Knowledge cover image
24 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. เรื่องของน้องน้ำแข็ง

เรื่องของน้องน้ำแข็ง

บทความจากหมอผู้ดูแลในช่วงสุดท้ายของชีวิต


เรื่องโดย นอ.นพ.พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์

เย็นวันหนึ่งได้ไปดูนักกีฬาที่บาดเจ็บจากการฝึกซ้อม เจอน้องพยาบาลที่แคมป์นักกีฬา ขอปรึกษาคนไข้เด็กผู้หญิง อายุ 8 ขวบ ซึ่งเป็นลูกของเพื่อนเธอ ป่วยด้วยมะเร็งในอุ้งเชิงกราน ได้รับการรักษาครบทุกอย่างแล้ว แต่โรคไม่หาย ช่วงหลังอาการกลับมาใหม่และรุนแรงกว่าเดิม  


ผมถามประวัติการเจ็บป่วยของคนไข้ สภาพครอบครัว ผู้ปกครอง (คุณพ่อคุณแม่) ของคนไข้เป็นอย่างไร มีลูกกี่คน สิทธิการรักษา การพยากรณ์โรค ผู้ปกครองรับรู้และยอมรับได้ไหม และท้ายสุดคนไข้รับรู้ความจริงของการเจ็บป่วยหรือยังว่าจะลงเอยแบบใด 


น้องพยาบาลบอกข้อมูลให้ผมทราบระดับหนึ่งแล้วส่งคลิปน้องน้ำแข็งให้ผมดู


หลังจากทราบข้อมูล ผมพอจะประเมินสภาพของคนไข้และครอบครัวได้ระดับหนึ่ง ผมวางแผนคร่าว ๆ ไว้ แต่ต้องดูสถานการณ์จริงหน้างาน แล้วจึงอธิบายหลักการของผมในการให้คำปรึกษา ไม่ว่าคนไข้จะเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือไม่ หลักการดูแลแบบประคับประคองไม่ต่างกัน ทั้งหมดต้องเอาคนไข้เป็นศูนย์กลาง ถ้าสิ่งที่ผมจะดูแลรักษาคนไข้ในระยะนี้ ไม่ผ่านความต้องการของคนไข้ แต่เป็นความต้องการของผู้ปกครองแทน คนไข้จะไม่ถึงฝั่งอย่างที่น้องควรจะเป็น


ที่ผมต้องแจ้งน้องพยาบาลให้เข้าใจหลักการที่ผมใช้ในการดูแลคนไข้ โดยเฉพาะถ้าเป็นระยะท้าย เพราะอย่างน้อย รายที่ได้รับการฝากยิ่งต้องเข้าใจหลักการที่จะใช้ในการวางแผน นั่นก็คือ แพทย์เจ้าของไข้ ผู้ปกครองหรือญาติต้องเคารพสิทธิผู้ป่วย และคนไข้ต้องเป็นผู้เลือกและวางแผนการรักษาในระยะเวลาที่เหลือด้วยตนเอง 


ผมถือสิทธิผู้ป่วยเป็นสำคัญ


ทุกอย่างที่เข้าสู่กระบวนการรักษา คนไข้ต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยเฉพาะการรักษาที่ทำให้คนไข้ไม่สุขสบาย หรือทุกข์ทรมาน อย่างเช่นการรักษาเพื่อยื้อชีวิต ดังนั้นจึงง่ายมากที่คนไข้จะทรมานจากการรักษา เพราะถ้าแนวทางการรักษาผิดหลักการ ความทุกข์ทรมานก็จะเกิดขึ้นกับคนไข้ คนไข้จึงต้องรู้และร่วมตัดสินใจในแนวทางการรักษาที่วางแผนไว้ แต่การตัดสินใจของคนไข้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริงคือ ต้องรู้ว่าโรคลุกลามไปถึงไหนความทุกข์ทรมานที่จะเกิดมีอะไรบ้าง และการรักษาจะช่วยลดอาการได้อย่างไร หรือถ้าคนไข้ยังไม่อยากจากโลกนี้ไป ต้องการให้ยื้อชีวิต คนไข้จะยอมรับความทุกข์ทรมานที่เกิดจากการยื้อชีวิต การบอกความจริงให้คนไข้ได้ตัดสินแนวทางการรักษาด้วยตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ 


ผมแจ้งน้องพยาบาลว่า ยินดีจะดูแลให้ ขอให้ผู้ปกครองของคนไข้เข้าใจหลักการที่ผมใช้ และขอให้อ่านบทความเกี่ยวกับการเตรียมตัวในคนไข้ระยะท้าย ที่เพจของผม (เพจหมอแดง) ขอให้อ่านทุกหัวข้อเพราะจะมีหลักการ แนวคิด การตัดสินใจ วิธีการจากไปอย่างสงบ การตายแบบวิถีธรรมชาติที่สั้นและทุกข์ทรมานน้อยกว่า รวมทั้งตัวอย่างคนไข้หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะพบได้ในระยะท้าย ทุกบทความมีประโยชน์ในบริบทต่าง ๆ กัน   


หลังจากนั้นผมจึงอนุญาตให้เธอบอกวิธีติดต่อผมทั้งทางโทรศัพท์และไลน์ส่วนตัว


ช่วงแรกที่ผู้ปกครองติดต่อเข้ามา ผมได้พูดคุยเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของคนไข้ (น้องน้ำแข็ง) และถามข้อมูลต่าง ๆ ที่มีผลต่อการดูแลรักษาน้องน้ำแข็ง ผมตั้งใจจะไปเยี่ยมน้องน้ำแข็งที่บ้าน แต่ช่วงนั้นผมไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ไปกราบครูบาอาจารย์ที่ระนอง จึงแจ้งผู้ปกครองว่า ถ้ามีอะไรที่สงสัย หรือกังวลใจ สามารถติดต่อผมได้ตลอดเวลา เมื่อผมกลับถึงสัตหีบแล้วจะไปเยี่ยม ขอให้พ่อน้องส่งรูปหรือคลิปปัจจุบันของน้องให้ผมประเมินอาการอีกครั้ง


จากตัวโรคและอาการที่ผมได้ดูคลิปน้อง ฟังคุณพ่อเล่ามา น้องคงอยู่อีกไม่นาน แต่ผมยังไม่กล้าบอกความจริงที่สัมผัสได้ ผมมีบางคำถามเพื่อประเมินการยอมรับของผู้ปกครองถ้าต้องเสียลูกไป เช่น ทำใจได้ไหม รับสถานการณ์นี้อย่างไร เตรียมอะไรบ้าง น้องน้ำแข็งรู้ไหม คิดว่านิยามการตายดีของน้องเป็นอย่างไร ผมไม่แน่ใจว่าผู้ปกครองกล้าพูดคุยประเด็นนี้กับน้องไหม ถ้าผู้ปกครองกล้าพูดประเด็นเหล่านี้กับลูก ผมมั่นใจว่าน้องต้องไปดีอย่างที่น้องต้องการ



จากรูปภาพและคลิป น้องต้องใช้ออกซิเจน มีอาการเหนื่อยเป็นพัก ๆ ทุกครั้งที่เหนื่อยน้องจะขอออกซิเจน น้องหายใจหอบ แต่น้องทนต่ออาการหอบได้ระดับหนึ่งจึงยังไม่เหนื่อยมาก คนไข้ส่วนใหญ่จะทนไหวในช่วงแรก จะมีเป็นครั้งคราวที่อาการมากจนทำให้รู้สึกเหนื่อย วิธีการทุเลาเหนื่อยของคนไข้เหล่านี้คือ นั่งหายใจ หายใจทางปาก บางคนนอน/นั่งคว่ำหน้าหายใจ จะช่วยทุเลาอาการเหนื่อยได้บ้าง ผมแนะนำเรื่องออกซิเจนว่า จะช่วยทุเลาเหนื่อยได้ในช่วงแรก แต่จะเป็นการยื้อในช่วงสุดท้ายที่น้องหมดสติแล้ว  


ผมติดต่อกับคุณพ่อของน้องเป็นระยะ ถามเรื่องนิยามการตายดีของน้องว่ามีหรือยัง ผมให้กำลังใจคุณพ่อ ต้องยอมรับความจริงว่า ลูกจะอยู่อีกไม่นานและต้องจากไปในที่สุด ถ้าพ่อยังไม่เข้มแข็งหรือยอมรับความจริงนี้ไม่ได้ การตายดีของน้องน้ำแข็งก็เกิดขึ้นไม่ได้ การบอกความจริง การเตรียมตัว การบอกลาที่ควรทำก็อาจไม่ได้ทำ หรือช้าเกินไป นิยามการตายดีของน้องเป็นอย่างไรคือคำถามที่ผมถามกับคุณพ่อ แม้จะเป็นคำถามที่บางครั้งอาจจะเสียดแทงความรู้สึก แต่ถ้าไม่เตรียมไว้ตั้งแต่วันนี้ก็ไม่น่าจะทันสำหรับน้องแล้ว ผมถามเพื่อสร้างความตระหนักในการดูแลรักษา และเตรียมตัวทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจในระยะท้าย ไม่ใช่เพียงสำหรับน้องเท่านั้น แต่จะมีประโยชน์สำหรับทุกคน


เป็นความยากลำบากที่ผู้ปกครองจะผ่านช่วงระยะเวลานี้ไปได้ และการที่จะพูดความจริงกับลูกจนกระทั่งทราบนิยามการตายดีนั้นยิ่งยากไปกว่า เพราะกลัวลูกจะรับไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วลูกอาจจะรับได้ แต่เป็นความยากของผู้ปกครองเองที่จะกล้าทำและรับเหตุการณ์นี้ได้ไหม 


ผมให้กำลังใจคุณพ่อว่า ต้องเข้มแข็งและยอมรับความจริงของธรรมชาติ อย่าเอาความรัก ความผูกพัน มายื้อชีวิตลูกเพราะไม่อยากเสียลูกไป แม้น้องน้ำแข็งจะเด็ก แต่จากคลิปของน้องและพัฒนาการทางด้านการยอมรับความเจ็บป่วยที่พ่อแม่ได้แนะนำสั่งสอน ทำให้น้องมีความคิดแบบผู้ใหญ่ พอที่จะรับรู้และวางแผนในระยะท้ายก่อนจากไปได้ด้วยตัวเอง น้องต้องเรียนรู้ความจริงของธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องการเจ็บป่วย การพลัดพราก และจะต้องจากโลกนี้ไปในที่สุด ผมบอกผู้ปกครองห้ามเอาความคิดตัวเองมาตัดสินใจแทนลูก ความทุกข์ ความเสียใจที่เกิดขึ้นเพราะเราไปตัดสินใจแทนลูก จะแก้ไขได้ยากถ้าลูกได้จากไปแล้ว ผู้ปกครองสามารถร้องไห้ได้ แต่ต้องเข้มแข็งและไม่อ่อนแอให้ลูกเห็น


ผมฝากผู้ปกครองถามน้องด้วยว่า ต้องการมานอนโรงพยาบาลไหม หมอช่วยเรื่องเหนื่อย เรื่องปวดได้ แต่ถ้าน้องไม่อยากมา หมอก็มียาวิเศษที่ช่วยลดอาการเหนื่อยให้ไว้ใช้ที่บ้านได้ คุณพ่อรู้ว่ายานี้คือมอร์ฟีน ซึ่งน้องมียานี้อยู่แล้ว ผมจึงแนะนำเรื่องการใช้และปรับขนาดยามอร์ฟีนอย่างมีประสิทธิผลให้คุณพ่อได้รับทราบ แต่ถ้าไม่สามารถรับยามอร์ฟีนทางปากได้ หมอก็มีแผ่นแปะทุเลาอาการเหนื่อย อาการปวด ที่ช่วยทดแทนมอร์ฟีนได้ไม่แพ้กัน 


ผมยังคงติดตามและสื่อสารอาการของน้องเป็นระยะ แต่ไม่ได้ไปเยี่ยมบ้านเพราะยังไม่ได้รับการร้องขอ


คุณพ่อได้รายงานอาการน้องให้ผมทราบว่า น้องดูเหนื่อยมาก แต่ยังไม่ยอมมานอนโรงพยาบาล น้องน้ำแข็งทราบเรื่องที่คุณหมอบอกแล้วครับ ผมพยายามบอกให้คุณพ่อไม่บังคับลูก หรือเอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ แต่ให้เอาความต้องการของน้องน้ำแข็งเป็นหลัก ถ้าน้องยังพอทุเลาอาการเหนื่อยได้ด้วยมอร์ฟีนก็คงยังไม่ต้องมา แต่ให้เปิดทางไว้ถ้าน้องต้องการมา


ผมเคยถามคุณพ่อ...ถ้าน้องน้ำแข็งนอนหลับแล้วยังไม่ยอมตื่น เราจะปลุกเขาไหม..... ผมไม่รอคำตอบ แต่ได้บอกคุณพ่อไปว่า ถ้าเขาไม่ตื่นไม่ต้องปลุก ถึงแม้จะได้เวลาอาหาร หรือเวลากินยาก็ตาม ในระยะท้ายที่น้องทรมาน ถ้าน้องหลับแล้วไม่ตื่นเลยก็ถือว่าเขาไม่ต้องตื่นมาทรมาน ผู้ปกครองต้องยอมรับความจริงของการจากลานี้ให้ได้ อย่าไปดึง อย่าไปยื้อด้วยการไปปลุกเขากลับมา ถ้าเราไปปลุกให้น้องต้องตื่นจากหลับมาทุกข์ทรมานกับร่างกายนี้ ลูกจะไม่มีความสุข ให้คิดเพื่อลูก ลูกจะได้ไม่ทรมาน หมอเชื่อว่าผู้ปกครองทุกคนยอมรับและทำได้


ผมบอกคุณพ่อว่าถ้าน้องน้ำแข็งตัดสินใจมาโรงพยาบาลให้แจ้งแพทย์เวร รายงานผมด้วย ส่วนยาที่จะช่วยทุเลาอาการในช่วงที่น้องยังไม่ต้องการมาโรงพยาบาล คุณพ่อสามารถยื่นบัตรแทนแล้วแจ้งเวชระเบียนมาตรวจที่ผมได้เลย ไม่จำเป็นต้องนำคนไข้มาทรมานโดยเปล่าประโยชน์


ธรรมชาติของโรค ได้ทำงานตามหน้าที่ของมัน ความเหนื่อยของน้องมากขึ้น



น้องยอมมาโรงพยาบาล ผมทราบเรื่องเมื่อน้องมาถึงห้องฉุกเฉินแล้ว  โดยถูกรับเป็นผู้ป่วยใน ได้ห้องพิเศษที่แผนกศัลยกรรม แต่ต้องเข้าไปนอนรอที่ห้องศัลยกรรมสามัญก่อน เพื่อประเมินภาวะโควิดของน้องและผู้ปกครอง ก่อนที่จะย้ายเข้าห้องพิเศษ (ข้อดีของโรงพยาบาลผมคือ ถ้าเป็นคนไข้ระยะท้ายที่ไม่ยื้อชีวิตสามารถเข้าห้องพิเศษได้ โดยญาติสามารถเฝ้าและดูแลคนไข้ในระยะสุดท้ายจนจากไป)


ผมไปเยี่ยมน้องและถามถึงสิ่งที่น้องชอบและอยากได้ในช่วงนี้ ...น้องบอกชอบวาดภาพ ผมถามน้องว่า ต้องการเพื่อน หรือคุณครูที่จะมาวาดภาพหรือสอนด้วยไหม น้องพยักหน้าแล้วยิ้ม ผมบอกน้องน้ำแข็งว่า มีลูกเพื่อนเพิ่งแสดงความจำนงเป็นจิตอาสามาพอดี เธอชอบและเก่งงานศิลปะมีความชำนาญการวาดภาพ จะมาสอนให้ พร้อมอุปกรณ์วาดภาพ และสีที่ต้องใช้ให้เป็นของขวัญ โดยจะมาหลังจากสอบเสร็จวันพฤหัสที่ 16 มิถุนายน (2565) น้องน้ำแข็งยิ้มด้วยความดีใจ 

......


วันรุ่งขึ้น ผมไปเยี่ยมน้อง เห็นน้องนอนหายใจหอบบนเตียงที่ปรับหัวสูงเหมือนท่านั่ง ผมถามว่าเหนื่อยไหม น้องบอกว่าไม่เหนื่อย น้องมีความอดทนและยังสู้ได้อยู่ แม้ปอดและร่างกายจะเริ่มไม่ไหวแล้ว ผมถามว่า ถ้าเหนื่อย ลุงหมอจะขอให้ยาทุเลาอาการเหนื่อย หนูจะเอาไหม น้องพยักหน้า


ผมอธิบายต่อว่า ยาทุเลาอาการเหนื่อยมีทั้งยากินชนิดเม็ด ชนิดน้ำ ถ้าไม่ชอบก็มีชนิดแปะผิวหนัง สามารถเลือกได้ แต่ถ้าใช้แล้วอาการไม่ดีขึ้นก็มีชนิดหยดเข้าสายน้ำเกลือ น้องน้ำแข็งฟังอย่างตั้งใจ และเข้าใจในสิ่งที่ผมอธิบาย ผมบอกน้องว่า ถ้าต้องการเมื่อไรให้บอกคุณพ่อได้เลย คุณพ่อจะแจ้งลุงหมอให้เอง


ผมถามน้องว่า ถ้าไปเกิดใหม่อยากเกิดเป็นอะไร ....ขณะรอคำตอบ น้องน้ำแข็งทำท่าคิด ผมจึงแนะนำว่า อยากเกิดเป็นนางฟ้าไหม น้องบอกว่านางฟ้าไม่มี มีแต่เทวดา ผมถามนำว่า แล้วไปเป็นเทวดาเอาไหม น้องพยักหน้า ผมพูดต่อ ถ้าน้องน้ำแข็งไปเป็นเทวดาจะได้เจอคุณแม่ของลุงหมอ แม่ลุงหมอไปเป็นเทวดาแล้ว (ผมมีปีติตอนที่พูด) คุณแม่ของลุงหมอรู้เรื่องของหนูและรอหนูอยู่ น้องน้ำแข็งพูดตอบกลับผมว่า หนูอยากไปเป็นเทวดา

 

ผมบอกน้องน้ำแข็งว่า ต้องทำความดี มีความละอายต่อบาป ต้องไม่โกรธ ไม่โมโห ถ้ารู้ว่าตัวเองโกรธ หรือตัวเองโมโหต้องรีบคลาย แล้วให้อภัยคนที่ทำให้โกรธ โมโห หนูอาจจะโกรธตัวเอง โกรธคุณพ่อ โกรธคุณแม่ หรือโกรธลุงหมอ โกรธพี่พยาบาลที่ทำให้หนูไม่ถูกใจ แต่หนูต้องรู้ทันความโกรธแล้วรีบให้อภัยทุกคนนะครับ น้องน้ำแข็งบอกผมว่า หนูจะไม่โกรธ


ผมถามน้องต่อไปว่า หนูเคยสวดมนต์ไหม น้องตอบอย่างฉะฉานว่า เคย ผมถามว่าหนูสวดบทไหน...น้องนึกอยู่พักหนึ่ง ผมใช้โอกาสที่น้องน้ำแข็งนึกอยู่นี้ ขอให้น้องน้ำแข็งสวดมนต์บทที่ทำให้คนสวดไปเป็นเทวดาได้ หนูจะเอาไหม น้องน้ำแข็งพยักหน้า ผมบอกว่าบทสวดนี้สั้น บอกหนูรอบเดียวหนูจะจำได้เลย น้องน้ำแข็งทำตาแป๋วรอฟังบทสวดนี้ ..ผมบอกว่าบทนี้มี 2 พยางค์ คือ พุท กับ โธ ให้หนูท่องแค่พุทโธ หนูอยากให้พ่อกับแม่ท่องด้วยไหม ท่านจะได้ไปเป็นเทวดาด้วย น้องน้ำแข็งพยักหน้า ผมบอกน้องน้ำแข็ง ...ถ้าอยากให้พ่อกับแม่ ไปเป็นเทวดาด้วย ก็ต้องคอยเตือนท่านให้ท่องพุทโธด้วยกันกับหนู น้องน้ำแข็งพยักหน้าแล้วตอบว่า ค่ะ


ผมเล่าอานิสงส์ของพุทโธให้น้องน้ำแข็งฟัง โดยยกตัวอย่างคนไข้รายหนึ่งเป็นภรรยาลูกน้องที่ทำงาน เสียชีวิตจากมะเร็งรังไข่ หลังจากที่เขาจากไปแล้ว 7 วัน ได้มาเข้าฝันลูกชายอายุ 7 ขวบ และไปหาพระอาจารย์ที่เขาศรัทธาในคืนเดียวกันนั้นเอง ลูกชายบอกว่า เมื่อคืนแม่มาหา ใส่ชุดลิเกมีมงกุฎสวมอยู่บนหัว ส่วนพระอาจารย์ท่านโทรมาถามผมว่า มีโยมผู้หญิงที่เพิ่งตายไปในช่วงนี้ไหม ผมตอบว่ามี เพิ่งเสียไป 7 วัน พระอาจารย์บอกว่า โยมเขามากราบอาตมา โดยทีแรกเขามาในรูปเทพบุตรใส่ชุดอย่างสวยงามมีชฎาสวมอยู่ พระอาจารย์ถามว่าเทพบุตรเป็นใครถึงมากราบเรา เทพบุตรจึงเนรมิตเป็นร่างสมัยที่ยังเป็นมนุษย์ให้เห็น พระอาจารย์จึงนึกออกว่าคือคนไข้ของผมรายนี้ แล้วเทพบุตรก็บอกว่า ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เขาเป็นผู้หญิง เป็นคนไข้ของหมอแดง แต่หลังจากที่ตายไปแล้ว ได้เกิดเป็นเทวดาในภพภูมิที่มีแต่ผู้ชาย


ท่านบอกว่าเทพบุตรมาขอบคุณท่าน และฝากขอบคุณผม เทพบุตรได้บอกคุณของพุทโธ และกรรมฐานที่ท่านได้ให้ไว้พิจารณาตั้งแต่สมัยเริ่มเข้าสู่ระยะท้าย เทพบุตรเล่าว่าในระยะสุดท้ายก่อนร่างกายแตกดับเป็นความทุกข์เวทนาอย่างแรงกล้า ไม่สามารถหลีกหนีหรือทำอะไรได้เลย เขาจึงอยู่กับคำบริกรรมพุทโธไว้อย่างเดียว พอรู้ตัวอีกทีก็เป็นเทวดาแล้ว   


ผมสังเกตน้องน้ำแข็งฟังอย่างตั้งใจ ผมถามน้องว่า สวดพุทโธกันดีไหม น้องพยักหน้า และมุ่งมั่นในการท่องพุทโธอย่างจริงจัง



คุณพ่อได้รายงานอาการของน้องน้ำแข็งเป็นระยะ ๆ การให้มอร์ฟีนน้ำช่วยทุเลาเหนื่อยได้จริง แต่ต้องใช้เวลาไม่สามารถแก้อาการได้ทันที เพราะต้องรอยาดูดซึมก่อนจึงจะออกฤทธิ์ ผมสอนวิธีการปรับเพิ่มขนาดยามอร์ฟีน กับน้องน้ำแข็งและผู้ปกครองไว้แล้ว การที่ยามอร์ฟีนน้ำชนิดกินต้องใช้เวลาในการออกฤทธิ์จึงทำให้คนไข้มีอาการเหนื่อยอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่จะดีขึ้น เป็นสิ่งที่คนไข้จะต้องทนสักพัก แต่ผู้ดูแลจะทรมานจิตใจมาก ผมบอกพ่อ ถ้าไม่ไหวก็ขอมอร์ฟีนชนิดหยดเข้าน้ำเกลือได้ คุณพ่อบอกว่าน้องน้ำแข็งขอแค่ยามอร์ฟีนน้ำชนิดกิน


ภาพที่ทุกคนเห็นคือน้องน้ำแข็งหายใจเร็วเหมือนหอบเหนื่อย แต่ด้วยความอดทนและชินกับการหายใจเร็ว น้องจึงทนต่อภาวะหายใจเร็วโดยไม่ขอยามอร์ฟีนชนิดหยดเข้าน้ำเกลือ 


คุณพ่อส่งภาพการหายใจของน้องมาให้ผมดูเป็นระยะ เพื่อสอบถามและรายงานอาการให้ผมทราบ น้องหอบเหนื่อยมากขึ้น คุณพ่อถามว่า ทำอย่างไรได้บ้างนอกจากเพิ่มยา ผมบอกสิ่งที่เกิดคือกระบวนการจากไปที่จะต้องเกิดขึ้น ทุกคนจะได้เจอ ธรรมชาตินี้จะมาให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมถามย้ำคุณพ่อว่า น้องเค้านิยามและเลือกการจากไปด้วยตัวเขาเองหรือยัง เมื่อไรที่เขาไม่ไหว เขาจะขอยาเอง แต่ตอนนี้เขายังรับกับสิ่งที่เป็นอยู่นี้ได้ ผมบอกคุณพ่อ น้องนั่งหลับแสดงว่าน้องเริ่มจะไม่ไหวแล้ว ยิ่งถ้าน้องนั่งท่านอนคว่ำแสดงว่าอาการยิ่งมากขึ้นไปอีก เพราะท่านี้เป็นท่าที่ช่วยทุเลาอาการเหนื่อยได้ดีที่สุดแล้ว


....แต่การจะให้มอร์ฟีนน้ำชนิดกิน หรือมอร์ฟีนชนิดหยดเข้าน้ำเกลือ น้องน้ำแข็งเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะรับตอนไหน ซึ่งผู้ปกครองเคารพการตัดสินใจของน้องน้ำแข็ง


ผมได้ไปเยี่ยมน้องน้ำแข็งเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่ผมเจอผมจะถามน้องน้ำแข็งว่าลืมพุทโธไหม น้องน้ำแข็งบอกไม่ลืม ผมถามท่องพุทโธในใจไหม น้องน้ำแข็งพยักหน้า ผมมักถามต่อไปว่าชวนคุณพ่อคุณแม่ท่องพุทธโธด้วยไหม


ผมชวนน้องน้ำแข็งคุยเรื่องความตายอยู่บ่อย ๆ ด้วยคำถามที่เป็นกันเอง เช่น ถ้าหนูไปเป็นเทวดาแล้ว ร่างกายจะทำอย่างไร หนูจะเอาไปด้วยไหม น้องน้ำแข็งบอกว่า ไม่เอาไปเพราะเอาไปไม่ได้ ผมบอกน้องว่าร่างกายเป็นเพียงก้อนเนื้อที่จิตวิญญาณมาอาศัยอยู่ชั่วคราว เมื่อหนูไปเป็นเทวดา ร่างกายก็คืนโลกนี้ไป น้องนำแข็งเข้าใจ น้องน้ำแข็งดูอารมณ์ดี ไม่ได้กลัวความตาย เมื่อคุยกับผมน้องน้ำแข็งดูเบิกบาน ตอบหลาย ๆ คำถามได้อย่างดี บางคำถามผมต้องถามนำเพื่อให้น้องน้ำแข็งคล้อยตาม 


น้องน้ำแข็งมีอาการเหนื่อยมากขึ้น ผมถามว่าได้ขอมอร์ฟีนหรือเปล่า คุณพ่อบอกว่าน้องน้ำแข็งขอแค่ยาน้ำมอร์ฟีนและแบบแผ่นแปะ


ผมได้พูดคุยกับคุณพ่อและคุณแม่ของน้องน้ำแข็งเสมอ ๆ ถึงกระบวนการดูแลคนไข้ระยะท้าย และหลักการสำคัญที่เราไม่ควรละเลย นั่นก็คือ สิทธิผู้ป่วย คนไข้ควรรู้และเข้าใจสิ่งที่ตัวเองเป็น และกำลังจะดำเนินไปในทิศทางใด  ซึ่งผู้ปกครองเข้าใจหลักการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายเป็นอย่างดี การพูดคุยจึงทำเพื่อไม่ให้ลืมเท่านั้น และผมให้กำลังใจผู้ปกครอง เพื่อให้ก้าวข้ามในสิ่งที่ยากลำบากที่สุดในชีวิต นั่นก็คือการจากไปของน้องน้ำแข็ง


ในช่วงสุดท้ายก่อนน้องน้ำแข็งจะจากไป น้องยอมรับยามอร์ฟีนชนิดหยดเข้าน้ำเกลือเพื่อทุเลาอาการเหนื่อย น้องน้ำแข็งสามารถพักและหลับได้ คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า หลังจากรับมอร์ฟีนชนิดหยดเข้าน้ำเกลือ น้องหลับไปได้ประมาณ 15 - 20 นาที น้องตื่นขึ้นมา 1 ครั้ง น้องพูดกับพ่อและแม่ว่า


“ป่ะป๊าหม่าม้า หนูทำเต็มเต็มที่สูงสุดแล้ว หนูไม่เอาแล้ว หนูปล่อยแล้ว”


น้องพูดแบบนี้ 3 ครั้ง และครั้งสุดท้ายช่วงเวลาประมาณสองทุ่มครึ่งที่น้องน้ำแข็งตื่น บอกลาคุณพ่อคุณแม่เป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นน้องน้ำแข็งก็ไม่ตื่นอีกเลย


ผมไม่มีลูกแต่เข้าใจความรู้สึกของพ่อแม่ที่เฝ้าดูลูกที่กำลังจากไป จึงไม่อยากให้เกิดแผลในใจสำหรับพ่อแม่ ทุกคนส่งน้องน้ำแข็งให้ไปดีตามที่น้องต้องการ


น้องน้ำแข็งไปตอนตีสามครึ่งของวันพฤหัสที่ 16 มิถุนายน 2565 


วันถัดมาผมขึ้นไปดูแลรักษาคนไข้รายอื่นตามปกติ แต่ก็อดที่จะมองเข้าไปในห้องที่น้องน้ำแข็งเคยนอนอยู่ไม่ได้


คราวนี้ไม่มีน้องน้ำแข็งแล้ว เป็นห้องว่างที่เปิดประตูรอรับคนไข้รายใหม่ที่จะเข้ามา



ขอบคุณภาพประกอบจาก เพจน้องน้ำแข็ง ณัฐวีร์ เครือวัลย์

นอ.นพ.พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์ avatar image
เรื่องโดยนอ.นพ.พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์วิสัญญีแพทย์ ที่ปรึกษาทีมดูแลผู้ป่วยระยะท้าย โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ คุณหมอที่นำแนวทางการดูแลแบบประคับประคองมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วย จากประสบการณ์สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวที่ ทำให้ยิ่งเข้าใจว่า การเคารพสิทธิ์ของเจ้าของชีวิต และช่วยให้จากไปอย่างมีความสุข มีความหมายอย่างไรกับคนที่เหลืออยู่

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads