Knowledge cover image
10 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. เรียนรู้มาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

เรียนรู้มาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

เพื่อวางแผนชีวิตปลายทางอย่างเข้าใจ


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีรายละเอียดอย่างไร และสำคัญอย่างไร


ชีวามิตรขอนำคำตอบจาก ศาสตราจารย์ แสวง บุญเฉลิมวิภาส ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเขียนไว้ในบทความ “หลักการมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ คือ สิทธิที่จะขอตายตามธรรมชาติ” ของศูนย์ข้อมูลข่าวสาร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มาให้ได้เรียนรู้กันให้เข้าใจมากขึ้น

 

มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 บัญญัติว่า

“บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”

 

สาระสำคัญของ มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 สามารถสรุปได้ดังนี้

...มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ คือ สิทธิที่จะขอตายตามธรรมชาติ 

...มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ไม่ใช่การอนุญาตให้เร่งการตาย ไม่ใช่เรื่องของการุณยฆาต หรือการทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วเข้า (Active euthanasia) แต่เป็นเรื่องการขอตายธรรมชาติ โดยไม่ต้องการมายื้อความตายจึงเป็นเรื่อง Passive euthanasia

...มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ จะใช้เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น หากเป็นกรณีที่ยังรักษาได้ก็จะต้องรักษากันไปตามปกติ

...จะรู้ได้อย่างไรผู้ป่วยอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต ในทางปฏิบัติแพทย์เจ้าของไข้จะเป็นผู้ประเมินตามหลักวิชาทางการแพทย์และแจ้งแก่ญาติ หากญาติเห็นพ้องตามที่แพทย์อธิบายทุกอย่างก็ดำเนินการตาม Living will แต่หากญาติไม่เห็นด้วยและประสงค์ให้ยื้อชีวิตต่อไป ก็คงต้องเป็นไปตามเจตนาของญาติ ในทางปฏิบัติการ แม้ผู้ป่วยจะมี Living will ไว้แล้วก็ตาม แต่ก่อนการดำเนินการก็ต้องสอบถามผู้ป่วยหรือญาติด้วย เพียงแต่ว่าถ้ามี Living will การพูดคุยระหว่างแพทย์กับญาติย่อมง่ายเข้า เพราะรู้ว่าผู้ป่วยต้องการอย่างไร

...แพทย์จะปฏิเสธการทำตาม Living will ของผู้ป่วยได้ หากมีเหตุผลทางการแพทย์หรือเหตุผลทางจริยธรรมรองรับ ไม่ควรพูดกับผู้ป่วยและญาติว่า หากต้องการให้รักษาตามอาการและปฏิบัติตาม Living will ให้นำผู้ป่วยกลับไปดูแลกันเอง

...หากใส่เครื่องช่วยหายใจไปแล้ว และมาพบ Living will ภายหลังว่าผู้ป่วยไม่ต้องการแพย์สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้ เป็นการทำตามคำสั่งของผู้ป่วยที่เขียนไว้ใน Living will ว่า ขอตายตามวิถีธรรมชาติ

...การแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขตามมาตรา 12 ผู้ป่วยจะยังคงได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) โดยได้การดูแลควบคุมความเจ็บปวด ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ 


ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรชีวามิตรเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดี และจากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads