- คลังความรู้
- ดูแลผู้ดูแล
ดูแลผู้ดูแล
เมื่อต้องเผชิญกับความเครียด เหนื่อยล้า หรือหมดไฟ
เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร
ผู้ดูแล (Caregiver) มีบทบาทสำคัญมากในการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) และถือเป็นงานหนักทีเดียว โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นระยะเวลานาน ตัวผู้ดูแลเองก็มักต้องเผชิญกับความเครียด เหนื่อยล้า หรือหมดไฟ จึงต้องการการสนับสนุน ให้กำลังใจ และเสริมพลังด้วยเช่นกัน
หนังสือ “การดูแลผู้ให้การดูแล (การดูแลผู้ดูแล)” โดย พญ.อรพรรณ ฟูมณีโชติ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัวและเวชศาสตร์ป้องกันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เขียนถึงผลกระทบที่เกิดกับผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายว่า มักมีปัญหาสุขภาพทางด้านร่างกาย เช่น การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง อย่างโรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง ข้อเสื่อม ภาวะเครียดที่ความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง เพราะมีเวลาในการดูแลตัวเองลดลง พักผ่อนน้อยลง นอนไม่หลับ กินอาหารน้อยลง และออกกำลังน้อยลง
ส่วนผลกระทบทางด้านจิตใจ ผู้ดูแลมักมีภาวะเครียด (Stress) วิตกกังวล กลัว มีความรู้สึกผิดว่าตนเองให้การดูแลได้ไม่ดี ความจำระยะสั้นเสื่อมลง ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้าได้ง่ายขึ้น รวมถึงภาวะความเหนื่อยล้า (Caregiver burden) หรือหมดไฟในการดูแล (Caregiver burnout) จากการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
ดังนั้น เราจึงควรให้การสนับสนุนและดูแลผู้ดูแลด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
ทำงานเป็นทีม
...ครอบครัวและทุกคนที่เกี่ยวข้องควรรับรู้แนวทางการรักษา วางแผน และตัดสินใจร่วมกัน เพื่อลดความเครียด หรือความวิตกกังวลที่จะไปตกที่ใครคนใดคนหนึ่ง
...ไม่ทิ้งให้ผู้ดูแลหลักต้องเผชิญปัญหา หรือเรื่องที่ต้องตัดสินใจเพียงลำพัง แต่คอยอยู่ข้าง ๆ และร่วมรับผิดชอบในการตัดสินใจ หรือเผชิญปัญหาร่วมกันในทุกช่วงเวลาสำคัญ
...ไม่ทิ้งภาระให้ผู้ดูแลหลักคนเดียว แต่ควรสลับให้ผู้ดูแลหลักได้มีเวลาผ่อนคลาย ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ หรือได้ทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ
...การจ้างผู้ช่วยผู้ดูแลบางครั้งก็มีความจำเป็น เพื่อช่วยผ่อนภาระผู้ดูแลหลัก โดยอาจจะจ้างระยะสั้นเพื่อมาช่วยผลัดให้ผู้ดูแลได้พักบ้าง
...สมาชิกในครอบครัวคนอื่นอาจจะช่วยแบ่งเบาภาระด้านอื่นของผู้ดูแลหลัก เช่น งานบ้าน การพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล เป็นต้น
เสริมพลังกาย – ใจ
...ใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพร่างกายของผู้ดูแลให้แข็งแรงอยู่เสมอ ทั้งเรื่องอาหารที่มีประโยชน์ การพักผ่อนที่เพียงพอ หรือชวนไปออกกำลังกาย
...สนับสนุนให้กำลังใจ ใส่ใจกันและกัน ผ่านการสื่อสารเชิงบวก กอด สัมผัส และคำพูดที่เสริมพลังใจ
...ให้โอกาสผู้ดูแลได้มีสังคม พูดคุย พบปะเพื่อนฝูง เพื่อผ่อนคลาย บรรเทาความเครียด และยังอาจได้ปรึกษาปัญหาบางอย่างกับเพื่อน ๆ บ้าง
...สนับสนุนทางการเงิน หรือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หากผู้ดูแลหลักต้องลาออกจากงาน หรือไม่มีรายได้ เพราะความกังวลด้านเศรษฐกิจมักส่งผลกระทบต่อความเครียดและความวิตกกังวลอย่างมาก
การสร้างคุณภาพชีวิตที่ครอบคลุมทั้งตัวผู้ป่วยระยะท้าย ครอบครัว คนใกล้ชิดรอบข้าง ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้ดูแล เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการดูแลแบบประคับประคองที่ประสบความสำเร็จได้อย่างงดงามนั้นต้องทำงานกันเป็นทีม เชื่อมโยงประสานกัน โดยไม่ทิ้งใครคนใดคนหนึ่งไว้ข้างหลัง