Knowledge cover image
11 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. สักวันเราทุกคนจะต้องเข้าสู่ลูปของการดูแลผู้ป่วยอันยาวนาน จนกว่าจะถึงวันที่เขาจากไป

สักวันเราทุกคนจะต้องเข้าสู่ลูปของการดูแลผู้ป่วยอันยาวนาน จนกว่าจะถึงวันที่เขาจากไป

ภาริอร วัชรศิริ


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

‘พาย’ – ภาริอร วัชรศิริ สาวน้อยนักเขียนเจ้าของผลงานหนังสือยอดนิยมอย่าง How I love My Mother, How I Live My Life และ How Lucky I am บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอในฐานะผู้ดูแลแม่ ที่นอนป่วยติดเตียงมาตั้งแต่เธออายุเพียง 16 ปี จากเด็กสาวไร้เดียงสาที่โชคชะตาพลิกผันในวันที่แม่เส้นเลือดในสมองแตก ผ่านประสบการณ์ความยากลำบากกับปัญหาร้อยแปดพันประการ ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้บทเรียนชีวิตอันซาบซึ้งและเปี่ยมไปด้วยกำลังใจ 

 

เวลาผ่านไป 11 ปี แม่ของเธอจากไปเมื่อเดือนตุลาคม 2561 เธอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแกร่ง เผชิญหน้ากับความรู้สึกภายในอันหลากหลาย

 

“ตอนแรกพายรู้สึกว่าตัวเองรับมือได้ สบายดี น่าจะใช้ชีวิตหลังจากนี้ได้อย่างไม่ติดค้างอะไร เพราะได้ทำหน้าที่ของลูกอย่างเต็มที่ ทำทุกอย่างให้แม่โดยไม่รู้สึกติดค้างใจ แต่สุดท้ายพบว่าก็ยังเคลียร์ความรู้สึกข้างในได้ไม่หมด ความคิดภายในใจยังคงสวิงไปมา จนเวลาผ่านมานานแล้ว ทุกวันนี้ยังคงคิดถึง ยังคงเศร้า คนอยู่ด้วยกันมา การจะไปห้ามไม่ให้คิดถึง ไม่ให้เศร้า มันกลายเป็นเรื่องยากมาก ๆ” เธอเล่าให้เราฟังอย่างเปิดใจ

 

เส้นทางชีวิตของเราทุกคนกำลังจะต้องเดินไปบนเส้นทางเดียวกับเธอ พายไม่ใช่คนแรก ไม่ใช่คนเดียวที่เจอเรื่องราวแบบนี้ และพายจะไม่ใช่คนสุดท้าย เพราะคนแต่ละรุ่น ๆ จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเจอ เป็นลูปของการดูแลผู้ป่วย อันได้แก่ พ่อแม่หรือญาติพี่น้องของเรา จนถึงวันที่เขาจากเราไป


พายมาช่วยบอกเล่าความคิดและความรู้สึกภายในใจในแต่ละสเตจว่า ผู้ดูแลคนป่วยนั้นควรดูแลตัวเองอย่างไรในแต่ละขั้นตอนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การเผชิญหน้ากับความเจ็บป่วย การดูแลกันมายาวนาน จนถึงวันที่เขาจากไปแล้วหลังจากนั้น ภายในใจของเราเกิดอะไรขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจในมุมของผู้ดูแล ช่วยให้เขาสามารถทำหน้าที่นี้ต่อไปได้ตลอดรอดฝั่ง 

 

การเรียนรู้เรื่องราวของพายจะทำให้เรามองเห็นอนาคตของเราทุกคนไปพร้อมกัน

 

เมื่อแม่ล้ม

“ตอนที่แม่ตาย พายได้รับคำถามยาก ๆ มาจากญาติว่า พายปล่อยให้แม่นอนป่วยมานานขนาดนี้ได้อย่างไร ปล่อยให้เขานอนติดเตียง 11 ปีแบบนี้มาได้อย่างไร ทำไมไปทรมานเขาแบบนี้ ทำไมไม่ปล่อยให้เขาไปตั้งแต่วันที่เขาล้ม เขามาถามพายแบบนี้ในงานศพแม่” 

 

คำถามแบบนี้พาให้พายนึกย้อนกลับไปสำรวจตัวเองเมื่อสิบเอ็ดปีก่อน ในวันนั้นที่แม่ล้มป่วยตอนเขาอายุสี่สิบห้าสิบ เมื่อเกิดสโตรก เราจะต้องอยู่กับสถานการณ์ตรงหน้า การตัดสินใจในเรื่องแบบนี้มันมี ‘ผิด’ มี ‘ถูก’ จริง ๆ หรือเปล่า? เราควรทำแบบไหน ใครเป็นคนบอกเรา เราเชื่อใครได้ แล้วใครจะตัดสินใจและรับผิดชอบมัน

 

จริง ๆ แล้วเราคือผู้ที่จะอยู่กับการเลือกในครั้งนั้นไปตลอดชีวิตที่เหลือ แม้ในวันที่แม่จะยังอยู่หรือตายไปแล้วก็ตาม การตัดสินใจครั้งนั้นจะยังส่งผลกับเราตลอดไป เรื่องที่สำคัญคือการทำให้ดีที่สุด ทั้งเพื่อแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วก็เพื่อตัวเองจะได้ไม่ต้องรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ทำอะไรในภายหลัง

 

“สำหรับพาย คำว่าไม่รู้สึกผิดหรือไม่ต้องมาเสียใจในภายหลังเรื่องนี้สำคัญที่สุด พายเห็นเรื่องราวของหลายคนที่ความรู้สึกผิดหรือยังคงเสียใจตามไปเรื่อย ๆ มันเป็นก้อนความรู้สึกที่ใหญ่มาก ๆ”


การดูแลที่ยาวนาน

พายเล่าว่า ทุกวันนี้เธอยังนึกย้อนกลับไปอยู่เสมอ ๆ ถึงแม้จะไม่รู้สึกผิด เสียดาย หรือเสียใจในเรื่องราวก้อนใหญ่ ๆ ในภาพรวม แต่ก็ยังรู้สึกผิดกับบางโมเมนต์เล็ก ๆ ระหว่างทางที่ดูแลแม่มา เช่น มีบางวันที่ต้องออกไปประชุมงาน ออกจากบ้านตั้งแต่เที่ยงเพื่อประชุมบ่ายสอง กว่าจะกลับมาถึงบ้านก็ต้องห้าหกโมงเย็น นั่นคือหกชั่วโมงที่แม่ต้องนอนอยู่กับแพมเพิร์สเพียงแผ่นเดียว เธอนึกย้อนกลับไปก็รู้สึกขึ้นมาว่า นี่ยังไม่ดีที่สุดที่ควรจะทำได้ มันเป็นเรื่องรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในระหว่างการทำหน้าที่ดูแลมา และจะคอยแวบกลับมาในหัวของเราเสมอ ๆ

 

ในการดูแลผู้ป่วย คนที่ดูแลกันมานานจะมีความยึดติด เรายึดติดอะไรหลายอย่างในแต่ละช่วงวัยทำให้ไม่ยอมปล่อยไปง่าย ๆ

 

“เช่น ตอนที่แม่ล้มแรก ๆ หมอบอกว่าจะกล้อนผมเพื่อผ่าตัด พายก็คิดว่าแม่เป็นคนรักสวยรักงาม การกล้อนผมเป็นเรื่องใหญ่มาก แม่จะยังสวยอยู่ไหม ต้องรอเวลาผ่านไปนานหลายปีกว่าจะยอมรับได้ว่า แม่ป่วยหนักมาก และต้องติดเตียง ไม่ต้องห่วงเรื่องความสวยความงามแล้ว แค่ต้องการให้ดูแลรักษาง่าย ทำความสะอาดง่าย คนดูแลจะมีความคิดอะไรแบบนี้อยู่ คือยึดติดอะไรแบบไม่เป็นเหตุเป็นผล มันเป็นความคิดของเราเองที่ไม่ยอมรับ ปีแรกพายยังพยายามใส่เสื้อผ้าชุดทำงานให้แม่ และพาแม่ไปนั่งโต๊ะทำงาน คือบ้านเราเป็นโฮมออฟฟิศ ตอนหลัง ๆ เราจึงค่อยยอมรับ แม่ ๆ เราใส่เสื้อคนป่วยดีกว่านะ ไม่ต้องมีกระดุม ใช้ผูกเชือกเอาจะได้ไม่ขูดเนื้อ”

 

สิ่งที่ช่วยพายได้มากที่สุดคือแม่เป็นคนอารมณ์ดี และแม่ยังพูดคุยกับเธอได้อยู่ แม่เป็นคนตลกเสมอ สิ่งนี้ช่วยให้ลูกยังมีกำลังใจและยังทำหน้าที่ดูแลต่อมาได้เรื่อย ๆ และทำให้ลูกไม่มีอะไรติดค้างในใจเมื่อแม่จากไป เพราะเมื่อทำอะไรให้ไปแล้วแม่ก็ตอบสนองกลับมาว่ามีความสุข

 

“พายหอมแก้มเขา เขาก็หัวเราะชอบใจ มีความสุข จนกระทั่งช่วงเวลาสุดท้าย เขาก็ยังสุขภาพจิตดี และทำให้พายรู้สึกว่าทั้งหมดที่ทำไปนั้นดีที่สุดแล้วสำหรับเขา”


พายบอกว่า จิตใจของผู้ป่วยและผู้ดูแลก็เติบโตไปตามวันเวลาที่ดูแลกันมาตลอด 11 ปี


เมื่อแม่จากไป

สำหรับพาย แม้แม่จะนอนป่วยมานาน 11 ปี และรู้ว่าสักวันแม่ก็ต้องจากไป แต่ตอนที่เขาจากไปจริง ๆ ก็ไม่รู้สึกว่าทำใจได้ง่าย ๆ แบบนั้น กลับรู้สึกว่าปัจจุบันทันด่วนเหมือนกัน

 

เธอคิดว่าแม่จะอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะแม่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยมาก นอนอยู่กับบ้านเฉย ๆ ไม่เหมือนเธอที่ออกมาทำงานข้างนอก กลับรู้สึกว่าชีวิตคนหนุ่มสาวเสี่ยงกว่าแม่ที่นอนป่วยอยู่ที่บ้านเสียอีก พายเคยคุยตลกกับเพื่อนบ่อย ๆ ว่า พวกเราคงไม่ได้ไปเที่ยวด้วยกันแล้วล่ะ เอาไว้ตอนห้าสิบหกสิบค่อยนัดกัน เพราะแม่ก็อยู่ต่อไปเรื่อย ๆ แบบนี้ แม่ปลอดภัยมาก

 

“ดังนั้น ตอนแม่ตายก็กะทันหัน เหมือนเขาถูกรถชน ตอนที่หมอมาถามว่า จะรั้งเขาไว้ต่อไปไหม มันก็เป็นความรู้สึกกะทันหัน เหมือนเราได้ข่าวเพื่อนหรือญาติประสบอุบัติเหตุ เพราะเราไม่ทันตั้งตัว ตอนที่ให้สัมภาษณ์กับเพจมนุษย์กรุงเทพ พายเล่าให้ฟังว่ามันยากมาก ๆ ตอนที่เรายังเห็นเขากะพริบตาอยู่ เห็นเส้นชีพจรเขายังวิ่งอยู่ แต่ญาติก็เดินมาบอกว่าจองวัดหรือยัง ศาลาว่างหรือเปล่า เตรียมชุดให้แม่ใส่ยังไง ภาพถ่ายตั้งหน้าศพแม่มีหรือยัง” พายเล่าให้เราฟัง

 

“ตอนนั้นแม่ยังไม่ตาย และใจพายยังไม่พร้อมเลย ญาติมาเรียกแม่ว่าจะเป็นศพแล้ว มันไม่ยอมรับ ไม่ยอมปล่อยไป ซึ่งของพวกนี้ถ้าเราเตรียมไว้แล้วมันก็ดี จะได้ไม่ฉุกละหุก ตอนนั้นแม่ยังหายใจอยู่ พายกลับบ้านไปเลือกชุดใหม่ให้แม่ แล้วแม่ก็จากไปคืนนั้น”

 

จนถึงทุกวันนี้ มีหลายคนมาถามพายเรื่องการก้าวข้ามการสูญเสีย พายจะตอบว่า ตอนนี้เธอยังไม่ได้ผ่านไปเลย สเตจนี้ยังอยู่กับเธอต่อไปอีกนาน

 

“ตอนแรกเคยคิดว่าช่วงเวลาที่ดูแลแม่มา 11 ปี เป็นสเตจที่นานมากและยากมาก มันคงยากที่สุดแล้ว แต่มาตอนนี้เราพบว่าไม่ใช่ สเตจที่ยากกว่าคือตอนหมอมาถามว่าจะปล่อยแม่ไปไหม และเราเคยคิดว่ามันยากที่สุดแล้ว จนตอนนี้ก็พบว่ามันไม่ใช่

 

“สเตจที่ยากขึ้นรอเราอยู่ต่อไปอีกเรื่อย ๆ ตอนนี้แม่ไม่อยู่แล้ว แต่พายยังจำได้ว่าตอนกอดเขา หอมเขา เรารู้สึกอย่างไร และยังคงมีความคิดความรู้สึกบางอย่างติดค้างในใจเราอยู่”

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรเรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ “ชีวิตเปลี่ยนวันแม่ป่วย” https://www.posttoday.com/ent/novel/444632

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads