป็นวันที่ดี
ถึงเวลาจากกัน ฉันจะไม่ลืมวันนี้ ให้ภาพสุดท้ายที่มี คือวันนี้ที่มีเธอ”
บางส่วนของเนื้อเพลง ‘เครื่องบินกระดาษ’ โดย : อมรสุดา กาญจนภี
บางส่วนของเนื้อเพลงประกอบละครเวที ‘เครื่องบินกระดาษ’ ที่ครูนุ่นในนามกลุ่มพลังเล็ก ๆ ร่วมกันจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2567 ที่เพิ่งผ่านมา เพื่อหารายได้มอบให้กับศูนย์บริรักษ์ โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเธอทำเป็นประจำทุกปี
ย้อนไปในช่วงเริ่มต้นการทำจิตอาสา นานเกินกว่า 15 ปีแล้วที่ครูนุ่นใช้ความสามารถของตัวเองในการทำงานเพื่อผู้อื่น ทุกอย่างเกิดขึ้นโดยความตั้งใจและค่อยเป็นค่อยไปจากความมุ่งมั่นของเธอและแม่
“ความคิดเรื่องจิตอาสานุ่นหล่อหลอมมาจากแม่อ้อย กระบวนการทุกอย่างมาจากแม่ทั้งหมด แม่เป็นคนชอบช่วยคนมาก จิตอาสาตัวแม่ เคยออกช่องสามด้วยช่วยน้ำท่วมภาคใต้ในสมัยก่อน แม่เป็นคนทำอะไรให้นุ่นเห็นแล้วรู้สึกว่าแม่ทำได้โดยไม่คิดอะไรเลย เป็นคนพีคเหมือนกันก็เลยเป็นไอดอลของเรา แม่ช่วยเหลือคนมากกว่าตัวเองมาตลอด แล้วก็เป็นจุด ๆ หนึ่งที่นุ่นเห็นแม่ทั้งมุมสีดำและสีขาว มุมสีดำคือการไม่รักษาสุขภาพของแม่ มุมสีขาวคือแม่ช่วยเหลือคน ซึ่งนุ่นโชคดีที่ได้เห็นแม่ ก็เลยกลับตัวได้ไว ถ้าไม่ได้เห็นแม่อาจจะไม่ใช่นุ่นในเวอร์ชั่นนี้ก็ได้ค่ะ”
“กับอีกด้านหนึ่งที่ทำงานจิตอาสา คืออยากตอบแทนโรงพยาบาลศิริราชที่ดูแลน้องชายนุ่นมาตั้งแต่เด็ก น้องชายเป็นเบาหวานตั้งแต่ 7 ขวบจากพันธุกรรมค่ะ นุ่นอยู่โรงพยาบาลมาตั้งแต่เด็กเหมือนกัน แม่ต้องไปเฝ้าน้องชายแล้วแม่ทำงานไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย แล้วตอนนั้นเงินก็ไม่น่าจะค่อยมี เป็นบ้านที่หาเช้ากินค่ำ และนุ่นก็ผูกพันกับเด็กที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและเป็นโรคต่าง ๆ ที่โรงพยาบาล ทุกคนเหมือนเป็นเพื่อนกัน นุ่นไปโรงพยาบาลไปนั่งทำการบ้าน สนิทกับน้องอีกคนจำไม่ได้ว่าชื่ออะไร ก็คุยกับเขาปกติ วันหนึ่งเค้าก็หายไป จำความรู้สึกตอนนั้นคือทำไมเพื่อนเราหายไปล่ะ ไปอีกวันหนึ่งอ้าวหายไปละหายไปทีละคน ทีละคน นุ่นผูกพันกับส่วนนั้นและความทรงจำของการไปนั่งทำการบ้าน นุ่นก็คือเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่ได้ป่วยแต่มีเพื่อนอยู่ในโรงพยาบาลเยอะมากเลย ขอบคุณเพื่อน ๆ ที่ได้มารู้จักกันนะ เพราะนุ่นไม่ได้มีเวลาไปรู้จักเพื่อนของตัวเองในห้อง นุ่นทำงานร้องเพลงในห้างต่าง ๆ ไปร้องเพลงเปิดหมวก ทำงานจนไม่มีเพื่อนในโรงเรียน เพื่อนของนุ่นคือคนที่อยู่ในโรงพยาบาล”
“ทำจิตอาสาช่วยเหลือหลาย ๆ ที่ได้ประมาณ 3 ปีก็คุยกับแม่เรามาบริจาคอีกรูปแบบหนึ่งดีกว่าเพราะเชื่อว่าเราทำประโยชน์มากกว่านี้ได้ ก็เลยเดินเข้าไปกับแม่ไปหาคุณพยาบาลที่เคยดูแลน้องชาย ไปคุยไปเล่าให้ฟังว่าอยากทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งขั้นตอนการไปทำกับศิริราชไม่ง่ายค่ะกว่าจะพิสูจน์ตัวเองจนได้โลโก้มา ให้เขาเห็นว่าเราไม่ได้หลอกนะ ไม่ได้เป็น CSR นะ ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์นะ เริ่มจากการทำจิตอาสาก่อน ต้องขอบคุณพี่ ๆ พยาบาลทุกท่านที่เชื่อใจและให้ไปทำจิตอาสาแบบเล็ก ๆ เคสแรกที่นุ่นได้ทำคือเคสน้องผู้ป่วยคนหนึ่ง เป็นผู้ป่วยเด็กระยะสุดท้ายที่ไม่รู้สึกตัวแล้วและต้องได้รับการส่งกลับ หน้าที่ของนุ่นตอนนั้นที่นุ่นยังไม่รู้เหมือนกันนะว่าจะเป็นหน้าที่ในปัจจุบันในตอนนี้ของเรา คือเราได้จัดงานวันเกิดให้น้องผู้ป่วยเพราะเค้าอยากได้เค้ก อยากได้ยินเสียงดนตรี อยากจัดให้สถานที่นี้เป็นงานวันเกิด เอาจริง ๆ ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงหรอก นุ่นแค่รู้สึกว่าโอเคเดี๋ยวทำให้เดี๋ยวจัดการให้ นุ่นก็เลยเอาน้อง ๆ กลุ่มพลังเล็ก ๆ ซึ่งตอนนั้นนุ่นยังไม่เล่นโซเชียลเท่าไรเลย ชวนกันบริจาคคนละไม่เกิน 100 บาท ได้เงินจำนวนหนึ่งก็ไปซื้อเครื่องประดับ พอไปถึงปุ๊บ ก็มีกระบวนการพิธีการของทางโรงพยาบาลก่อน จากนั้นแล้วทุกคนร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ให้ความสุขกับน้องในระยะสุดท้าย ให้ความสุขกับคุณพ่อคุณแม่ อวยพรวันเกิดในขณะที่เชื่อว่าน้องยังมีความรู้สึก พี่ ๆ พยาบาล ผู้ป่วยข้างเตียง ญาติผู้ป่วยข้างเตียง ทุกคนมาร่วมกันอวยพรวันเกิดให้น้อง และคุณพยาบาล คุณหมอ พี่เลี้ยงและตัวนุ่นเองในนามจิตอาสาก็อวยพรน้อง ลาน้องอย่างมีความสุข และหลังจากนั้นไม่กี่นาทีค่ะคุณหมอก็ส่งน้อง ตอนนั้นเหลือเงินบริจาคก้อนสุดท้ายก็เลยซื้อโลงศพและฝากให้น้อง เคสนั้นเป็นเคสที่นุ่นรู้สึกขอบคุณนะ เป็นเคสแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้นุ่นเป็นจิตอาสาของศูนย์บริรักษ์ในทุกวันนี้ค่ะ”
ครูนุ่นเล่าถึงตรงนี้ ภาพหนึ่งที่เห็นชัดคือการทำงานจิตอาสาอย่างทุ่มสุดตัว ขณะเดียวกันคำพูดในช่วงต้น ๆ ก่อนเปิดเทปสัมภาษณ์ที่เล่าถึงปัญหาสุขภาพของตัวเอง เราจึงถามว่าเท่าที่ฟังมาครูนุ่นมีสองด้านที่สุดไปคนละทางคือจิตอาสาโหมดเอนเตอร์เทนที่ร่าเริงสุด ๆ และเรื่องสุขภาพที่ก็หนักหนาสุด ๆ ดูแล้วชีวิตวนเวียนอยู่กับความป่วยและความตายของคนรอบตัวและตัวเอง สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ครูนุ่นเข้าใจอะไรมากขึ้นไหม เธอตอบทันทีว่า
“ช่วยทุกโมเมนต์เลยค่ะ และเป็นความบังเอิญเคสทุกเคสที่นุ่นไปมันเป็นวันทุกข์หนักของนุ่นทั้งนั้นเลย”
อย่างย่นย่อ มีครั้งหนึ่งก่อนไปทำงานจิตอาสา เรื่องราวความรักส่วนตัวทำให้เธอทุกข์หนัก แต่เป็นขณะที่เธอต้องมุ่งหน้าไปทำงานจึงต้องปล่อยผ่านเรื่องราวดังกล่าวไปก่อน จนกระทั่งงานผ่านพ้นเธอกลับมาคิดถึงเรื่องทุกข์ในวันก่อนหน้า แล้วเธอก็พบว่า...
“มันเป็นภาวะเหมือนตกหลุมแล้วก็ขึ้นมา ตกหลุมแล้วก็ขึ้นมา มันวนเวียน แล้วนุ่นก็ไปทำจิตอาสาแบบทำสุดเลย วันนั้นมีความรู้สึกแบบ...ชีวิตคนเรามีแค่นี้ว่ะมันมีเท่านี้ นุ่นไม่ได้เศร้าด้วย ไม่เศร้าเลย มันมีเท่านี้จริง ๆ วันนั้นที่ไปทำเป็นเคสทั้งครอบครัวที่ต้องใช้คำว่ามะเร็งทางพันธุกรรม นุ่นจะต้องไปมอบของขวัญในวันเกิดวันสุดท้ายของผู้ป่วยในครอบครัวเค้า เราทำให้เค้าได้ยิ้ม ความดันดีขึ้น ทุกอย่างดีขึ้น แล้วทุกคนพูดแต่คำว่าขอบคุณ ขอบคุณ ไม่ใช่ขอบคุณนุ่นนะคะ ขอบคุณเรื่องราวที่เกิดขึ้น มันดีมากเลย นั่นแหละค่ะนุ่นพบว่าแค่นี้เองค่ะชีวิตมันแค่นี้เลย”
หลายครั้งชีวิตไม่สมหวัง เผชิญความสาหัสของเรื่องราวแต่เมื่อเธอมั่นคงหนักแน่นที่ใจแล้ว หลายอย่างคลี่คลายและได้สัมผัสความสุขอย่างแท้จริง ครูนุ่นบอกว่า ปกติไม่ค่อยเล่าเรื่องส่วนตัวให้ใครฟัง และไม่ต้องห่วงนะทุกวันนี้ความรักในเรื่องส่วนตัวของเธอดีมาก
เช่นเดียวกับบางส่วนของเนื้อเพลงเครื่องบินกระดาษ “ปล่อยให้ลอย ๆ ไป มีขึ้นมีลงกำหนดไม่ได้ ก็คล้ายชีวิตเรานี้ ไม่มีความแน่นอน ไม่ได้มีแค่เรื่องดี สุขทุกข์ไม่รู้จะมีเมื่อไหร่”
เธอบอกว่า ครูนุ่นในเวอร์ชั่นวันนี้ต่างจากครูนุ่นในเวอร์ชั่นวันเก่าก่อนอย่างที่สุด
เด็กหญิงไม่พูด ยิ้มและทำคือนุ่น
“ตอนเด็ก ๆ นุ่นไม่พูดเลย จะเชื่อแม่และอะไรก็ได้ ยิ้มและทำคือนุ่น เป็นอย่างนี้เป็นเด็กปกติที่เรียบร้อยมาก พอ 5 4 3 2 ร้องเพลง นุ่นจะเป็นอีกคนหนึ่งเลย แสดงหนังจะเป็นอีกคนหนึ่ง ถ่ายโฆษณาจะเป็นอีกคนหนึ่ง แต่พอคัทปุ๊บ นุ่นจะเป็นอีกคนเลย เงียบไม่พูด แล้วก็เป็นปม แบบรู้สึกหวาดผวาตลอดเวลา แล้วมันเก็บอย่างนั้นมาจนโต แต่เป็นคนสุดกับทุกเรื่อง เคยแสดงเป็นพุ่มพวงตอนเด็กตอนแม่ผึ้งเสียใหม่ ๆ และเคยเป็นลมแล้วคิดว่าผีเข้า สมัยนั้นเชื่อแบบนั้น นอนหลับในกองถ่ายตื่นขึ้นมา..บอกกูจะฆ่ามึง หยิบมีดผลไม้ขึ้นมา แต่เพิ่งมาเริ่มรู้สึกตอนโตว่าตอนนั้นนุ่นอยู่ในสังคมที่...ตอนเด็กนุ่นอยู่สลัม พบเจอมาเยอะ เจอคนฆ่ากันตาย เจอคนติดยาเสพติด เจอสังคมที่ไม่ดี มันเลยหล่อหลอมให้เด็กหญิงนุ่นอยู่ในภาวะที่ทุกอย่างมันทุกข์มาก
คือครอบครัวนุ่นไม่ได้รวยไม่ได้จน อยู่สลัม สายใต้เก่า พ่อเป็นช่างซ่อมรถสายใต้ พ่อซ่อมทุกคัน ก็เลยจำเป็นต้องอยู่ และแม่เป็นคนที่ธรรมดามาก แม่เป็นคนที่ประหยัดมาก เป็นคนควบคุมการเงินของบ้าน และให้ลูกเห็นภาพในความเป็นจริง เค้ามีสไตล์ของเค้า กระเป๋าไม่ใช้ ใช้ลังใส่ของแทนกระเป๋า (หัวเราะ) ตั้งแต่เด็กจนถึงมหาวิทยาลัยไม่มีบ้าน เราจะอยู่กับบ้านคนงานที่พ่อไปทำงานตรงนั้น บ้านก็จะเป็นสังกะสี ตอนนั้นก็งงว่าทำไมแม่ให้เราอยู่บ้านสังกะสี แต่นุ่นไม่พูด เชื่อ ก็อยู่มาอยู่มา บ้านหลังแรกของนุ่นคือทำงานได้เอง มีบ้านตอนอยู่มหาวิทยาลัยปี 3 หาเงินซื้อบ้านได้แล้ว แต่ตอนเด็ก ๆ ไม่รู้ รู้สึกว่าทำไมเราลำบากจัง เพิ่งมารู้สึกตอนอายุ 30 ปลาย ๆ ว่า อ๋อ ขอบคุณแม่นะที่ทำให้เราเป็นเราได้
นุ่นร้องเพลงก็เพราะคุณแม่ แม่ชอบให้นุ่นทำงาน ตั้งแต่เด็กอนุบาล 3 ก็ร้องเพลงในงานแต่งงาน ร้องเพลงที่ร้านอาหาร แล้วแม่ให้นุ่นทำงานตลอดด้วยความสามารถของตัวเอง เป็นเหตุผลว่าทำไมนุ่นถึงโฟกัสทางเดียวตลอดว่าฉันต้องทำงานเพื่อแม่เพื่อครอบครัว แล้วก็มันเหมือนกับแม่นำทางสายนี้จนนุ่นไม่ได้โฟกัสเรื่องอื่นเลย มีแต่เรื่องงานและสอนร้องเพลง”
ครูนุ่นเวอร์ชั่นเดิมเติบโตมาด้วยความรู้สึกว่า “เป็นหัวหน้าครอบครัว และเป็นคนเซนซิทีฟ เคยคิดว่าจะต้อง hold ทุกคนให้ได้ต้องอยู่อย่างเพอร์เฟคให้ได้ แต่ความเพอร์เฟคของเรามันกดดันเรา”
ความกดดันที่ว่าอยู่ด้านในลึก ๆ เธอไม่เคยรู้ตัวมาก่อน แต่สิ่งที่แสดงผลของความกดดันทั้งหลายคืออาการป่วยที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าและเธอก็ยังไม่ตระหนักถึงความร้ายแรงนั้น
“ชีวิตนุ่นมีหลายเฟส ป่วยทุกเดือน เข้าไอซีอยู่สามเดือนที สามเดือนที แต่นุ่นก็ทำงานได้ปกติ เคยชักที่ห้องผ่าตัดเข่า นุ่นออกมาปุ๊บถือวอล์กเกอร์และยังสอนร้องเพลง ชีวิตยังเป็นแบบนั้น มันหนักมากจนมาอีกเฟสหนึ่ง คืออันนี้ยังไม่คิดเรื่องสุขภาพเลยนะคะคิดแต่ว่าฉันต้องทำงาน และเวลาทำงานจะยิ้มสดใสร่าเริงเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตอนนั้นคิดอยู่ในใจว่าฉันจะต้องเป็นผู้มอบความสุขและมอบประโยชน์ให้กับทุกคนโดยที่ไม่คิดถึงตัวเองเลยแม้แต่นิดเดียว ตกกลางคืนมีบางวันก็ชัก แต่พอตื่นเช้ามาหายชักเสร็จก็ไปสอนได้ปกติ เป็นแบบนั้นวนไป จนมาอีกเฟสหนึ่ง ก็ยังไม่รักษาสุขภาพแต่ไปหาอีกทางหนึ่งคือ โอเค ฉันมีความเชื่อว่าต้องใส่อันนี้แล้วฉันจะสุขภาพดี ใส่อันนั้นแล้วสุขภาพดี ไปวัดนั้นฉันจะแข็งแรง ไปวัดโน้นฉันจะแข็งแรง เฟสนั้นทำอย่างนี้ตลอดเวลา แล้วมันก็ดีขึ้นนะคะแต่นุ่นเชื่อว่าตอนนั้นมันดีที่ใจ เพราะพอเราไปปุ๊บใจเรามันฟู
พีคสุดคือไม่ได้แล้วหัวใจเต้นหนัก หัวใจดับ หายเลย หายครั้งที่หนึ่ง คือตื่นขึ้นมาลงบันไดแล้วหน้าฟาดตรงบันได แล้วก็ เฮ้ย! เกิดอะไรขึ้นก็ไปโรงพยาบาล พอเข้าโรงพยาบาลปุ๊บก็เข้าไอซียูเลย นั่นก๊อกที่หนึ่งยังไม่สำนึกค่ะ เข้าไอซียูหลังสุดคือตอนนั้นผู้มีพระคุณของนุ่นหนึ่งท่านแนะนำว่าให้นุ่นไปบวชชี นุ่นติดต่อวัดเรียบร้อยแล้วอีก 2 วันจะเข้าไปบวช ปรากฏว่านุ่นตื่นขึ้นมาแล้วเข้าห้องน้ำแล้วมันดับพรึบ! หน้าฟาดลงพื้นทั้งหมด คิ้วแตก จมูกบิ่น ฟันเป็นรอย รอบนั้นคือแรงสุด”
หัวใจดับ 5 รอบ 3 วินาทีบ้าง 2 วินาทีบ้าง ถามเธอว่าเธอป่วยด้วยโรคอะไร?
“หมอก็หาโรคไม่เจอค่ะ หัวใจมันดับไปเองเลย แต่ก่อนหัวใจจะดับ นุ่นจะชักก่อน นุ่นจะรู้ตัวแล้ว ปวดท้องจะอ้วก รู้แล้วคืนนี้ชัก นุ่นคิดน้อยมากในเรื่องนี้เพราะเหมือนกับระหว่างทางมีเรื่องให้คิดตลอดเวลา นุ่นก็เลยคิดแบบ...พอพะอืดพะอมจะอ้วก เออ มันมาแล้ว นุ่นจะเปลี่ยนเรื่องคุยเลย ห่วงตัวเองน้อยไปหน่อยในตอนนั้น พอถึงเวลาชักก็ชัก โอเค ไปประกัน นุ่นคิดแค่นั้นเอง ไปหาคุณหมอประจำ อ้าว! คุณสรีภรณ์มา โอเค ไอซียู นุ่นคิดแค่ว่าโอเค ไปไอซียู เดี๋ยวมีหมอดูแลเราคิดแค่นี้ สั้นมาก
เพราะห่วงสิ่งแวดล้อมและคนอื่นมากกว่าตัวเอง เอาคนอื่นเป็นหลักไม่เคยเอาตัวเองเลยแม้แต่นิดเดียวเพราะคิดว่าเท่ ช่วยคนอื่นก่อน ฮีโร่ เท่มาก แต่จริง ๆ มันไม่ใช่เลย”
หลังจากนั้นเธอได้ไปบวชชีครั้งที่หนึ่ง แต่ปรากฏว่าเป็นการสร้างความเข้าใจผิดและหลงไปในอีกทาง เธอบอกว่าไม่ได้บวชเพื่อเรียนรู้อะไร แต่บวชเพราะเจ้ากรรมนายเวรจะมาเอาตัวและยังคงไม่รักษาสุขภาพตัวเอง
“เราเอาความรู้นั้นมาอวดดี บวชชีแค่แป๊บเดียวเอง แต่ทำไมนุ่นในร่างนั้นมันอวดเก่งอวดดีมาก ฉันบวชชี ฉันมีญาณอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งมันผิดมากผิดมาก ๆ ค่ะ ความอวดดีนั่นแหละมันทำให้สุขภาพแย่ไปอีกค่ะ เพราะมันสร้างภาพเป็นผู้รู้ ฉันบวชชีมาแล้วนะ ฉันผ่านด่านหนึ่งมาแล้วนะ
ช่วงนั้นนุ่นไม่มีความสุขเพราะว่าข้างนอกพยายามสร้างให้มันดีแล้วมันไม่ได้ดีจริง ยังละเลยเรื่องสุขภาพตัวเองอยู่ ทาเล็บปกปิดเล็บม่วง ติดขนตาปลอม ตาเหลืองใช่ไหม อ้ะ กินวิตามิน อะไรก็ไม่รู้ทุกอย่างมันปลอมไปหมดเพราะยังไม่รักษาสุขภาพอะไรเลย สรุปล้มอีกครั้งพอล้มครั้งนี้นึกในใจ มาเตือนแล้วอ่ะ ไม่ได้แล้ว! นุ่นก็เลยคิด..ไปไหนดี บวชชีอีกครั้งแล้วกัน อันนี้บวชเองโดยที่ไม่ได้เกี่ยวกับโรคหรือการหนีผี ตัดสินใจบวชอีกครั้ง นุ่นว่าบวชครั้งนี้ทำให้นุ่นรู้ว่าเราต้องปฏิบัติตัวอย่างไรและจะต้องอยู่อย่างไรด้วยความรู้สึกของตัวเองจริง ๆ ค่ะ หลังจากนั้นก็กลับมารักษาสุขภาพแบบจริง ๆ กลับมาออกกำลังกายมากขึ้น กลับมาดูแลตัวเองมากขึ้นจากข้างใน”
จุดเปลี่ยนและเรียนรู้
“ก่อนหน้านี้หลังจากที่นุ่นไปทำจิตอาสาบ้าง ไปทำเวิร์คช็อปน้อง ๆ ได้ใช้คำว่าแบ่งปันความสุขให้ผู้ป่วย แต่หลังจากที่ทำเสร็จคนที่ทุกข์สุดคือแม่ คนที่ทุกข์สุดคือครอบครัวของนุ่นเอง อันนี้ไม่ใช่ละ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นแบบนั้น แล้วก็จะมีคนพูดตลอด ครูนุ่นเอาอีกแล้วครูนุ่นเข้าโรงพยาบาลอีกแล้ว ไม่ต้องทำแล้วงานน่ะ พอเขาพูดเสร็จปุ๊บคนที่ทุกข์ก็เราอีก มันเป็นจริง ๆ มันคือทุกข์ที่ไม่ใช่ความสุขสมบูรณ์แบบ ตอนนั้นนะคะ การทำจิตอาสานุ่นทำเต็มที่ มีความสุขจริงแต่มันเป็นความสุขระยะสั้น เป็นความทุกข์ในระยะยาว พอหลังจากที่นุ่นได้เรียนรู้จากสิ่งที่ได้เจอ นุ่นก็เลยปรับ จริง ๆ แล้วเราดูแลตัวเองให้ดี 50% อีก 50% ช่วย Support ช่วยแบ่งปันผู้อื่น มันจะได้ครบ 100 เต็มสมบูรณ์แบบ”
การทำงานจิตอาสาทำให้ครูนุ่นเข้าใจความไม่แน่นอนของชีวิตก็จริง แต่ยังไม่เท่าการได้หันกลับมาเยียวยา ดูแล และฟื้นฟูสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเองอย่างแท้จริง หลังจากที่ครูนุ่นไปบวชครั้งที่สอง เธอเล่าว่าได้ไปเข้าคอร์ส living and dying กับอาจารย์ Victoria Subirana ได้พบเจอคนหลายคนในคลาสซึ่งหลายคนในนั้นทำให้เธอได้เรียนรู้และพบเจอครูบาอาจารย์ที่เธอนำมาเป็นแนวทางในชีวิต นั่นก็เพราะความที่ครูนุ่นเป็นคนสุดอย่างที่เธอบอก เมื่อได้ยินชื่อหลวงพ่อคำเขียนจากเพื่อนในคลาส เธอกลับมาก็สืบค้นว่าท่านเป็นใคร
“นุ่นเป็นคนช่างสงสัยและถ้าอยากรู้ก็จะไปสุดก็ไปหาข้อมูล พอค้นก็พบพระอาจารย์หลายท่าน หลวงพ่อชา พระอาจารย์ไพศาล ท่านพุทธทาส นุ่นก็ซื้อหนังสือเลย ซื้อหนังสือท่านพุทธทาส ก็อยากไปสวนโมกข์ สุราษฎร์ฯ ไปไม่ได้ งั้นไปสวนโมกข์กรุงเทพแล้วกัน ไปหมกมุ่นอยู่ที่สวนโมกข์-กรุงเทพค่ะ ไปทุกวันเพราะเป็นคนสุด ทำงานเหนื่อยแค่ไหน ตอนเช้าขับรถไป ไปนั่งสมาธิ ไปอ่านหนังสือห้องสมุด แล้ว อ๋อ! เข้าใจแล้วว่าเราปฏิบัติผิด มันจะต้องเป็นในรูปแบบของมนุษย์ปกติที่เป็นธรรมชาติมาก ๆ หลังจากนั้นนุ่นปฏิบัติตัวเองพลิกหมด ทุกวันนี้นุ่นไม่ต้องพึ่งอะไรเลย ถ้าไม่ใช่ตุ้มหูอันนี้ที่เข้ากับหมวกที่นุ่นใส่มาเพื่อถ่ายรายการ นุ่นไม่ใส่เครื่องประดับทุกอย่าง เพื่อให้รู้สึกว่ามันสะอาด ให้ใจของนุ่นรู้สึกสะอาดจริง ๆ และเป็นธรรมชาติจริง ๆ นุ่นเป็นคนสุดก็อยากสุดในระดับหนึ่ง”
“พอเริ่มกลับมาดูแลตัวเองอย่างจริงจัง ถามตัวเอง กลัวใช่ไหมผ่านด่านกลัวไปให้ได้ กินใช่ไหมผ่านด่านการกินไปให้ได้ ออกกำลังกายใช่ไหมผ่านด่านการออกกำลังกายให้ได้ หลังจากนั้น (สามปีที่แล้ว) นุ่นสุขภาพดีมากเลยดีทั้งข้างในและดีทั้งการบอกต่อ มันดีแบบทุกวันนี้นุ่นไม่มีความทุกข์ ถ้าทุกข์จะจัดการภายในหนึ่งวัน สมมุติว่าถ้าทุกข์ตื่นเช้ามา 3 ชั่วโมงนุ่นหายแล้ว แต่มันจะเป็นกระบวนการการจัดการที่ตามรูปแบบของนุ่นเอง ทุกข์ค่ะไม่มีไม่ทุกข์หรอกแต่นุ่นหายทุกข์ไวมาก”
พี่นุ่นไง!
ครูนุ่นเล่าว่าน้องชายมีอายุห่างจากเธอ 2 ปีเข้าออกโรงพยาบาลตั้งแต่เด็ก ๆ จนวันนี้ ตั้งแต่ที่ศิริราชยังไม่มีศูนย์บริรักษ์
“ยังจำกลิ่น จำภาพที่ต้องไปเฝ้าน้อง ทุกวันนี้ที่ต้องไปศิริราชเหมือนกลับไปบ้านเก่ากลิ่นเดิมภาพเดิมไม่เปลี่ยน”
ความป่วยสอนอะไร?
“ความป่วยของน้องสอนอะไรเราไหม นุ่นเพิ่งมารู้ตัวว่าเค้าสอนนะตอนที่เขาเริ่มล้างไต เมื่อก่อนไม่เคยรู้สึกว่าการป่วยของน้องจะมาสอนอะไรเลย ตอนนั้นคิดแย่มาก คือ น็อตเป็นภาระของบ้าน ตอนนั้นคิดแบบนั้น ทำไมน็อตไม่ไปสักทีอ่ะ เพราะในขณะที่ป่วยน็อตทำให้แม่เศร้า ทำให้แม่เหนื่อยตลอด ทำให้แม่ร้องไห้
มีหลายเรื่องค่ะที่ทำให้รู้สึกว่าน็อตคือภาระค่ะ แล้วน็อตก็เก่งมากไม่ตาย (หัวเราะ) เป็นซุปเปอร์ฮีโร่มาก นุ่นอยู่ในหลายเหตุการณ์ที่พลิกที่สุดในหลายเรื่องเพิ่งมารู้สึกตอนที่น็อตต้องล้างไตแล้วเหรอ? น็อตต้องตัดกระดูก ก็คิดว่าน้องไม่รอด สรุปรอด เรื่องราวของน็อตทำให้นุ่นค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ คิด”
น้องชายครูนุ่นเริ่มป่วยจากเบาหวานทางพันธุกรรม และมีอาการความดัน หัวใจ กระดูกเปราะ และต้องตัดกระดูกเพราะเบาหวาน ตาบอดหนึ่งข้าง แต่เป็นผู้ป่วยที่แข็งแรง มีความเข้มแข็งจนครูนุ่นถึงกับพูดว่าได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นจากการได้กลับไปคุยกับน้องชาย
กลับไปคุย? ใช่แล้ว เพราะครูนุ่นไม่ค่อยได้คุยกับน้อง รับรู้ทุกอย่างผ่านทางแม่
“วันที่กลับไปคุยคือบังเอิญค่ะ น็อตขาพลิกแล้วไปเตะเครื่องซักผ้าแล้วกระดูกหัก ต้องพาไปโรงพยาบาล แม่ไม่อยู่บ้านช่วงนั้น นุ่นก็ต้องพาน้องไปค่ะ ทุกครั้งแม่จะเป็นคนพาไป แม่จะเป็นฮีโร่ของบ้านที่พาน้องชายไปโรงพยาบาลเพราะนุ่นจะไม่เข้าหาน็อตเลย คือตอนเด็ก ๆ น้อตจะชอบโกหกคนอื่น เอาชีวิตนุ่นไปใส่ชีวิตตัวเอง เช่น นุ่นไปเที่ยวนั่นนี่ก็ถ่ายภาพ น็อตก็จะถ่ายเอาภาพไปลงว่าเป็นภาพตัวเอง คือมีอารมณ์แบบหลอกตัวเอง แต่นุ่นเข้าใจนะคะ เพราะในโลกโซเชียล เขาไม่เคยบอกใครเลยว่าตัวเองป่วย จะลงภาพตัวเองแบบหล่อมากและนุ่นก็จะแบบ...แกแต่งกี่แอพเนี่ย คือน็อตเค้าอยากยังเป็นคนที่อยากเป็นคนปกติ นุ่นก็เลยขอห่าง เพราะเรารู้สึกว่าเราคุยกับน้องไม่ได้แล้วเพราะน็อตต้องปกติสิ อย่าโกหกสิ ถ้าอย่างนี้ก็ไม่อยากคุย เป็นเหตุผลที่นุ่นไม่อยากคุยกับน้อง ไม่ใช่ไม่คุยแบบโกรธเกลียดนะคะ เจอหน้าก็เป็นไงมั่ง โอเคนะ ดีละ ก็แค่นี้ แต่ไม่คุยลงดีเทล แต่รู้ทุกอย่างจากแม่”
ครูนุ่นเล่าว่าวันที่ขับรถไปส่งน้องไปโรงพยาบาล น้องชายร้องเจ็บไปตลอดทางจึงเป็นห่วง ตัดสินใจเบี่ยงเบนความสนใจโดยอัดคลิปวิดีโอชวนน้องคุย และนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญของความสัมพันธ์สองพี่น้อง
“นุ่นบอกว่าน็อตถามหน่อยสิตอนนี้ชีวิตเป็นไงบ้าง อัดคลิปไว้ดีกว่าเพราะไม่รู้ว่าไปถึงโรงพยาบาล น็อตจะอยู่ต่อหรือเปล่าเนี่ย ตอนนั้นคิดแค่นั้นเลยค่ะ น็อตเล่าถึงมุมมองของนุ่นกับน้องเป็นยังไง เพิ่งรู้วันนั้นเหมือนกัน คือเขามองว่านุ่นดุมาก พี่นุ่นดุเหรอ ดุยังไง เค้าก็เล่าเรื่องถึงแม้เค้าเจ็บพี่นุ่นก็ดุมากเลย พี่นุ่นจำไม่ได้เหรอ น็อตคุยกับพี่นุ่นพูดครับทุกครั้งเลยนะ เออใช่ นุ่นเพิ่งมาคิด น็อตพูดกับเราเพราะมากเลยนะ มีมารยาทกับเรามากเลยนะ เรามองข้ามหมดเลย ก็เล่าให้ฟังจนมาเล่าเรื่องอาการเจ็บของน็อตว่าเขาหายไปช่วงหนึ่ง เขาไปท่องยุทธจักร เพราะตั้งแต่ ม. 4 หนีออกจากบ้านไปเลยทำให้นุ่นห่างจากน้อง แล้วเค้าก็เล่าให้ฟังว่าเค้าไปทำอะไรมา พอถึงโรงพยาบาลก็หันไปถามหายเจ็บหรือยัง เออ! ไม่เจ็บเลย อ่า! แฮปปี้ไหม วันนั้นแหละ ปลดล็อคเลย นุ่นลง Facebook กับน้องชายเป็นครั้งแรกในชีวิตเลย”
โปรดิวเซอร์ในทีมงานของเราเอ่ยขึ้นว่า แต่รายการไม่ได้บอกว่าให้ไปทำอะไรกับน้องนี่ครับ บอกว่าอยากคุยกับครูนุ่นในเรื่องจิตอาสาแล้วทำไมถึงกลับไปเชื่อมกับน้องได้?
“นุ่นอยากอินเพราะถ้าไม่อินก็พูดไม่ได้ และในสคริปต์เขียนว่าให้พูดอาการป่วยของน้องและนุ่นรู้อาการป่วยของน้องผ่านจากแม่ แม่มาเบิกค่ารักษานุ่นก็จะเอาให้ เรารู้แค่มุมกว้าง แต่วันนั้นเป็นเหตุที่ทำให้ได้มีโอกาสคุยกัน อคตินุ่นหายไปเลยค่ะ”
แล้วตอนนี้กลัวน้องตายไหม?
“กลัวค่ะ เมื่อวันเกิดที่ผ่านมา กลัวมาก (หยุดพูด น้ำตาไหล) มันเหมือนกับคือ 20 กว่าปีที่ผ่านมาไม่เคยคุยกับน็อตยาวขนาดนี้มาก่อน มันเหมือนมีอะไรกันกับน้องชายมาตลอด กลัวโน่นกลัวนี่กลัวนั่นกลัวทุกอย่าง รักแบบห่าง ๆ แล้วนุ่นกลัวตัวเองเป็นแบบนี้ เพราะว่าถ้าเป็นแบบนี้ทุกคนในบ้านหนัก กลัวแม่จะไม่แข็งแรง กลัวพ่อหนัก แต่พ่อไม่น่าเป็นอะไรเพราะพ่อเหมือนพระ ใช้ชีวิตเรียบง่ายมาก นุ่นกลัวตัวเองจะดาวน์ ก็เลยเป็นความคิดที่ว่านุ่นออกมาดีกว่า ออกมาจากการรับรู้
เมื่อวันเกิดน้องชาย นุ่นถ่ายคลิปอีกครั้งแล้วให้ลูกชาย (ของน็อตที่ครูนุ่นช่วยรับมาดูแลและให้เรียกหม่ามี้นุ่น) อวยพรวันเกิดให้พ่อตัวเอง และก็เป็นครั้งแรกที่นุ่นแฮปปี้เบิร์ดเดย์เค้าด้วย และถ่ายตัวเองกับน้องให้เพื่อนในเฟสบุ๊คมาแฮปปี้เบิร์ธเดย์น้อง”
ครูนุ่นเล่าว่าสิ่งที่ผ่านมาทำให้ได้เรียนรู้หลายอย่าง ทั้งมองย้อนกลับไปในอดีตและมองสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างจริงแท้มากขึ้น
“เหตุการณ์กับน็อตที่ผ่านมา นุ่นได้เรียนรู้ว่ามีอะไรอย่าเก็บ ให้บอกเลย มันส่งผลต่อสุขภาพของน้องส่งผลต่อสุขภาพจิตของนุ่นเอง ส่งผลไปถึงแม่ที่ไม่เคยเห็นลูกตัวเองมานั่งคุยกัน เพราะว่าแม่มีคำพูดอยู่คำพูดหนึ่งว่าถ้าแม่ตายไปใครจะดูแลน็อต เคยบอกไปว่าก็นุ่นไง นุ่นดูแลน้อง แต่เธอไม่เคยดูแลน้อง ไม่เคยเข้าไป แต่เหตุการณ์วันนั้นมันปลดล็อคหมดเลย เราดูแลได้ เราพาน้องไปหาหมอได้ เราคุยกับน้องได้ปกติ เราจะเป็นนุ่นในอีกเวอร์ชั่นกับน้อง พี่นุ่นดูแลใจน็อตแล้วนะ พี่นุ่นสามารถคุยกับน็อตได้แล้วนะ น็อตไม่ต้องกลัวนะเวลาที่แม่ไม่อยู่อ่ะ พี่นุ่นไง!”
ชีวิตคือการอยู่อย่างเป็นธรรมชาติ
“นุ่นว่าชีวิตคือการอยู่บนโลกนี้ด้วยสติ ถ้าไม่มีสติมันจะคอนโทรลอารมณ์ต่าง ๆ ไม่ได้ มันจะคอนโทรล รัก โลภ โกรธ หลงไม่ได้ ถ้าเรามีสติเราสามารถควบคุมได้ทุกอย่าง สมัยก่อนคิดว่านุ่นมีสติแต่มันไม่ใช่ ไม่มีแต่แกล้งมี แล้วก็อวดเก่งกับตัวเอง นุ่นไม่ค่อยอวดเก่งกับคนอื่นแต่อวดเก่งกับตัวเองมากเลย ตอนนี้รู้แล้วว่าไม่ต้องอวดเก่ง พลาดได้ ผิดได้ เศร้าได้ ความจริงของนุ่นตอนนี้คือความจริงทุกวัน แต่ก่อนจริงบ้างไม่จริงบ้าง นุ่นว่าถ้าคนเรามีความจริงในทุก ๆ วัน นั่นแหละคือทางแห่งธรรมชาติของมนุษย์”
ตายดีเลือกได้
‘ความสุขจะมีความหมายก็ต่อเมื่อได้แบ่งปัน’ คำที่กลั่นออกมาจากการทำงานจิตอาสาซึ่งลูกศิษย์ครูนุ่นและกลุ่มพลังเล็ก ๆ ที่ร่วมกันทำงานมอบให้ครูนุ่น ซึ่งกลายเป็นคำที่อยู่บนเสื้อยืดเพื่อจำหน่ายหาทุน DM the Charity ปีนี้ และเป็นเหมือนเป้าหมายการทำงานเพื่อผู้อื่นที่มีหลักคิดว่าจริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องแบ่งปันด้วยเงินหรือสิ่งของ แบ่งปันด้วยวัตถุ แต่คืออะไรก็ได้ที่เราสามารถแบ่งปันซึ่งกันและกันได้
“นุ่นรู้สึกว่าการทำจิตอาสาของนุ่นมันมีประโยชน์คือนำพาให้เรามีสติ นำพาให้เราไปเจอคนดี ๆ นำพาให้เราเจอกัลยาณมิตรที่น่ารัก นำพาให้เราเจอความสุขอย่างแท้จริง นุ่นก็เลยชวนเด็ก ๆ ลูกศิษย์ของนุ่นให้มาทำจิตอาสาด้วยกัน ในรูปแบบต่าง ๆ เช่นเปิดหมวกร้องเพลง ทำสิ่งประดิษฐ์เพื่อมอบให้กับผู้ป่วยเด็ก หรือทำกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญคือเด็ก ๆ บอกว่าเค้าอยากเป็นจิตอาสา คือตอนนี้มีน้อง ๆ อินกับงานจิตอาสาหลายคนมาก 10 ขวบ 11 ขวบ หนูอยากเป็นจิตอาสาค่ะ เพราะอะไรล่ะ เพราะหนูได้ช่วยเหลือเพื่อน ช่วยเหลือน้อง ๆ ค่ะ หนูมีความสุข”
นอกจากจิตอาสาในโรงพยาบาล การหาทุนเพื่อศูนย์บริรักษ์ โรงพยาบาลศิริราชแล้ว ครูนุ่นยังทำเวิร์คชอป “ตายดีเลือกได้” กับกลุ่มเด็ก ๆ นักเรียนของเธอทุกเช้าวันเสาร์อีกด้วย เรื่องนี้มีที่มาคือ
“ตั้งแต่เริ่มทำงานจิตอาสามา มันมีวันที่เริ่มต้นและมันมีวันที่สูงสุดของงานเหมือนกัน แต่กลับกลายเป็นว่าพอได้ทำงานที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ทำมา มันยิ่งสูงยิ่งหนาว คนที่เข้ามาร่วมงานกับนุ่นเป็นคนที่ปรารถนาดีกับนุ่นทั้งหมด แล้วก็มีอีกฝั่งนึงที่ไม่เข้าใจรูปแบบงานของเราจริง ๆ ว่าเราทำเพื่อใคร ยังไง มันเลยกลายเป็นงานที่ผสมความจริงและกิเลสเกิดขึ้น และปีนั้นเป็นปีที่นุ่นทุกข์เพราะนุ่นรู้สึกว่าคนที่เข้ามาในงาน อินกับงานว่า โห! ละครดีมาก ดูแล้วน้ำตาใหลเลย มันเหมือนกับเขามาดูหนัง แต่น้อยมากที่พูดถึงจิตอาสา แล้วปีนั้นจิตอาสาร้องไห้ บอกว่าครูนุ่นมันไม่สนุกเลย คนที่ทำงานกับนุ่นมาตั้งแต่แรกแล้วไม่สนุก นุ่นรู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว ถ้างานมันจะโตขึ้นมันจะต้องไม่ได้โตแบบเปลือก เพราะคนที่ทำงานมากับนุ่นตั้งแต่ปีแรก อยู่กับนุ่นตั้งแต่เราไม่มีอะไรกับงาน ถ้าจิตอาสาของเราเศร้า นุ่นก็ไม่เอา เลยเลิก ช่วงโควิดพอดี เป๊ะเลย โควิดพลิก ทำงานอะไรไม่ได้ โอเค นุ่นก็เลยมาจริงจังเกี่ยวกับเรื่องตายดีเลือกได้
ตอนนั้นให้แต่ละคนมาพูดเกี่ยวกับเรื่องมุมมองการตายของตัวเองว่าถ้าเรามีเวลา 24 ชั่วโมง กับในหลาย ๆ คน หลาย ๆ อาชีพ มุมมองเป็นแบบไหน คิดอย่างไร หลังจากปีนั้นมันทำให้นุ่นเข้ามาพูดเกี่ยวกับเรื่องตายดีเลือกได้มากขึ้นเพราะทำไปปุ๊ป คนที่เข้าใจคือผู้ใหญ่ พอผู้ใหญ่เข้าใจแล้ว นุ่นก็เลย ไหน ๆ ผู้ใหญ่เข้าใจแล้วงั้นเรามาทำให้เด็กเข้าใจบ้างดีกว่า เพราะว่าพอผู้ใหญ่เข้าใจ ผู้ใหญ่เค้าจะคิดไปในมุมมองว่า โถ อีกไม่นานจะไปแล้วล่ะ มันอารมณ์เศร้า ๆ อีกแล้ว แล้วเราเป็นคนที่แบบเศร้าไม่ได้ เศร้าไม่ได้ เดี๋ยวมันดาวน์ เอายังไงดีให้การตายเป็นเรื่องสนุกขึ้นมา เพราะปีนั้นทุกคนแบบเศร้า แม้จะเป็นเศร้าแบบมีพลังนุ่นก็ยังไม่ต้องการ คือนุ่นต้องการให้ทุกคนสนุกเพราะสโลแกนนุ่นคือครูนุ่นสนุกไปเรื่อย ๆ ทำยังไงดีล่ะ โอเค งั้นเรามาทำใหม่ดีกว่า ปีนั้นพลิกเลย นุ่นไม่ได้ทำเกี่ยวกับเรื่องการตาย นุ่นทำเกี่ยวกับการรีไซเคิลขยะแต่บริจาคให้กับศูนย์บริรักษ์เหมือนเดิม นุ่นขอพลิกหัวสมองของนุ่น คือ โอเคเราไม่ต้องพูดเรื่องการตายแล้วเรามารณรงค์โลกดีกว่า แต่เป็นเหตุคือไม่อยาก deep เราอยากให้สนุก แล้วปีที่เรารณรงค์เกี่ยวกับขยะ แต่ละครก็เกี่ยวกับตายดีเลือกได้นะคะ ปีนั้นเริ่มรู้สึกว่าทำกับเด็กแล้วสนุก ก็เลยเอากระบวนการของตายดีเลือกได้ค่อย ๆ เอามาใส่กับเด็กเรื่อย ๆ แล้วก็ใส่กับแต่ละครอบครัว แล้วจะทำยังไงที่ทำกับเด็กได้ โอเค ก็…นิทาน เลยเป็นที่มาในการหานิทานที่เกี่ยวกับความตายในมุมมองของความตายอีกรูปแบบหนึ่งเอามาเล่าให้เด็ก ๆ ฟังดีกว่า แล้วพอเราให้เด็ก ๆ ฟังเด็ก ๆ เก็ต เค้าไม่กลัวแล้วสนุก ก็เลยเริ่มจริงจังเลย งั้นทำเวิร์คช็อป”
ครูนุ่นเล่าต่อถึงช่วงพัฒนาเวิร์คชอปว่าได้พบกับคุณไขศรี วิสุทธิพิเนตร (หญิง) จากชีวามิตรซึ่งได้แนะนำหนังสือเล่มหนึ่งให้เธอจนสามารถนำมาใช้ในกระบวนการทำเวิร์คชอปในทุกวันนี้ได้
“นุ่นได้พูดคุยกับพี่หญิงเกี่ยวกับโปรเจคต่าง ๆ ที่ทำให้กับเด็ก ๆ ในที่นี้คือให้เด็ก ๆ กลุ่มพลังเล็ก ๆ มาทำงานเป็นจิตอาสา พอพี่หญิงแนะนำหนังสือนิทานเรื่องหนึ่งให้อ่านชื่อ “ต่อจากนี้จะเป็นยังไงนะ” ตอนแรกยังไม่คิดอะไรค่ะว่าหนังสือเล่มนี้จะให้ประโยชน์กับเด็ก ๆ ได้ พออ่านปุ๊บ มันเป็นสิ่งที่นุ่นสอนตัวเองอยู่แล้ว นิทานจะเล่าเกี่ยวกับเรื่องอยู่อย่างไรกับปัจจุบันให้มีความสุขและเป็นการเขียนบันทึกตัวเอง เขียนบันทึกความสุขของตัวเองในแต่ละวัน ก็เลยเอานิทานมาเล่าให้น้องๆ ฟังและให้น้อง ๆ เริ่มทำเวิร์คช็อป โดยปรับชื่อเป็น “วันพรุ่งนี้จะเป็นยังไงนะ” อย่างมีอยู่หน้าหนึ่งค่ะที่เกี่ยวกับการออกแบบความตาย ถ้าเป็นการเก็บกระดูกก็จะเก็บในโกศ เก็บที่วัด จุดธูปอะไรอย่างนี้ แต่ในหนังสือนิทานจะแนะนำว่าเราสามารถที่จะสร้างสุสานได้เป็นหลากหลายรูปแบบนะ สร้างเป็นรูปแทมโบลีน สร้างเป็นรูปปั้น สร้างเป็นหอคอย ก็เลยเอามาดัดแปลงทำเวิร์ชอปกับเด็ก ๆ ว่าลองคิดซิว่าเราจะสร้างเป็นรูปอะไร จินตนาการเด็กพลุ่งพล่านมากเลยค่ะ สร้างเป็นชิงช้าสวรรค์ สร้างเป็นรูปแอปเปิ้ล แล้วทุกคนเอาเรื่องราวเหล่านี้ไปบอกคุณพ่อคุณแม่ได้อย่างมีความสุขและสนุก มันไม่ใช่การแช่งกัน มันไม่ใช่พูดเรื่องการตายแล้วผี หรือพูดเรื่องการจากลาแล้วต้องเศร้า และนิทานที่นุ่นเล่าให้น้อง ๆ ฟังส่วนใหญ่จะเป็นนิทานที่อยู่ในเรื่องความเป็นจริงที่ทำยังไงก็ได้ให้ปัจจุบันของทุกคนมีความสุข”
เมื่อคน ๆ หนึ่งสนใจเรื่องความตาย แล้วเธอกลัวตายไหมเล่า? ครูนุ่นตอบชัดเจนว่า
“ตอนนี้กลัวตายไหม? บอกเลยว่าไม่กลัวเลยค่ะ คิดว่านุ่นพร้อมตายทุกวัน ก็เลยคิดกับตัวเองว่าทุกวินาทีที่ยังอยู่จะต้องอยู่อย่างมีคุณค่า ทุกวินาที ณ ตอนนี้นะ นุ่นอยากทำให้ทุกคนสบายใจ อยากทำให้ตัวเองสบายใจ อยากให้ทุกโมเมนต์ดีที่สุดเพราะนุ่นไม่รู้เลยว่าต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น
ตายดีเลือกได้ในมุมมองของนุ่น คือถ้าเราอยากที่จะตายดีเราเลือกที่เราจะอยู่กับปัจจุบันได้ เราเลือกที่จะมีความสุขกับตัวเองในโลกแห่งความเป็นจริงได้ สุขทั้งทางด้านร่างกายสุขทั้งทางด้านจิตใจ วันไหนที่เราไม่สุขเรารีบรันตัวเอง สมาธิช่วยได้ ถ้ามีความทุกข์นุ่นจะนั่งสมาธิก่อนเลย สูดลมหายใจ เข้าออก เข้าออก แป๊บเดียวนุ่นหาย
ทุกวันนี้การปฎิบัติธรรมของนุ่นคือการทำงานจิตอาสา แล้วก็การตื่นมาทุกวันแล้วมอบสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเองและมอบสิ่งดี ๆ ให้กับคนรอบข้าง”
ชมรายการ "เพื่อนชีวิต" ตอนที่ 2 "ทำวันนี้ให้สุดหัวใจ" ครูนุ่น - สรีภรณ์ สระนพงษ์