Knowledge cover image
12 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. วิชาชีวิต : เตรียมใจ

วิชาชีวิต : เตรียมใจ

Jones Salad หนุ่มนักธุรกิจสายสุขภาพชวนคุยเรื่องผู้ป่วยระยะท้าย


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

ความตื่นเต้นในการทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการครั้งแรกของ กล้อง Jones Salad ถูกกลบด้วยความรู้สึกตื้นตันและขอบคุณรายการ “วิชาชีวิต : ตอนเตรียมใจ” ที่ชวนมาร่วมพูดคุยกับ รศ.นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ เกี่ยวกับเรื่อง “ความตาย”


ทุกคนควรมีสิทธิเลือกในการดูแลคุณภาพชีวิต 


โจนส์ สลัด: ความจริงเรื่องความตายเป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยคุยกัน แต่ทำไมคุณหมอผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาชีวิตจึงสนใจเรื่อง “การเตรียมตัวตายดี” 


คุณหมอฉันชาย: หน้าที่ของแพทย์ไม่ใช่การให้การรักษาให้หายอย่างเดียว แต่ต้องทำให้ผู้ป่วยอยู่สบาย และตายดีด้วย เพราะความตายคือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเมื่อถึงปลายทาง แต่หากมีโอกาส เราทุกคนควรมีสิทธิเลือกในการดูแลคุณภาพชีวิต คือมีการเตรียมการตายที่ดีได้ จะทำยังไงให้คนไข้จากไปอย่างดีและจากไปอย่างสงบ เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่แพทย์เองยังต้องอาศัยการเรียนรู้ เทคนิคและมุมมอง ที่จะทำให้คนไข้อยู่สบายและตายดี โดยคนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็อยู่สบายเช่นกัน


โจนส์ สลัด: จากประสบการณ์ของคุณหมอที่ทำหน้าที่ในห้องไอซียู จะต้องเจอผู้ป่วยที่จะเสียชีวิต ส่วนมากก่อนที่พวกเขาจะจากไป พวกเขามีความรู้สึกอย่างไร และอยากทราบหลักการและคำนิยามของ “การตายดี” ของคุณหมอคืออะไร


คุณหมอฉันชาย: มีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสภาวะด้วยโรคที่เขาเป็น หากมองกว้าง ๆ ผู้ที่กำลังจะเสียชีวิตส่วนหนึ่งมักมีอาการทางกาย คืออวัยวะล้มเหลวเพราะมีความเสื่อมเกิดขึ้น ทุกข์ทรมานจากการที่อวัยวะทำงานไม่ได้ ความเจ็บปวด อาการเหนื่อย หอบ นอนไม่หลับ ส่วนอาการทางใจเช่น กระวนกระวาย กังวล ภาวะซึมเศร้า หมดหวัง ท้อแท้กับชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นภาวะที่จะเกิดขึ้นก่อนที่คนไข้จะจากไป มากน้อยต่างกัน เป็นเรื่องการทำความเข้าใจกับสภาวะของผู้ที่กำลังจะเสียชีวิต


การตายดีมีหลายมุมมองต่างกันในหลายบริบท ตามความเชื่อของสังคม ความต้องการส่วนบุคคล การตายดีคือ เรามีการเตรียมตัว อย่างน้อยไม่ต้องทรมาน มีการบรรเทาอาการเจ็บปวด ให้สิทธิคนไข้ในการตัดสินใจ ได้มีส่วนร่วมในการวางแผน ให้ตรงกับความเชื่อและจิตวิญญาณของเขา ขณะเดียวกันไม่ควรลืมมุมมองของญาติซึ่งต้องอยู่กับความทรงจำนี้ตลอดชีวิต เรื่องการตายดีจึงอยากให้มองบริบทที่กว้างมากกว่าเฉพาะตัวผู้ป่วย แม้กระทั่งผู้ที่ดูแลผู้ป่วยโดยตรง ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องของการดูแลที่ครบวงจร


โจนส์ สลัด: เราควรจะสื่อสารข่าวร้ายอย่างไรให้ดีกับคนไข้ที่กำลังจะจากไป? ควรพูดให้ความหวังหรือพูดตรงไปตรงมา?


คุณหมอฉันชาย: ผมขอถามกลับไปว่าถ้ากล้องป่วย อยากจะรู้มั้ยว่าตัวเองเป็นโรคร้ายแรง -ใกล้ตาย? (คุณหมอถามไป -อมยิ้มไป กล้องเลยเปิดใจเล่าถึงประสบการณ์ตรง)


โจนส์ สลัด: ถ้าส่วนตัวผมก็อยากรู้เหมือนกัน จากประสบการณ์ส่วนตัวก่อนที่จะมาทำโจนส์ สลัด ตอนอายุยี่สิบต้น ๆ เคยเป็นเนื้องอกมาก่อน โชคดีที่คุณหมอบอกตรง ๆ ว่าเจอก้อนเนื้อใหญ่มาก เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ มีโอกาสจะเป็นมะเร็ง เราเลยรีบไปผ่าตัด ตอนนั้นมีความกังวล สับสัน นอนไม่หลับ แต่อย่างน้อยเราได้รู้ว่าต้องรักษายังไง ได้เตรียมใจ ได้เตรียมตัว  


คุณหมอฉันชาย: สิ่งสำคัญที่คนไข้จะวางแผนชีวิตที่ดีได้คือ ต้องมีข้อมูลที่ เหมาะสม เพราะฉะนั้นประเด็นว่าควรจะบอกหรือไม่ บอกมากน้อยแค่ไหน ใครจะเป็นผู้สื่อสาร แนวทางปฏิบัติของสังคมไทยมักจะถามญาติก่อน ซึ่งในต่างประเทศสิทธิในการรับรู้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ป่วย ความจริงคนไข้ทุกคนมีสิทธิที่จะรู้แต่ปฏิกิริยาการรับรู้จะไม่เหมือนกัน หลักสำคัญที่สุดในชีวิตคือ หมอจะไม่โกหกแต่อาจยังไม่บอกหมด ทุกคนเมื่อรับรู้ข่าวร้ายจะมีปฏิกิริยา โดยปกติคนไข้จะมีการตอบรับด้วยทฤษฎี 5 ขั้น คือ เริ่มจากการไม่ยอมรับความจริง โกรธเพราะรู้สึกกังวล มีการต่อรอง เกิดอาการซึมเศร้า จนถึงสภาวะทำใจยอมรับความจริง 


ซึ่งเมื่อถามคนไข้ทุกคนกลับไปส่วนใหญ่จะปรับตัวได้ คนไข้ดีใจที่บอกความจริงกับเขา ในคนไข้ทุกรายเราจะใช้ความหวังเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเดินไปกับเราให้ได้ เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจ คือ ทำอย่างไรให้อยู่สบายที่สุด เพื่อเป้าหมายของการจากไปที่ดี 


“ทางผู้ป่วย ไม่มีใครอยากฟังข่าวร้าย แต่คนไข้ส่วนใหญ่ปรับตัวได้ คนไข้ทุกคนดีใจที่เราบอกความจริงกับเขา ทำอย่างไรให้การจากไปอย่างสงบ ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่จากไป หากเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่เช่นกัน ชีวิตไม่ใช่นับที่เวลา แต่นับที่คุณภาพ”


โจนส์ สลัด: คุณแม่ผมเคยสั่งไว้แล้วว่า ถ้าแม่ป่วยและมีอาการหนัก ๆ ไม่ต้องยื้อ เพราะการตายที่ดีที่สุด คือ อยากนอนหลับไม่ต้องเจ็บไม่ต้องปวด


คุณหมอฉันชาย: สิ่งที่คุณแม่พูดไว้ดีมาก สิ่งที่ทุกคนกลัวตายไม่ได้กลัวที่ตาย แต่ไม่อยากมีช่วงที่ทรมาน กลัวทรมาน กลัวเป็นภาระ กลัวการพลัดพราก กลัวความห่วง เมื่อถึงเวลานั้นพี่น้องทุกคนรับรู้ตรงกันมั้ย ได้มีการเขียนพินัยกรรมชีวิตไว้มั้ย ไม่ได้เป็นการแช่งแต่เป็นการเตรียมตัวเพราะมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับลูกที่จะสามารถทำในสิ่งที่ผู้เป็นที่รักต้องการได้ ลูกทุกคนมีหน้าที่ทำตามประสงค์ของพ่อแม่ นั่นคือพินัยกรรมชีวิต  


โจนส์ สลัด: คุณหมอช่วยอธิบายเรื่องพินัยกรรมชีวิตว่าคืออะไร


คุณหมอฉันชาย: Living Will เป็นการเตรียมตัวในสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนในวันหนึ่ง ด้วยการเขียนหนังสือแสดงเจตจำนงเมื่อป่วยเป็นโรคในระยะสุดท้าย ไม่สามารถสื่อสารได้ ขยับตัวไม่ได้ สามารถจะขอให้คุณหมอหยุดยั้งการยื้อชีวิต โดยไม่ได้เร่งให้ตายเร็วขึ้น แต่ปล่อยให้เป็นวิถีธรรมชาติ (Natural Dead) ร่างกายของเราอยู่ไม่ได้แล้วจึงจากไปในเวลาอันเหมาะควร เมื่อถึงเวลาสำคัญนี้ผู้ ป่วยสามารถระบุความต้องการให้ญาติคนใดคนหนึ่งตัดสินใจแทน การตัดสินใจทุกอย่างในเรื่องความตายคนไข้ต้องอยู่ในสภาวะที่มีความสามารถในการตัดสินใจได้ดี มีสติสัมปชัญญะ ต้องไม่อยู่ในภาวะซึมเศร้ารุนแรง


การรักษาซึ่งคนไข้ไม่ได้ประโยชน์ ไม่ใช่หน้าที่การตัดสินใจของแพทย์ แต่เป็นสถานการณ์ที่แพทย์สามารถคุยกับญาติได้อย่างเข้าใจ ไม่ใช่การุณยฆาต ไม่ใช่เป็นการเร่งความตาย ซึ่งผิดกฎหมายการฆ่าคน แต่เป็นการไม่ยื้อชีวิต เป็นการตัดสินใจอย่างไรก็ตามที่ทำให้ผู้ป่วยสบายที่สุด ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะวางแผนชีวิต มีโอกาสออกแบบการมีชีวิตอยู่ที่ดีและมีคุณภาพ เมื่ออาการป่วยหนักถึงจุดที่เกี่ยวข้องกับความตาย การตายดีดีกว่าอยู่ทรมาน


โจนส์ สลัด: ในเคสที่คนไข้เตรียมใจเรียบร้อยแล้ว เมื่อญาติหรือลูก ๆ มาเยี่ยมควรจะพูดคุยกับคนไข้ลักษณะอย่างไร 


คุณหมอฉันชาย: ผมว่าไม่จำเป็นต้องคุยเรื่องความตายทุกครั้งที่เห็นหน้ากัน หลักการคือ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทุกวันเราก็ทำชีวิตตามปกติ อย่างน้อยคนไข้ควรต้องรู้สถานการณ์ตัวเอง รู้ว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไร ผมเชื่อว่าเวลาที่คนไข้รู้ตัว ญาติก็รู้ตัว เวลาเจอหน้ากันคือเวลาที่มีค่ามีความหมาย อยากให้ใช้เวลาที่เหลืออยู่พัฒนาทางด้านจิตวิญญาณให้มากที่สุด


โจนส์ สลัด: ผู้ป่วยระยะสุดท้ายส่วนใหญ่คาดหวังอะไร  


คุณหมอฉันชาย: สำคัญที่สุดคือ การสร้างความรู้สึกที่ทำให้ผู้ป่วยรู้ว่า “เราไม่ทิ้งเขา” แสดงการดูแลและเอาใจใส่ที่ดีที่สุด และทั้งหมดไม่ใช่เรื่องของการเป็นภาระ การสื่อสารให้ผู้ป่วยรับรู้และไม่ต้องห่วงหรือกังวลกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นสิ่งสำคัญ ห่วงลูกว่าจะเรียนจบหรือไม่ ห่วงทรัพย์สมบัติ ห่วงว่าครอบครัวจะอยู่อย่างไรเมื่อไม่มีเขา นับเป็นโชคและโอกาสที่ดีของญาติที่จะได้ดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิดในช่วงเวลาสำคัญนี้ 


นอกจากนี้การดูแลแบบประคับประคองไม่ใช่มีเฉพาะแพทย์เพียงคนเดียวแต่ยังมีทีมด้าน ชีวาภิบาล นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาล สหวิชาชีพ นักดูแลเรื่องความเจ็บปวด พยาบาลวิชาชีพด้าน Palliative Care จิตแพทย์ อาสาสมัครชุมชน ฯลฯ


“ความรู้สึกที่ให้ผู้ป่วยรู้ว่า เราไม่ทิ้งเขา แสดงการดูแลเอาใจใส่ที่ดีที่สุด และทั้งหมดไม่ใช่เรื่องของการเป็นภาระ”



โจนส์ สลัด: คำถามส่วนตัวที่อยากรู้มานานว่าเวลาไปเยี่ยมญาติ การสะกิดให้รู้ตัวเป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่  


คุณหมอฉันชาย: เราไม่จำเป็นต้องไปสะกิดเพื่อทักทายหรือปลุกทุกครั้ง ถ้าคนไข้ยังมีความสุขที่จะเจอผู้คนที่มาเยี่ยม เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับระยะโรค ผู้มาเยี่ยมต้องเข้าใจบริบทของผู้ป่วย ต้องทำตัวเป็นผู้เยี่ยมที่ดี 


โจนส์ สลัด: อยากให้คุณหมอเล่าถึง เคสที่มีญาติต้องยื้อชีวิตคนไข้ซึ่งต้องทำใจ


คุณหมอฉันชาย: ญาติเป็นผู้ต้องปรับตัวมาก ปรับมุมมองโดยเฉพาะเมื่อไม่ได้มีการคุยกันไว้ก่อน ญาติต้องรับภาระในการตัดสินใจ ซึ่งสิ่งนี้จะอยู่ในความทรงจำของเขาตลอดชีวิต จุดประสงค์ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยเป็นหลัก ดังนั้นสิ่งที่ญาติทำหรือตัดสินใจต้องเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ป่วยเป็นสำคัญ


โจนส์ สลัด: โรงพยาบาลอนุญาตให้แนบพินัยกรรมชีวิตในแฟ้มประวัติหรือไม่


คุณหมอฉันชาย: โรงพยาบาลทุกแห่งจะมีระบบสำหรับ Living Will ของผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ญาติได้รับรู้และเข้าใจ สามารถโหลดเรื่องนี้ได้ทางสื่อโซเชียลมีเดียทั่วไป Living Will ไม่มีแบบฟอร์มที่ตายตัว ทุกคนสามารถเขียนขึ้นเองได้ หรือดาวน์โหลดจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ที่ www.thailivingwill.in.th หรือการเขียนแบบไม่มีฟอร์มบนกระดาษเปล่า โดยในประเทศไทยผู้ป่วยยังต้องเป็นผู้กรอกรายละเอียดด้วยตัวเอง 


โจนส์ สลัด: อยากให้คุณหมอถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เคยเจอกับคนไข้ ที่มีการวางแผนชีวิตพร้อมก่อนที่จะเสียชีวิต เพื่ออยู่อย่างมีความหมาย และเมื่อตายก็ตายดี


คุณหมอฉันชาย: เมื่อคนไข้มีความเข้าใจโรค รับทราบสถานการณ์ทุกอย่าง โดยประสงค์ไม่ให้ยื้อชีวิต มีการแสดงเจตจำนงไม่ใส่เครื่องช่วยหายใจ เพราะจะทำให้ทรมานมากขึ้น ไม่ต้องการให้มีการกู้ชีวิต สิ่งที่ต้องการคือ ความสุขที่ได้อยู่กับคนที่รัก ได้ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนรัก มีการตกลงว่าจะไม่มีการใส่ท่อช่วยหายใจ จะไม่ทำการกู้ชีวิต เราก็ดำเนินการตามที่คนไข้ต้องการ


มีประเด็นว่า วันหนึ่งเมื่อคนไข้เหนื่อยมากขึ้น เขาก็หมดสติแต่ยังไม่เสียชีวิต ถ้าเป็นขั้นตอนตามที่คุยกัน ทางทีมแพทย์จะเดินหน้าทำการให้ยาเพื่อให้สบายที่สุด โดยไม่มีการวัดค่าอะไรใด ๆ ปล่อยให้ทุกอย่างในระบบของร่างกายค่อย ๆ แผ่วไปตามขั้นตอน เป็นการจากไปอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด แต่เผอิญว่าหมอเวรซึ่งไม่ได้รู้จักเคสคนไข้นี้มาก่อน ได้ไปคุยกับญาติว่าถ้าไม่ใส่ท่อพ่อจะเสียชีวิต ลูกจึงต้องยอมให้ใส่ ข้อดีคือ คนไข้ก็มีชีวิตเพราะมีท่อหายใจ แต่เมื่อคนไข้มีสติฟื้นขึ้นมา เขารู้สึกโกรธมากเพราะตกลงกันแล้วว่าไม่ต้องการใส่ท่อ ทำให้เขาต้องทุกข์ทรมาน สุดท้ายจึงให้เอาท่อออก คนที่ไม่สบายใจที่สุดก็คือลูก 


เคสนี้เตือนใจผมเสมอว่า การสื่อสารคือหัวใจสำคัญ แพทย์ทั้งทีมต้องดูแลไปด้วยกัน การพูดคุยกับญาติให้ชัดเจนมีหลักการที่ตรงกัน สำคัญที่สุดคือ การนำไปใช้ และประยุกต์ในสถานการณ์ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเกิดประโยชน์สูงสุด  


*ชม LIVE วิชาชีวิต เรื่องการเตรียมตัวตายดี” แบบเต็ม ๆ ได้ที่ https://youtu.be/E-TwVjF_4L8

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรชีวามิตรเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดี และจากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads