Knowledge cover image
26 ธันวาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. Death Cleaning สุดท้ายก็ต้องทิ้ง

Death Cleaning สุดท้ายก็ต้องทิ้ง

แนวคิดดี ๆ ของการเก็บกวาดก่อนลาจาก เรียนรู้การใช้ชีวิตให้เล็กที่สุด เพื่อไม่ทิ้งภาระให้กับคนที่เหลืออยู่


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

ละทิ้งให้เหลือน้อยที่สุด ซื้อเท่าที่จำเป็น อะไรดีเก็บไว้ อะไรร้ายอย่าไปจำ


ข้อความแรกด้านหลังปกหนังสือ "Death Cleaning สุดท้ายก็ต้องทิ้ง" บอกไว้อย่างนั้น ประโยคสั้น ๆ เรียบง่าย แต่ทำให้ต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งว่า ข้าวของที่เราบ้าซื้อ บ้าเก็บมาตลอดนั้น เมื่อถึงวันสุดท้ายของชีวิต มันยังมีความสำคัญและจำเป็นกับเราแค่ไหน


มาร์การีตา แมกนัสสัน เขียนเล่าถึงแนวคิด ตลอดจนวิธีการ "เก็บกวาด" และ "ทิ้ง" ข้าวของในชีวิต ตามวิถีเรียบง่ายแบบชาวสวีเดนที่เรียกว่า เดอสแต็ดนิง (dostadning) หรือแปลง่าย ๆ ว่า "การเก็บกวาดทำความสะอาดก่อนตาย" ด้วยการเอาสิ่งของที่ไม่จำเป็นออกไป เมื่อคิดว่าเวลาที่ตัวเองต้องจากโลกนี้ไปใกล้เข้ามาแล้ว


แนวคิดการจัดระเบียบบ้านนี้ (ซึ่งสะท้อนถึงการจัดระเบียบชีวิต) คล้ายกับหนังสืออีกเล่มหนึ่งของนักเขียนหญิงชาวญี่ปุ่น คนโด มาริเอะ ชื่อ "ชีวิตดีขึ้นทุก ๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว" อาจจะพูดได้ว่า เป็นแนวทางของการใช้ชีวิตแบบมินิมอล ให้มีสิ่งของต่าง ๆ ในชีวิตให้น้อยที่สุด เพราะการมีข้าวของมากมายก็เหมือนภาระที่ต้องแบกไว้ไปตลอด แถมไม่ใช่เป็นภาระกับเจ้าตัวคนเดียว เมื่อถึงวันที่จากโลกนี้ไป ภาระนั้นก็จะตกทอดไปถึงลูกหลาน หรือคนรอบข้างให้ต้องมาเสียเวลาจัดการกับมันอีกต่างหาก


เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีเรี่ยวแรงและพอมีเวลาอยู่ ก็มาจัดการกับข้าวของมากมายนั้นเสียแต่เนิ่น ๆ เป็นการปลดภาระให้กับตัวเองและคนที่อยู่ข้างหลัง ซึ่งไม่ใช่แค่ปลดภาระทางกาย แต่ยังเป็นการปลดภาระทางใจอีกด้วย


แม้ในหนังสือจะเขียนถึงการเก็บกวาด และทิ้งอะไรที่เป็นสิ่งของเป็นหลัก โดยมีคำแนะนำเล็ก ๆ ซ่อนอยู่ว่า ควรเรียงลำดับการทิ้งของที่ผูกพันทางใจไว้ท้ายสุด อย่างภาพถ่าย สมุดบันทึก ของที่ระลึกในช่วงเวลาพิเศษ ฯลฯ เพราะถ้าเริ่มจากของที่ทิ้งง่าย ไม่ผูกพันอะไรมากก่อน จะทำให้ค่อย ๆ ได้เตรียมใจจนชินกับการทิ้งมากขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายแม้ข้าวของที่ผูกพันก็จะตัดใจได้ง่ายขึ้นมาก


สิ่งหนึ่งที่ชอบมากในหนังสือเล่มนี้ คือ การพูดคุยถึงการเตรียมตัวตายผ่านการพูดคุยเรื่องจัดการข้าวของต่าง ๆ ด้านหนึ่งทำให้เราเห็นว่า ครอบครัวชาวตะวันตกอย่างในสวีเดน การพูดคุยเรื่องความตายกับคนใกล้ชิดก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าเริ่มต้นพูดคุยถึงการจัดระเบียบ หรือแม้แต่การกำจัดข้าวของต่าง ๆ อาจเป็นประตูที่เปิดใจพูดคุยถึงการเตรียมตัวตายได้ง่ายขึ้น


คำแนะนำหนึ่งที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้คือ ให้ลองตั้งคำถามกับผู้สูงอายุในบ้านอย่างอ่อนโยนและนุ่มนวล เช่น

"แม่มีของดี ๆ เยอะแยะเลย แล้วแม่คิดไว้บ้างรึยังว่าต่อไปจะจัดการกับมันยังไงดี"

"พ่อมีความสุขกับข้าวของพวกนี้หรือเปล่า"

"ชีวิตของแม่จะง่ายขึ้นกว่านี้และไม่เหนื่อยเท่านี้หรือเปล่า ถ้าเรากำจัดของบางชิ้นที่แม่เก็บสะสมมาหลายปีออกไปบ้าง"


หรือเสนอตัวเป็นผู้ช่วยจัดการข้าวของก็เป็นแนวทางที่ดี เช่น

"​มีอะไรที่เราค่อย ๆ ช่วยกันทำ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีของเยอะแยะให้จัดการทีหลังหรือเปล่า"


ผู้เขียนแนะนำต่อไปอีกว่า ถ้าการเปิดประเด็นพูดแล้วผู้สูงวัยบ่ายเบี่ยงไม่อยากพูดคุย ลองให้เวลากับพวกท่านสักพักแล้วค่อยชวนคุยใหม่ อาจจะใช้วิธีขอข้าวของบางอย่างจากท่านเป็นที่ระลึก หรือหยิบประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการใช้ชีวิต เช่น โอกาสเสี่ยงที่จะล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุถ้ามีข้าวของเกะกะขวางทาง แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องใจเย็น นุ่มนวล และอ่อนโยนให้มาก อย่าลืมว่า แม้จะเป็นสิ่งของ แต่บางอย่างก็มีความผูกพันทางใจที่ยากจะตัดใจทิ้งอย่างรวดเร็วเหมือนกัน


"Death Cleaning สุดท้ายก็ต้องทิ้ง" เป็นหนังสือเล่มบาง ๆ ที่ใช้เวลาอ่านไม่นาน แต่สิ่งที่ได้หลังจากปิดหน้าสุดท้ายลง คือ การมองไปรอบ ๆ ห้อง รอบ ๆ บ้านที่อยู่ แล้วคิดทบทวนว่า ฉันควรทิ้งอะไรไปบ้างนะ จะจัดการกับของบางอย่างที่เป็นความทรงจำอย่างไร แล้วบางอย่างที่เป็นความลับส่วนตัวล่ะ ถ้าตายไป จะมีใครมาล่วงรู้บ้างไหม...


คิดได้อย่างนั้นแล้ว ก็เริ่มต้นสำรวจเพื่อ "ทิ้ง" ตั้งแต่วันนี้เลย เพื่อวันพรุ่งนี้ที่จะรู้สึก "เบา" ขึ้น

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรสร้างสรรค์เนื้อหาดี ๆ เพื่อการอยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads