- คลังความรู้
- วิชาชีวิต: พลังกอด เยียวยาโรค
วิชาชีวิต: พลังกอด เยียวยาโรค
แม้ไม่สามารถรักษาโรคให้หาย แต่เติมเต็มความรักได้
เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร
‘การกอด’ แม้จะไม่ใช่วัฒนธรรมของคนไทย แต่การกอดเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เวลาที่เราได้รับ ‘กอด’ ซึ่งมาจากการกอดที่อบอุ่นไม่ทำให้รู้สึกเขิน เป็นกอดอย่างอิสระ ไม่แน่นจนเกินไป การกอดอย่างพอดีนี้ทำให้สามารถรับการถ่ายทอดความรู้สึกดี ๆ เข้ามาสู่ตัวเราได้
สำหรับผู้ป่วยระยะท้าย แม้กอดจะไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้ หากแต่ผู้ที่จากไปจะถูกเติมเต็มด้วยความรักของผู้คนที่รัก
อาจารย์พรวรินทร์ นุตราวงศ์ หรือ คุณแอ้ พยาบาลเกษียณที่เคยรับราชการเป็นพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้นำวิชาชีพที่ตนรักมาร่วมใช้กับ ‘พลังกอด’ ในการทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยร่วม 40 ปี ด้วยริเริ่มรณรงค์ให้ญาติผู้ป่วย ‘กอด’ ผู้ป่วย เพื่อแสดงออกถึงความรัก ส่งต่อสิ่งดี ๆ นับเป็นการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจที่ส่งผลต่อร่างกายในทางบวก
คุณแอ้จะสอนให้พ่อกอดลูก ลูกกอดแม่ ครอบครัวกอดกัน หรือการเข้าไปบอกรักใกล้ ๆ หูของผู้ป่วยระยะท้าย ท่านเป็นทั้งนักแก้ปัญหาและนักจิตวิทยาที่ส่งต่อพลังความรักซึ่งนำความสุขสมหวังมาสู่ผู้ป่วยระยะท้ายจำนวนมากมายเพื่อการจากไปอย่างสงบ มีความสุข
การกอด คือ พลังที่ยิ่งใหญ่ พลังแห่งความรัก
จุดเริ่มต้นของการต่อสู้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงของคุณแอ้ เมื่อสามี (คุณภุชงค์ นุตราวงศ์ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง - กกต.) เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยหมอระบุว่า คงมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน ต้องได้รีบรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ก่อนถึงจะเข้าสู่การปลูกถ่ายไขกระดูก ระหว่างการรักษา สามีน้ำหนักลดลง 25 กิโล ผมร่วงหมดศีรษะ ความเป็นผู้นำครอบครัวสูญหาย ทำให้รู้สึกสิ้นหวังในการมีชีวิต จึงคิดฆ่าตัวตาย คุณแอ้เข้ามาพบขณะที่สามีกำลังจะกระโดดตึก จึงวิ่งไปห้ามสามี และโดยสื่อสารด้วย ‘การกอด’ การบอกรัก
“แอ้รักพี่ พี่อย่าตายนะ เราจะกลับบ้านกัน"
ขณะนั้น การรับมือกับสถานการณ์ที่ต้องดูแลผู้ที่หมดหวังกับการมีชีวิตอยู่ คือ จำเป็นต้องหยุดการรักษาก่อน เพราะเข้าใจได้ว่าสามีที่ป่วยไม่ต้องการรับเคมีบำบัดอีกแล้ว จึงพาเขากลับบ้าน และใช้ทฤษฎีการกอดด้วยรักเพื่อเยียวยาโรคร้าย
ยาที่ดีที่สุดคือ ‘การกอด’ (กอดวันละสิบสิบครั้ง) และการมีทักษะด้านจิตวิทยา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พลังของการกอด และการบอกรักทุกวัน ทำให้สามีคุณแอ้มีชีวิตในระยะท้ายได้อย่างมีความสุข คุณแอ้ค้นพบว่า สิ่งที่เราได้มอบให้ผู้เป็นที่รักคือ ‘พลัง’ พลังที่ส่งถึงผู้ที่ไม่มีความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ เมื่อได้รับพลังรักจากผู้เป็นที่รัก การมีชีวิตอยู่ต่ออย่างมีความหมายจึงเป็นไปได้และเกิดขึ้นจริงสำหรับครอบครัวนุตราวงศ์
เพราะได้เปลี่ยนความหวังให้เป็นสิ่งที่สมปรารถนา…อย่างมีความหมาย
จากการเยียวยาด้วยพลังกอดที่ค้นพบในครอบครัว คุณแอ้ใช้ยานี้เยียวยาจิตใจผู้ป่วยระยะท้ายที่ตนต้องดูแลในโรงพยาบาล อย่างคุณตาคุณยายคู่หนึ่งซึ่งไม่มีลูกหลาน คุณตาป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย คุณหมอแจ้งว่าอยู่ได้ไม่น่าจะเกินเดือน คุณแอ้ใช้การกอดเชื่อมความรู้สึก เพื่อให้คุณยายพาคุณตากลับไปพักผ่อนที่บ้าน ด้วยทักษะในการสื่อสารที่ดี และการกอดยายทำให้ยายเกิดความไว้วางใจ และอยากให้คุณแอ้กอดยายอีก เมื่อเข้าทางคุณแอ้จึงเริ่มชวนคุณยายกอดคุณตา ซึ่งในตอนแรกคุณยายปฏิเสธ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำให้กันและกันมาก่อน
…วันรุ่งขึ้นมีการนัดกันช่วงเช้า สิ่งแรกที่คุณแอ้ทำคือ กอดยาย และรับรู้ได้ว่ายายเตรียมเพื่อการกอดมาอย่างดีด้วยมีกลิ่นแป้งที่ทาไว้เตรียมไปกอดตา …ยายเดินเข้าไปหาตา แล้วกอดตาไว้แน่น ความรักและความรู้สึกต่าง ๆ ถูกถ่ายทอด ส่งต่อด้วยพลังกอด ตายายกอดกันร้องไห้ จนคุณแอ้ต้องหนีมาเช็ดน้ำตาข้างนอก หลังจากวันนั้นยายขอพาตากลับไปกอดที่บ้าน ผ่านไป 8 เดือน คุณยายโทรมาเพื่อบอกว่าคุณตาเสียแล้วนะ ระยะเวลามันนานกว่าที่หมอบอกไว้ ยายเล่าอย่างสดชื่น วันที่ตาไป ยายยังกอดตาอยู่เลย (เสียงยายดีใจ) พลังกอดนั้นได้เยียวยาให้ผู้เป็นที่รักอยู่ด้วยการอย่างมีความหมายแม้กระทั่งตายจากกัน
ประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้น ทำให้คุณแอ้มีความเข้าใจคนไข้ลึกซึ้งมากขึ้น มีเคสหนึ่งลูกเป็นมะเร็งในขั้นที่หยุดการรักษา ผู้ป่วยใกล้ตาย ผอมมาก และเดินไม่ได้ ซึ่งพ่อแม่อยากได้ห้องพิเศษ (ครอบครัวมีเงินแต่ไม่มีห้องเพียงพอ) คุณแอ้จึงได้ช่วยจัดการด้วยการเจรจากับพยาบาลเพื่อขอห้องให้ผู้ป่วย เพื่อครอบครัวได้อยู่เฝ้าลูกอย่างใกล้ชิดในช่วงสุดท้าย คุณแอ้ถามผู้ป่วยว่าอยากทำอะไรที่สุด เมื่อทราบว่าผู้ป่วยระยะท้ายคนนี้อยากเดินไปเซเว่น (เพราะเกิดมาไม่เคยไป) ในขณะที่ไม่สามารถลุกขึ้นยืนเองได้ แต่เมื่อคำถามเอื้อให้รู้ถึงสิ่งที่อยากทำมากที่สุด คุณแอ้เชื่อว่า คนเราถ้าใจตาย กายก็ตาย ใจนั้นสำคัญมากเพราะใจสามารถสู้กับความเจ็บป่วยได้ จึงให้กำลังใจผู้ป่วยด้วยการบอกให้เขาลุกเดินด้วยตัวเองได้ 5 ก้าวจึงจะพาไป ในที่สุด คุณแอ้ได้พาเด็กคนนี้ไปเซเว่น …จากนั้นไม่นานเด็กได้จากไปอย่างสงบ
อีกเคสของคุณแอ้ ได้พาผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายไปเที่ยวแบบประคับประคองกันไป ระหว่างทริปต้องมีการฉีดยาเป็นระยะ ผู้ป่วยและครอบครัวมีความสุขสมดังใจ คุณแอ้จึงทำหน้าที่สื่อสารกับคุณหมอว่า ให้คนไข้ได้กลับบ้าน …คนไข้ได้จากไปในขณะที่อยู่ที่บ้าน มีชีวิตที่มีความสุขในช่วงท้าย
หน้าที่ของผู้ให้การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่ดี คือ รับฟัง ช่วยทำให้ผู้ป่วยสบายใจ สุขสมหวัง ทั้งตัวผู้ป่วยระยะท้ายรวมถึงผู้ดูแลหรือคนที่ผู้ป่วยรักผูกพัน ทำให้ผู้ทำหน้าที่ดูแลได้โอกาสที่ดีในการดูแลผู้ที่กำลังจะจากไป …ได้จากไปอย่างมีความสุข การมีช่วงเวลาที่มีชีวิตช่วงท้ายที่ดี ทำให้ช่วงเวลาชีวิตที่เหลือน้อยที่สุดเป็นไปอย่างมีความสุข ต้องมีความเชื่อเรื่องพลังแห่งความปรารถนาดี ถ้าผู้ป่วยระยะท้ายได้มีโอกาสตายท่ามกลางความรัก สิ่งนี้ทำให้ชีวิตมีคุณค่า
อย่าเอาความคิดเราไปคิดแทนผู้ป่วย
เมื่อเกิดการทราบข่าวร้าย คุณแอ้จะเข้าไปกอดแล้วบอกว่า “ไม่ต้องกลัว เราอยู่ด้วยกัน คุณป่วยใช่ไหม? เราเคยผ่านมาแล้ว คุณไม่ต้องกลัว แต่ถ้าอยากร้องไห้ก็ร้องเลย ให้คุณร้องไห้สามวันแล้วเรามาเริ่มต้นสู้ด้วยกัน” เป็นการสร้างความไว้วางใจเหมือนเราเป็นญาติคนหนึ่งที่จะดูแลเขาเพื่อความกลัวจะลดน้อยลงไป
การเยี่ยมหรือดูแลผู้ป่วยระยะท้ายหรือระยะไหนก็แล้วแต่ ควรพูดกันในเรื่องทั่วไป เช่น “เป็นอย่างไรบ้างตอนนี้” คุยเป็นธรรมชาติ การคุยเรื่องอดีตที่มีความสุข หรือการเป็นผู้รับฟังที่ดีเพื่อให้ผู้ป่วยได้คุย ได้ระบาย ไม่จำเป็นต้องบอกเขาว่า “ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย ทำใจเถอะนะ”
นอกจากนี้ยังมีข้อควรพึงระวังเกี่ยวกับคนไข้ซึ่งไม่จำเป็นที่ทุกคนอยากจะฟังธรรมะเสมอไป อย่าพยายามคิดแทนกัน โดยอาจถามว่า “อยากทำอะไร เรามีความสุขที่จะทำให้” ผู้ดูแลทำหน้าที่ส่งมอบให้ผู้เป็นที่รักได้สิ่งที่ต้องการเพื่อการตายอย่างมีความสุข… เมื่อเวลานั้นมาถึง เรื่องธรรมะอาจจะเป็นความต้องการจากตัวผู้ที่กำลังจะจากไปเอง
สิ่งสำคัญที่สามารถเตรียมพร้อมได้ คือ การเขียน Living Will เพื่อสื่อสารถึงความต้องการที่แท้จริงให้คนรอบข้างได้รับรู้ว่า เราอยากทำอะไรจริง ๆ เราไว้ใจให้สิทธิการตัดสินใจกับใคร ในช่วงเวลาที่เราไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว ผู้คนใกล้ชิดจะได้มอบโอกาสที่ทำให้เกิดความสุขทั้งผู้จากไป และผู้มีชีวิตอยู่
‘การกอด’ บำบัดโรคได้จริงหรือ
สุขภาวะที่ดีเกิดขึ้นเมื่อได้รับสัมผัสอันอบอุ่น โดยมีงานวิจัยในวารสาร Biological Psychology (พ.ศ. 2548) พบว่า ผลของการกอดทำให้ระดับของฮอร์โมนออกซิโตซิน (oxytocin) สูงขึ้น ความดันโลหิตลดลง และหัวใจเต้นช้าลง ความเครียดซึ่งมีความสัมพันธ์ของการลุกลามแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งลดลงด้วย จากวารสาร Psychoneuroendocrinology (พ.ศ. 2550) มีผลงานวิจัยที่ได้ทดสอบการสัมผัสทางกายด้วยพลังบวกของคู่รัก กับผู้หญิง 67 คน พบว่า ช่วยลดความเครียด ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง และงานวิจัยจากวารสาร International Journal of Neuroscience (พ.ศ. 2552) ค้นพบว่า การสัมผัสด้วยการนวด ส่งผลให้เซโรโทนินที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทภายในสมอง ซึ่งช่วยควบคุมอารมณ์สูงขึ้นเฉลี่ย 28% ในขณะที่ฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งทำให้เกิดความเครียดลดลงเฉลี่ย 31%
จากการเรียนรู้ทุกเคสด้วยประสบการณ์จริงของพี่แอ้ ถ้าเจอความทุกข์ เจอความตาย สิ่งแรกที่คุณแอ้ให้ทำ คือ ‘กอด’ คือการให้กำลังใจ เมื่อใจมาก็ช่วยเรื่องกายได้ ถ้าใจมาพลังจะเกิดขึ้น โดยเรื่องนี้ใครเจอปัญหาวิ่งเข้ามาหาคุณแอ้ได้ คุณแอ้จะกอด เพื่อให้คนที่อยู่ในวันนี้มีความสุข ทุกข์เมื่อวานนี้จะไม่ใช่ทุกข์ของวันนี้ ในวันใหม่ทุกข์ใหม่ก็มา ก้าวข้ามขีดจำกัดของชีวิตให้ได้ มีสติดูแลใจตัวเองให้มาก ๆ การได้ดูแลคนที่รักก่อนที่เขาจะจากไป เมื่อได้ดูแลและได้ลงมือทำอะไรแล้ว คือสิ่งที่ทำดีที่สุดแล้ว ถ้าใจสู้ กายสู้ ถ้าใจล้ม กายล้ม ใจสำคัญมาก ลองกอดเพื่อส่งต่อพลังกอดกัน
“พลังรัก พลังใจ ที่มอบให้แก่กัน คือปาฏิหาริย์ที่ใคร ๆ ก็สร้างได้”
*แนะนำหนังสือ ผลงานโดย อาจารย์พรวรินทร์ นุตราวงศ์ : “หัวใจเล็ก ๆ กับแสนล้านความสุข” และ “หัวใจเล็ก ๆ กับปาฏิหาริย์ที่ยิ่งใหญ่"