Knowledge cover image
15 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. ทบทวนความหมายที่แท้จริงของการมีลมหายใจ ในการใช้ชีวิตอย่างมีชีวา และมีค่าสำหรับใครบางคน

ทบทวนความหมายที่แท้จริงของการมีลมหายใจ ในการใช้ชีวิตอย่างมีชีวา และมีค่าสำหรับใครบางคน

กับ ‘ครูเล็ก’ – ภัทราวดี มีชูธน


เรื่องโดย a day BULLETIN

“สืบสานศิลปะ วัฒนธรรม สืบสานองค์ความรู้ต่างๆ นี่คือการต่อชีวิต ไม่ใช่ชีวิตเราอย่างเดียว มันต่อให้กับทุกอย่างบนโลกนี้ เราจะมาต่อชีวิตแค่เราเองทำไม ใช่ไหมล่ะ มันต้องต่อสิ่งที่เรารู้ต่างหาก ต่อไปแล้วความรู้มันก็จะพัฒนากันไปเอง อันนั้นคือสิ่งสำคัญ ให้เป็นสมบัติของประเทศ สมบัติของโลก”


• ความยิ่งใหญ่ของมนุษย์มันมาจากธรรมชาติ ถ้าเด็กมาจากห้องแคบ ๆ หลังคาเตี้ย ๆ จะให้กล้าแสดงออกยิ่งใหญ่ได้อย่างไร

• ความมั่นใจคือฉันจะให้สิ่งที่ดีที่สุดกับคนดู ตอนแสดงเราไม่ขออะไร นอกจากขอให้ตัวเองมีความมั่นใจและพลังที่จะให้สิ่งที่ดีที่สุดกับคนดู แล้วก็ออกไป เพราะฉะนั้น มันก็จะฝึกการให้ ขอให้เราให้อย่างดีที่สุด มันจะฝึกเด็กให้รู้จักให้เป็น

• สืบสานศิลปะ วัฒนธรรม สืบสานองค์ความรู้ต่าง ๆ นี่คือการต่อชีวิต ไม่ใช่ชีวิตเราอย่างเดียว มันต่อให้กับทุกอย่างบนโลกนี้ เราจะมาต่อชีวิตแค่เราเองทำไม ใช่ไหมล่ะ มันต้องต่อสิ่งที่เรารู้ต่างหาก ต่อไปแล้วความรู้มันก็จะพัฒนากันไปเอง อันนั้นคือสิ่งสำคัญ ให้เป็นสมบัติของประเทศ สมบัติของโลก


‘คืนหนึ่งกับภัทราวดี’

ข้อความบนป้ายหน้าตู้กระจกใสที่ด้านในมีหีบดำบรรจุเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์การแสดงคอนเสิร์ต One Women Show ครั้งแรกในประเทศไทย หีบดำใบนั้นเดินทางไกลมาจากนิวยอร์กเกือบสี่สิบปีที่แล้ว และปัจจุบันนำมาจัดแสดงบอกเล่าเรื่องราวชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งใน Theatre Residence โรงแรมที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น ‘ภัทราวดีเธียเตอร์’ 


ฉากสำคัญของประวัติศาสตร์ศิลปะการแสดงของประเทศไทย ที่ในวันนี้ส่งต่อให้ลูกหลานนำมาใช้งาน สร้างคุณค่าใหม่ หากยังบันทึกไว้ซึ่งเรื่องราวที่ทำให้สถานที่นี้เปี่ยมด้วยคุณค่า ความทรงจำ


ครูเล็กนั่งรอเราอยู่แล้วในเสื้อสีส้มตัดดำ กล่าวทักทายด้วยรอยยิ้มสดใส ครูเดินทางไกลมาจากหัวหิน ที่ครูใช้เวลาปัจจุบันอยู่กับนักเรียนของครู ถึงแม้วันนี้ครูเล็กจะไม่ได้ประจำอยู่ที่โรงละคร ไม่ได้สอนการแสดงเหมือนเช่นเคยหากการได้พูดคุยกับครูในครั้งนี้ทำให้รับรู้ได้ว่าจิตวิญญาณของความเป็นครูนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเลย


หากยังอยู่กับครูในทุกลมหายใจ 

และดูเหมือนว่าลมหายใจของความเป็นครูนั้นจะยังคงอยู่ต่อไป 

ตราบเท่าที่ศิษย์สานต่อลมหายใจจากครู 


ครูที่ทำให้ได้ทบทวนเสน่ห์ของการมีชีวิตและความหมายที่แท้จริงของการมีชีวิตอย่างมีชีวา ว่าคือการใช้ชีวิตอย่างมีค่าเพื่อใครบางคน กับ ‘ครูเล็ก’ – ภัทราวดี มีชูธน



จากครูสอนการแสดง สู่ครูของเด็ก ๆ ในโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน

พักนี้อยู่กับเด็กมากกว่าคนแก่ เพราะว่าเด็กกำลังเติบโต มีอนาคตอีกไกล ถ้าเลี้ยงไม่ดีเขาตอนนี้ก็จะเป็นคนแก่ที่ไม่ดี เราเองนี่ก็เป็นคนแก่ แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรคือเตรียมตัวแล้ว จะไปเมื่อไหร่ก็ได้ แต่จริง ๆ เด็กก็ไปเมื่อไหร่ก็ได้เหมือนกัน ดังนั้นมนุษย์ทุกคนต้องเตรียมตัว เด็กเองก็ต้องเรียนรู้เรื่องนี้ จะมาให้เขาเข้าใจตอนแก่เลยมันก็ได้อยู่ แต่ก็ช้าไปนิดหนึ่ง


จุดเปลี่ยนจากเส้นทางการละคร สู่เส้นทางการศึกษา พัฒนาเยาวชน

งานละครสนองความชอบของเรา เราชอบร้องรำทำเพลง งานครีเอทีฟต่าง ๆ จากช่วงแรกที่ทำเพราะชอบ ทำเพื่อทำมาหากิน ทำเพื่อที่จะสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง เมื่อศึกษามากขึ้น จึงพบว่าการละครก็คือการศึกษามนุษย์ ศึกษาว่ามนุษย์มีรีแอ็กชันอย่างไร หรือมีอารมณ์อย่างไร เกิดอารมณ์ต่าง ๆ ได้อย่างไร เพื่อที่จะเอาอารมณ์ของมนุษย์มาใช้ในการทำงาน 


แต่พอเราไปศึกษาธรรมะ มันก็ทำให้เราได้รู้ว่าจะควบคุมอารมณ์อย่างไร มันก็มีประโยชน์ร่วมกันนะ ละครทำให้เรารู้จักที่มาของอารมณ์ และสร้างอารมณ์ได้ แล้วเราก็ใช้ธรรมะในการควบคุมอารมณ์ เพื่อที่จะใช้ให้ถูกกาลเทศะทั้งละครและธรรมะก็เอาไปสอนเด็กได้ แล้วพอดีโรงเรียนมีเด็กพิเศษเยอะบางทีเขาควบคุมอารมณ์ลำบาก บางคนต้องพึ่งยา เราก็บอกว่าจะปล่อยให้กินยาทั้งชีวิตได้ไง ต้องหัดควบคุมตัวเองให้ได้ ค่อย ๆ ฝึกไปก็ได้ผล บางคนก็เร็ว บางคนก็ช้า แต่มันก็ได้ผล ก็ดีขึ้น เลยคิดว่าการละครมันมีประโยชน์มากกว่าที่เราจะไปแค่เต้นรำ หากิน มันมีประโยชน์ต่อคนทั่วไปมากกว่ากลุ่มที่เป็นนักแสดง จะอายุเท่าไหร่ก็ได้ อาชีพอะไรก็ได้ ละครมีประโยชน์กับคนได้หมด ก็เลยหันมาศึกษาตรงนี้ให้เยอะขึ้นแล้วทำงานตรงนี้ให้มันเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น


การผสมผสานศาสตร์แห่งละครเวที และการพัฒนาเยาวชนผ่านละคร ‘เสน่ห์รอยร้าว’ มีที่มาที่ไปอย่างไร

เราว่าคนที่เขาก้าวพลาดนี่เขามีเสน่ห์นะ แต่ว่ามันอยู่ตรงไหน หาให้เจอ คนที่ก้าวพลาด ทำอะไรไม่ดี ฆ่าคนตาย ติดคุกติดตะราง เขาไม่ใช่คนไม่ดีโดยกำเนิดนะ แค่เขาถูกเลี้ยงมาไม่ดี แต่มีความดีอยู่ข้างในทุกคน มนุษย์เรามีความดีอยู่ข้างใน บางคนก็ค้นเจอ อย่างเราก็โชคดี เราค้นเจอแต่บางคนค้นไม่เจอเพราะมันไม่มีโอกาส เจอใครก็โดนด่า ๆ ไม่มีใครเชื่อว่ามึงเก่งตรงไหนวะ มาสิมาค้นหน่อย เพราะฉะนั้น เราก็จะไปตามที่ต่าง ๆ ไปช่วยเขาค้นพบว่าเก่งตรงไหน ทำอะไรได้บ้าง ถ้าอยากลองแล้วไม่มีตังค์เราก็ส่งไปเรียน แล้ววันหนึ่งเขาจะเจอสิ่งที่เขาชอบ แล้วเขาก็จะ take off ไปต่อได้


เราทำตรงนี้เพราะว่าเด็กเหล่านี้ไม่มีทุน พ่อแม่ก็ไม่มี หรือไม่สนใจ แต่ว่าถ้าเราเจอเขาเราก็อยากช่วยให้เขาค้นจนเจอข้อดีของเขาเอง เราคงทำไม่ได้หมดทั้งประเทศนะเราเป็นดอกไม้เล็ก ๆ แล้วไปเจอดอกไม้เล็ก ๆ ทำให้มันเป็นดอกไม้หอมได้ดอกไม้สักสิบดอก เราก็ได้เป็นช่อแล้ว เราไม่ทำเมกะโปรเจ็กต์บางคนคิดได้ก็ทำไป ใครทำอะไรได้ก็ทำเรื่องนั้น เพราะฉะนั้นเราก็จะไม่ไปเทียบตัวเองกับใคร ทำไมฉันต้องคิดโครงการใหญ่ ก็คิดไม่เป็นคิดได้อย่างนี้ ทำแค่นี้ ใครคิดอะไรได้ก็ทำไปสิ ต่างคนต่างทำแล้วก็จะมีประโยชน์กับคนกลุ่มหนึ่ง ของเราก็กลุ่มหนึ่ง คนนั้นก็กลุ่มหนึ่งแล้วมันก็จะมีดอกไม้เยอะแยะเต็มไปหมด แต่ถ้าจะทำอะไรก็มัวแต่ทำไม่ได้ ไม่มีเงิน ไม่มีนู้น ไม่มีนี่ ถ้ามัวคิดแบบนี้มันก็เหี่ยวตาย


เราต่างมีแสงสว่างเป็นของตนเอง ครูเล็กพูดเหมือน ‘ป้ามล’ – ทิชา ณ นคร (ผู้อำนวยการ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก) เลย 

ดิฉันก็ลูกศิษย์ป้ามลไง ที่ทำงานตรงนี้เพราะว่าเจอป้ามล แล้วเราก็ว้าว นี่คือคลังวิชาก็เลยไปสอนในคุก ไปสอนอยู่บ้านกาญจนากับแก๊งเสน่ห์ดวงดาว จริงๆ ก็เพื่อจะไปเรียนรู้กับป้ามล


บทเรียนจากการทำงานร่วมกับเยาวชนที่ทำให้มองชีวิตเปลี่ยนไป

การเรียนรู้นี่มันไม่จำเป็นต้องเรียนกับคนแก่ การเรียนรู้มันเรียนกับใครก็ได้ อย่างครูทำ therapy กับเด็ก ๆ เรานั่งฟังเขา เหมือนเพ้อเจ้อคุยกันไปเรื่อยแต่กลับได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก คือทุกคนเป็นครูให้กันได้หมด 


ดิฉันทำงานกับเด็กพวกนี้ เขาไม่กลัวความตาย เขาไม่คิดถึงความตายเลย จะบอกว่าเวลาที่เขาไปฆ่าคน เขาไม่ได้กลัวการฆ่าหรือว่าที่เขาไปตีกับใคร เขาไม่ได้กลัวการถูกฆ่า แต่เขากลัวไม่มีเพื่อน จะตายก็ช่างหัวมัน แต่มันต้องมีเพื่อน เพื่อนจะต้องเห็นเราเป็นฮีโร่ ตอนวัยรุ่นเราสนใจกันแค่นั้น แต่พอโตแล้วเราไม่รู้คนอื่นเป็นยังไงนะ แต่ถ้าถามว่าเรากลัวความตายไหม เราก็ไม่ได้กลัว เราคิดอย่างเดียวว่าเราตื่นขึ้นมาทุกวัน เรามีประโยชน์อะไร คือถ้าคิดแบบนี้บางทีบางวันเหนื่อยนะ ไม่ไหวละ แต่มันก็จะลุก เออ ไปทำนี่ดีกว่าอยู่ดี ๆ แรงก็มา แล้วก็ลุกแต่งตัว


ลุกได้ทุกวันเพราะมีเด็ก ๆ รออยู่

ใช่ แล้วเราก็จะถามตัวเองว่าไปโทรม ๆ ได้เหรอ ก็ไม่ได้ เพื่อนของเราคือเด็ก ๆ พอเขาเห็นเรา เขาก็ชื่นชม เขามีความสุขที่จะได้เห็นเรา และเขาก็อยากจะคุยกับเรา เพราะฉะนั้น เราก็ต้องมีความรู้ไปให้เขา แต่งตัวดูดีไปให้เขาชื่นชม เขาก็จะได้มีรสนิยมหรืออะไรที่ได้เรียนรู้จากเราไปด้วย 


เด็กดิฉันจบจากโรงเรียนไป บางคนเป็นคนสมาร์ต สูง สวย เก๋ ในสไตล์เขานะ ทุกคนเลยไม่มีใครมาหาแล้วบอกว่า มึงนี่เฉิ่มเบ๊อะจริง ๆ เลย (หัวเราะ) ทั้ง ๆ ที่ก่อนเขามานี่เขาจะเฉิ่ม อะไรก็ไม่รู้นะ รสนิยมแปลกๆ แต่ว่าศิลปะนี่มันอยู่ environment อยู่ในที่อยู่อาศัย ในต้นไม้ในครูบาอาจารย์ที่แต่งเนื้อแต่งตัวแล้วดูเข้ากับกาลเทศะ


แล้วโจทย์ชีวิตตอนนี้ที่อยากใช้ชีวิตให้มีประโยชน์ต่อผู้อื่น รื่นรมย์ต่อตนเอง

มันต่างไปจากวัยอื่นของชีวิตอย่างไร มันไม่ได้ต่าง เพียงแต่ว่ามันเข้มข้นขึ้น เอาจริงแล้วมันถูกปลูกฝังมาตั้งแต่แม่

มันถูกสอนมาโดยที่เราไม่รู้ตัว ถึงได้บอกว่าพ่อแม่นี่สำคัญมาก ครูบาอาจารย์ที่สอนเราอีก ทุกคนที่เรานับถือเขาก็สอนสิ่งเหล่านี้ ก็เลยเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต 


พอเรื่องนี้ชัดเจนกับตัวเองแล้วเราจะทำอะไรก็ได้ แต่ต้องมีประโยชน์กับตัวเองและผู้อื่น แต่ก่อนนี่จะถามตลอดว่าทำไง แต่พอไปเรียนวิชาการแสดงเราก็จะเริ่มเข้าใจว่า ทำงานมีประโยชน์กับคนอื่นจากสคริปต์ของเราหมายความว่าอะไร เราก็เริ่มเข้าใจ แม่เองท่านก็ทำให้เป็นตัวอย่าง เขาปลูกฝังอยู่เรื่อย ๆ มันก็เลยเป็นสิ่งดี ๆ ที่เราได้รับมา มันก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ถึงแม้รอยร้าวเราจะไม่น้อย เคยเกเร เถียงแม่นู้นนี่ แต่สุดท้ายเราก็เอาตรงนี้มาทำประโยชน์ได้


รอยร้าวอะไรในอดีต ที่สุดท้ายกลายมาเป็นสิ่งที่หล่อหลอม ‘ครูเล็ก’ ของศิษย์ในปัจจุบัน

สมัยเด็ก ๆ พ่อแม่เขาให้เรียนอะไร เราก็เรียน พอโตขึ้นไปอยู่อังกฤษ เขาก็จะสอนให้เราเป็นตัวเอง เราก็เริ่มจะไม่เรียนแล้วนะแม่ แม่ก็ถามว่าจะเรียนอะไร แม่เป็นคนโบราณที่น่านับถือมาก แม่เขาจะเป็นนักกีฬา เป็นนักดนตรี มีทั้งสองอย่าง ซึ่งตรงนี้เราก็เอาดนตรีกับกีฬามาผสมกัน ทุกอย่างมันมาจากแม่ทั้งนั้น 


แล้วการที่แม่มีใจเป็นนักกีฬา ไม่อยากเรียนก็ไม่ต้องเรียน ปล่อยให้เราค้นหาว่าจะเรียนอะไร วันหนึ่งเราก็ปิ๊งขึ้นมาว่า เราไม่เคยอยู่ในคลาสเรียนเลยนอกจากทำกิจกรรม แม่ก็เลยบอกว่า ก็ลองไปดูสิ กิจกรรมร้องรำทำเพลงที่เธอชอบตั้งแต่เล็ก ๆ แม่ก็ส่งเสริมให้เรียนรำไทย อะไรต่ออะไร ทั้งที่สมัยนั้นศิลปะการแสดงมันไม่ได้อยู่ในหัวใครเลย แต่ความเป็นนักกีฬาของแม่ ท่านก็จะใจสปอร์ต อยากเรียนอะไรก็เรียนไป สมัยนั้นนี่เต้นกินรำกินไม่มีใครเขาเอานะ เขาถือด้วย แต่เห็นไหม นี่ไงมันต้องเจอคนแบบนี้ ความใจกว้างของท่านนี่ก็มาจากท่านเล่นกีฬา ท่านขี่ม้า ความเป็นนักกีฬามันสร้างหัวใจอันยิ่งใหญ่ได้ 


พอเราโตขึ้น เราก็เริ่มเห็นแม่ในตัวเรา เริ่มเข้าใจ เลยเอากีฬากับดนตรีมาผสมกันให้กับเด็ก ๆ อยากเล่นอะไรก็ให้เล่น อยากเล่นสเกตบอร์ด ไม่มีสนามเหรอ ตำรวจไล่ สร้างลานสเกตบอร์ดในบ้านเธอเลย บ้านมีสนามแค่นี้ก็เล่นได้ แต่ว่ามันต้องมีประโยชน์กับเธอ เล่นสเกตบอร์ด มันเอาไปหากินยังไงล่ะ สร้างลานสเกตบอร์ดได้ไหม ตอนนี้ใครจะสร้าง เธอก็ไปรับงาน เห็นไหม พอเราสร้างอยู่ในบ้านทุกวัน มันก็เก่งตอนนี้เลย กลายเป็นว่าเด็กมากันเต็มเลย มาจากไหนก็ไม่รู้ เราถาม มาจากไหนกัน เขาบอก ผมไม่มีที่เล่น ไปเล่นที่ไหนเขาก็ไล่ เราก็บอกว่า มาเลย ฟรี ที่นี่เขาเล่นกันทุกวัน แล้วมันก็เป็นโอเพนแอร์ ก็ทำให้แข็งแรง ที่สำคัญก็คือ พ่อแม่มากับลูก ก็นั่งดูลูกเล่น แล้วพ่อแม่ก็นั่งคุยกัน


ทั้งหมดนี้มีอะไรเสียไหม ไม่มีเลย เล่นเสร็จเด็กก็ช่วยกันเก็บ ช่วยกันกวาด คนงานก็มาช่วยกวาด เพราะมันหลังห้าโมง แล้วเราก็ให้เขาขายของ เขาก็ได้ฝึกหาเงินเอง เราไม่ต้องเสียค่าอะไรเลย แล้วมีพี่เก่ง ๆ มาจากที่ไหนไม่รู้เขาก็มาสอน เด็กโรงเรียนเราเดี๋ยวนี้เก่งหมดเลย เพราะว่าพี่ ๆ น้อง ๆ สอนกันเอง เป็นสังคมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ


ดิฉันนี่ก็เด็กมันท้า ไปซื้อสกูตเตอร์มาเล่นกับเด็ก ๆ สกูตเตอร์มันเล่นไม่ยาก ดิฉันก็เลยมีเพื่อนเล่นอายุสี่ขวบ พอเจอหน้า ยาย มาท้าวิ่งกัน เราก็ให้เขาชนะ เขาก็มีความสุขมากเพราะเขาชนะ นึกออกไหม จริง ๆ เราจะชนะเขาก็ได้ แต่ถ้าเขาชนะ เขาจะมีความสุขมาก มากอดเราทุกวันเลย เพราะเขาชนะไง เขาไม่เล่นกับคนอื่นเพราะว่าพี่ ๆ ซิ่งเร็ว แต่อย่างน้อยเขาชนะยาย เขาก็มีความเชื่อมั่นในตัวเองแล้วในระดับหนึ่ง แล้ววันหนึ่งเดี๋ยวเขาโต เขาก็จะพัฒนาแล้วไปชนะพวกนั้นเอง เราก็สร้างความมั่นใจให้เขา เพราะว่าตอนเด็ก ๆ เราเล่นกับพี่เราที่เขาโตกว่าเยอะ เล่นอะไรกับเขาแล้วเราแพ้เขาทุกทีเลย จนไม่อยากเล่นอะไรเลย เล่นอะไรก็แพ้มันเหี่ยวมากเลย เพราะฉะนั้น เราต้องให้เด็กเขาชนะ เขาจะได้มีฟู ๆ ในใจแล้วเดี๋ยวเขาจะมั่นใจเอง


เวลาครูพูดถึงเด็ก ๆ ในโรงเรียน พูดถึงการเล่นต่าง ๆ แล้วตาครูเป็นประกายมากเลย แต่ถ้าวันหนึ่งสังขารมันไม่เอื้อให้เราใช้ชีวิตแอ็กทีฟแล้ว เราจะทำให้ตาเรายังเป็นประกาย สนุกกับชีวิตได้อย่างไร

มันเป็นคาแรกเตอร์คนเนาะ ดิฉันเป็นเด็กซน ว่ายน้ำ เกาะรถพ่วงอะไรแบบนี้ แล้วแม่ก็ไม่ห้าม มีครั้งหนึ่งลงไปเล่นน้ำ ไม่จมน้ำนะ แต่ผ้าถุงเราหลุดลอยไปกับกระแสน้ำ แล้วเราก็ขึ้นไม่ได้เพราะเราไม่มีผ้าถุง ตรงนั้นเรื่องใหญ่ จากประสบการณ์มันก็เลยเข็ดแล้ว ไม่ทำอีก เพราะเราได้เจอประสบการณ์ที่มันเลวร้ายกว่าตายด้วยซ้ำ เห็นไหม เด็กมันไม่ห่วงความตาย แต่ถ้าไม่มีผ้าถุงเราก็ต้องแก้ผ้าเดินขึ้นมาจากน้ำ (หัวเราะ) นี่เรื่องใหญ่ 


พอเป็นเด็กซน โตขึ้นมันก็ยังซนทำนู้นทำนี่ก็เยอะ เพราะมันก็ยังมีแรง ตอนนี้มันก็ยังมีแรงอยู่ แต่ว่าแรงในใจมันมีเยอะกว่ากาย เพราะฉะนั้นบางทีเวลาจะเดินแล้วเราจะล้ม กายมันไปแล้ว แต่ใจมันไม่ไป หรือว่าลุกเล่นอะไรกับเด็ก ลุกขึ้นช้า ลุกไม่ได้ หลังย่อ เราก็รู้แล้วว่ากายเรามันไม่เหมือนกับตอนเด็ก ๆ ก็ช้าลงหน่อย 


แต่สุดท้ายก็ลุกขึ้นไปเล่นใหม่ อายุขัยมันก็จะบอกกับเราว่ากาลเทศะ balancing อยู่ตรงไหน แต่ต้องบอกว่าถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เคยเล่นอะไร อาจล้มได้ แขนขาหักได้แต่ดิฉันล้มนี่ไม่เป็นไร เพราะว่าเป็นนักเต้นนี่เขาจะสอนวิธีล้ม ล้มสวยและไม่เป็นอะไร เหมือนแข็งแรง แขนแข็งแรง มันถูกฝึกมาให้ center เราดี balancing เราดี มันถูกฝึกมาตั้งแต่ตอนทำงานตั้งแต่สาว ๆ 


เราถึงได้บอกว่าการเต้นรำการเล่นกีฬา มันจะฝึก balancing คือเด็กไม่ต้องเป็นนักแสดงหรอก เล่นกีฬา เล่นสเกตบอร์ด วิ่ง เด็กพวกนี้ center จะดีเพราะฉะนั้น เขาจะมีท่าล้มสวย ล้มแล้วไม่หัวฟาด ล้มแล้วลุกได้ แล้วที่สำคัญเด็กสเกตบอร์ดเขาจะบอกว่า ล้มแล้วต้องลุก เพราะมันต้องเอาชนะตัวเอง เพราะฉะนั้นเราจะไม่เอาชนะคนอื่น เราจะเอาชนะตนเอง อันนี้มันเรื่องใหญ่มากเพราะบางทีเราเอาชนะคนอื่นไม่ได้ แต่เราเอาชนะตัวเองได้


นอกจากควบคุมร่างกายแล้ว การเต้น การแสดง ฝึกให้เราใช้ใจคุมกายด้วยไหม

ใจที่มันคุมกายได้ช่วยให้เราถึงขั้นรับมือกับกายที่เปลี่ยนไปได้เลยไหม ใจคุมกายได้ระดับหนึ่งว่า ลุกขึ้นนะ อย่ายอมแพ้ แต่เราต้องออกกำลังกาย ต้องยืดเส้นยืดสายด้วย มันก็มีวิธีแกว่งแขนง่าย ๆ ยืดยุบกับเก้าอี้ง่าย ๆ แล้วก็อย่าทำเร็ว กางขา แล้วก็ย่อ แต่ต้องหลังตรงนะ แต่พออีกหน่อยถ้าเราแข็งแรงแล้ว เราก็จะย่อยืดของเราเองได้ ก็จบแล้วทำแบบนี้ พอทำไปแล้วรู้สึกเจ็บก็หยุด พอว่างแล้วก็ทำอีก ก่อนนอน ตื่นเช้านี่ต้องทำ ไม่งั้นขาจะใช้งานไม่ได้ ไปไม่ได้ บางทีหลังเจ็บก็ทำไม่ได้ แต่ว่านั่งก็ต้องนั่งหลังตรง 


เพราะว่าอังกฤษเขาสอนมาเรื่องนั่งหลังตรงตลอดเวลา ฝึกนั่งหลังตรงให้เป็นนิสัยถ้าเราจะพิงเราก็ต้องพิงให้ตรง หลาย ๆ คนไม่ได้ถูกเทรนมาไง ก็ทำให้กระดูกมันไม่ดีก็ป่วย เป็นนู่นเป็นนี่ แต่ถ้านั่งหลังตรงช่วงแรก ๆ จะปวดบ้าง แต่ถ้า early training ทำให้มันเป็นนิสัย พอแก่แล้วมันจะช่วยได้เยอะ


มี early training อะไรบ้าง ที่เราควรฝึกกายเราเองตั้งแต่วันนี้

ก็เรื่องหายใจ early training คือเรื่องหายใจ หายใจเข้า หายใจออก ต้องหายใจให้เป็น คนที่หายใจแล้วตกจังหวะ มักจะป่วย มันเป็น early training ที่เทรนได้ แต่คนแก่ส่วนมากจะดื้อ บอก ทำไม่ได้แล้ว แก่แล้ว เราก็บอก งั้นจะไปไหนก็ไป คือถ้าเรายังไม่ตาย ชีวิตยังมีความหวัง แล้วเราก็ทำเท่าที่เราทำได้ มันก็ง่าย ๆ (ครูเล็กสาธิตการหายใจเป็นจังหวะ โดยพาทุกคนจับมือ แกว่งแขน แล้วหายใจ เคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมกัน)


การฝึกลมหายใจของครูไม่เหมือนที่คุ้นเคย ไม่ใช่การยุบหนอ พองหนอ อยู่นิ่ง ๆ แต่เป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย เหงื่อออกเลยด้วย (หัวเราะ)

ถึงบอกว่าต้องยืดเส้นยืดสาย ต้องออกกำลัง พอออกกำลัง ปอดมันจะใหญ่ขึ้น มันก็จะไม่หอบ โรคก็ไม่ติด เพราะเราหายใจ ปอดเราแข็งแรง แล้วเราก็พยายามอยู่ในที่ที่มีต้นไม้ พยายามอย่าอยู่ในห้องแอร์ โรงเรียนเราถึงได้มีพื้นที่แบบนี้เยอะ เด็ก ๆ จะได้อยู่กับธรรมชาติ เขาก็จะแข็งแรงแล้วโตมารักธรรมชาติ จะไม่โค่นต้นไม้ ไม่ทำโลกร้อน ถ้าอยู่แต่ในห้องแอร์ เด็กจะมีความคิดอีกอย่างหนึ่ง และถ้าเด็กอยู่ในห้องแอร์แล้วหลังคาเตี้ย ๆ เด็กจะใจแคบ มันเห็นชัด ๆ เลยนะ สิ่งแวดล้อมมันมีผลมาก ๆ 


อย่างพวกเรานี่บางทีเล่นละคร มันต้องอยู่กลางแจ้ง มีท้องฟ้า มีหลังคา เรา express ได้เต็มที่เลย มีท้องฟ้าเป็นหลังคา ดังนั้น ความยิ่งใหญ่ของมนุษย์มันมาจากธรรมชาติ ถ้าเด็กมาจากห้องแคบ ๆ หลังคาเตี้ย ๆ จะให้กล้า แสดงออกยิ่งใหญ่ได้อย่างไร เพราะมันไม่เคยกล้าที่จะอ้าแขน กลัวก็จะทิ่ม จะชนไปหมด


แล้วถ้าถึงจุดที่เหลือแต่ลมหายใจ ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้แล้ว เราจะยังมีชีวิตที่เบิกบานอยู่ได้อย่างไร

ลมหายใจยังมี หายใจได้ ใช่ไหม เราไม่มีลมหายใจเราตาย แต่อะไรไม่มีแล้ว แต่ยังมีลมหายใจเหลืออยู่ ก็ยังหายใจได้ ก็ยังอ้าซ้าย ขวา (หัวเราะ) ใช่ไหม อ้าแขนยัง อ้า ถ้าแขนไม่มีแล้วตัวก็ยังโยกได้ ก็ยังหายใจได้ ร่างกายเราทำอะไรได้จนสุดท้ายลมหายใจไม่มี ถึงตอนนั้นจบก็คือจบ


เคยได้ยินว่าครูเคยผ่านการซึมเศร้าช่วงวัยรุ่นถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ ครูรับมือกับอาการทางใจ หรืออาการทางกายตามวัยช่วงที่ใกล้หมดประจำเดือนแล้วกลับมาเป็นครูเล็กที่โพสิทีฟ แอ็กทีฟอย่างตอนนี้ได้อย่างไร

ช่วงนั้นจะร้อนวูบวาบ เหงื่อแตก เพราะรู้ว่านี่เป็นอาการวัยทอง แต่การที่เรามีอะไรทำเยอะ ๆ มันลืมไปเลย แล้วเราก็จะหงุดหงิด แต่เราก็รู้ว่านี่เราหงุดหงิดนะ วัยทองนะ อ่า หายใจสิ ๆ เราก็รู้จักวิธีควบคุมอารมณ์เหงื่อแตกนั่นนี่โน่น อ๋อ นี่คือวัยนะ What can you do? มีอะไรเราก็ทำไปมันก็เลยผ่านช่วงนั้นมา เริ่มเมื่อไหร่ จบเมื่อไหร่ เราไม่รู้ รู้แค่มันยังอยู่ แต่เราจะไม่ไปยุ่งกับมัน 


ดิฉันเลยบอกว่า คนแก่มาอยู่กับเด็กไหม เพราะว่าเด็กเขามีความสดใส เรามีประสบการณ์ตั้งเยอะ เรามาเล่านิทานกัน การเล่านิทานนี่ได้หายใจ เล่าสนุก ไม่สนุกไม่เป็นไรหรอก ถ้าไม่สนุก เด็กมันไปเองแหละ หนีไปแล้ว ดูก็รู้ ไม่ต้องเสียใจ ก็แค่เล่าใหม่อีก วันหนึ่งเดี๋ยวก็เก่งขึ้น แต่มันได้หายใจ ได้มีประโยชน์กับเด็กหรืออย่างน้อยมาฮัลโหล ฮาวอาร์ยู พูดอะไรกับเด็กสักสองสามคำ นั่งคุย เพราะเด็กมันชอบคุย แล้วมันก็จะถามนู่นถามนี่ เราก็จะได้สอน ได้ใช้ประสบการณ์ สักครึ่งชั่วโมง เหนื่อยแล้วเราก็กลับบ้าน


แต่หลายคนบอกว่า ไม่เอา เกษียณแล้ว นั่งเฉย ๆ สบายแล้ว แล้วไง ถือไม้เท้า เดินได้ แต่ว่าก็งก ๆ ความจำเสื่อมบ้าง ถ้าไม่ทำอะไรเลย แต่ถ้าเธอมาร้องเพลง ใครเล่นเปียโนเป็นก็เล่น เล่นไม่เป็นก็ไม่มีใครว่าอะไร ไม่งั้นก็ให้เด็ก ๆ เล่น คุณร้องเพลงไหม ร้องเพลงก็ได้หายใจ 


ไม่มีอะไรนะที่เราได้มาโดยไม่ต้องลงทุนทีนี้แรงเรานิด ๆ ที่มีมันก็จะได้กลับมาเยอะนะ แต่ถ้าเธอไม่ลงทุนอะไรเลย เธอจะเอากำไรอย่างเดียว เธอจะเอาดอกเบี้ย แต่เธอไม่เอาเงินต้นไปฝาก จะเอาดอกเบี้ยมาจากไหน แล้วคนแก่หลายคนก็จะดื้อ แล้วก็จะยอมนั่งอยู่เฉย ๆ เดี๋ยวก็ตายละ เราก็บอก งั้นตามสบาย (หัวเราะ)


การที่เรามีประโยชน์เยอะ เราจะเพลิดเพลิน เราจะมีความสุขนะ กลับบ้านภูมิใจมากเลย แล้วมันก็ทำให้อยากลุกขึ้นมาอีก ลุกไม่ไหววันนี้ เอาพรุ่งนี้ก็ได้ แต่พอมีความสุขแล้วเราก็อยากลุกทุกวัน 


ความสุขในการทำงานทุกวันนี้ มันให้ความรู้สึกแตกต่างอย่างไรกับตอนที่เราสาว ๆ เล่นละครทีวี มีชื่อเสียง โด่งดัง 

แตกต่างค่ะ เพราะว่าชีวิตมนุษย์ในช่วงกลาง ๆ คน มันคือทำงานแล้วได้เงิน ได้มีคนมาสัมภาษณ์ ได้มีชื่อเสียง ได้มีรูป ได้รางวัล มันมีความสุขตรงนั้น 


แต่เดี๋ยวนี้มันคือ… ไม่เอาเลยเงินทอง แต่มันมีความสุขในการให้ ให้ประโยชน์คนอื่น แล้วที่เหลือมันมาเองนะ ตอนนี้สตางค์เราก็มีพอใช้ ชื่อเสียงเงินทองก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำไมอีก ได้รางวัลมาอีกก็ไม่มีที่จะวาง เป็นทุกข์อีก แต่ถ้าให้เด็ก แล้วเด็กมีความสุข มันหัวเราะ มันมากอด โห มีความสุขจังเลย อันนี้มันยิ่งใหญ่กว่าใดๆ ทั้งปวง แต่ถ้าเรามารู้สึกแบบนี้ตอนอายุสามสิบสี่สิบจนตายโหงเลย มันไม่ใช่เวลา ถึงได้บอกความรู้สึกมันแตกต่างก็ไม่เป็นไร มันก็ตามกาลเทศะ


ความสุขหรือความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามาจากความสัมพันธ์ที่เรามีจากผู้อื่น ในแง่หนึ่งมันก็ดีต่อการมีชีวิต แต่ในขณะเดียวกันความผูกพันมันก็อาจทำให้เกิดความกังวลเหมือนกัน ถ้าเราจะต้องจากไป ครูรู้สึกแบบนั้นบ้างไหม

ถ้าเราจะต้องจากไป ไม่กังวลเลยค่ะ


แล้วเด็ก ๆ ที่ยังอยู่ในโรงเรียน 

นั่นคือการยึดติดไง ถ้าคุณยังยึดติด เรียนธรรมะ ต้องไม่ยึดติดสิ เราไม่ยึดติดอะไรทั้งสิ้น รวมทั้งกายตัวเอง ถ้าเราเรียนรู้แล้ว เราก็ไม่ยึดติดแต่ถ้าเราไม่อยู่แล้ว เราก็สอนครูคนอื่น ๆ ที่เขายังเด็ก ๆ ที่เขาฟังอยู่ เดี๋ยวเขาก็ไปทำเขาก็เรียนรู้จากเรา เขาก็ไปเติบโตเป็นคุณครูอย่างเรา อย่างที่แม่ชีศันสนีย์สอน เราชอบมากเลย เมื่อเราไม่หายใจแล้ว ลูกศิษย์จะหายใจต่อ


แล้วถ้าลูกศิษย์อยากยื้อให้เราหายใจนานๆ ครูจะบอกพวกเขาอย่างไร

เขาก็พูดกัน บอกให้ฉันแข็งแรง อยู่เป็นหมื่นๆ ปี ฉันก็บอกจะพูดอะไรก็ได้ แต่ฉันจะอยู่ตามที่ฉันจะอยู่ (หัวเราะ) ถ้านี่คือความหวังดี ขอบคุณมาก แต่ว่าฉันก็กำหนดไม่ได้ว่าจะกี่ปี ก็ไม่เป็นไร แต่ก็จะไม่ไปห้ามเขาว่า ถ้าฉันตายไป เธอไม่ต้องมาร้องไห้ ถ้าเธออยากร้องไห้ก็ไม่เป็นไร มันเป็นธรรมชาติ แต่เธอจำไว้ว่าเธอต้องหายใจต่อ 


ครูที่สอนรำไทยเราท่านเกษียณที่นี่ แม่ชีบอก ร้องไห้ได้ ร้องไปเถอะ ทำงานศพให้ดีที่สุด แต่หายใจต่อ คือสอนสิ่งที่ท่านสอนมาต่อ จบ เพราะฉะนั้น เราแทบไม่ได้ร้องไห้เลย มัวแต่ทำงานออกมาให้ดีที่สุด มัวแต่คิดว่าเราจะทำอะไรออกมาบ้าง แล้วไปสอนต่อ มันก็เลยทำให้สมองของเราไม่ว่าง 


ดิฉันบอกตัวเองไว้ว่า ถ้าดิฉันจะหยุดหายใจ ดิฉันจะไม่บอกลูกหลาน เพราะเดี๋ยวมันเอาไปโรงพยาบาล กลัวสายระโยงระยางยื้อชีวิต ดิฉันว่าเรารู้ตัวนะ เพราะอย่างเวลาเราป่วย เรารู้ตัว แล้วเราจะรักษามันยังไง เราก็รู้ตัว แล้วถ้ามันมาถึงเวลาที่เรายื้อไม่ไหวแล้ว เราน่าจะรู้ตัว เพราะร่างกายเราจะบอกเราตลอดเวลา เหมือนที่ร่างกายคอยบอกเราว่า กินน้ำสิ หิวข้าว กินเยอะไปแล้ว หยุดกินได้แล้ว อะไรแบบนี้ บางทีตื่นขึ้นมาอยากกินผลไม้ก็กิน เพราะอยากได้วิตามินซี ร่างกายเขาฉลาดนะ เขาบอกเรา เราก็ควรฟังเขา แล้วก็เชื่อเขาบ้าง


เวลาคนพูดว่าต่อลมหายใจ ฟังดูเป็นเชิงกายภาพ แต่สิ่งที่ครูกำลังบอกในเรื่องของการสานต่อคุณค่า สานต่อสิ่งที่ทำ ในมุมมองของครูนี่คือความหมายของการต่อลมหายใจที่แท้จริงหรือเปล่า 

สืบสานศิลปะ วัฒนธรรม สืบสานองค์ความรู้ต่าง ๆ นี่คือการต่อชีวิต ไม่ใช่ชีวิตเราอย่างเดียว มันต่อให้กับทุกอย่างบนโลกนี้ เราจะมาต่อชีวิตแค่เราเองทำไม ใช่ไหมล่ะ มันต้องต่อสิ่งที่เรารู้ต่างหาก ต่อไปแล้วความรู้มันก็จะพัฒนากันไปเอง อันนั้นคือสิ่งสำคัญให้เป็นสมบัติของประเทศ สมบัติของโลก


อยากให้ลูกศิษย์สานต่ออะไรเป็นพิเศษไหม 

สอนอะไรมันก็ไปต่ออันนั้น


ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ

ใช่ แต่ละคนก็จำไม่เหมือนกัน เขาชอบอะไรเขาก็จำแบบนั้น ถึงได้บอกว่าสอนลูกศิษย์อะไรก็ได้ มันจะออกไปเป็นนักวิชาการ เป็นอาเสี่ย อะไรก็ตาม เขาจะจำในสิ่งที่เราสอน แตกต่างกันไป บางคนเป็นศิลปินก็จะจำแบบหนึ่ง เขาก็จะจำไม่เหมือนกัน แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นแค่เขาก็จะจำสิ่งที่ดี ๆ ที่เราให้เขาไป ก็จบ หรือบางทีสิ่งที่ไม่ดีที่เราให้เขาไป เขาก็จะจำ แล้วเขาไม่ปฏิบัติตาม อันนี้ก็ดี



ได้ยินมาว่าครูเล็กเตรียมหนังสือสำหรับงานช่วงสุดท้ายของชีวิตแล้ว เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร บันทึกชีวิตช่วงไหนไว้บ้าง

เล่าตั้งแต่เกิด เล่าว่าไปทำงานเกี่ยวกับอะไรบ้าง หรืออะไรที่เป็นเกร็ด พอสนุก ๆ เล่าไม่ได้ละเอียดมาก แต่ก็จะมีรูปประกอบ เช่นหน้าปกนี่มาจากเรื่องพระไตรปิฎก ปี 2536


อะไรทำให้ครูเล็กอยากทำหนังสือเรื่องนี้ขึ้นมาตอนแรก

ตอนนั้นอายุหกสิบกว่า เริ่มเป็นเกาต์ เดินไม่ได้ เริ่มสงสัยว่าเราจะอยู่อีกสักกี่ปี่ แล้วถ้าเดี๋ยวเราไม่ทำ ลูกทำแทน เขาก็จะไม่รู้ที่มาที่ไปของรูปที่เราเก็บเอาไว้ แล้วก็เดี๋ยวไม่ถูกใจ เดี๋ยวตายไปไม่ถูกใจ จะลุกขึ้นมาโวยวาย ก็เลยทำเองแล้วพอดีมีเพื่อนก็เป็นช่างภาพจากเยอรมัน แล้วภรรยาเขาเป็นคนทำหนังสือที่มีชื่อเสียงของโลกเลย 


ตอนนั้นเขามาเที่ยวเราก็ให้เขามาสอนเด็กที่โรงเรียนแล้ว เราก็บ่นให้เขาฟังว่าเรากำลังจะทำหนังสือแต่ยังไม่สำเร็จ เพราะคนที่ทำให้ตอนแรกไม่เวิร์ก เขาก็ถามมาว่า คนพวกนั้นรู้จักยูไหม เราก็บอกรู้จักสิ ก็ประชุมด้วยกัน เขาบอกไม่ รู้จักแบบเคยมาพักหัวหิน มากินข้าวด้วยกัน ไปว่ายน้ำเล่นทะเลกัน เขาเคยไหม เราบอก ไม่เคยสิ คนทำงานเขาก็ทำงาน ประชุมอย่างเดียว เขาบอก นั่นแหละ เขาถึงได้ทำหนังสือให้คุณไม่ได้ไง เพราะเขาไม่รู้จักคุณ เราก็เลยบอกว่า งั้นคุณรู้จักฉัน คุณมาบ่อย แล้วมาอยู่กับฉันเป็นเดือนๆ งั้นยูทำไหม เขาเลยบอกโอเค เขาทำให้ เลยได้มือระดับโลกมาทำให้ กระดาษที่เขาทำเขาเรียกกระดาษ Marshmallow ไม่มีในประเทศไทย ต้องสั่งจากญี่ปุ่น เป็นกระดาษที่นุ่มนวลมาก


มีจุดประสงค์อะไรในการทำหนังสือเล่มนี้อีกไหม นอกจากใช้ในวันงานสำคัญครั้งสุดท้าย 

นี่ก็ทำเก็บไว้สองพันกว่าเล่ม ตอนนี้ขายไปประมาณสองสามร้อยเล่ม ที่เหลือก็ให้เก็บไว้ในวันนั้น ลูกก็ถามว่าปลวกจะกินหมดไหม แต่มันมีที่อมรินทร์อยู่ถ้าปลวกกินก็เอาไปพิมพ์ใหม่ เพราะว่ายังไงก็หนังสืองานศพ ไม่ให้แจก ให้ขายแล้วนำเงินเข้ามูลนิธิที่เราทำงานกับเด็ก ๆ ไม่ต้องเอาพวงหรีด ไม่ต้องเอาอะไร เพราะมันแพงแล้วไม่มีประโยชน์อะไรเลย ใครที่ซื้อพวงหรีด มาซื้อหนังสือแทนเธอไม่อ่านจะเอาไปให้ใครอ่านก็ได้ หรือเอาไปถมที่ก็ได้ ฉันไม่ว่าแต่เธอเอาค่าพวงหรีดมาให้เด็ก ๆ ได้ทำงาน ได้เรียนต่อ


ระหว่างทำหนังสือเรื่องนี้ได้ทบทวนชีวิตตัวเองอย่างไร (ครูเล็กตอบไปด้วย แล้วเปิดหนังสือที่ให้คนมาหยิบมาให้ดูไปด้วย)

ก็รู้สึกว่า พระเจ้า ฉันทำอะไรเยอะมากเลยนะ ฉันมีแรงมหาศาล หลายคนในนี้ตายไปแล้วก็เยอะ ที่ยังอยู่ตอนนี้เติบโตก็มาก เช่น ลิเก ไชยา มิตรไชย ตั้งแต่สิบขวบก็อยู่ในเล่มนี้ เบิร์ด ธงไชย ตั้งแต่มาช่วยยกกลองให้ครู ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นอะไรเลยนะเป็นเด็กแบ็กสเตจ อาจารย์สุรพล วิรุฬห์รักษ์ นี่ก็ดาราฮอลลีวูด เขามาทำหนัง หรือ ปัญญา นิรันดร์กุล ตอนนั้นขายข้าวมันไก่อยู่ปากซอยอารีย์ นี่เกิดจากเราทั้งหมด มันมีเรื่องราวของคนทุกอันแหละ อันนี้ก็ทำงานกับผู้กำกับบอร์ดเวย์ เป็นคอนเสิร์ตอันแรกของประเทศไทย ไก่ วรายุฑ รีดเสื้อ อัสนี - วสันต์อยู่ข้างหลังเป็นแบ็กอัพ แล้วทั้งหมดที่เคยแบ็กอัพ ก็กลายมาเป็นตัวใหญ่ ๆ ของวงการเพลงในตอนนี้ 


ดูเหมือนว่าชีวิตนี้เราต่างก็มีคุณค่าต่อคนรอบข้างทั้งนั้น การได้ทบทวนชีวิตในช่วงท้ายมันทำให้เราเห็นความหมายของการมีชีวิตอยู่มากขึ้น ว่าอย่างนั้นได้ไหม

ใช่ คุณค่าของเราคือการส่งต่อมรดกให้ผู้อื่น หรือแม้แต่ตอนนี้ที่หาทางเอาสิ่งที่ทำสมัยสาว ๆ มาให้เด็กเรียนวรรณคดีที่ปกติเขาไม่อ่าน แต่เราก็จะบอกว่า ใครอยากเล่นละคร เอาวรรณคดีไปอ่าน ปิดเทอมใหญ่สองเดือนไปอ่าน เดี๋ยวเปิดเทอมมาเล่า ถ้าเธอเล่าได้ แล้วเรามี discussion กันเราจะได้เล่น กลายเป็นว่าอ่านกันหมด ก็เลยต้องเล่นทั้งโรงเรียน แล้วอีกปีหนึ่ง เล่มเล็ก ๆ มันก็อ่านสิ อ้าว รามเกียรติ์ ใครอยากเล่น ไปอ่านบท มันก็ต้องเล่นทั้งโรงเรียนอีก 


ศิลปะการแสดงนี่มันเป็นศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่มาก พอเราอ่าน เราต้องใช้ทักษะด้านการอ่าน เพราะฉะนั้น อ่านหนังสือต้องแตกฉาน เราจะบอกเขาว่าถ้าอยากเป็นนักแสดง คิดให้ดี ๆ นะ มันไม่ใช่เป็นดารานะลูก หนูต้องอ่านหนังสือแตกฉาน หนูต้องเข้าใจคน ต้องวิเคราะห์ได้ว่าคนนี้การศึกษาเป็นอย่างไร พ่อแม่เลี้ยงมาอย่างไร พูดประโยคนี้เพราะอะไร ต้องการอะไร แล้วก็ต้องมีจินตนาการว่าจะสร้างคาแรกเตอร์นี้ออกมาอย่างไร เขาเหมือนใคร ต้องไปรีเสิร์ช ต้องไปศึกษา หาคนคนที่เรารู้จักที่มีอะไรคล้าย ๆ กับบทนี้ เขานั่งอย่างไร กินแบบไหน ลองไปคุยกับเขา ความคิดเขาเป็นอย่างไร เพราะมันจะสะท้อนตัวละครตัวนี้ พอทำรีเสิร์ชเสร็จแล้ว หนูก็ต้องนั่งท่องบทด้วยความเข้าใจ ต้องซ้อมแอ็กชันไปกับมัน อารมณ์ขึ้น อารมณ์ลง มันเป็นเทคนิคหนูต้องรู้ว่าอารมณ์ขึ้นต้องใส่ลมหายใจขนาดไหนที่มันจะขับพลังออกมา แล้วจะลดลงมาอย่างไร มันเกี่ยวกับเรื่องลมหายใจ เพราะฉะนั้น หนูก็ต้องฝึกหายใจให้ขึ้นสูงสุด ลงต่ำสุดให้ได้ สองชั่วโมงก็ยังไม่เหนื่อย


ถึงบอกครูไม่ค่อยเหนื่อยเพราะครูซ้อมตลอดเวลาเล่นกับเด็ก เล่นละคร เล่นอะไรแบบนี้ พอทำทุกอย่างนี้เสร็จแล้ว เราก็ต้องไปรวบรวมความกล้าที่จะออกไป ความมั่นใจคือฉันจะให้สิ่งที่ดีที่สุดกับคนดู ตอนแสดงเราไม่ขออะไร นอกจากขอให้ตัวเองมีความมั่นใจและพลังที่จะให้สิ่งที่ดีที่สุดกับคนดู แล้วก็ออกไป


เพราะฉะนั้น มันก็จะฝึกการให้ ขอให้เราให้อย่างดีที่สุด มันจะฝึกเด็กให้รู้จักให้เป็น ถ้ามันเล่นหลายรอบ มันคือการฝึกการให้ ไม่ใช่เล่นหลายรอบแล้วได้ตังค์ มันคือการฝึกการให้ ให้สติโฟกัส มันคือการให้สิ่งที่ดีที่สุด พอเขาเล่นเสร็จแล้วบอกว่า ‘ครู หนูให้สิ่งที่ดีที่สุด โคตรเป็นความรู้สึกที่ดีที่สุด’ เราก็จะ แน่ะ ๆ นี่รู้จักวิธีการให้แล้ว


ตรงกันข้าม ถ้าแสดงหรือทำสิ่งใด ๆ เพราะอยากมีชื่อเสียง อยากสวยหล่อ อยากร่ำรวย มันจะกดดันเรา

ใช่ ๆ แล้วสวยหล่อ แล้วไง ความสุขมันอยู่ตรงไหน เพราะเรากลับเข้ามานี่ หน้าเรายับเยิน เหงื่อซ่ก ถามว่าสวยหล่อตรงไหน ไม่สวยเลย แต่ถ้าเราให้ คนดูเขายิ้ม เขาปรบมือ เขาหัวเราะ เขาดีใจ แล้วเขามาขอถ่ายรูป มันยิ่งใหญ่มากนะ เด็กกลับมาบอกว่าหนูมีความสุขมากเลย ทุกคนลืมเรื่องสวยหล่อไปเลย เราก็บอกเห็นไหม เราเหนื่อยยาก เราซ้อมกันจนจะตายเนี่ย เพื่ออะไร เพื่อตรงเนี้ย โมเมนต์นี้ แล้วหนูเห็นไหม มันคุ้มไหม ไม่มีใครพูดถึงเรื่องว่าหนูได้ตังค์ ไม่มีเลย มันมีความสุขไปหมดเลย นี่ไงความสุขตรงนี้มันซื้อได้ไหม ไม่ได้เลยแต่มันมาจากไหน มันมาจากเธอไง เธอเหนื่อยยากที่ลงทุนกับมัน ถ้าทำได้นี่คือกำไรชีวิต 


ถึงได้บอกคุณป้า คุณลุงขา ถ้านั่งอยู่เฉย ๆ ไม่ลงทุน คุณจะได้อะไรไหม แล้วจะยื้อชีวิตไปทำไม ไปเป็นปุ๋ยซะ

a day BULLETIN avatar image
เรื่องโดยa day BULLETINชีวามิตรเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดี และจากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads