- คลังความรู้
- เปรียบเทียบความแตกต่างของกฎหมายครอบครัว ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และร่างกฎหมายคู่ชีวิต
เปรียบเทียบความแตกต่างของกฎหมายครอบครัว ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และร่างกฎหมายคู่ชีวิต
ผลกระทบของกฎหมายว่าด้วยสิทธิในการมีคู่ของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
เรื่องโดย พิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน
ปัจจุบัน สังคมไทยมีความตื่นตัวในสิทธิในการมีคู่ของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้มีความเท่าเทียมกับการสมรสของชายหญิง จึงมีการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือคู่ชีวิตขึ้น ส่งผลให้มีร่างกฎหมายนี้หลายฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแต่ละร่างก็มีความแตกต่างกันในเชิงรายละเอียดของกฎหมาย ดังนั้น ควรมีการศึกษาความแตกต่างของแต่ละร่าง เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายนี้ และผลกระทบของกฎหมายนี้ที่มีต่อกฎหมายอื่นที่จะมีขึ้นในอนาคต นอกจากนั้น ผู้เขียนยังเห็นเพิ่มเติมว่า กฎหมายคู่ชีวิตนี้จะมีส่วนสำคัญที่ทำให้การดูแลผู้สูงวัยเพศเดียวกันที่อยู่ด้วยกันในอนาคต มีความชัดเจนขึ้นด้วย
ร่างกฎหมายคู่ชีวิตในสภาผู้แทนราษฎร
ช่วงกลางปี 2565 สภาผู้แทนราษฎรให้การรับรองหลักการของร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับคู่ชีวิต จำนวน 3 ร่างในวาระแรกแล้ว ซึ่งในวาระที่สอง สภาฯ ต้องมีการพิจารณารวบรวม หรือปรับปรุงร่างกฎหมายเหล่านี้ เพื่อให้ได้ร่างกฎหมายเพียงฉบับเดียวที่สมบูรณ์ที่จะนำไปเข้าวาระสาม และประกาศใช้ต่อไป
ในการศึกษาความแตกต่างของแต่ละร่าง ผู้เขียนขอใช้กฎหมายครอบครัวที่ว่าด้วยการสมรสระหว่างชายและหญิงที่มีอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) บรรพครอบครัว เป็นมาตรฐานในการประเมินร่างกฎหมายคู่ชีวิตทั้ง 3 ร่าง เพราะผู้เขียนเชื่อว่าหากชายและหญิงมีความเท่าเทียมกันแล้ว การสมรสไม่ว่าจะเป็นการสมรสของเพศใด ก็ควรที่จะต้องมีความเท่าเทียมในแง่ของสิทธิตามกฎหมายด้วยเช่นกัน
ร่างกฎหมายทั้ง 3 ร่างในสภาผู้แทนราษฎร คือ ร่างกฎหมายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่างกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล (กก.) โดยทั้ง 3 ร่างมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ร่างกฎหมายของ ครม. และพรรคประชาธิปัตย์ จัดทำเป็นร่าง พรบ.คู่ชีวิต แต่ร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลเป็นร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยทั้งสามร่างมีเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันมาก แตกต่างกันโดยรายละเอียด ดังตารางต่อไปนี้
เมื่อพิจารณาจากตารางข้างต้นโดยภาพรวมของร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวพบว่า ได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ที่จดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตไม่ต่างจากที่ระบุไว้ในกฎหมายครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเงื่อนการเริ่มต้น และการสิ้นสุดของการจดทะเบียนคู่สมรส (หรือคู่ชีวิต) การจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรม หน้าที่ตามกฎหมาย และความผูกพันของคู่ชีวิต แต่มีรายละเอียดของชื่อเรียกและอายุในการจดทะเบียนเท่านั้นที่แตกต่างกัน
ถ้ามีกฎหมายแล้วจะยังไงต่อ
แม้ว่าจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือคู่ชีวิตออกมาแล้วก็ตาม ก็ใช่ว่าปัญหาและอุปสรรคของการใช้ชีวิตคู่จะหมดไป เนื่องจากยังมีกฎหมายทั้งในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และกฎหมายลำดับรองอีกเป็นจำนวนมากที่ยังใช้คำว่า “สามีและภรรยา” ในเนื้อหาของกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ประมวลกฎหมายต่าง ๆ ดังนั้น จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายอีกเป็นจำนวนมากเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาของกฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือกฎหมายคู่ชีวิตที่กำลังจะออกมา
ประเด็นเพิ่มเติมของกฎหมายคู่ชีวิตและสังคมสูงวัย
คนทั่วไปเวลานึกถึงกฎหมายคู่ชีวิตก็มักจะมีมโนภาพว่า เกี่ยวข้องกับความรัก ความใคร่ เรื่องทางเพศ หรือการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงเนื้อหาของกฎหมายนี้น่าจะแก้ไขปัญหาของสังคมสูงวัยในอนาคตได้อีกด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีหญิงหรือชายจำนวนไม่น้อยที่ไม่แต่งงาน ไม่มีครอบครัว หรือไม่มีทายาท (หรือมีทายาท มีครอบครัว แต่ไม่อยากใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน) บุคคลเหล่านี้อาจมาอยู่ด้วยกันในฐานะกัลยาณมิตร ดูแลกันในยามเจ็บป่วยและแก่เฒ่า โดยไม่มีเรื่องความใคร่ หรือเรื่องเพศมาเกี่ยวข้องเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ การจดทะเบียนชีวิตคู่น่าจะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งการตัดสินใจในรักษาพยาบาล การบริหารจัดการทรัพย์สินและมรดก รวมถึงปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในฐานะคู่ชีวิตด้วยกันได้ดีกว่าที่คู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกันโดยไม่จดทะเบียน หรือไม่มีความสัมพันธ์ทางกฎหมายใด ๆ เลย เนื่องจากคู่ชีวิตที่อยู่ร่วมกันย่อมรับรู้ความต้องการในชีวิตของกันและกัน รับรู้ปัญหาส่วนตัว รับรู้สถานะสุขภาพ หรือสถานะทางการเงิน การนำคู่ชีวิตอีกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลจะมีผลดี และมีความสำคัญมากกว่าที่จะไปสืบหาญาติทางสายเลือดมาดูแล
ในความเห็นของผู้เขียน กฎหมายคู่ชีวิตนอกจากจะสนับสนุนการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศให้ได้สมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ยังมีส่วนช่วยเติมเต็มการใช้ชีวิตของคู่ชีวิตในสังคมสูงวัยที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน