Knowledge cover image
13 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. ความเชื่อส่วนบุคคล

ความเชื่อส่วนบุคคล

กับการตัดสินใจเลือกที่จะรับหรือปฏิเสธการรักษาพยาบาล


เรื่องโดย พิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน

ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยจะนำความเชื่อส่วนบุคคล ทั้งความเชื่อทางศาสนา จิตวิญญาณ หรือวัฒนธรรมท้องถิ่น มาใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจเลือกที่จะรับหรือปฏิเสธการรักษาพยาบาล ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ญาติหรือบุคลากรด้านสุขภาพจะทำอย่างไร


ความเชื่อส่วนบุคคล ความเชื่อทางศาสนา จิตวิญญาณ หรือวัฒนธรรมท้องถิ่น จะแปรผันกันไปตามบริบทของผู้ป่วย โดยสิ่งเหล่านี้ผูกพันอยู่กับการดำเนินชีวิตจนหลอหลอมให้เกิดทัศนคติ ความเชื่อ ความศรัทธา พร้อมที่จะดำเนินชีวิตตามความเชื่อเหล่านั้น โดยขอยกตัวอย่างความเชื่อดังต่อไปนี้


ในภาคเหนือ จะมีความเชื่อเรื่องการเสี่ยงทายว่าจะมีชีวิตรอดจากการป่วยหนักหรือไม่โดยการสวดธรรมวิบาก (ดูประกอบ นกขมิ้นเหลืองอ่อน, ‘เฮือนเย็น’ (Peaceful death) <https://shorturl.asia/tPNr1> สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2564) ให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่นอนป่วยอยู่ฟังเพื่อเสี่ยงทายว่า การรักษาพยาบาลครั้งนี้จะรอดชีวิตหรือไม่ หากผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุสามารถลุกขึ้นมานั่งพนมมือฟังพระสวดได้แสดงว่าจะรอด ผู้ป่วยหรือญาติมักจะยินยอมรับการรักษาพยาบาลต่อ หากลุกขึ้นไม่ไหวก็แสดงว่าไม่รอดแล้ว ผู้ป่วยหรือญาติมักจะบอกแก่บุคลากรสุขภาพว่า ไม่ขอรับการรักษาแล้วขอตายอย่างสงบที่บ้านจะดีกว่า 


ในภาคอีสานก็มีรูปแบบความเชื่อที่คล้ายกับภาคเหนือ โดยจะเป็นการรำผีฟ้าเพื่อเสี่ยงทาย (ดูประกอบ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ, ‘“รำผีฟ้า” ความเชื่อของคนไทลาว’(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 14 กรกฎาคม 2559) < https://shorturl.asia/qM1kd> สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2564) 


ในผู้ป่วยที่เป็นมุสลิมบางส่วนที่เคร่งครัดมากก็จะมีความเชื่อว่า เมื่อเข้าสู่เดือนรอมฎอนจะไม่ยอมไปรักษาที่โรงพยาบาล เพราะต้องการปฏิบัติตามหลักความเชื่อทางศาสนาของตนเอง 


ในกลุ่มผู้ป่วยชาวคริสต์ที่นับถือลัทธิพยานพระยะโฮวาไม่ยอมรับเลือด หรือส่วนประกอบของเลือด  


จะสังเกตได้ว่า การปฏิบัติตามความเชื่อทางจิตวิญญาณ หรือทางศาสนาเหล่านี้ แม้จะดูไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ หรือเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ และการตัดสินใจนั้นจะทำให้ตนเองเสียชีวิต หรือได้รับอันตรายจากการเจ็บป่วยตามมาก็ตาม แต่ในทางการแพทย์ก็รับรองหลักความเชื่อเหล่านี้ว่า มีส่วนสำคัญในมิติสุขภาพของผู้ป่วย และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการรักษาพยาบาล โดยถือว่าเป็นมิติการรักษาทางจิตวิญญาณ (spiritual healing) ซึ่งตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้รับรองเรื่องนี้ไว้ในนิยามของคำว่า “สุขภาพ”


โดยตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้กำหนดนิยาม “สุขภาพ” ว่า หมายถึงภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล


ซึ่งถ้าสังเกตจากนิยามดังกล่าวพบว่า ได้ยอมรับว่า “สุขภาพ” มีความเป็นปัจเจกชนของแต่ละบุคคล เนื่องจากสุขภาพมีความเชื่อมโยงกับปัจจัยกำหนดสุขภาพ (Determinant of health) ในมิติอื่น ได้แก่ มิติทางกาย มิติทางจิตใจ มิติทางสังคม และมิติทางปัญญาไว้ ซึ่งบุคคลแต่ละคนก็จะมีความแตกต่างกันไปตามเศรษฐานะ ความเชื่อ การศึกษา ถิ่นที่อยู่ ศาสนา วัฒนธรรมและประเพณีที่หมู่ชนนั้นนับถือ 


สำหรับคำถามในทางปฏิบัติ คือ เมื่อผู้ป่วยหรือครอบครัวยินดีที่จะปฏิบัติตามความเชื่อเหล่านั้น แล้วบุคลากรสุขภาพจะทำอย่างไร


บุคลากรสุขภาพที่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยโดยแจ้งทั้งผลและผลเสียที่จะเกิดขึ้น หากได้ดำเนินการตามที่ผู้ป่วยร้องขอแล้ว ผู้ป่วยแสดงเจตนารับ หรือปฏิเสธการรักษาพยาบาลบนพื้นฐานของความเชื่อเหล่านี้ ควรจดรายละเอียดประเด็นที่ปรึกษาพูดคุย ตลอดจนเหตุผลที่ผู้ป่วยรับ หรือปฏิเสธการรักษาพยาบาลไว้ในเวชระเบียน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการรักษาต่อไป


คำถามนี้จะซับซ้อนขึ้นไปอีกเมื่อ “บุคลากรด้านสุภาพ” นำความเชื่อส่วนบุคคลเข้ามาใช้ประกอบการตัดสินใจที่จะให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย เนื่องจากในเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย บ่อยครั้งที่ผู้ป่วย หรือญาติ ให้บุคลากรด้านสุขภาพถอดเครื่องช่วยหายใจ ยุติการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ หรือยุติรักษาพยาบาลวิธีต่าง ๆ โดยจะมีบุคลากรด้านสุขภาพบางส่วนรู้สึกว่า การที่ทำเช่นนั้นจะเป็นการฆ่าผู้ป่วยหรือไม่ ผู้ป่วยตายเพราะการกระนั้นหรือไม่ จะเป็นบาปไหม หากมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นจะทำอย่างไร (จะพบเหตุการณ์ทำนองนี้ในเรื่องการทำแท้ง ที่แม้จะเป็นการทำแท้งที่ถูกกฎหมาย แต่บุคลากรด้านสุขภาพบางส่วนก็ไม่ยินดีที่จะทำให้ เพราะกลัวบาป กลัวว่าจะมีวิญญาณเด็กตามอาฆาต)


หากพิจารณาไปที่ประกาศสิทธิผู้ป่วยและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ข้อ 1 กำหนดว่า ผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับการรักษาพยาบาล และการดูแลด้านสุขภาพตามมาตรฐานวิชาชีพจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคสามบัญญัติว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความเห็นทางการเมือง อันไม่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใดจะกระทำมิได้ (หากไปพิจารณาข้อบังคับของสภาวิชาชีพต่าง ๆ ที่ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพก็พบว่า จะมีการกำหนดไว้ว่าผู้ประกอบวิชาชีพแต่ละวิชาชีพ จะต้องประกอบวิชาชีพโดยเจตนาดี โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคมหรือลัทธิการเมือง เช่นกัน)


ดังนั้น โดยข้อกฎหมายบุคลากรด้านสุขภาพจะนำความเชื่อส่วนบุคคลของตนเอง มาใช้ในการเลือกที่จะให้การดูแลผู้ป่วยหรือไม่ ไม่ได้


แต่ในทางปฏิบัติ ความเชื่อคือความเชื่อ จะไปบังคับก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาเปล่า ๆ สำหรับเรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ 2 ประการ คือ

1. อบรมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการดูแลแบบประคับประคองแก่บุคลากรด้านสุขภาพ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า เรื่องการดูแลแบบประคับประคองนี้ถูกต้องตามหลักศาสนา

2. หากไม่สามารถดำเนินการตามที่ผู้ป่วย หรือครอบครัวร้องขอจริง ๆ ก็ควรจะต้องแนะนำ หรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้เจอกับบุคลากรด้านสุขภาพ ที่สามารถดำเนินการตามความต้องการเช่นว่านั้นได้ โดยต้องไม่ทิ้งผู้ป่วยเด็ดขาด

พิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน avatar image
เรื่องโดยพิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคินผู้ชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) อาจารย์พิเศษ วิทยากร และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการแพทย์ในเรื่องสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 คุณบอลรับเชิญมาเป็นนักเขียนให้กับชีวามิตรกับเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนชีวิตจนถึงปลายทาง ผ่านการถ่ายทอดในมุมของนักกฎหมาย และผู้มีประสบการณ์กับกรณีที่เกิดขึ้นจริงมาแล้วมากมาย

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads