- คลังความรู้
- Lifefulness: ชีวิตมีชีวา
Lifefulness: ชีวิตมีชีวา
ให้ชีวิตทุกวันมีคุณภาพ ไปจนถึงวันสุดท้าย
เรื่องโดย a day bulletin
จากจุดเปลี่ยนในชีวิตของนักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจมายี่สิบกว่าปี ในวัย 56 ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ กลับพบว่า ข้อมูลที่สำคัญที่สุดข้อมูลหนึ่งที่ตัวเองกลับไม่เคยรู้เลย นั่นคือ ข้อมูลเชิงสุขภาพ
จากทำงานหนัก ให้รางวัลกับตัวเองด้วยการรับประทานอาหารอร่อย ๆ ไม่ต่างจากเราหลายคน จนเพื่อนแนะนำให้ไปพบแพทย์ด้าน anti - ageing ในวัย 56 ปี และพบว่า เซลล์ร่างกายตนเองนั้นมีอายุเทียบเท่ากับคนวัย 70 ปี ด้ว
ความเป็นนักวิจัย ที่ข้อมูลนั้นมีความสำคัญในการตัดสินใจ ดร.ศุภวุฒิ เลยตัดสินใจว่าต้องทำอะไรสักอย่าง แต่จะทำอะไรดีระหว่าง หนึ่ง ซื้อประกันสุขภาพ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ประกันดูแล หรือ สอง ทำให้สุขภาพตัวเองดีขึ้น และตั้งใจว่าจะไม่เป็นสักโรคเดียว ไม่ต้องรักษา ไม่ต้องประกัน ป้องกันเอาดีกว่า
หลังจากนั้นมา ทั้งสุขภาพก็เริ่มเปลี่ยนไป รวมทั้งความเข้าใจทางสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นว่า จากงานวิจัยสุขภาพหลายสิบปี ทุกข้อมูลล้วนมีข้อสรุปตรงกันว่า หนทางสู่สุขภาพที่ดีนั้นมีอยู่เพียงการ กิน (ให้น้อย) ออกกำลังกาย (ให้บ่อย) และนอน (ให้พอ)
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ก็เช่นกัน ที่จุดเปลี่ยนสู่การหันมาเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนมาตรา 12 สิทธิของผู้ป่วยระยะสุดท้ายในการเลือกจากไปอย่างธรรมชาติ มาจากการสูญเสียภรรยาที่ป่วยจากโรคมะเร็ง ที่ทำให้ฉุกคิดได้ว่าเราต่างวางแผนชีวิตกันมากมาย แต่การวางแผนครั้งสำคัญที่สุดในบั้นปลายสุดท้ายนั้นเรากลับไม่เคยทำ เราต่างปฏิบัติต่อกันอย่างดีที่สุดในช่วงเวลาที่มีอยู่ แต่ไม่ได้พูดคุยกันว่าสิ่งที่เขาต้องการที่สุดก่อนจากไปนั้นคืออะไร
บทเรียนของชีวิตที่ทำให้เขาหันมาสนับสนุนให้ผู้คนเขียน “Living Will” แจ้งเจตจำนงค์ว่าจะจากไปอย่างไร เพื่อให้คนที่ยังอยู่ลำบากใจน้อยที่สุดในการตัดสินใจครั้งสำคัญ และเพื่อทำให้การพูดคุยเรื่องการตาย กลายเป็นเรื่องปกติ
สำหรับ ผศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ นั้น สิ่งที่ทำให้หันมาสนใจมิติของความตาย คือการได้มาร่วมเป็นหนึ่งในคณะนักวิจัยโครงการวิจัยคนเมือง 4.0 ในแง่มุมของความตายกับเมือง สองหัวข้อที่ดูแตกต่าง แต่แท้จริงแล้วมีความสัมพันธ์กันมาก ความรักตัวกลัวตายที่เป็นแรงผลักดันให้มนุษย์สร้างความเจริญ เมืองถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันตัวเองจากอันตราย เพื่อให้มนุษย์ได้มีชีวิตที่ดี แต่ในขณะเดียวกันวิถีชีวิตในเมืองเองก็ส่งผลให้เกิดความตายบางรูปแบบเช่นกัน
สูงสุดสู่สามัญ
เทคโนโลยีก้าวไกล ที่สุดท้ายคือ การหวนกลับมาดูแลตัวเอง ดร.ศุภวุฒิ ได้เล่าถึงอนาคตการแพทย์ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ และจะถูกดิสรัปต์ไม่ต่างจากวงการอื่น ๆ ที่ถูกดิสรัปต์ครั้งใหญ่มาแล้ว ต่อไปการรักษาจะไม่ใช่การรักษาด้วยยารักษาโรค (treatment) แต่จะเป็น Genomic Therapy คือ การปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขในระดับยีน เช่น Induced Pluripotent Stem Cells (iPCSs) การหมุนเวลาให้อายุเซลล์อ่อนลง Genome Mapping ที่จะบอกข้อมูลหน้าที่ของยีนทุกตัวในร่างกาย หรือเทคโนโลยี CRISPR-Cas9 ที่จะช่วยให้เราอีดิตยีนได้
แต่การมีเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีกันเสียหมด ดร. ศุภวุฒิ ให้ความเห็นว่า บทบาทของเทคโนโลยีนั้นคือการช่วยเสริม แต่ความสำคัญขั้นพื้นฐาน (ที่ถูก และทำได้เลย) คือการกลับมารักษาสุขภาพตัวเองเพื่อที่จะมีชีวิตที่แก่ยาว และตายเร็ว กล่าวคือใช้ทั้งการดูแลสุขภาพตัวเอง และเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยเสริม เพื่อขยายระยะเวลาที่สุขภาพดีให้ยืนยาวที่สุด และหากต้องจากไป ก็จากไปเลยทันที ไม่ต้องยื้อความเจ็บป่วยให้ยืนยาว
แม้แต่ในการพัฒนาในเมืองของ ดร. ภาวิกา ที่เรากำลังอยู่ในยุคที่ใคร ๆ ก็พูดถึง Smart City การนำเทคโนโลยีมาใช้ในเมือง แต่เรื่องสำคัญขั้นพื้นฐาน เช่น การมีบาลานซ์ธรรมชาติ และชีวิตในเมือง พื้นที่สาธารณะที่เข้าถึงได้ ความไม่แออัด ความสะอาดปลอดภัย สำหรับทุกคน กลับเป็นเรื่องด่วนขั้นพื้นฐาน ที่แก้กันมานานแต่ยังไม่เห็นผล ซึ่งความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากเมืองนั้น ไม่ได้ส่งผลแค่เรื่องคุณภาพชีวิตในเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังส่งผลต่อสุขภาพจิต
และชีวิตของผู้คนโดยตรง เช่น ในช่วงโควิดที่เผยให้เห็นความเปราะบาง จำนวนตัวเลขคนฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นเพราะไม่รู้จะพึ่งพาใครได้ เมืองที่ไร้ความสัมพันธ์ เมืองที่ทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว แปลกแยก และนำไปสู่การตายก่อนสมควร ความตายของปัจเจกที่เป็นผลจากโครงสร้างของเมืองที่ไม่สนใจเรื่องของคน ความปกติใหม่ที่การพูดถึงความตายจะกลายเป็นเรื่องปกติ
หนทางสำคัญที่ทำให้ชีวิตทุกวันมีคุณภาพ ไปจนถึงวันสุดท้าย
“อาจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส ซึ่งเป็นอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ผลักดัน มาตรา 12 ที่ทำให้คนไข้มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธการรักษาเพื่อเป็นการยื้อชีวิต ซึ่งศัพท์กฎหมายกับศัพท์ความจริงจะมี 2 เรื่อง อย่างที่อาจารย์ศุภวุฒิพูดไปว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์จะทำให้เรายื้อชีวิตได้ ชีวิตจะยาวขึ้น สุขภาพดีขึ้น แต่ในท้ายที่สุดเรายื้อความตายไม่ได้” ศาสตราจารย์ (พิเศษ) กิติพงศ์ กล่าวถึงมาตรา 12 ที่เป็นก้าวสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายจากไปได้ด้วยดี
แต่กฎหมายจะช่วยอะไรไม่ได้ หากผู้คนยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ หรือตราบใดที่เรายังอยู่ในวัฒนธรรมที่ความตายเป็นเรื่องอัปมงคล มาตรา 12 นี้ก็จะไม่ส่งผลต่อใคร ศาสตราจารย์ (พิเศษ) กิติพงศ์ ได้ฝากหนทางสำคัญที่ทำให้ชีวิตทุกวันมีคุณภาพ ไปจนถึงวันสุดท้าย ด้วยการทำให้เรื่องความตายกลายเป็นบทสนทนาปกติ การทำ living will ไม่ว่าจะอายุเท่าไร แจ้งความต้องการกับคนรอบข้างว่าอยากจากไปอย่างไร ร่างกายต่าง ๆ สามารถบริจาคให้ใครได้บ้าง และตรงกันข้ามกับความเชื่อว่านี่ คือเรื่องไม่เป็นมงคล การสื่อสารเช่นนี้กลับทำให้ผู้คนได้ใช้ชีวิตที่อยู่อย่างเต็มที่ด้วยซ้ำ เมื่อความต้องการใดคั่งค้าง คุณภาพชีวิตที่ดีของบุคคลที่เป็นผลจากสังคม และคุณภาพชีวิตที่ดีของสังคม ที่มาจากสุขภาวะของบุคคลเช่นกัน
“ปัจจุบัน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการรักษาพยาบาลมีงบประมาณกว่าสองแสนล้านบาท แต่งบประมาณสำหรับ สสส. สำหรับการดูแลสุขภาพมีสองพันล้านบาท ดังนั้น เราต้องหันมาช่วยดูแลสุขภาพที่ดี เพื่อให้เราไม่เป็นภาระกับสังคม ไม่เป็นภาระกับลูกหลาน ไม่อย่างนั้นจะเป็นอย่างที่ TDRI (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) เคยประเมินไว้ว่า ต้นทุนหรือเงินที่เป็นทรัพยากรที่ต้องใช้ในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ รวมกันแล้วอาจจะถึงหนึ่งล้านล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่แพงมาก ถ้าเราช่วยประหยัดงบประมาณตรงนี้ โดยการทำให้ตนเองสุขภาพดี หรือถ้าต้องตายตอนอายุ 80 ปีก็ขอให้สุขภาพดีจนถึงอายุ 79 ปี เพื่อจะได้ลดภาระที่จะเกิดขึ้นกับสังคมและลูกหลาน” ดร.ศุภวุฒิกล่าว
เพราะการดูแลตนเองนั้นไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อตนเอง แต่ยังส่งผลดีในระดับเศรษฐกิจโดยรวม เมื่องบประมาณมหาศาลของประเทศที่ต้องใช้ในการดูแลสุขภาพลดลง ก็จะนำไปใช้ส่งเสริมคุณภาพประชากรด้านอื่น ๆ ซึ่งจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ยิ่งในอนาคตอันใกล้ที่จำนวนผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปในประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นจาก 12 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน
ดังนั้น หากเราไม่ดูแลตัวเองก็จะเป็นภาระต่อประเทศชาติ แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราดูแลตัวเองด้วยวิธีง่าย ๆ ตามที่ ดร.ศุภวุฒิ ได้ฝากแนวคิดไว้ คือ การกินให้น้อย ออกกำลังกายให้บ่อย และนอนให้พอ เราก็จะสามารถทำให้ช่วงชีวิตที่สุขภาพดีนั้นยาวนานที่สุด และป่วยให้สั้นที่สุด นั่นคือ ‘die young at a very old age’ ตายในขณะที่ร่างกายยังแข็งแรง” นั่นเอง
“ชีวิตเป็นสิ่งที่เรากำหนดด้วยตัวเราเองได้ และยังมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่เรากำหนดเองไม่ได้ เช่น โครงสร้างทางสังคม ยกตัวอย่างการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เห็นได้ชัดในเรื่องของการตายกับโครงสร้างทางสังคมที่เป็นโครงสร้างทางที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มีการเหยียด และแบ่งแยก ซึ่งทำให้เกิดกรณีอย่าง จอร์จ ฟลอยด์ ขึ้น หรือการตายจากโควิด ซึ่งชัดเจนว่าเป็นความตายที่สัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งกับความเป็นสังคม หรือแม้กระทั่งการที่เราแยกขาดออกจากธรรมชาติ ถ้าเราอยากให้การใช้ชีวิตมีความเอื้ออาทรตั้งแต่วันอยู่ไปจนถึงวันตาย มันก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องสร้างระบบที่รองรับความเอื้ออาทร พึ่งพาอาศัยกัน” ดร.ภาวิกากล่าวทิ้งท้ายให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของความตายกับการใช้ชีวิต และความสัมพันธ์ของคุณภาพสังคมกับสุขภาวะของบุคคลนั้น เป็นเรื่องที่แยกขาดกันไม่ได้
ติดตามชมการสนทนา Lifefulness ‘ชีวิตมีชีวา’: ให้ชีวิตทุกวันมีคุณภาพ ไปจนถึงวันสุดท้าย แบบเต็ม ๆ ได้ที่ https://youtu.be/7AD30w3VxgU
ขอบคุณสถานที่ในการจัดสนทนา KBank Private Banking ที่เพิ่งได้รับรางวัลการดำเนินงานด้วยความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG: Environment, Social Governance) ที่ดีที่สุดในประเทศไทย