Knowledge cover image
21 มิถุนายน 2567
  1. คลังความรู้
  2. กฎหมายสมรสเท่าเทียมกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

กฎหมายสมรสเท่าเทียมกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

ข้อกำหนดต่าง ๆ ของกฎหมายสมรสเท่าเทียมเพื่อการวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้าสำหรับคู่สมรสที่มีความหลากหลายทางเพศ


เรื่องโดย พิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (สมรสเท่าเทียม) ด้วยคะแนนเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง งดออกเสียง 18 ไม่ลงคะแนนเสียง 0 ผู้ลงมติ 152 เสียง


หลังจากที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวโดยไม่มีการแก้ไข กระบวนการถัดไป คือ นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน


ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีสาระสำคัญคือ เป็นร่างพระราชบัญญัติที่แก้ไขหลายมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวกับการสมรส เพื่อรับรองสิทธิก่อตั้งครอบครัวของบุคคลสองคนไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตามให้ได้สิทธิในการสมรสเช่นเดียวกับคู่สมรสชายหญิง หมายความว่าจากเดิมที่กฎหมายจำกัดการสมรสไว้เฉพาะชายและหญิง ได้เปลี่ยนเป็นให้บุคคลสองคนไม่ว่าเพศใดก็มีสิทธิสมรสกันตามกฎหมาย และให้บุคคลสองคนไม่ว่าเพศใดก็ตามได้รับสิทธิตามกฎหมายเช่นเดียวกับคู่สมรสชายหญิง


รายละเอียดของการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวยังมีสาระน่าสนใจปลีกย่อยอีกหลายประเด็น เช่น กฎหมายใช้คำว่า "คู่สมรส" แทนคำว่า "สามีภริยา" คู่สมรสทุกเพศจะสมรสกันได้โดยต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สิทธิประโยชน์สมรสเท่าเทียม "คู่สมรส" คู่สมรสมีสิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรสอีกฝ่าย คู่สมรสมีสิทธิรับบุตรบุญธรรม คู่สมรสมีสิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย คู่สมรสมีสิทธิได้รับประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคม เป็นต้น


แล้วกฎหมายสมรสเท่าเทียมส่งผลกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองและการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างไร

การแก้ไขกฎหมายข้างต้นทำให้แนวคิด กระบวนการดำเนินการ การบริหารจัดการกิจการภาครัฐต่าง ๆ ในเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายหรือการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในผู้ป่วยที่เป็นกลุ่ม LGBTQIA+ เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ดูแลหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจะต้องทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการดูแลดังนี้


การสมรส

กฎหมายใหม่กำหนดให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถหมั้นและสมรสได้ตามกฎหมายเช่นเดียวกับคู่สมรสต่างเพศ โดยเริ่มต้นสถานภาพการเป็นคู่สมรสตามกฎหมายของคู่ชีวิตที่เป็นบุคคลเพศเดียวกันคือ “การจดทะเบียนเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย” ดังนั้น บุคคลเพศเดียวกันจะต้องสมรสตามกฎหมายก่อนจึงจะมีสิทธิตามกฎหมายเช่นเดียวกับคู่ชีวิตต่างเพศ ในกรณีผู้ดูแลคู่ชีวิตที่เป็นบุคคลเพศเดียวกันควรสอบถามถึงสถานภาพการสมรสของทั้งสองฝ่ายว่ามีการสมรสหรือไม่ หากยังไม่สมรสควรแนะนำให้มีการสมรสตามกฎหมาย

 

การรับบุตรบุญธรรม

กฎหมายใหม่กำหนดให้คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถเป็นผู้ปกครองของบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ ทั้งสองจึงมีสิทธิในการปกครองบุตรบุญธรรมเช่นเดียวกัน โดยผู้รับบุตรบุญธรรมยังคงต้องมีอายุมากกว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี ผู้ให้การดูแลผู้ป่วยที่เป็นบุคคลเพศเดียวกันควรสอบถามถึงบุตรบุญธรรม หากมีบุตรบุญธรรมควรนำบุตรบุญธรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยด้วย

 

การจัดการทรัพย์สินและการรับมรดก

กฎหมายใหม่ได้รองรับสิทธิในการจัดการทรัพย์สิน รวมทั้งการทำนิติกรรมต่าง ๆ ของคู่สมรสเพศเดียวกันให้เท่าเทียมกับคู่สมรสต่างเพศ เช่น สิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส รวมไปถึงการเป็นตัวแทนทางกฎหมาย สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม และสิทธิได้รับประโยชน์จากสวัสดิการจากรัฐ เช่น  สวัสดิการข้าราชการ รับประโยชน์ทดแทนตามสิทธิประกันสังคม หรือแม้แต่สิทธิในการขอสัญชาติด้วย

 

การตัดสินใจในการรักษาพยาบาลและเรื่องที่เกี่ยวข้อง

กฎหมายใหม่กำหนดว่า “คู่สมรสต้องอยู่กินด้วยกันฉันคู่สมรสและคู่สมรสต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูด้วยกันฉันคู่สมรส” ดังนั้นคู่สมรสไม่ว่าจะเพศเดียวกันหรือต่างเพศย่อมมีสิทธิในการดูแลซึ่งกันและกัน ทั้งการดูแลตัดสินใจเรื่องทางการแพทย์ต่าง ๆ การตัดสินใจสำคัญทางการแพทย์ในกรณีที่คน ๆ นั้นไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ หรือกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต อีกฝ่ายก็จะมีสิทธิในการจัดการศพ การออกใบมรณบัตรได้ด้วย


การดูแลแบบประคับประคองกรณีที่ผู้ป่วยเป็นเพศเดียวกัน จึงควรเตรียมการเรื่องการวางแผนการดูแลล่วงหน้าช่วงที่ตนเองป่วย โดยวางแผนการดูแลรักษาพยาบาลหรือการดูแลอื่น ๆ ที่ต้องการและไม่ต้องการไว้ในแผนการดูแลล่วงหน้า (Advance Care Plan) เช่นเดียวกับคู่สมรสต่างเพศ นอกจากนี้ ควรทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขตาม ม.12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 หรือ Living Will เพื่อตัดสินใจในการรักษาพยาบาลในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นการป้องกันปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวเกี่ยวกับดูแลในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ถ้าคู่สมรสเพศเดียวกันไม่ได้วางแผนการดูแลล่วงหน้าไว้ คู่สมรสอีกฝ่ายสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายตัดสินใจในเรื่องการรักษาพยาบาลแทนได้

 

การหย่าร้าง

กฎหมายใหม่กำหนดสิทธิในการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันเช่นเดียวกับบุคคลต่างเพศ รวมถึงสิทธิที่เท่าเทียมกันหากคู่รักใช้ชีวิตมาจนถึงจุดที่ทั้งคู่จะต้องแยกจากกัน โดยกฎหมายกำหนดให้คู่สมรสเพศเดียวกันมีสิทธิในการฟ้องหย่า สิทธิในการฟ้องร้องอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น สิทธิการเลี้ยงดูบุตร การเรียกค่าเลี้ยงชีพตามแต่กรณีการหย่าร้างที่เกิดขึ้น และสิทธิในสินสมรส

 

บริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้กฎหมายเปลี่ยนแปลงด้วย การที่ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นย่อมพาไปสู่การวางแผนชีวิตที่ดี ครอบครัว ผู้ดูแลผู้ป่วย ตลอดจนบุคลากรสุขภาพ ควรเป็นผู้มีบทบาทและมีส่วนร่วมในวางแผนการดูแลล่วงหน้าให้ตรงตามเจตนารมณ์ของคู่สมรสเพศเดียวกัน เพื่อให้ทุกคนในสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นเพศใด ได้รับการดูแลคุณภาพชีวิตให้มีสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิตที่ดี และตายดีอย่างสงบสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

พิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน avatar image
เรื่องโดยพิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคินนิติกรผู้ชำนาญการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อาจารย์พิเศษ วิทยากร และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการแพทย์ในเรื่องสิทธิและหน้าที่ในเรื่องสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads