Knowledge cover image
12 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. การใส่ท่อช่วยหายใจจำเป็นแค่ไหน

การใส่ท่อช่วยหายใจจำเป็นแค่ไหน

การใส่ท่อช่วยหายใจให้ผู้ป่วยมีความจำเป็นในกรณีไหน และแนวทางสำหรับการดูแลผู้ป่วยในระยะท้าย มีหลักการอย่างไรในการจะใส่ หรือไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ


เรื่องโดย นอ.นพ.พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์

มีผู้ป่วยแจ้งว่า ไม่ขอใส่ท่อช่วยหายใจ เพราะไม่อยากทรมาน ผมจึงจะขอแชร์วิธีการนี้เผื่อมีประโยชน์


ก่อนอื่นเรามาดูจุดประสงค์ของการใส่ท่อช่วยหายใจกันก่อน

หนึ่ง เพื่อการรักษา เช่น รักษาโรคที่เกี่ยวกับปอด การผ่าตัดที่ต้องวางยาสลบ หรือทำให้การหายใจเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เช่น การติดเชื้อ ฯลฯ

สอง เพื่อการยื้อชีวิต

สาม เพื่อดูแลแบบเร่งด่วนที่ผู้ป่วยมาถึงมือแพทย์ 


จริง ๆ แล้วหมอที่ใส่ท่อช่วยหายใจนั้นหวังจะรักษาต่อ หรือบางครั้งเพื่อลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยที่เกิดจากการหายใจไม่เพียงพอ โดยยังไม่คำนึงถึงว่าผู้ ป่วยเป็นโรคอะไร จะหายหรือไม่ ตัวอย่างคนไข้ที่มาห้องฉุกเฉินที่อาการแย่ลง เพราะความเร่งด่วนแพทย์เวรมักใส่ท่อช่วยหายใจไปก่อนเสมอ

 

แต่ก่อน การรักษาที่ใส่ท่อช่วยหายใจเป็นของที่ทันสมัย เป็นความรู้และเทคโนโลยีที่เข้าถึงยาก จนทำให้การรักษาหลายอย่าง ก่อนสิ้นสุดการรักษาต้องใช้การใส่ท่อช่วยหายใจ จึงจะถือว่าถึงที่สุดและสุดยอดของการรักษา ต่อมาการใส่ท่อช่วยหายใจเริ่มมีคำถามว่า ถ้าโรคนั้นไม่หาย จะทำให้มีแต่ทุกข์ทรมานโดยเปล่าประโยชน์หรือไม่ แล้วถ้าอย่างนั้นจะใส่ท่อไปเพื่ออะไร

 

วันนี้เราเรียนรู้ว่าผู้ ป่วยระยะท้ายที่ไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ ถ้าไม่มีการวางแผนจะต้องเหนื่อยก่อนตาย แต่เราสามารถบริหารจัดการให้ผู้ป่วยไม่ต้องเหนื่อย หรือทุกข์ทรมานได้ ถ้ามีการวางแผนการรักษาโดยไม่จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ การที่ผู้ป่วยสักคนหนึ่งที่รู้วาระของตัวเองแล้ว แต่ยังไม่รู้กระบวนการเตรียมตัวตาย เพียงแค่รู้ว่าการใส่ท่อช่วยหายใจมันไม่ได้ทำให้หาย แต่มันต้องทรมาน แล้วเลือกไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ การตัดสินใจแบบนี้ก็ยังไม่พ้นความทรมานที่เกิดจากการหายใจไม่พอ ผู้ป่วยจะเหนื่อยจนกระทั่งขาดใจตาย

 

แล้วแพทย์และผู้ป่วยจะทำอย่างไร ถ้ามีการร้องขอไม่ใส่ท่อช่วยหายใจในวาระสุดท้ายของชีวิต ผมจึงฝากข้อพิจารณาดังต่อไปนี้จากประสบการณ์ที่เจอผู้ป่วยเหล่านี้มา

 

ก่อนอื่นต้องตั้งเป้าหมายการรักษาก่อนว่า “การตายดี “ตายสบายตามที่ผู้ป่วยต้องการคืออะไร เรายังให้ความสำคัญกับสิทธิผู้ป่วย ทีมดูแลต้องสืบหาเจตจำนงค์ของผู้ป่วยให้ได้ว่า ผู้ป่วยต้องการจากไปอย่างสงบ ไม่เหนื่อย ไม่ทุกข์ทรมาน เพราะเป็นกุญแจสำคัญในการวางแผนการรักษา

 

กระบวนการตายแบบธรรมชาติเป็นทางที่ง่าย ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะรวยหรือจน แต่ถ้าใช้กระบวนการตายแบบธรรมชาติแล้วยังมีอาการหลงเหลืออยู่ ก็มียามอร์ฟีนและยานอนหลับ เพื่อให้ผู้ป่วยสบายขึ้นและจากไปอย่างสงบ


ในผู้ป่วยที่เข้าสู่วาระท้ายของชีวิต ถ้ามีการวางแผนพูดคุยกับผู้ป่วยถึงแนวทางการตายดีแล้ว ก็จะง่ายสำหรับแพทย์ในการบริหารจัดการและวางแผนการรักษา แต่ปัญหาปัจจุบันที่ทำให้การตายดีของผู้ป่วยไม่ประสบผลสำเร็จในบางราย เพราะญาติทั้งสามี ภรรยา บุตร พ่อแม่ ไม่ยอมรับที่จะให้ผู้ป่วยรับรู้ความจริงนี้ และไม่ให้สิทธิผู้ป่วยในการเลือกวิธีการตายดี การวางแผนจึงเป็นไปได้ยากในผู้ป่วยกลุ่มนี้

 

ในผู้ป่วยระยะท้าย โรคที่ผู้ป่วยเป็นสามารถทำนายได้ว่า ผู้ป่วยจะต้องเหนื่อย หายใจลำบากก่อนตาย เราจึงต้องวางแผนการรักษาโดยให้ความสำคัญที่ความต้องการของผู้ป่วย โดยมีครอบครัวเป็นตัวประกอบ (ผู้ป่วย + Family meeting) ว่า การตายดีมีหลักในการปฏิบัติดังนี้


...ให้ผู้ป่วยเลือกแนวทางของการตายดีที่ผู้ป่วยต้องการ ไม่เหนื่อย ไม่ทรมาน โดยเข้าใจกระบวนการจากไปแบบธรรมชาติ คือ เมื่อผู้ป่วยเริ่มเบื่อ หรือเริ่มไม่สามารถรับอาหารและน้ำได้ ก็ค่อย ๆ งดไป และการยอมรับไม่ยื้อชีวิตถ้าผู้ป่วยติดเชื้อ


...เมื่อร่างกายไม่สามารถกินหรือดื่ม ก็จะไม่ใส่สายยางให้อาหารทางจมูก ไม่ให้อาหารและน้ำทางน้ำเกลือ ส่วนการยอมรับการติดเชื้อก็จะไม่เจาะเลือด ไม่ตรวจหาเชื้อ ไม่ให้ยาฆ่าเชื้อ หรือทำหัตถการอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยทรมาน ทั้งสองภาวะนี้จะทำให้ร่างกายเสียสมดุลของสารเคมี เกลือแร่ และความดันเลือดตก ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยค่อย ๆ ง่วงซึม และสมองจะหมดความรับรู้สึกก่อนที่ปอดจะพัง และสร้างความเหนื่อยความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย

 

โดยปกติ ผู้ป่วยเหล่านี้จะเริ่มมีอาการเบื่ออาหาร หรือติดเชื้อก่อนจะมีอาการเหนื่อย มนุษย์โชคดีที่ธรรมชาติมีกระบวนการให้สมองหมดการรับรู้ก่อนอาการเหนื่อยจะเกิดขึ้นจากปอดถูกทำลาย ถ้าผู้ป่วยเลือกแนวทางการจากไปแบบธรรมชาติ สมองก็มักจะหลับไปโดยไม่รับรู้ความทุกข์ทรมาน แต่ถ้าญาติยังไม่ยอมให้ผู้ป่วยจากไป และทำการยื้อชีวิต สมองก็ไม่หยุดรับรู้ความเหนื่อยจากปอดที่เสียไปเรื่อย ๆ จนร่างกายทนไม่ไหวและเสียชีวิตไปในที่สุด

 

ผู้ที่ร้องขอไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ จึงต้องเข้าใจกระบวนการนี้เพื่อการจากไปที่ไม่ทรมาน ถ้าไม่อยากใส่ท่อช่วยหายใจ แต่ไม่ยอมรับรู้กระบวนการจากไปอย่างธรรมชาติ ผู้ป่วยก็จะเหนื่อยจนขาดใจ ดังนั้น การพูดคุยวางแผนการตายดีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำ และยอมรับกันทั้งผู้ป่วยและครอบครัว

 

ข้อสรุป: ถ้าผู้ป่วยระยะท้ายไม่อยากใส่ท่อช่วยหายใจและไม่อยากทรมาน มีแนวทางดังนี้

หนึ่ง ผู้ป่วยยอมรับความจริงและวางแผนการตายดี

สอง เมื่อผู้ป่วยเบื่ออาหาร กินหรือดื่มอาหารทางปากไม่ได้ ก็งดน้ำและอาหารนั้น

สาม ถ้าผู้ป่วยมีไข้ติดเชื้อ ไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ เพียงแค่รักษาตามอาการเพื่อให้คนไข้สุขสบาย

สี่ ผู้ป่วยจะง่วง ซึม บางรายอาจมีหลง เพ้อ หลับ และหมดสติในที่สุด

ห้า ถ้าผู้ป่วยมีอาการทางปอด คือ เหนื่อยหอบก่อนสมองจะหยุดทำงาน แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายจะพิจารณาให้ยามอร์ฟีนและยานอนหลับ เพื่อลดและสงบอาการเหล่านั้น ผู้ป่วยก็จะสามารถหลับได้

หก ในกระบวนการตาย ผู้ป่วยบางรายอาจมีชัก กระตุก หรือหายใจหอบ ขอให้ญาติที่ดูแลผู้ป่วยได้เข้าใจกระบวนการตายธรรมชาติว่า สามารถมีอาการเหล่านี้ได้ แต่ผู้ป่วยไม่ได้รับรู้แล้ว


ผมไปเยี่ยมแม่เพื่อน อายุ 90 ปี ​ที่โรงพยาบาลกรุงเทพระยอง​ ท่านมีโรคประจำตัวทุกอย่างที่คนอายุ 90 พึงจะมี​ ท่านบริจาคเงินให้โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์หลายล้านบาท​ ท่านมีปีติกับการได้ช่วยเหลือสังคม ​และทำนุบำรุงพระศาสนาอย่างมาก​ ช่วงบั้นปลายชีวิตท่านก็ยังนั่งรถเข็นมาบริจาคทรัพย์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกหลายรายการให้กับโรงพยาบาล

 

ท่านเข้ารับการฟอกเลือดและสำลักอาหารขณะพักฟื้น​ จนทำให้ท่านหมดสติ และต้องทำการกู้ชีพขึ้นมาแต่การรับรู้ไม่กลับคืน การรักษาเร่งด่วนได้ใส่ท่อช่วยหายใจและทำการรักษาแบบพยุงชีพ เพื่อนผมได้ติดต่อมาบอกอาการของแม่​ ผมจึงไปเยี่ยม และคุยกับ​ลูก ๆ​ (มีลูกชายเป็นแพทย์)​ ถึงแนวทางที่ผมพึงปฏิบัติในคนไข้กลุ่มนี้ โดยแนวทางนี้ลูก ๆ และสามีต้องยอมรับความจริงว่า​ โอกาสที่คุณแม่จะรอดและมีสติกลับมานั้นน้อยมาก​ หรือแทบไม่มีเลย (ส่วนตัวผมไม่ต้องการเห็นคนไข้ตื่นกลับมาในสภาพที่ต้องเป็นคนไข้ติดเตียงที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้เลย เพราะถ้าการรับรู้กลับมาคนไข้จะต้องทุกข์ทรมานอย่างมากกับสภาพที่เป็นอยู่)​

 

ลูก ๆ ไม่ต้องการให้แม่ทรมาน และถ้าแม่จากไปตามวิถีธรรมชาติอย่างไม่ทุกข์ทรมาน ลูก ๆ ก็จะยินดี​ ผมจึงพูดคุยรายละเอียดและวางแผนการรักษาไว้เพื่อให้ลูก ๆ พิจารณาดังนี้​

หนึ่ง ถอดสายยางให้อาหารทางจมูก

สอง หยุดการให้น้ำเกลือและแอลบูมิน (โปรตีน) ​ทางเส้นเลือดดำ

สาม หยุดยาฆ่าเชื้อและยาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เพื่อลดอาการทุกข์ทรมาน

สี่ เนื่องจากใส่ท่อช่วยหายใจไปแล้ว​ จึงปรับโหมดให้คนไข้ต้องหายใจเอง โดยปรับลดปริมาณออกซิเจนเหลือ 21% เท่ากับธรรมชาติ เครื่องช่วยหายใจจะช่วยเพียงแค่เพิ่มแรงดันอากาศเข้าปอดให้คนไข้หายใจได้ดีขึ้น​ แต่ถ้าคนไข้หยุดหายใจเครื่องจะไม่ช่วยหายใจ คนไข้ก็จะนิ่งไปอย่างสงบ

ห้า หยุดยากระตุ้นหัวใจ และจะไม่ทำการกู้ชีพขึ้นมาอีก

หก ลดการวัดสัญญานชีพที่อาจก่อให้เกิดความเจ็บปวด เช่น การวัดความดัน​ วัดความเข้มข้นของออกซิเจน​ เหลือเพียงสังเกตการหายใจเท่านั้น​ ส่วนคลื่นสัญญานไฟฟ้า​หัวใจ EKG คงติดไว้ตามเดิม

เจ็ด ไม่ทำการเจาะเลือด และตรวจทางห้องปฏิบัติการใด ๆ ทั้งสิ้น

แปด ถ้าคนไข้หยุดหายใจ จะรอคลื่นไฟฟ้าหัวใจหยุด​ตามมา โดยไม่ทำการยื้อชีวิตใด ๆ ทั้งสิ้น

 

ลูก ๆ เห็นด้วยและยินดีกับแนวทางนี้​ จะรอคนไข้จากไปอย่างสงบ โดยมีลูก ๆ หลาน ๆ สลับกันดูแล

 

คำถามยอดฮิตจากญาติของคนไข้กลุ่มนี้ คือ คนไข้จะจากไปเมื่อไร ผมบอกว่า ปล่อยให้ธรรมชาติทำงานของเขาเอง​ อย่าไปตั้งเป้าหรือคาดหวัง เพราะมันจะทุกข์ใจโดยไม่จำเป็น

นอ.นพ.พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์ avatar image
เรื่องโดยนอ.นพ.พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์วิสัญญีแพทย์ ที่ปรึกษาทีมดูแลผู้ป่วยระยะท้าย โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ คุณหมอที่นำแนวทางการดูแลแบบประคับประคองมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วย จากประสบการณ์สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวที่ ทำให้ยิ่งเข้าใจว่า การเคารพสิทธิ์ของเจ้าของชีวิต และช่วยให้จากไปอย่างมีความสุข มีความหมายอย่างไรกับคนที่เหลืออยู่

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads