- คลังความรู้
- กระบวนการตายตามธรรมชาติ สั้นและเจ็บปวดน้อยกว่า
กระบวนการตายตามธรรมชาติ สั้นและเจ็บปวดน้อยกว่า
นาวาเอก นายแพทย์พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์
เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร
คนทั่วไปมักไม่รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการตาย และความทุกข์ทรมานทางร่างกายของผู้ป่วยระยะท้าย เราจึงเข้าไปแทรกแซงกระบวนการตายตามธรรมชาติด้วยการรักษาอาการ หรือการยื้อชีวิตด้วยวิธีต่าง ๆ
ฝ่ายลูกหลานมักต้องการยืดกระบวนการตายของพ่อแม่ให้ยาวนาน เพราะความรู้สึกผิด หรือความกตัญญู ในขณะที่ผู้ป่วยระยะท้ายหลายคนอาจจะยังทนฝืนอยู่ไปเพราะเกรงใจลูกหลาน ยังรักยังห่วง จึงอยู่ต่อไปเพื่อจะได้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร
‘หมอแดง’ นาวาเอก นายแพทย์พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์ วิสัญญีแพทย์ และที่ปรึกษาด้านการดูแลแบบประคับประคอง โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ บอกกับเราว่า นั่นเท่ากับเป็นการยืดกระบวนการตายให้ยาวนานขึ้น และทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมานเพิ่มมากขึ้น แทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งสั้นกว่าและเจ็บปวดทรมานน้อยกว่า
“เราสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ด้วยการให้ผู้ป่วยและญาติได้รู้ข้อเท็จจริง และในท้ายที่สุดต้องให้ผู้ป่วยได้ตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง หมอรู้ถึงความทุกข์ทรมาน จึงแนะนำให้เราไม่ต้องยื้อความตายไว้นานเกินไป ในขณะที่คนทั่วไปอาจจะมองว่าเป็นความใจร้าย แต่ถ้าเราเอาความต้องการของผู้ป่วยเป็นหลัก และถ้าเขาพูดได้ บอกได้ และตัดสินใจเลือกเองได้ หมอมั่นใจว่าเขาจะบอกว่าวิถีทางตามธรรมชาตินั้นดีที่สุด”
หลักการคือ ให้ผู้ป่วยได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง บนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นจริง เมื่อเขารู้ว่าโรคที่เป็นอยู่นั้นรักษาหาย หรือไม่หาย ถ้าดำเนินการรักษาต่อไปแล้วจะทรมานมาก หรือน้อยอย่างไร เขาจะประเมินด้วยตัวเองว่า อยากจะให้ลูกหลานทำอย่างไร
“ปัญหาในทุกวันนี้เกิดขึ้นเพราะผู้ป่วยไม่รู้ข้อมูลนี้ บางทีลูกหลานช่วยกันปิดบัง ยังคอยบอกเขาว่า รักษาหายได้ และเขายังอยู่ต่อไปได้อีกนาน เขาจึงไม่รู้ว่าตัวเองควรตัดสินใจอย่างไร งานที่เขาอยากทำนั้นเสร็จสิ้นสมบูรณ์หรือยัง เช่น ทำพินัยกรรม พบหน้าลูกหลานครบทุกคน สั่งเสียเรื่องที่ยังค้างคาใจ ถ้าเขาทำทุกสิ่งทุกอย่างเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ได้รับรู้ข้อมูลว่าโรคที่เป็นอยู่ไม่มีทางหาย และตอนนี้เขากำลังเข้าสู่กระบวนการตายตามธรรมชาติ”
แน่นอนว่ามีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ยังอยากมีชีวิตอยู่ต่อ และต้องการรับการรักษาต่อไป ซึ่งเขาพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดทรมานอย่างกล้าหาญ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ายังมีผู้ป่วยระยะท้ายอีกส่วนหนึ่งที่ยอมยุติการรักษา และเข้าสู่กระบวนการตายตามธรรมชาติ ซึ่งนั่นก็ถือเป็นสิทธิพื้นฐานของแต่ละคน
ปัจจุบัน กระบวนการตายตามธรรมชาติถูกบิดเบือนไป สร้างความเจ็บปวดทรมานเพิ่มขึ้นกับตัวผู้ป่วย และญาติพี่น้องในเวลาเดียวกัน บางคนยื้อความตายโดยที่ไม่ได้จ่ายเงินเอง แต่เป็นงบประมาณของรัฐที่ต้องจ่าย ก็จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และถ้าบางคนต้องใช้จ่ายเงินตัวเองก็สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจในครัวเรือน ซึ่งล้วนไม่ใช่เรื่องดีกับใครเลย
คุณหมอระบุว่า “แน่นอนว่ากระบวนการตายตามธรรมชาตินั้นจะต้องเจ็บปวดทรมาน คนเราเกิดมา เมื่อชีวิตได้ยืดเหยียดไปจนสุดแขน เมื่อไหร่ที่แขนตกลงมาก็คือสิ้นสุดเวลาลงแล้ว ความเจ็บปวดจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อธาตุขันธ์ใกล้แตกดับ ถ้ากระบวนการรักษาสมัยใหม่เข้าไปยื้อไว้ไม่ให้มันแตกดับ ความเจ็บปวดจะพุ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ จนทะลุหลังคา”
หมอแดงกล่าวต่อว่า การยื้อความตายไว้นาน ๆ ถึงแม้จะสามารถยืดอายุผู้ป่วยให้อยู่ต่อไป แต่เราไม่ได้สร้างคุณภาพชีวิตให้เขา กลับไปทำให้คุณภาพชีวิตยิ่งแย่ลง โดยการใส่ Intervention แต่ละอย่างเข้าไป หมอแดงยกตัวอย่าง ให้นึกย้อนไปสมัยก่อนที่เทคโนโลยีการรักษายังไม่ทันสมัย คนโบราณก็บอกว่ากินอะไรไม่ได้ อีกสองสามวันก็ไปสบายแล้ว
“ตามหลักวิทยาศาสตร์ คนเราถ้ากินอาหารไม่ได้ติดต่อกันหลายวัน ร่างกายจะสูญเสียสมดุลเกลือแร่ พอเสียสมดุลนี้ไป อย่างแรกที่จะกระทบกระเทือนเลยก็คือสมอง สมองจะเริ่มเบลอ และปิดการทำงานไปเรื่อย ๆ เขาจะไม่เจ็บปวดทรมานมากนักตอนจากไป”
นอกจากกระบวนการตายจากการเสียสมดุลเกลือแร่ ยังมีกระบวนการตายจากการติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้ความดันเลือดตก เลือดที่ไปเลี้ยงสมองจะลดลงเรื่อ ยๆ ผู้ป่วยจะซึมลง ง่วง หลับ การรับรู้ทางร่างกายจะค่อย ๆ ตัดออกไป ไม่รับรู้ถึงร่างกายตอนที่กำลังแตกดับ
“ในจุดนั้นเขาจะไม่รับรู้ความเจ็บปวดแล้ว ซึ่งนับว่าทรมานน้อยกว่า แต่ถ้าเรายื้อไว้ด้วยการฉีดยาฆ่าเชื้อ จะทำให้เขากลับมาแข็งแรง เลือดไปเลี้ยงสมองเพิ่มขึ้น สมองกลับมาทำงานได้ดีเหมือนเดิม เขาก็รับรู้ความเจ็บปวดทางร่างกายต่อไป ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เราจะใช้การแพทย์สมัยใหม่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้สมองผู้ป่วยยังคงทำงานอยู่ ความดันเลือดตกก็ให้ยากระตุ้นความดัน ถ้าติดเชื้อก็ให้ยาฆ่าเชื้อ ไตวายก็ฟอกไต กินไม่ได้ก็ให้อาหารทางสาย แบบนี้สมองเขายังทำงานต่อไปและรับรู้ความเจ็บปวดทรมานไปเรื่อย ๆ”
ความรู้เรื่องความเจ็บปวดทางร่างกายตามอาการของโรคต่าง ๆ ทำให้เราสามารถประเมินได้ว่าควรทำอย่างไรกับผู้ป่วยระยะท้าย เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดโดยไม่ไปแทรกแซงกระบวนการตายตามธรรมชาติ เช่น การใส่สายสวนปัสสาวะ เพราะเรารู้ว่าความเจ็บปวดที่เกิดจากการใส่ท่อสายสวน น้อยกว่าความเจ็บปวดที่เกิดจากปัสสาวะที่ค้างอยู่แล้วออกไม่ได้ เราชั่งน้ำหนักดูว่าทำอย่างไรให้เจ็บปวดทรมานน้อยกว่า
“ตอนสมัยคุณพ่อของหมอนอนป่วย หมอให้ออกซิเจนตรงจมูกถังเดียว พอถังนั้นหมดก็หมดไป เพราะถือเป็นการแก้ไขปลายเหตุมากแล้ว เราไม่ควรยื้อเขาต่อไป”
หมอแดงย้ำว่า การที่ผู้ป่วยยอมรับความจริงต่ออาการของตัวเองและยอมยุติการรักษา ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย และไม่ใช่การทำการุณยฆาต ซึ่งผิดหลักศาสนา ผิดกฎหมาย และผิดต่อคนที่เรารัก แต่คือการตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการตายตามธรรมชาติ ทัศนคติยอมรับความตายตามธรรมชาติคือ การรู้ว่าทุกชีวิตต้องตายและยอมปล่อยให้เป็นไปแบบธรรมชาติ การฆ่าตัวตายคือการไม่ยอมรับธรรมชาติ แต่ต้องการจะหนีไปจากธรรมชาติ
“การฆ่าตัวตายนั้นเท่ากับคุณรักตัวเองมากกว่า ผิดทั้งหลักศาสนา ผิดทั้งกฎหมาย และทำผิดต่อคนที่รักคุณด้วย ไม่ควรทำอย่างยิ่ง”
หลักการที่ถูกต้องเมื่อรู้ตัวว่าเจ็บป่วยและเข้าสู่ระยะท้ายของชีวิต
1 ยอมรับตามธรรมชาติว่าทุกชีวิตไม่ว่าจะยื้อนานแค่ไหนก็ต้องจากไป
2 แสดงเจตจำนงไว้อย่างชัดเจน หรือทำ Living Will เอาไว้ อย่างเช่น คุณพ่อหมอบอกไว้ก่อนหน้านั้นแล้วว่าเขาไม่ต้องการทรมาน
3 การแพทย์สมัยใหม่ใช้เพื่อช่วยลดความเจ็บปวด โดยปล่อยอาการของโรคดำเนินไปตามวิถีธรรมชาติ ไม่ไปเปลี่ยนอะไรมัน
“ในระยะหลัง การทำงานของหมอคือต้องให้ความรู้เหล่านี้ออกไป เพื่อช่วยไม่ให้ญาติหรือลูก ๆ รู้สึกผิดในภายหลัง หมอพยายามปิดช่องโหว่ของความไม่รู้ ตอบคำถามกับทุกคน เพื่อที่เขาจะได้ไม่ยื้อความตายของพ่อแม่ ให้ความรู้เพิ่มเข้าไปเพื่อจะได้ไม่สงสัย ลังเล หรือรู้สึกผิด ถ้าถามว่าถูกต้องไหม หมอตอบเรื่องถูกหรือผิดไม่ได้ แต่มันคือวิถีทางตามธรรมชาติที่สุด และจากความรู้ทางการแพทย์ มันคือวิถีทางที่เจ็บปวดทรมานน้อยกว่า” หมอแดงกล่าว.
จนกว่าลมหายใจสุดท้ายซึ่งเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ สิ่งสำคัญคือ การดูแลจิตใจของผู้ป่วย สามารถทำได้โดยการกุมมือผู้ป่วย กล่าวคำขอบคุณ คำอำลา บอกรัก สัมผัสผู้ป่วยให้รู้สึกไม่โดดเดี่ยว อยู่กับผู้ป่วยจนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต การดูแลแบบประคับประคองจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วยสามารถเลือกได้
หากต้องการให้ชีวิต “อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข” สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์