Knowledge cover image
15 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. ชีวิตมีชีวาเมื่อกลับมาอยู่กับปัจจุบัน

ชีวิตมีชีวาเมื่อกลับมาอยู่กับปัจจุบัน

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์


เรื่องโดย a day BULLETIN

“ครั้งนี้จะคุยเรื่องอะไรดี”


คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ผู้ก่อตั้งและประธานที่ปรึกษา บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ ‘ป้าศรี’ นั่งในเก้าอี้ตัวเดิม ห้องเดิม ถามตรงประเด็นก่อนเริ่มต้นสัมภาษณ์ครั้งที่สามกับ a day BULLETIN


อันที่จริงแล้วนั่นเป็นคำถามที่ทีมงานถามกันเองก่อนจะมาพบป้าศรีในวันนี้ นั่นน่ะสิ จะคุยเรื่องอะไรดี จากครั้งแรก ‘Like the Flowing River’ ในปี 2018 และครั้งที่สอง ‘ความตายไม่ใช่ศัตรู’ ในปี 2019 ไม่ว่าจะชีวิตและความตายล้วนได้คุยไปหมดแล้ว


ในเวลาห่างกันหนึ่งปี ชีวิตคนเราจะมีอะไรให้พูดคุยเพิ่มเติมได้อีก แต่แล้วบทสนทนาครั้งนี้ก็ทำให้เห็นว่า ชีวิตคนเราไม่ว่าจะผ่านไปอีกเพียงหนึ่งวัน หรือหนึ่งปี กระแสชีวิตล้วนหมุนเปลี่ยน เราไม่ได้คิดอย่างเดิม เราไม่ได้รู้สึกอย่างเดิม เราไม่ใช่คนเดิม – และช่องว่างระหว่างตัวตนที่ผ่านมา กับตัวตนปัจจุบันที่เปลี่ยนผันนั้นดูจะมีเรื่องราวมากมาย


‘ชีวิตนั้นเป็นดั่งกระแสน้ำที่ไหลไป’ (Like The Flowing River) และ ‘ความตายไม่ใช่ศัตรู’ ดูเหมือนว่าป้าศรียังเชื่อเช่นนั้นอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน การล้มป่วยครั้งที่สอง ปีแรกของอายุ 80 และการเริ่มลงมือเรียนรู้ ลองทำสิ่งใหม่ในทุกวัน ก็ดูจะทำให้ทุกๆ ปัจจุบันของป้าศรีต่างไปจากวันวาน


“ครั้งนี้จะคุยเรื่องอะไรดี” 


คำถามที่สะท้อนความเป็น ‘Journalist’ สะท้อนธรรมชาติความเป็นนักสืบค้นของป้าศรี เราจะคุยเรื่องอะไรดี

อาจไม่มีคำตอบในทันที แต่ชีวิตก็เป็นเช่นนี้ ชีวิตที่ต้องค่อย ๆ สืบค้นกันไป จนค่อย ๆ เห็นเหตุที่ก่อให้เกิดผล และกอปรชีวิตคนหนึ่งคนจนเมื่อมองกลับไปจะพบว่า ชีวิตที่ผ่านมาล้วนต่อยอดจากทุกการกระทำของทุกวันที่ผ่านไป



ชีวิตในวัย 80 ของคุณหญิงเป็นอย่างไร

เรามีชีวิตที่แข็งแรงมากมาตลอด ใครก็เรียกว่าเป็นผู้หญิงซน เป็นนักผจญภัย ไปเดินป่าเขา น่าจะเป็นผู้หญิงไทยคนแรก ๆ ที่ไปบริเวณที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรัสเซีย เกาหลีเหนือ กับมองโกเลีย เมื่อสัก 30 ปีที่แล้ว สมัยที่ยังไม่ค่อยมีใครเดินทาง ก็เป็นผู้หญิงที่โลดโผน เดี๋ยวนี้ก็ยังโลดโผนอยู่ เมื่อไม่นานมานี้ก็เดินทางไปหิมาลัยคนเดียว แต่ทีนี้มันมาถึงจุดที่เราป่วย หลังจากป่วยล้มเข้าโรงพยาบาลไปปีที่แล้ว ก็มาป่วยอีกรอบตอนที่ตกทางลาดขาหัก ตอนนั้นไปเที่ยวแก่งกระจานกัน รู้สึกหน้ามืดนิดหน่อย แต่ไม่คิดว่าซีเรียสอะไร แต่พอเดินลงมา มันตกทางเตี้ย ๆ ด้วยความที่อายุมากแล้วกระดูกบาง มันก็หักเลย ต้องผ่าตัดใส่ไทเทเนียมเอาไว้


การป่วยสองครั้งนี้มันเกี่ยวข้องกันนะ การป่วยครั้งแรกเป็นหลายอย่าง หัวใจ ไทรอยด์ นั้นมีผลข้างเคียงให้เวียนหัว หน้ามืด มันเลยตกลงมาขาหัก การป่วยสองครั้งมันน่าสนใจตรงที่เราเห็นว่าในช่วงปลายของชีวิตนั้น สิ่งที่เราทำมันส่งผลต่อกันชัดเจน ผลกระทบของทุกเหตุการณ์ในชีวิตมันเป็นลูกโซ่กันเลย โดยเฉพาะทางกาย


แต่วันนี้ไปหาหมอมา หมอตกใจมากว่าทำไมสามเดือนแล้วเยียวยาเร็วมาก คือเราไม่รู้เลยว่ามันเร็วกว่าคนอื่น หมอบอกว่าปกติมันต้องหกเดือน หมอผ่าตัดประหลาดใจถึงขั้นต้องอัดวิดีโอให้ลูกศิษย์ดู ป้าถามหมอว่าเพราะอะไร หมอตอบเลยว่าน่าจะเป็นเพราะกำลังใจ ก็สงสัยว่าที่เขาพูดกันว่าผลของใจมันส่งผลต่อกายมันชัดขนาดนี้เลยหรอ


ความเจ็บป่วยทางกายส่งผลต่อความคิด จิตใจอย่างไรหรือไม่

ไม่เคยคิดเลย รู้แค่ว่าเราไม่กลัว เราไม่เคยระวังอะไรมากมาย คนมักจะถามว่าทำไมเราผาดโผนแบบนี้ เราไม่ได้คิด ไม่ได้กลัวอะไร มันทำไปตามธรรมชาติของนักผจญภัยละมัง


ถ้าถามว่าชีวิตยากขึ้นไหม มันก็ยากขึ้นในแง่ความคล่องตัว เดินทางไปไหนมาไหน แต่ถ้าถามถึงคุณภาพชีวิต มันก็ทำให้เราตั้งคำถามว่าเราจะนิยามคุณภาพชีวิตจากร่างกายเฉย ๆ หรือ เราอ่านและได้ยินมานานว่าคุณภาพชีวิตต้องประกอบด้วยมิติต่าง ๆ ร่างกาย จิตใจ สังคม จิตวิญญาณ อะไรนั่น ตอนนี้ร่างกายก็เห็นชัดว่ามันอ่อนแอลงแล้ว แต่ถามว่า ณ วันนี้ เรามองว่าคุณภาพชีวิตเราลงไหม ถ้าจะตอบอย่างเต็มหัวใจ ไม่เสแสร้งเลย ก็ยังรู้สึกว่าคุณภาพชีวิตดี ทั้งที่ทำอะไรไม่ได้เท่าแต่ก่อน


มีอยู่ช่วงหนึ่ง เท่านั้นแหละที่รู้สึกว่าถูกขังอยู่ในห้อง ช่วงนั้นก่อนหกล้ม หลังป่วยครั้งแรก ตอนนั้นอยากออกไปป่าเขามาก แต่ก็เป็นช่วงสั้น ๆ ที่รู้สึกว่าอยากทำอะไรเหมือนแต่ก่อนได้ อยากไปเดินป่า ปีนเขา แต่มันแค่สั้น ๆ เท่านั้น แต่ว่าตอนนี้ความรู้สึกนั้นไม่มีแล้ว


ความสามารถในการปรับตัวนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ หรือมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้คุณหญิงยังมองว่าคุณภาพชีวิตยังดี แม้ร่างกายจะอ่อนแอลง 

คิดว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์นะที่คนเราจะปรับตัว ปรับใจ วันนี้ตอบตรง ๆ ว่า คุณภาพชีวิตดีมาก เพียงแค่ในด้านร่างกายอิสระน้อยลงแต่ทางใจเราก็ไม่ได้อิสระน้อยลงเลย


ส่วนกำลังใจรอบข้างหลัก ๆ มาจากสามีและลูก ที่เขาแสดงออกว่าห่วงชัดเจนกว่าเคย แต่ก่อนเขาไม่แสดงออกหรอก เพราะเขารู้ว่าทำอะไรเองได้ แต่หลัง ๆ เขาแสดงออกชัดเจนมากเลยว่าห่วง เช่น ป้อนข้าวให้เลย กลัวทานน้อยไป


ความเป็นห่วงของคนรอบข้างที่แสดงออกชัดเจนมากขึ้น ส่งผลต่อกำลังใจและกายอย่างไร

แรก ๆ มันก็อาจจะรำคาญ แต่กับสามีนี่ไม่รำคาญหรอก แกตลกดี แต่คนรอบข้างนี่บางทีก็ประคบซ้ายขวา ไม่ให้เราไปไหนคนเดียว แต่ก่อนเรานอนที่นี่กันสองตายาย เดี๋ยวนี้ก็ต้องมีคนมานอนค้าง เราขอบคุณน้ำใจทุกคนที่เป็นห่วง แต่ก็มีบ้างที่ไม่รู้สึกอิสระเหมือนเดิมในช่วงหนึ่ง แต่ ณ ตอนนี้มันก็ไม่เดือดร้อนแล้ว


มันก็แปลกดีนะ คุณภาพชีวิตที่เรารู้สึกมันก็คือความรู้สึก ณ ขณะนั้น ก่อนหน้านั้นเราก็มองว่าคุณภาพชีวิตว่ามันดี ซึ่งตอนนั้นถ้ามีคนมาถามว่าเราจะป่วย เราจะเป็นอย่างไร เราคงคิดว่าทนไม่ได้ แต่พอป่วยจริง ๆ มันไม่จริง สุดท้ายเราจะยอมรับมันได้ มันไม่ได้เป็นการทำใจด้วยนะ ไม่ได้ตั้งใจอะไรเลย เราจะรับได้เอง


คุณหญิงทำงานเรื่องความเจ็บป่วย และความแก่มานาน พอความเจ็บป่วยมาเยือนเป็นครั้งที่สอง และความชรามาเยือนจริง ๆ มีความเข้าใจอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง อย่างไร

มันทำให้เราเรียนรู้ว่าคุณภาพของชีวิตนี่จะมาตีความเป็นแท่ง ๆ คงยาก เมื่อก่อนเวลาไปบรรยายเรามักอธิบายว่า มิติของคุณภาพชีวิตต้องประกอบด้วยสิ่งนั้น สิ่งนี้ แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าทุกมิติมันหลอมเข้าหากันหมด พอมองย้อนกลับไปถึงสิ่งที่พูดเมื่อก่อน คิดว่าตอนนั้นไม่รู้จริง เป็นเพียงหลักการที่เราเชื่อในตอนนั้น แต่ตอนนี้ที่กายมันอ่อนแอลงแล้ว ความจำก็แย่ลง การนอนไอซียูครั้งแรกก็ส่งผลกับสมองเหมือนกัน ความดันที่ขึ้นสูงมาก มันก็ทำให้บางส่วนของสมองมันเสียไป มันก็ทำให้ร่างกายถดถอยไปหลายอย่างนะ แต่เราก็รู้สึกว่ามันโอเค มันก็แค่… (คิด) …เป็นแบบนี้ ตอนนี้เรารู้สึกยังไง ก็เป็นแบบนั้น มันก็ใสดี


แปลกดีนะตอนที่ป่วยอยู่ไอซียู ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันทรมานอะไร มันก็แค่เป็นไปแบบนั้น คือถ้ามันปวด เจ็บ หายใจไม่ออก มันก็เจ็บ แต่มันก็ไม่ได้เจ็บปวดตลอดเวลาในไอซียู คือถ้าไม่ได้เจ็บปวดอะไร ณ ตอนนั้นมันก็ถือว่าโอเค ไม่ได้ต้องทำใจ ก็แค่อยู่กับมัน แต่ถ้ามันเจ็บ หายใจไม่ออก ก็แค่ขอความช่วยเหลือจากแพทย์พยาบาลไปตามนั้น


ความสามารถในการรับมือนี้เป็นศักยภาพมนุษย์โดยทั่วไป หรือเป็นผลจากการปฏิบัติ ฝึกฝนรับมือความป่วย ความตายของคุณหญิงที่ใครทำใครได้ 

ไม่รู้สิ ป้าไม่อยากจะพูดว่ามันเป็นผลของอะไร มันก็แค่เป็นธรรมชาติ การปฏิบัติธรรมมันก็คือการฝึกตัวเองให้ทวนกระแสที่ไม่เป็นธรรมชาติให้กลับมาเป็นธรรมชาติเท่านั้น ป้าเชื่อว่ามันมีผลจากการปฏิบัติ แต่มันจริงไหม เราไม่รู้ มันเป็นแค่ความเชื่อ มันฟังดูเป็นนามธรรม แต่ในเชิงรูปธรรมมันก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะสิ่งใดจะเกิดขึ้นล้วนมีเหตุอยู่แล้ว


ป้าเป็นคนที่ตอบว่าไม่รู้บ่อยมาก เพราะสิ่งที่เราไม่รู้ การจะไปสันนิษฐานถึงมันนั้นล้วนเป็นการปรุงแต่ง เพราะเราไม่รู้จริงๆ แต่ว่าโอเค เราปฏิบัติธรรมมานาน กะพร่องกะแพร่ง ขี้เกียจบ้าง แต่เราก็ทำมานาน มาจนวันนี้เราเจ็บป่วยตามธรรมชาติ ไม่อยากจะบอกว่าอะไรเป็นเหตุของอะไร บอกได้แค่ว่าเราทำสิ่งนั้นมา และตอนนี้เรารู้สึกเช่นนี้


เดี๋ยวนี้ไม่ได้คิดเรื่องพวกนี้แล้ว เพิ่งมาคิดตอนคุยนี่แหละ แต่ก่อนไม่คิดเลย มันมาถึงจุดหนึ่งที่เราไม่ค่อยคิดแยกแยะเท่าไหร่แล้ว สมัยที่สาวๆ นี่เราจะแยกแยะ วิเคราะห์ไปหมด ตอนนี้ ก็ใช่ เราคิดว่าชีวิตมันเป็นองค์รวม แต่มันก็แค่เป็นไปแบบนี้


จากคนแอ็กทีฟ ทำงานหนัก พอมาวันหนึ่งร่างกายบังคับให้เราพัก คุณหญิงมีวิธีการอย่างไรให้ชีวิตยังมีชีวา

ป้าเป็นคนที่สนใจเรื่องการเรียน เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวไม่รู้ แต่ป้าสนใจเรื่องการศึกษามาก ไม่ใช่ในระบบหรืออะไรนะ อย่างตอนนี้ป้าก็สอนตัวเองเรียนออนไลน์ เช่น ปักผ้า แต่ก่อนเป็นคนที่เลอะเทอะมาก นั่งนิ่งไม่ได้เลย แต่ตอนนี้กลับมาปักผ้าอย่างบ้าคลั่ง


อีกเรื่องที่เรียนรู้และศึกษามากเลยก็คือเรื่องของสมอง ก็จะดาวน์โหลดเรื่องนี้มาดูในยูทูบ งานวิจัย เป็นสมาชิกของกรุ๊ปต่าง ๆ จนคนในกลุ่มถามว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไหน เราก็ขำ เพราะไม่ได้เป็นอะไรเลย


มันก็เป็นการผจญภัยอีกแบบ คือทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำ ป้ารู้สึกว่าการปฏิบัติธรรมเองก็เป็นการเข้าถึงอะไรที่เราไม่เคยเข้าถึงมาก่อน คือเข้าถึงความเป็นปัจจุบันของตัวเอง ในแง่นี้ ชีวิตมันก็เป็นเรื่องของการเรียนรู้ตลอดเวลา


จากความสนใจเรื่อง ‘ลมหายใจ’ ทำไมวันนี้ความสนใจเปลี่ยนมาเป็นเรื่องของสมอง

สมองมันเป็นศูนย์บัญชาการของทุกอย่าง แม้กระทั่งการเต้นของหัวใจมันก็ควบคุมด้วยสมอง คือมันเป็นศูนย์บัญชาการทุกอย่าง ที่พูดถึงองค์รวมของคุณภาพชีวิตนี่ ถ้าไม่มีสมองก็คุยเรื่องนี้ไม่ได้ เราจะมีคุณภาพชีวิตได้อย่างไร หากแค่คิดถึงมันเรายังทำไม่ได้


ธรรมชาติความเป็น journalist มันอาศัยการสืบค้นด้วยสมอง ด้วยความอยากรู้อยากเห็น แต่การปฏิบัติธรรม มันก็เป็นการสืบค้นอีกทางเช่นกัน แต่ไม่ใช่ทางความคิด 


สืบค้นโดยไม่ใช้ความคิด แล้วสืบค้นด้วยอะไร

ศาสตราจารย์ คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร เคยเป็นผู้หญิงเก่ง เรียกได้ว่าลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย ตอนนั้นทำงานแปลวรรณกรรมให้กับสำนักงานเอกลักษณ์แห่งชาติ เรารับงานสำคัญมา เป็นงานแปลบางส่วนของ ลิลิตพระลอ แต่ตอนนั้นชีวิตมีปัญหาที่เราหาคำตอบไม่ได้ มันเหมือนไม่มีทางออก เลยบอกอาจารย์ว่าขอลาออก ให้คนอื่นทำแทน แล้วตัวเองก็หายไปสวนโมกข์สามเดือนเต็ม


อาจารย์พูดเสมอว่า เราเป็น investigative journalist แต่การตัดสินใจของเราวันนั้นทำให้อาจารย์พูดว่า ‘ฉันไม่นึกเลยว่าเธอจะทำแบบนี้ เธอจะไปทำไม’ คือสำหรับอาจารย์ทุกอย่างมันต้องใช้เหตุและผล ใช้ตรรกะแก้ปัญหา แต่ป้าพบว่า logic มันเฟลเราได้ เลยบอกอาจารย์ที่เป็นนักการศึกษา ผู้ไม่รับเรื่องใด ๆ ในมิติจิตวิญญาณ เขามองทุกอย่างเป็นนักวิทยาศาสตร์ ความที่รู้ว่าอาจารย์เป็นนักการศึกษา ไม่รู้ว่าอะไรดลใจเรา


ไม่ใช่ว่าเราเฉลียวฉลาดอะไร แต่คำตอบมันขึ้นมาเอง เราก็ตอบไปว่า มนุษย์เรานี่มันมีศักยภาพการเรียนรู้ 2 disciplines มันมีการเรียนรู้ที่มาจากสมองที่เป็นตรรกะ และอีกส่วนที่เป็น wisdom และ intuition ที่มันอยู่ข้างใน แต่เราไม่เคยปล่อยให้มันขึ้นมา เพราะเรามัวแต่ใช้ logic จนความคิดมันไปกดทับ


ไม่ได้อธิบายละเอียดแบบนั้นหรอกนะ แค่บอกอาจารย์ว่าความรู้มันมีด้าน intellect และ intuition และเรามัวแต่ใช้ intellect แต่ไม่เคยใช้ intuition จนมันไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นมา เราเลยต้องไปใช้อีกช่องทางหนึ่งของศักยภาพการเรียนรู้ เราถึงจะพบ intuitive wisdom ได้



คุณหญิงเคยให้สัมภาษณ์ว่า ‘Once a journalist, always a journalist’ ความเป็นนักสื่อสารมวลชนส่งผลต่อชีวิตวันนี้อย่างไร แม้ไม่ได้ทำงานด้านนี้แล้ว

ป้าว่าป้าเกิดมาเป็น journalist ตั้งแต่เกิด คือสนใจจะ investigate ทุกอย่างโดยธรรมชาติ จำได้ว่าผู้ใหญ่เคยเรียกเราว่า ยัยศรีนี่เถียงคำไม่ตกฟาก คือเราไม่ได้เถียงแบบไม่ดี แต่เราเถียงเพราะเราอยากรู้ แม้แต่คำนี้ เราก็ยังเอามาเขียนเป็นบทความในหนังสือ เข็นครกตัวเบา ไปหาข้อมูลที่ผู้ใหญ่เรียกว่า ‘เถียงคำไม่ตกฟาก’ นี่มันมาจากอะไร (หัวเราะ)


พอแก่ตัวลง ร่างกายนั้นเปลี่ยนไป แต่ความอยากรู้อยากเห็นเราไม่เปลี่ยนเลย ตอนนี้เราก็สืบค้นเรื่องสมอง ริเริ่มโปรเจ็กต์ใหม่ คือเมื่อหลายปีมาแล้ว เมื่อตึก สธ. ของจุฬาฯ สร้างเสร็จ เป็นตึกที่ทำเรื่องผู้สูงอายุหมดเลย มีเรื่องสมอง เรื่องอัลไซเมอร์ คนที่นำชมอาคารเป็นจิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องผู้สูงอายุ เราเห็นห้องหนึ่งที่เป็นห้องกว้าง ๆ บรรจุคนได้สัก 50 กว่าคน ก็พูดขึ้นว่า ตึกแบบนี้น่าจะฉายหนังแล้วเปิดให้คนวิจารณ์ มันมีที่นั่งได้เยอะ และบังเอิญมากเลย เพราะคุณหมอเป็นคนที่รักหนังมาก ดูหนังมาเยอะ เราก็เลยเริ่มไอเดียให้คนดูหนังแล้วมาวิจารณ์กัน


ป้าเองก็เคยเป็นกรรมการตัดสินบทวิจารณ์ภาพยนตร์และการละคร ของกองทุนหม่อมหลวง บุญเหลือ และก็เคยเขียนบทวิจารณ์ให้ มติชน เราก็คุ้นเคยกับงานวิจารณ์อยู่แล้ว เลยติดต่อศูนย์ภาพยนตร์แห่งชาติ ก็เลยกลายเป็นการจัดงานร่วมกันระหว่างศูนย์ภาพยนตร์แห่งชาติและศูนย์พัฒนาสมอง 


ทำต่อเนื่องมาหลายปี คุณหมอเลยเกิดไอเดียว่าตอนนี้ประชากรสูงอายุสมองเสื่อมเยอะ โดยที่หลายรายไม่จำเป็นต้องเสื่อมเลย หลายรายชะลออายุสมองไปได้อีกยาว แกก็บอกว่าต้องทำอะไรสักอย่างแล้วเพื่อที่จะชะลอความเสื่อมนี้


เคล็ดลับการชะลอความเสื่อมของสมองคืออะไร เราจะเริ่มรักษาสมองตั้งแต่วันนี้อย่างไรได้บ้าง

สิ่งที่จะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้ อย่างแรกเลยคือ การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น สอง ความสงบที่ได้จากสมาธิวิปัสสนานี่ก็ช่วย สาม การนอนที่เพียงพอ 7- 8 ชั่วโมง ไม่ควรน้อยกว่านี้ สี่ ออกกำลังกาย ห้า โภชนาการที่ครบถ้วน และอีกเรื่องที่สำคัญเลยคือ การทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ ยิ่งยากยิ่งดี เช่น ป้าคุ้นเคยกับการใช้คำ ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาเล่นเกมที่เกี่ยวกับการคำนวณ ฝึกคิดเลขบ้าง


คุณหมอเลยบอกว่าเราควรทำกิจกรรมนี้ในวงกว้างกว่าแค่มาดูหนัง ต่อยอดออกมาเป็นกิจกรรมหลายอย่าง เลยทำเป็นชมรมขึ้นมา แล้วป้าเป็นประธาน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการรับสมัครสมาชิก ตอนนี้เปิดได้ไม่กี่วันก็สองร้อยกว่าคนแล้ว


ไม่มีคุณสมบัติคนเข้าร่วม ขอแค่อายุเกิน 50 ปี คุณหมอบอกว่าการฝึกพวกนี้ต้องเริ่มตั้งแต่ 50 ปี หรือก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ แต่ช่วงก่อน 50 ปี เรายังทำงาน สมองมันยังได้ใช้งานอยู่ แต่หลังจาก 50 ปีที่กิจกรรมเริ่มน้อยลงนั่นแหละ เรายิ่งต้องเริ่มฝึกสมอง ช่วงอายุที่คนสมัครมาเยอะที่สุดคือช่วงอายุ 60-65 ปี ที่เริ่มเกษียณแล้ว


กลุ่ม ‘สมองใส ใจสบาย’ มีกิจกรรมอะไรบ้าง และมีจุดประสงค์อะไร

ชื่อชมรม ‘สมองใส ใจสบาย’ นี่ก็คิดกันนาน มันมาจากหลักของการแพทย์ทางสมองก็คือ ความสบายของใจมันมีผลกับการชะลอความเสื่อมของสมอง และในขณะเดียวกันถ้าสมองเราปลอดโปร่ง จิตใจเราก็สบาย คุณภาพของสมองและจิตใจมันสัมพันธ์กัน


ซึ่งนอกจากกิจกรรม กระบวนการทั้งหมดมันก็จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองไปด้วย เช่น การสมัครก็ทำให้เขาได้ฝึกการใช้เครื่องมือออนไลน์ ได้ออกมาเจอผู้คนใหม่ ๆ เจอสิ่งใหม่ ๆ กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น สงสัยตลอดเวลา ทำให้สมองเขาทำงาน มีชีวิตชีวา ก็กลับมาเรื่องของชีวามิตรที่ทำอยู่นี่แหละว่า คุณภาพชีวิตมันต้องมีทั้งคุณภาพกาย ใจ สมอง มันต้องเป็นองค์รวม


คุณภาพสมองและใจของผู้สูงอายุมันก็มีผลต่อคุณภาพชีวิตลูกหลานเหมือนกัน ฉะนั้นทุกอย่างในโลกนี้มันสัมพันธ์กัน เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ฉะนั้น เราทำเรื่องนี้มันไม่ใช่แค่เพื่อผู้สูงอายุ แต่มันทำให้ทั้งสังคมนี้สดชื่น ผู้สูงอายุแทนที่จะเป็นภาระก็เป็นของขวัญ เป็นผู้ให้ต่อไปได้


คนรุ่นหลังเขายังต้องทำงาน ต้องแก้ปัญหา แต่คนแก่นี่มันมีเวลาที่จะมามองเห็นสัจธรรม ได้ตกตะกอนประสบการณ์ชีวิต เป็นบทเรียนรู้ส่งต่อให้กับลูกหลานได้ เราเลือกได้ว่าเราจะเป็นภาระ หรือจะเป็นผู้ทำประโยชน์ให้คนอื่นต่อไป


แต่ก่อนคุณหญิงมีงานเขียนออกมามากมาย หากจะเขียนหนังสือสักเล่มในช่วงวัยนี้ คิดว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร

ไม่ได้คิดเลย เดี๋ยวนี้ไม่ได้เขียนอีกเลย หยุดไปเลย ไม่รู้ทำไม มันพอแล้ว เมื่อก่อนจะแคร์มากว่าใครอ่าน ไม่อ่านหนังสือเรา มีเล่มหนึ่งแปลไปครึ่งหนึ่งก็พอแล้ว ถ้าเป็นสมัยก่อนเราจะรู้สึกว่าผลงานเราต้องเผยแพร่ออกไป เราค้นสิ่งนี้เจอ แต่ตอนนี้มัน couldn’t care less ถ้าผลงานจะหายก็หายไป


มันเริ่มเห็นความจริงว่าคนใหญ่ คนโต คนสำคัญที่เราเคยชื่นชม คนที่ทำประโยชน์มากมาย สุดท้ายก็จะหายไปไม่มีใครจำได้ อย่างอาจารย์จินตนา ในยุคนั้นไม่มีใครไม่รู้จัก เดี๋ยวนี้ คนรุ่นใหม่ก็จำไม่ได้


เราทุกคนจะถูกลืม แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราไม่ควรทำอะไร

ใช่ เราทุกคนจะถูกลืม นั่นคือความจริง สิ่งสำคัญคือตอนนี้คุณทำอะไร แล้วไม่ต้องไปสนใจว่าใครจะจำหรือลืม แต่ธรรมชาติมันมีเหตุและผล เราสร้างเหตุไว้อย่างไร ผลมันก็จะเป็นอย่างนั้นเอง 


a day BULLETIN avatar image
เรื่องโดยa day BULLETINชีวามิตรเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดี และจากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads