Knowledge cover image
12 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. การทำพินัยกรรมแบบเขียนเองด้วยลายมือ

การทำพินัยกรรมแบบเขียนเองด้วยลายมือ

เครื่องมือทางกฎหมายในการจัดสรรทรัพย์สินให้ผู้อยู่เบื้องหลัง


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

เมื่อถามว่าสิ่งใดต่อไปนี้ที่ปล่อยวางได้ง่ายที่สุดระหว่างทรัพย์สิน คนรัก และสังขารร่างกาย หลายคนตอบอย่างมั่นใจว่าปล่อยวางทรัพย์สินได้ง่ายที่สุด แต่ความเป็นจริงคือ หลายคนกลับปล่อยโอกาสเตรียมการด้านทรัพย์สินให้หลุดลอยไป และเสียชีวิตก่อนที่จะจัดการให้เรียบร้อย

 

ตามกฎหมายให้คำจำกัดความว่า “พินัยกรรม (will) คือ คำสั่งของผู้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือการต่าง ๆ ของผู้ทำพินัยกรรม ที่มีผลบังคับตามกฎหมายเมื่อบุคคลนั้นตายไปแล้ว” ดังนั้น จึงเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดสรรทรัพย์สินให้ผู้อยู่เบื้องหลัง เพื่อเตรียมตัวสู่การจากไปอย่างหมดห่วง ผู้ที่มีชื่อในพินัยกรรมมีสิทธิ์ได้รับมรดกตามที่เอกสารได้ระบุไว้ แต่ถ้าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรม ทรัพย์สินจะตกไปยังทายาทตามหลักเกณฑ์และลำดับที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ระบุไว้ โดยทุกคนสามารถทำพินัยกรรมได้ ยกเว้น

...ผู้เยาว์อายุไม่ครบ 15 ปี บริบูรณ์

...บุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

...คนจริตวิกลในเวลาทำพินัยกรรม


รูปแบบการทำพินัยกรรม สามารถทำได้ 2 แบบ คือ แบบเขียนด้วยลายมือเองทั้งฉบับ และแบบที่ไม่ได้เขียนเอง แต่พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับจะเป็นที่นิยมกว่า เพราะง่ายต่อการพิสูจน์ว่า ขณะทำพินัยกรรมนั้น ผู้เขียนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ซึ่งวิธีเขียนมีดังนี้

1 ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเขียนข้อความในพินัยกรรมทั้งฉบับ ด้วยลายมือของตนเอง

2 ระบุชื่อผู้รับทรัพย์สินในพินัยกรรมให้ชัดเจน โดยผู้รับทรัพย์สินอาจเป็นญาติพี่น้อง หรือบุคคลใดก็ได้ ถ้าเป็นหน่วยงาน ต้องเป็นหน่วยงานที่เป็นนิติบุคคล

3 ลงวัน เดือน ปี ขณะทำพินัยกรรม

4 ผู้เขียนต้องลงลายมือชื่อ (ลายเซ็น) ไว้ในพินัยกรรมนั้น จะลงลายนิ้วมือไม่ได้

 

มีข้อสังเกตว่า การทำพินัยกรรมด้วยลายมือเองทั้งฉบับไม่ต้องมีพยานรู้เห็นการทำพินัยกรรมแต่อย่างใด หากมีการลงลายเซ็นพยานในพินัยกรรม พยานในพินัยกรรมจะไม่มีสิทธิ์รับทรัพย์ และถ้ามีพินัยกรรมหลายฉบับให้ถือฉบับล่าสุดเป็นสำคัญ พินัยกรรมที่เขียนก่อนหน้านั้นถือเป็นโมฆะ


อีกวิธีหนึ่ง คือ ใช้วิธีพิมพ์พินัยกรรมเป็นหนังสือ ลงวัน เดือน ปีในขณะที่ทำพินัยกรรม และต้องมีพยานอย่างน้อยสองคน (ต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ และต้องไม่เป็นหูหนวกเป็นใบ้ หรือตาบอดทั้งสองข้าง) โดยผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานในพินัยกรรมอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน (พยานต้องอยู่รู้เห็นการทำพินัยกรรมนั้นด้วย) ส่วนการแก้ไข ขูด ลบ เติมในพินัยกรรมจะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ทำพินัยกรรมลงลายเซ็น ลงวันที่ ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน และพยานต้องลงลายมือชื่อรับรองการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนั้น


ดูตัวอย่างแบบฟอร์ม ได้ที่ https://1th.me/veRIl


ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรเรียบเรียงจากหนังสือ “ดูแลชีวิตและทรัพย์สินอย่างไรให้หายห่วง” โดย ศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads