- คลังความรู้
- ชูคัดสึ
ชูคัดสึ
เตรียมตัวก่อนตายในแบบชาวญี่ปุ่น
เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร
เรารู้กันดีว่าประเทศญี่ปุ่นนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาหลายปีแล้ว และคนญี่ปุ่นเองก็มีแนวคิดเรื่องของชีวิตกับความตายที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้งอย่างมาก ดร.สุดปรารถนา ดวงแก้ว จากสถาบันเอเชียศึกษา เคยเขียนถึงแนวคิดในการเตรียมตัวตายของชาวญี่ปุ่นไว้ในบทความ “ชูคัทสึ: การเตรียมตัวก่อนวาระสุดท้ายของคนญี่ปุ่น” เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งแนวคิดนี้ก็ยังน่าสนใจ และเชื่อว่าน่าจะมีประโยชน์กับอีกหลายคนในวันนี้
ชูคัดสึ เริ่มมีการพูดถึงตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 มีประเด็นตั้งแต่การจัดการงานศพ หลุมศพ การเลือกจบชีวิตของคนไข้ภาวะสมองตาย จนถึงเรื่องการบันทึกวาระสุดท้ายลงในสมุด Ending Note จนในปี 2009 คำว่า ชูคัทสึ เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะญี่ปุ่นมีกลุ่มคนในวัยเกษียณจากการทำงานเพิ่มจำนวนขึ้นมาก และคำนี้ก็เป็นที่ยอมรับมาจนปัจจุบัน โดย The End of life Counselor Association สรุปคำนิยามของ “ชูคัทสึ” ว่า เป็นการเตรียมตัวก่อนวาระสุดท้ายของชีวิตและหลังจากที่เสียชีวิตแล้ว
การเตรียมตัวแบบชูคัทสึนั้นมีเครื่องมือสำคัญคือ สมุดบันทึกวาระสุดท้าย (Ending Note) ซึ่งแบ่งหัวข้อสิ่งที่ต้องเตรียมเป็น 4 ส่วน คือ
• เตรียมด้านทรัพย์สิน รวมทั้งการจัดสรรแบ่งมรดก และเขียนพินัยกรรม
• เตรียมการรักษาพยาบาลและการดูแล โดยกำหนดสถานพยาบาลไว้ล่วงหน้าก่อนจะกลายเป็นคนป่วยที่ไม่สามารถตัดสินใจได้เอง
• เตรียมพิธีศพและหลุมศพ เลือกและจัดการรูปแบบตามที่ตนปรารถนาหลังเสียชีวิต
• เตรียมสิ่งระลึก จัดทำอัลบั้มรูปภาพ บันทึกประจำวันเกี่ยวกับตนเองและครอบครัว
ชูคัทสึ จึงเป็นการเตรียมการที่ครอบคลุมทุกด้านก่อนวาระสุดท้าย ตามความปรารถนาของเจ้าของ โดยไม่สร้างความลำบากเดือดร้อนแก่คนใกล้ตัว
ส่วนหนึ่งที่ทำให้แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่น เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมสูงวัยและครอบครัว ทำให้ผู้สูงวัยต้องจัดการปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องทำ เพื่อให้สามารถจัดการระเบียบชีวิตของตนเอง และดำเนินชีวิตในแบบของตนเองจนถึงวาระสุดท้าย
ส่วนเรื่องของสมุดบันทึกวาระสุดท้าย (Ending Note) นั้น ในประเทศญี่ปุ่นก็มีผลิตออกมาขายหลายแบบ ส่วนใหญ่ก็ดูเรียบง่าย สีสันไม่ได้ดูหม่นเศร้าแต่อย่างใด ภายในเล่มแยกหมวดหมู่หัวข้อสำหรับการบันทึก และสิ่งที่ต้องเตรียมการ เรียกว่าเป็นเครื่องมือเพื่อเตรียมตัวก่อนวาระสุดท้ายที่เจ้าของสามารถจดบันทึกทั้งเรื่องราวสำคัญในชีวิต สิ่งที่ต้องการทำ หรือต้องการสื่อสาร แล้วยังทำให้ได้ทบทวนชีวิตของตัวเองผ่านการเขียนอีกด้วย นับเป็นไอเดียที่น่าสนใจอย่างมาก
ถ้าในเมืองไทยมีเครื่องมือดี ๆ แบบนี้ออกมา น่าจะช่วยให้คนไทยเข้าใจและเตรียมพร้อมวางแผนการตายได้ดีมากยิ่งขึ้น