- คลังความรู้
- ศิลปะการสื่อสารเพื่อเยียวยาใจผู้ป่วยและครอบครัว
ศิลปะการสื่อสารเพื่อเยียวยาใจผู้ป่วยและครอบครัว
รีวิวจากหนังสือ "คุยเป็นยา"
เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร
“คุยเป็นยา” เป็นหนังสือที่รวบรวมทักษะและประสบการณ์ในการสื่อสารกับผู้ป่วย สื่อสารกับญาติ หรือแม้กระทั่งทักษะที่ผู้ป่วยและญาติสามารถนำมาปรับใช้ด้วยกันได้จากผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์หลากอาชีพ ทั้งพยาบาล จิตอาสาที่ทำงานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย เช่น กลุ่ม I SEE U Contemplative Care
“การสื่อสารที่ดีและเปี่ยมด้วยความเข้าใจจะช่วยคลี่คลายความโศกเศร้าในภายหลัง…”
“ทำให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบส่วนผู้ดูแลได้ตระหนักว่าตนเองทำหน้าที่ได้ดีแล้ว จึงสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างสงบสุขและมั่นคง”
ทางภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ ผู้เขียน กล่าวเน้นย้ำในหนังสือหลายครั้งว่าการสื่อสารนั้นเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เหมือนดั่งสูตรอาหารที่มีสูตรมาให้แต่ความชอบของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน อาจมีการปรับสูตรให้ต่างกันออกไป เราจะรู้ว่าอร่อยหรือไม่อร่อย การสื่อสารนั้นดีหรือไม่ดีก็ต่อเมื่อได้ลองดู และเมื่อลองแล้วไม่สัมฤทธิ์ก็หาแนวทางใหม่ โดยในหนังสือเล่มนี้มีการรวบรวมแนวทางที่มักพบจะประสบความสำเร็จไว้ให้แล้วเพียงแค่รอผู้อ่านอย่างเรา ๆ หยิบวิธีการแนวทางเหล่านั้นไปใช้ หนังสือเล่มนี้จะค่อย ๆ ทำให้เราเห็นความสำคัญของการสื่อสารว่ามันทรงพลังมากแค่ไหน
ท้ายที่สุดเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้วเราจะเข้าใจเองโดยปริยายว่าการทำความเข้าใจ “โลกของผู้ป่วย” นั้น ดีมากกว่าการทำความเข้าใจ “โรคของผู้ป่วย” เป็นไหน ๆ ในช่วงท้ายของชีวิตการสำรวจคุณค่าของชีวิตและวางเป้าหมายการดูแลในช่วงเวลาที่เหลือเป็นสิ่งที่น่าทำมากกว่าการสนใจจำนวนวันที่เหลืออยู่นับเวลาถอยหลังเพื่อรอวันตายเป็นไหน ๆ แต่ทำอย่างไรผู้ป่วยจึงจะเข้าใจในประเด็นนี้ได้ หนังสือเล่มนี้มีคำตอบ
และหากจะให้สรุปส่วนที่สำคัญจริง ๆ ของการสื่อสารที่ผู้เขียนอยากกล่าวถึงคงเป็นการเข้าใจผู้ป่วยอย่างแท้จริง ไม่ใช้ทำไปเพราะความต้องการของญาติหรือผู้ดูแล ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานที่มาของนิสัยใจคอ เพื่อที่จะได้นำมาซึ่งการสื่อสารที่เหมาะสม ให้ตัวผู้ป่วยสามาถวางแผนชีวิตที่เหลือต่อจากนี้ของตนเองได้ เพราะชีวิตและร่างกายนี้เป็นของเขา ให้เขาเป็นผู้กำหนดและตัดสินด้วยตนเอง เช่น หากเป็นผู้ป่วยที่เป็นผู้นำมาตลอดชีวิต แนวทางในการสื่อสารควรที่จะเริ่มจากการกล่าวถึงความสำเร็จของผู้ป่วยในช่วงชีวิตที่ผ่านมา ผ่านการใช้คำพูดที่ทำให้เขาได้ใคร่ครวญคำตอบด้วยต้นเอง ไม่ใช่การไปชี้แนะเขา หรือในครอบครัวคนจีน มักจะให้ความสำคัญกับลูกชาย การเลือกให้ลูกชายเป็นผู้แจ้งข่าวเรื่องโรคและการพูดคุยเกี่ยวกับการเตรียมตัวตายจึงเป็นวิธีที่สามารถลดแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี เป็นการใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือมีส่วนสรุปใจความสำคัญ ทำให้ง่ายต่อการกลับมาทวน และในหนังสือมีแนวทางมากมายการมีส่วนสรุปจึงช่วยให้เห็นภาพรวมของการสื่อสารมากยิ่งขึ้น ง่ายต่อการจะนำไปใช้จริง ในแต่ละหัวข้อจะมีการแทรกบทสัมภาษณ์เป็นระยะ ๆ ทำให้เข้าใจสิ่งที่ผู้ผู้เขียนต้องการสื่อในแต่ละหัวข้ออย่างชัดเจน เป็นหนังสืออีกเล่มที่อ่านง่าย เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นในการอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเตรียมตัวตายดี เพราะว่าไม่ได้มีการแทรกทฤษฎีที่เข้าใจยาก ใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่าย มีการเปรียบเทียบอุปมาอุปไมย
“อุ้ม บุตรสาวที่หน้าที่ดูแลผู้เป็นแม่ที่ป่วยเรื้อรังอย่างห่วงใยมักถูกผู้เป็นแม่บ่น แต่เมื่อพี่สาวที่อยู่ต่างบ้านเดินทางมาถึง แม่กลับยินดีปรีดาอย่างออกนอกหน้า ที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะผู้ป่วยรู้สึกวางใจและมั่นใจว่าสามารถแสดงความหงุดหงิดกับผู้ดูแลได้โดยไม่กระทบความสัมพันธ์”
หลังจากการอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วทำให้เข้าใจผู้ป่วยระยะท้ายมากยิ่งขึ้นว่าทำไมเขาทำพฤติกรรมแบบนั้นออกมา เช่น โวยวาย ตะโกนเสียงดัง ทุกพฤติกรรมมีที่มาของมัน และหาเราเขาใจที่มาของพฤติกรรมเหล่านั้นจะทำให้เราสื่อสารกับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี และนอกจากที่จะทราบถึงวิธีการสื่อสารที่เหมาะสมแล้วยังทราบถึงวิธีการสื่อสารที่ไม่เหมาะสมที่หลาย ๆ คนอาจทำต่อ ๆ กันมานานแล้ว หลังจากอ่านเล่มนี้จบเชื่อว่าตนจะสามารถสื่อสารกับผู้ป่วยได้ดีมากยิ่งขึ้น เพื่อตัวผู้ป่วยเองไม่ใช่ใครอื่น
ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อ “คุยเป็นยา” (ราคา 150 บาท) ได้ที่ช่องทาง
1. Shopee : เบาใจ ร้านของ Peaceful Death หรือ https://th.shp.ee/wC41XPe
2. Inbox เข้ามาที่เพจ Peaceful Death หรือ https://www.facebook.com/share/19iUpCMDTa/?mibextid=wwXIfr
