Knowledge cover image
10 มีนาคม 2566
  1. คลังความรู้
  2. เข้าใจ “การุณยฆาต” ให้ถูกต้อง ก่อนคิดว่าเป็นทางเลือกสุดท้าย

เข้าใจ “การุณยฆาต” ให้ถูกต้อง ก่อนคิดว่าเป็นทางเลือกสุดท้าย

ความหมายที่แท้จริงของการุณยฆาตในแง่มุมของกฎหมายและศีลธรรม ที่ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิดเมื่ออยากเลือกทางนี้


เรื่องโดย พิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน

มีคำถามมากมายว่า “ทำไมไม่อนุญาตให้มีการทำการุณยฆาตในเมืองไทย”


ผมขอใช้โอกาสนี้อธิบายให้เกิดความเข้าใจถึงความหมายของการุณยฆาต รวมถึงแง่มุมของกฎหมายและศีลธรรมที่มีความละเอียดอ่อน และไม่ใช่เรื่องง่ายการปฏิบัติแม้แต่ในประเทศที่อนุญาตให้มีการทำการุณยฆาตก็ตาม 


“การุณยฆาต” เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติชีวิตผู้ป่วย ถ้าใช้กฎหมายเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง ในระดับโลกจะแบ่งกระบวนการยุติชีวิตออกเป็น 2 รูปแบบ แล้วแต่การยอมรับของสังคม การเมือง สิทธิและเสรีภาพที่สังคมนั้นยึดถือเพียงใด ได้แก่


วิธีที่หนึ่ง การทำการุณยฆาต (Euthanasia) เป็นการกระทำโดยเจตนาเพื่อยุติชีวิตตามความประสงค์ของผู้ป่วยระยะท้าย มีเป้าหมายเพื่อบรรเทา หรือหลีกเลี่ยงความทรมานของผู้ป่วย ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ1 


วิธีที่สอง การยุติชีวิตด้วยตนเองโดยความช่วยเหลือจากแพทย์ (Physician assisted suicide) เป็นการที่แพทย์ช่วยเหลือผู้ป่วยตามความต้องการเพื่อยุติชีวิตตัวเอง2 


ความแตกต่างของทั้งสองวิธีนี้คือ “ความตายเกิดจากการกระทำของใคร” กรณีของการุณยฆาต ความตายเกิดจากบุคลากรทางการแพทย์ (บุคลากรทางการแพทย์ให้ยา หรือสารเคมีเพื่อให้ตาย) กับกรณีของการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยฆ่าตัวตายความตายจะเกิดจากมือผู้ป่วยเอง โดยมีผู้ช่วยเหลือให้ผู้ป่วยฆ่าตัวตาย 


ตามกฎหมายของประเทศที่อนุญาตให้ยุติชีวิตผู้ป่วยได้กำหนดขั้นตอนในการป้องกันการฆ่าตัวตายตามกฎหมายไว้อย่างเข้มงวดมาก โดยมีกระบวนการหลัก คือ

  • กำหนดเงื่อนไขการขอยุติชีวิตไว้เฉพาะกลุ่ม
  • กำหนดให้ลงทะเบียนตามแบบที่กฎหมายกำหนด เพื่อขอยุติชีวิตสองรอบในระยะเวลาที่แตกต่างกัน เช่น ลงทะเบียนก่อน 15 วัน แล้วต้องมาลงทะเบียนซ้ำอีก 15 วัน (บางประเทศอาจกำหนด แค่ 7 วัน หรือบางประเทศกำหนด 30 วัน)
  • กำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์สอบถามผู้ที่ต้องการเข้ากระบวนยุติชีวิตว่า ได้รับการบรรเทาความทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดมาก่อนหรือไม่ เช่น เคยได้รับกัญชาทางการแพทย์หรือไม่ เคยได้รับการดูแลแบบประคับประคองหรือไม่ ฯลฯ
  • กำหนดให้ญาติใกล้ชิด หรือเพื่อนสนิทเป็นพยานในหนังสือแสดงความจำนงขอยุติชีวิตตนเอง
  • กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการให้ยาวนาน เพื่อทอดระยะเวลาให้ตัดสินใจอย่างรอบคอบ
  • ต้องมีการจัดทำฐานข้อมูลสถานที่ยุติชีวิต ขึ้นทะเบียนบุคลากรทางการแพทย์ที่ดำเนินการ ให้รายงานข้อมูลการดำเนินการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

 

ความพร้อมของประเทศไทยในเรื่องการยุติชีวิตผู้ป่วย

ปัจจุบันประเทศไทยยัง “ไม่พร้อม” สำหรับกฎหมายที่อนุญาตให้ยุติชีวิตผู้ป่วย เพราะเมื่อดูตามกฎหมายของประเทศที่อนุญาตพบว่า มีขั้นตอนป้องกันการฆ่าตัวตายมากมาย ที่สำคัญที่สุด กฎหมายบังคับให้บุคลากรทางการแพทย์ถามผู้ที่ต้องการยุติชีวิตว่า “ได้รับบริการทางการแพทย์ที่ช่วยลดความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยหรือไม่” หรือ “ท่านได้รับการดูแลแบบประคับประคองอย่างมีคุณภาพหรือไม่” (ถ้ายังไม่ได้ก็ต้องจัดให้) ทั้งนี้เพื่อให้ความตายเป็นทางเลือกสุดท้ายในการยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยที่ผู้นั้นได้รับ

 

ประเทศไทยเพิ่งเริ่มพัฒนาระบบการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ยังมีระดับการให้บริการแบบประคับประคองที่น้อยมาก ดังนั้น ถ้ามีกฎหมายอนุญาตให้ยุติชีวิตผู้ป่วยได้ จะทำให้เกิดการละทิ้งคนแก่ ผู้พิการ ผู้ป่วยระยะท้ายที่หาทางออกในการดูแลไม่ได้ (เช่น ไม่มีเงิน ไม่มีคนดูแล ญาติไม่สนใจ) เป็นจำนวนมาก ผ่านกระบวนการทางการแพทย์      

 

หรือพูดง่าย ๆ เป็นการอาศัยมือการแพทย์เพื่อฆ่าตัวตาย

 

ดังนั้น กับคำถามที่ว่า “ทำไมไม่อนุญาตให้มีการทำการุณยฆาตในเมืองไทย” นั่นก็เป็นเพราะเรายังมีทางเลือกที่เหมาะสมกว่า และยังจำเป็นต้องพัฒนาให้ก้าวหน้าเพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย หรือผู้สูงอายุ นั่นคือ การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care)

 

เพราะแนวคิดหลักของการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) มุ่งไปที่การทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีที่สุด ทุกข์ทรมานน้อยที่สุดทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเอาความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เมื่อผู้ป่วยได้รับการดูแลเช่นนั้น ถ้าเมืองไทยมีระบบการดูแลแบบประคับประคองที่คนไทยเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

 

ผมเชื่อว่าคำถามข้างต้นนั้นจะน้อยลงมาก หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลย


[1] ประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง นิยามปฏิบัติการ (Operational definition) ของคำที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) สำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2563, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 261 ง วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563)

[2] อ้างแล้วใน 1

พิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน avatar image
เรื่องโดยพิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคินผู้ชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) อาจารย์พิเศษ วิทยากร และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการแพทย์ในเรื่องสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads