- คลังความรู้
- จะดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่มีภาวะซึมเศร้าอย่างไร
จะดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่มีภาวะซึมเศร้าอย่างไร
วิธีสังเกตอาการและให้ความช่วยเหลือ
เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร
ผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้า สิ้นหวัง เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ผู้ดูแลหลายท่านต้องประสบ เราลองมาหาทางออกของปัญหานี้ร่วมกันดู
ความเศร้าโศกที่ผิดปกติ (Pathological grief) หรือภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยระยะท้าย สามารถสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ ได้แก่ ผู้ป่วยมักจะแยกตัว ไม่อยากทำอะไรแม้เป็นกิจกรรมที่เคยชอบ มีอารมณ์เศร้าเกือบตลอดทั้งวัน เกือบทุกวัน ต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไป มีความคิดจะฆ่าตัวตาย และรู้สึกไม่มีความหวังในชีวิตเลย
หากสังเกตว่ามีอาการดังกล่าว ผู้ดูแลควรปรึกษาจิตแพทย์ หรือทีมดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งจะมีจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาอยู่ในทีมด้วย
สำหรับการดูแลประคับประคองจิตใจของผู้ป่วยระยะท้ายเพื่อให้จากไปได้อย่างหมดห่วง ก็ควรใส่ใจรายละเอียดแม้เพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้แก่
...ดูแลประคับประคองจิตใจ คอยอยู่ข้าง ๆ ให้โอกาสผู้ป่วยแสดงความรู้สึก และความต้องการออกมา โดยพูดคุย เป็นผู้รับฟังที่ดี สัมผัสอย่างนุ่มนวล สร้างบรรยากาศรอยยิ้มและเสียงหัวเราะบ้าง เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย
...จัดการความเครียด ความเจ็บปวดปรึกษาแพทย์เพื่อให้หาทางช่วยบรรเทาอาการ ช่วยคลี่คลายสิ่งที่ติดค้างในใจ หรือความสัมพันธ์ที่มีปัญหาติดค้างกับบางคน
...จัดการความวิตกกังวล โดยช่วยผู้ป่วยให้สามารถยอมรับความจริง และเตรียมตัววางแผนด้านต่าง ๆ ให้พร้อมรับมือกับการเจ็บป่วยระยะท้าย
...ดูแลด้านจิตวิญญาณ เพื่อช่วยเติมเต็มจิตใจ เติมเต็มความเป็นมนุษย์ ช่วยให้จิตใจสงบ ผ่อนคลายมากขึ้น โดยสามารถทำตั้งแต่เริ่มป่วย และควรดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนวาระสุดท้าย
ความเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยระยะท้าย อาจมีทั้งความรู้สึกโกรธ หงุดหงิดง่าย หดหู่ สิ้นหวัง รู้สึกกลัวการเสียชีวิต วิตกกังวล มีความเครียดเรื้อรัง ซึมเศร้า ต่อรองขอมีชีวิตอยู่ต่อ ไปจนถึงยอมรับการจากไปของตนเอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของจิตใจในทางที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม ย่อมผลกระทบกลับมาสู่ร่างกายในทางที่ดีหรือไม่ดีเช่นกัน
การที่ผู้ดูแลคอยอยู่เคียงข้างผู้ป่วยตลอดเวลา คอยดูแลความสุขสบาย ช่วยเหลือกิจวัตรประจำวัน ช่วยจัดเตรียมสิ่งของตามความเชื่อไว้ให้ก่อนตาย รวมถึงการช่วยให้ผู้ป่วยหมดกังวล โดยทำตามที่รับปากกับผู้ป่วยไว้ ช่วยกันเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านจิตใจของทั้งผู้ป่วยและครอบครัว ให้ยอมรับความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้น
เมื่อมีความพร้อมทางด้านจิตใจ ยอมรับความเป็นไปตามธรรมชาติอย่างเข้าใจ ผู้ป่วยก็จะสามารถเดินทางไปสู่วาระสุดท้ายอย่างมีคุณภาพ เป็นสุข สงบงาม สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ในที่สุด