Knowledge cover image
15 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. ความตายไม่น่ากลัว เท่ากับเรากลัวความตาย กฎหมายช่วยไม่ได้ ตราบใดที่เราไม่เข้าใจ

ความตายไม่น่ากลัว เท่ากับเรากลัวความตาย กฎหมายช่วยไม่ได้ ตราบใดที่เราไม่เข้าใจ

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์


เรื่องโดย a day BULLETIN

หลายคนเข้าใจว่ากฎหมายนั้นเป็นเครื่องมือวิเศษ เป็นเครื่องกำหนดทิศทางของสังคม แต่ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานคณะกรรมการ บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด บุคคลสำคัญผู้ร่วมขับเคลื่อน สื่อสารกฎหมายมาตรา 12 ว่าด้วยสิทธิการตายที่เลือกได้ก่อนถึงลมหายใจสุดท้าย มานานหลายปี ตั้งข้อสังเกตว่า แม้เราจะสำเร็จไปขั้นหนึ่งในการออกมาตรานี้ ทว่าในทางปฏิบัตินั้น เรายังต้องสื่อสารเรื่องนี้กันอีกมาก เพราะหากผู้คนไม่เข้าใจกฎหมายก็ช่วยอะไรไม่ได้



อาจารย์เป็นหนึ่งคนที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มานาน ไปบรรยายเรื่องนี้หลายที่ อะไรคือความท้าทายในการสื่อสารเรื่องนี้

คนรุ่นใหม่ หรือคนที่เกษียณอายุ ไม่ค่อยตระหนักเรื่องการวางแผนการจากไป คนยังสงสัยว่าการพูดเรื่องพินัยกรรมชีวิตเป็นการแช่งหรือเปล่า คนรุ่นใหม่เองก็มักจะมองว่าตัวเองอีกไกลกว่าจะถึง ผมอยากให้คนเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ทำไปเพื่ออะไร บางคนไม่เคยเจอการจากไปเลย ในช่วงยี่สิบปีชีวิตไม่เคยมีคนรอบตัวเสียชีวิตเลย ในแง่หนึ่งมันก็ไม่ต้องเตรียมตัวอะไร คิดว่าเกิดขึ้นค่อยรับมือ มันก็ทำให้การเตรียมตัวเรื่องนี้น้อยลง


กฎหมายมาตรา 12 ที่เราว่ากันตั้งแต่ พ.ศ. 2550 แต่ความเข้าใจคนมันน้อยมาก ถามว่าทำไม เพราะคนเขาไม่พูดเรื่องความตายกัน เคยมีสำรวจของ The Economist ว่าด้วย good death หรือการตายดี ประเทศไทยติดอยู่ที่ลำดับ 44 ของ 88 ประเทศ แต่ไต้หวันอันดับ 4 ของโลก อันดับหนึ่งของเอเชีย ทั้งที่เรากับไต้หวันคล้ายกันในความเป็นวัฒนธรรมพุทธ เป็นครอบครัว แต่ทำไมเขาถึงเข้าใจเรื่องความตาย


เคยได้ยินมูลนิธิฉือจี้ไหม ดังมากของไต้หวัน เขามีแม่ชีที่สามารถดึงเศรษฐีเข้าไปทำงานเพื่อสังคมได้เยอะมาก แม่ชีที่เทศน์จนสามารถดึงเศรษฐีเข้ามามีส่วนร่วมได้ ทำให้การบริจาคอวัยวะ ทำการกุศลเพื่อช่วยคนยากคนจนมันเป็นเรื่องปกติ ที่สำคัญคือคนไต้หวันพูดเรื่องความตายกันเป็นปกติ วัฒนธรรมคล้ายกัน แต่สิ่งใดที่ไต้หวันทำแล้วแตกต่างจากเรา ส่งผลให้ผู้คนเตรียมตัวตายกันจนเป็นเรื่องปกติ 


ถามว่าช่วงที่เรามีชีวิตอยู่ เราได้วางแผนไหม ถ้าวันหนึ่งเราป่วยเป็นโรคร้ายแรง หากวันหนึ่งต้องจากไปอย่างกะทันหัน เราเคยคิดไหมเราต้องทำอะไร ผมทำงานเรื่องกฎหมาย ผมเคยเซอร์เวย์เศรษฐีสามสี่ร้อยคนที่มีเงินเป็นพันล้าน ตอนที่เขายังมีชีวิต พวกเขาได้ทำพินัยกรรม ระบุว่าผู้รับทรัพย์สินจะเป็นใครบ้าง เชื่อไหมว่ามีแค่ 7% นี่ขนาดคนมีทรัพย์สินมากมายนะ ยังไม่ต้องพูดถึงชาวบ้าน คนทำงานทั่วไป คนพวกนี้กลับไม่ทำพินัยกรรม ไม่วางแผนเลย


เพราะไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้

ร้อยละ 17 บอกว่าเป็นการแช่งตัวเอง คนไทยที่เป็นพุทธ เวลาไปงานศพเรากลับไม่คุยเรื่องพวกนี้ เราไปคุยกันในงานศพ เราต้องมาคุยกันว่าตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เราจะวางแผนการจากไปอย่างมีคุณภาพได้อย่างไรโดยที่ไม่มีผลกระทบกับครอบครัวด้วยการยื้อความตาย มันต่างกันนะ การยื้อความตายกับยื้อชีวิต


ควรทำอย่างไรให้ความตายเป็นเรื่องพูดได้ ไม่น่ากลัว

อาจารย์ไพศาล วิสาโล พูดว่า การเป็นมะเร็งไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวมะเร็ง เป็นก็เป็น แต่เป็นจนทานข้าวไม่ได้จนป่วย เหมือนกลัว COVID - 19 คือถ้าเป็นก็รักษา แต่ถ้ายังไม่เป็นแต่กลัวตัวสั่น เพื่อนผมนัดกินข้าวสิบคนยกเลิก สต็อกของมันเป็นความกลัวทั้งที่ยังไม่เป็น กลัวจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เหมือนกัน ความตายไม่น่ากลัว แต่เรากลัวความตาย ความตายมันมาอยู่แล้ว ถ้าชีวิตมีคุณค่า มันก็จะไม่กลัวหากวันหนึ่งต้องจากไป


มีข่าวเด็กหนุ่มที่เชียงใหม่อายุยี่สิบกว่าไปเซ็นบริจาคร่างกายที่โรงพยาบาลนครพิงค์ อีกไม่กี่วันต่อมาประสบอุบัติเหตุ เสียชีวิต ร่างกายเขาได้ใช้งานเลย ชีวิตที่เสียไปมีประโยชน์ทันทีเลย อันนี้คือคุณค่าของชีวิต การทำแบบนี้มันควรเป็นเรื่องปกติที่คนทำ หรือถ้าในระดับกฎหมาย ก็มีความพยายามที่จะปรับแก้กฎหมายว่าถ้าผู้คนไม่ปฏิเสธ ถ้าไม่แจ้งว่า say no ถือว่าร่างกายของคุณสามารถบริจาคได้เลย แต่คนไทยยังมีความคิดว่า ถ้าบริจาค เกิดใหม่จะตาบอดไหม จะเกิดมาร่างกายไม่สมบูรณ์ไหม หรือไม่ควรพูดเรื่องความตาย มันแช่งตัวเอง


ในทางตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผู้คนเชื่อ การเตรียมตัวตายจะทำให้คนมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีชีวาอย่างไร

ค่านิยมมันควรจะเปลี่ยนเป็นการอยู่อย่างมีคุณค่านั้นไม่ใช่อายุที่ยืนยาว แต่คือการมีคุณค่าทั้งต่อผู้คนรอบตัวและเพื่อส่วนรวม มันมีหนังสือเรื่อง ปัญญาวิชาชีวิต ของ เคลย์ตัน เอ็ม คริสเต็นเซน (Clayton M. Christensen) ถามว่า ถ้าคุณมีเวลาเหลือ 24 ชั่วโมง คุณจะทำอะไร คุณทำงานหนักทุกวันนี้ เราไขว่คว้าหาอะไร ถ้าคุณไม่วางแผน เกิดน็อกขึ้นมากะทันหัน ทั้งหมดมันเพื่ออะไร ผมว่าความตระหนักรู้ของมนุษย์เรื่องความตาย การเตรียมตัวเป็นเรื่องสำคัญ


ที่เป็นห่วงอีกอย่างคือสำหรับคนที่ยากจน ถ้าป่วยแล้วไม่เข้าใจเรื่องนี้ แล้วต้องไปกู้เงิน มันจะกระทบไปหมด แต่ถ้าเข้าใจว่าป่วยแล้ว ไม่มีทางรักษา ไม่สามารถมีชีวิตยาวนานได้ มันควรจะถามว่าแล้วจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้มีคุณค่าได้อย่างไร ไม่ใช่จะยืดชีวิตให้ยาวขึ้นได้อย่างไร ฉะนั้น กระบวนการสร้าง hospice ก็ดี กระบวนการพูดคุย ระบบสาธารณสุข มันต้องปรับหมด


คิดดูสิว่าถ้าคุณเป็นมะเร็ง ต้องให้คีโม ต่างจังหวัดต้องเข้ามารักษาในเมืองจะทำยังไง ตอนนี้ก็มีความพยายามที่จะสร้างระบบใหม่ ๆ เช่น ถ้ามีการสร้างเรือนในวัด โรงเรียน เพื่อช่วยคนยากคนจน เอกชนช่วยรัฐบาลทำ มันก็จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง


เรามักจะมีอาการที่เรียกว่า ‘ภาวะกตัญญูเฉียบพลัน’ บางคนมีตังค์ก็ช่วยเต็มที่ เคยมีอดีตหมอท่านหนึ่งเล่าว่าเสีย 20 ล้าน ใช้อวัยวะเทียม ไตเทียม ปอดเทียม หัวใจเทียม อยู่ได้อีกแค่เดือนเดียว สำหรับบางคน 20 ล้านอาจไม่มาก แต่ถามว่า 20 ล้านเอามาทำอะไรอย่างอื่นดีกว่าไหม สร้างโรงพยาบาล ให้ทุนการศึกษา เคสต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมันแสดงให้เห็นว่าคนไทยยังไม่ยอมรับเรื่องนี้


ผมอยากให้คนมีสตางค์คิดว่าจะไปแล้ว จะทำอะไรให้เป็นประโยชน์ดี ดูตัวอย่างมากมายทั่วโลก เช่น บิล เกตส์, เคต ดักลาส วอร์เรน บัฟเฟต บริจาคให้การศึกษา บริจาคเพื่อการวิจัยช่วยเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ แต่คนไทยมีเงินส่วนมากก็ยังสร้างวัด ผมว่ามันต้องเปลี่ยนจากบุญส่วนตัวให้เป็นประโยชน์ส่วนรวม



นอกจากการบรรยายเรื่องนี้ตามที่ต่าง ๆ แล้ว อาจารย์พยายามผลักดันเรื่องใดอยู่อีก

สิ่งหนึ่งที่ยังทำไม่สำเร็จ พูดมาหลายปีแล้ว คือ E-พวงหรีด เลิกได้ไหมการให้พวงหรีดใช้แล้วทิ้ง ผมอยากทำแอพพลิเคชันที่ใครจากไปก็ขึ้นจอในศาลาได้เลยว่า E-พวงหรีดของนาย ก. บริจาคค่าพวงหรีดให้มูลนิธิไหน หน่วยงานไหน หรืออย่างความคิดของคนจีนที่บริจาคผ้าห่ม นี่ก็ช่วยคนต่อได้ ตอนภรรยาผมเสียได้พวงหรีด 700 อัน ถ้าอันละ 2,000 บาท รวมเป็นล้าน บริจาคได้ตั้งมาก 


ตอนผมแซยิด ภรรยาผมเสียตอนผม 60 พอดี พูดเรื่องความตายกับแขก 200 คน ผมว่าถ้าทุกคนรู้เรื่องความตาย มันจะรู้สึกว่าการให้มันมีคุณค่ากว่าการรับ บางคนอาจบอกว่าเราพูดได้เรามีสตางค์ แต่ผมว่ามากน้อยมันไม่เกี่ยว มีน้อยให้น้อย แต่มันเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต การอยู่อย่างมีคุณค่า จากไปให้คนคิดถึง สิ่งนี้มันควรเป็นค่านิยมในสังคม ไม่ใช่อยู่อย่างไรให้นานที่สุด


ผมว่าการเตรียมตัว การเข้าใจถึงการจากไปอย่างมีคุณภาพนั้นทำอย่างไร การตายดี สะสางข้อขัดแย้งสิ่งที่ค้างคาใจ สิ่งที่ยังไม่ได้ทำ สิ่งที่จะเสียดาย เหมือนหนังญี่ปุ่นเรื่องหนึ่ง ที่ตัวละครเอกทั้งสองป่วยระยะสุดท้าย แล้วทำ bucket list สิ่งที่อยากทำในชีวิตกัน แต่ท้ายที่สุดก็เอาเงินไปทำการกุศล 


ผมคิดว่าถ้าทุกคนเข้าใจเรื่องนี้ จะทำให้ครอบครัวเข้าใจกันมากขึ้น เพราะมันจะเริ่มเปิดใจคุยกัน จะได้สะสางกัน หลายครั้งที่เราเห็นคุณค่าเมื่อสิ่งนั้นมันหายไป ไม่ว่าจะเป็นความรัก ทรัพย์สิน สารพัด จริง ๆ เราเริ่มได้ด้วยการสอนเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่เด็ก ๆ ให้เป็นเรื่องธรรมชาติที่คนพูดกัน ถ้าเชื่อว่าถ้าเราเปลี่ยนความคิดให้เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติ ให้คนเข้าใจกัน การทำเพื่อส่วนรวมต่าง ๆ การอยากใช้ชีวิตให้มีคุณค่ามันจะออกมาเอง


ใคร ๆ ก็ว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือ แท้จริงแล้วสิ่งที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้คืออะไร

กฎหมายอย่างเดียวมันไม่เพียงพอ สุดท้ายที่มันยังไม่เกิด เพราะยังไม่เกิดความเข้าใจ ทั้งครอบครัว ไปจนถึงแพทย์ เรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องหลักของการเรียนแพทย์ และมันไม่ใช่แนวทางที่ได้สตางค์


กฎหมายมันมีหลักการอยู่ มาตรา 12 มันเป็นหลักการ แต่ช่องโหว่คือความเข้าใจในเรื่องนี้ เช่น หมอเองก็ยังเข้าใจผิดว่าต้องรักษาให้หาย มันเป็น commercial ที่หมอรายได้ดีจะตาย โรงพยาบาลเอกชนยิ่งรักษา ยิ่งได้เงิน เขาชอบ ถ้าคนเข้าใจก็จะไม่ยื้อ ถ้าออกไปก็จะได้เปิดพื้นที่ให้คนอื่น จริง ๆ เรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับคนเยอะมากเลยนะ ตัวเรา เศรษฐกิจ สังคม


อย่างคนมาถามผมว่าเสียใจไหม เสียภรรยาไป แน่นอน เราเสียใจ แต่มันทำให้ตอนนี้ถ้ารู้ว่า คนรอบตัวป่วย เรายิ่งต้องวิ่งเข้าไปหาเขาเลยว่าเขาต้องการอะไร


อาจารย์พูดเรื่องผลดีของ Palliative Care มามาก แต่ก็ยังมีคนไม่เห็นด้วย ถ้าอย่างนั้นผลกระทบของการไม่ใช้แนวทางนี้คืออะไร 

ในระดับบุคคล ก็จะดีเพรสมาก ถ้าเป็นคนที่เขารักมาก เขาอาจถึงขั้นเสียสติได้ สอง ระดับครอบครัว ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจการเงิน การลงทุนเพื่อยื้อความตายมันจะมหาศาลมาก และคนรอบข้างครอบครัวที่ต้องดูแล และความเห็นที่ต่างกันในครอบครัว ใครจะตัดสินใจ คนทำพินัยกรรมก็ต้องบอกคนรอบข้าง ไม่ใช่ทำแต่ไม่มีคนรู้ ถึงเวลาไม่มีใครตัดสินใจได้ ความลำบากมันก็อยู่กับเขา เวลาจะยื้อนี่ คนอยากยื้อไม่ใช่คนจ่ายสตางค์ คนจ่ายถ้าบอกว่าไม่ยื้อก็จะโดนหาว่าเนรคุณ

และมันจะช่วยหมอด้วยไม่ให้เขาถูกฟ้อง เพราะถ้าหมอตัดสินใจถอดก็อาจถูกฟ้องได้อีกนะ อย่างนี้หมอก็ไม่กล้าถอดอีก


อย่างที่อาจารย์ป๋วย (ป๋วย อึ๊งภากรณ์) บอกไว้ว่า แท้จริงแล้วคนเราไม่ได้ต้องการอะไรมากจากชีวิต แค่มีบ้านอยู่ มีความสบายพอสมควร มันก็กลับไปเรื่องนี้ ความพอเหมาะพอควร การรักษาแบบพอสมควรมันคืออะไร ป่วยโรคร้ายแรง แต่ซื้อยาเม็ดละพัน มะเร็งบางทีมื้อเป็นหมื่น แล้วยื้อไปก็ไม่ใช่ว่ามีคุณภาพ ฉะนั้น มันเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพูดคุย


บางคนบอกผมว่า พอเขาได้คุยเรื่องนี้กับผม แล้วเอาไปคุยกับครอบครัว จากนั้นไม่นานพ่อแม่เขาป่วยพอดี เขาขอบคุณมากที่ได้คุย แค่นี้ผมพอใจแล้ว แค่ครอบครัวสองครอบครัวที่ค่อย ๆ คุยกันเรื่องนี้ ค่อย ๆ ไปกระจาย



นอกจากมีส่วนร่วมผลักดันมาตรา 12 อาจารย์อยากให้เรื่อง Palliative Care มีการบังคับใช้ทางกฎหมายในแง่ใดอีกบ้าง

อีกอันหนึ่งที่ผมอยากทำ คือการให้ข้อมูลพินัยกรรมชีวิตจดทะเบียนอยู่ในระบบออนไลน์ ใครเกิดอุบัติเหตุ เสิร์ชแล้วเจอเลย เป็นข้อมูลส่วนตัวที่ต้องแจ้ง หรือจะให้ชีวามิตรเป็นนายทะเบียนเรื่องนี้ให้ รัฐบาลทำก็ได้ เป็นนายทะเบียนเองก็ได้ ผมไม่ถือ ถ้ามันอยู่ในการบังคับใช้กฎหมาย หรือแม้กระทั่ง opt out ไม่ใช่ opt in (ทุกคนเป็นผู้บริจาคโดยอัตโนมัติ ถ้าไม่เห็นด้วยค่อยไปแจ้งชื่อออกจากระบบ – ผู้สัมภาษณ์) มันก็จะกลายเป็นเรื่องปกติของสังคม


ได้ดูหนังเรื่อง Parasite ไหม ที่มันถามว่าคนดีเพราะรวย หรือรวยเพราะดี จะทำความดีมันไม่ต้องรอว่ารวย หรือรอให้แก่คนทำ ถ้ายังเด็ก ๆ อยู่ ไม่บริจาคเงิน ก็สามารถแจ้งเจตจำนงบริจาคร่างกายได้ แค่ดวงตา มีสองข้าง ก็อาจช่วยได้สองชีวิตแล้ว


โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยน ถ้าสังคมยังไม่เข้าใจเรื่องนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง 

เด็กยุคใหม่เทรนด์ต่อไปคือไม่ซื้อบ้าน มีความเป็นไปได้ที่จะอยู่คนเดียว ไม่ใช่เป็นครอบครัวเดี่ยวด้วยนะ แต่อยู่คนเดียว แล้วไม่ได้มีเงินเก็บเหมือนสมัยก่อนด้วย คุณอายุเท่าไหร่ มีเงินเก็บซื้อบ้านไหม ผมบอกลูกว่า ถ้าผมป่วยไม่ต้องเช็ดขี้เช็ดเยี่ยว ถ้าผมป่วยติดเตียง แล้วไม่ได้บอกลูกไว้ว่า ถ้าไม่รู้สึกแล้วอย่ายื้อ คนอยู่ข้างหลังจะเกิดความทุกข์ รู้สึกผิดว่าต้องดูแล กระทบการเงิน การงาน โอเค ถ้าเขาป่วยธรรมดาก็ดูแลไป แต่ถ้าป่วยรักษาไม่หายแล้ว เราต้องวางแผนว่าอยากให้คนเบื้องหลังทำอย่างไร


สิ่งที่ต้องมีตามมาคือการดูแล เพราะในอนาคตสังคมจะเป็น single person ถ้าอยู่คนเดียวมีพี่น้อง พี่น้องดีช่วยดูแลก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่มี ก็ควรมีหน่วยงานที่มาดูแล แต่ที่ดีสุดคือตั้งตัวแทน ผู้จัดการดูแลมรดก ไม่งั้นเกิดเหตุฉุกเฉินอะไรขึ้นมา มันไม่มีผู้ตัดสินใจได้ว่าควรทำอย่างไร มันลำบากทั้งครอบครัว ทั้งแพทย์ และไม่เป็นไปตามความต้องการตนเอง


ถ้าทุกคนทำ Living Will มันจะไม่มีการยื้อที่ไม่จำเป็น จะลดความลำบากในการตัดสินใจ ภาระด้านค่าใช้จ่าย เราพูดแบบนั้นได้เลยไหม 

Living Will มันไม่ใช่ว่าสั่งแล้วต้องทำ ไม่ใช่ว่ามันแก้ได้ทุกอย่าง สุดท้ายทุกฝ่ายก็ต้องเข้าใจและปรับทั้งระบบไปด้วยกัน แต่การทำ Living Will มันช่วยให้ได้สะท้อนความต้องการตัวเอง แล้วสื่อสารออกไปจนมันกลายเป็นเรื่องปกติ มีคนบอกว่าอเมริกันทำ Living Will 27% แต่ไทยผมว่า 1% ก็ไม่ถึง ทั้งที่เราเป็นเมืองพุทธ เรื่องความตาย โดยเฉพาะบ้านไทยจีนพูดเรื่องความตายนี่ไม่ได้ ฉะนั้น คนจะเปลี่ยนมายด์เซตได้ต้องเป็นหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ที่จะทำให้เรื่องนี้เป็นปกติ ผมก็ทำในส่วนของผมไป เวลาผมสอนคนมีสตางค์ ผมก็จะแทรกเรื่องนี้ไปทุกครั้ง สอนเรื่องความมั่งคั่ง ภาษี สุดท้ายผมจะบอกว่าคุณต้องเตรียมตัว เตรียมพินัยกรรม เตรียมตาย


คำแนะนำในการให้คนเริ่มต้นเตรียมตัวตายได้ง่าย ๆ

ผมเชื่อว่าการจากไปที่ดีเป็นเรื่องงดงามได้ด้วยการวางแผน ในชีวิตเราวางแผนทุกเรื่องยกเว้นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าวางแผนเรื่องนี้มันจะทำให้เรื่องอื่นง่ายขึ้นตามมา ลดความรู้สึกผิดที่จะต้องตัดสินใจ ลดความเสียดาย


และที่สำคัญคือจะได้ทำประโยชน์ มันดีทั้งส่วนตน และส่วนรวม ทั้งตอนมีชีวิตอยู่และตอนจากไป 

a day BULLETIN avatar image
เรื่องโดยa day BULLETINชีวามิตรเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดี และจากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads