Knowledge cover image
9 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. บอกข่าวร้ายอย่างไม่ทำร้าย

บอกข่าวร้ายอย่างไม่ทำร้าย

เพื่อสื่อสารอย่างเข้าใจ


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

การเจ็บป่วยระยะท้ายอาจเป็น “ข่าวร้าย” ที่น่าลำบากใจเมื่อต้องบอกกับผู้ป่วย แต่ถ้าเราลองมองในอีกมุมหนึ่งจะพบว่า นี่อาจไม่ใช่ข่าวร้าย แต่เป็น “ความจริง” ที่ผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับรู้ทั้งเรื่องอาการของโรค ระยะของโรค หรือเวลาที่เหลืออยู่ เมื่อผู้ป่วยได้รู้ว่าตนเองมีเวลาเหลืออยู่อย่างจำกัด ก็จะมีเวลาเตรียมใจ สำรวจตัวเอง ทบทวนความต้องการว่ายังมีเรื่องใดคั่งค้าง และวางแผนจัดการสิ่งเหล่านั้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถปลดล็อคเรื่องค้างคาก่อนจะถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

 

แม้ว่าการบอกความจริงนี้จะเป็นความตั้งใจดีก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในการสื่อสาร โดยทั่วไปคุณหมอจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในช่วงเวลานี้ ซึ่งเทคนิคในการบอกข่าวร้ายโดยไม่ให้ทำร้ายหัวใจของผู้ป่วยนั้นมีขั้นตอนดังนี้

 

ขั้นตอนที่ 1 เตรียมความพร้อมก่อนบอก

จัดเตรียมสถานที่และสภาพแวดล้อมให้มีบรรยากาศผ่อนคลาย มีความเป็นส่วนตัว และควรมีบุคคลที่ผู้ป่วยรักและต้องการให้รับฟังอยู่เคียงข้างด้วย

 

ขั้นตอนที่ 2 ถามนำก่อนบอก

คุณหมอจะเริ่มต้นด้วยการสอบถามความเข้าใจ หรือสิ่งที่ผู้ป่วยรับรู้เกี่ยวกับสภาวะสุขภาพของตนเอง เพื่อตรวจสอบความพร้อมและความเข้าใจของตัวผู้ป่วย

 

ขั้นตอนที่ 3 ต้องการรู้อะไร และมากแค่ไหน 

หลังจากสอบถามเพื่อทำความเข้าใจแล้ว คุณหมออาจถามผู้ป่วยว่า ต้องการรับรู้ข้อมูลมากน้อยแค่ไหน ถ้าผู้ป่วยยังไม่พร้อมที่จะรับรู้ข้อมูล ครอบครัวควรให้เวลาและให้กำลังใจด้วยการอยู่เคียงข้าง จนกว่าผู้ป่วยจะพร้อม เมื่อผู้ป่วยพร้อมแล้วก็ส่งสัญญาณ หรือพยักหน้าให้คุณหมอพูดต่อ

 

ขั้นตอนที่ 4 ให้ข้อมูล

คุณหมอจะบอกข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโรคที่ผู้ป่วยกำลังเป็นอยู่ เช่น ข้อมูลของอาการ ระยะของโรค รวมถึงแนวทางการดูแลรักษา

 

ขั้นตอนที่ 5 การตอบสนองต่อความรู้สึก

เมื่อผู้ป่วยได้ฟังข้อมูลแล้วอาจมีปฏิกิริยาตอบสนอง เช่น ช็อค โกรธ เศร้า หรือปฏิเสธความจริง เป็นเรื่องปกติที่มักเกิดขึ้นก่อนเข้าสู่การยอมรับความจริง ครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยจึงควรเข้าใจและให้กำลังใจ ทั้งทางภาษากายผ่านสีหน้า ท่าทาง แววตา หรือใช้คำพูดที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดี เช่น “เราจะผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกัน” “เราจะอยู่ข้างๆ กันเสมอ”

 

ขั้นตอนที่ 6 สรุปและวางแผน

หลังจากเข้าสู่ระยะที่ผู้ป่วยยอมรับความจริงได้แล้ว ก็จะสามารถดำเนินชีวิตในช่วงเวลาที่เหลืออยู่อย่างมีคุณค่าและมีความหมายตามความปรารถนาของตนเอง​ ในช่วงเวลานี้ ครอบครัวและคนใกล้ชิดควรช่วยสนับสนุนในทุกด้านเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ  

 

การบอกข่าวร้ายไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความรัก ความห่วงใย ทำให้เรากลัวว่าจะเป็นการทำร้ายความรู้สึกของผู้ป่วย แต่ในความเป็นจริง​ ผู้ป่วยหลายคนก็อยากรู้สถานะของโรคที่เป็นอยู่ และผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยกล้าเผชิญกับความจริงได้มากกว่าที่เราคิดเสียอีก

 

การบอกข่าว (ที่คิดว่า) ร้าย อาจกลายเป็นเรื่องดี ๆ ที่เราได้แสดงออกถึงความรัก ความห่วงใย ใกล้ชิดกันมากขึ้น และทำให้เวลาสุดท้ายที่เหลืออยู่ร่วมกันมีคุณค่าและมีความหมายต่อจิตใจของทุกคน 


ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรชีวามิตรเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดี และจากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads