Knowledge cover image
15 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. ณ ทางแยกของการตัดสินใจ ในการเดินทางสู่ระยะท้ายของชีวิต

ณ ทางแยกของการตัดสินใจ ในการเดินทางสู่ระยะท้ายของชีวิต

My Life, My Death, My Journey


เรื่องโดย a day BULLETIN

ชีวิตคือการเดินทาง แน่นอนว่าตลอดเส้นทางที่ผ่านมา เราได้พบทางแยกแห่งการตัดสินใจมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน


แต่ละครั้งของการตัดสินใจนั้นได้ส่งผลกระทบและนำพาชีวิตเรามาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์เพียงใดก็ตาม จนเมื่อเข้าสู่ระยะท้าย เราจะเดินทางเข้าสู่ช่วงชีวิตที่เข้มข้นที่สุด เมื่อความแก่ชรามาเยือนตามวันเวลาที่ล่วงไป หรือมีโรคภัยร้ายแรงเข้ามาปะทะโดยไม่คาดฝัน จนถึงจุดที่คุณหมอแจ้งผลการพยากรณ์โรคที่ไม่สู้ดีนัก และเราเหลือเวลาอีกไม่นาน


ณ จุดนี้ ทุกทางเลือก ทุกการตัดสินใจ จะเต็มไปด้วยความลังเลสงสัยและวิตกกังวล สำหรับคนที่ไม่ได้เตรียมวางแผน ไม่เคยแสดงเจตจำนงใด ๆ ว่า ชีวิตที่ดีสำหรับเราคืออะไร และเราต้องการได้รับการดูแลอย่างไร


เพื่อหามุมมองอย่างเป็นองค์รวมระหว่างเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่เราต้องการ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.นพ.กิติพล นาควิโรจน์ แห่งภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ช่วยฉายภาพให้เราเห็นว่า บนเส้นทางสู่ระยะท้ายของชีวิตนั้น เราจะต้องเผชิญหน้ากับทางแยกแห่งการตัดสินใจที่ท้าทาย เช่น ต้องเลือกระหว่างจะพาไปโรงพยาบาล หรือจะดูแลอยู่ที่บ้าน จะเลือกโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน จะเข้าห้องไอซียู จะใส่สายระโยงระยาง หรือจะปล่อยวางให้ทุกอย่างดำเนินไปตามธรรมชาติ ฯลฯ


การสื่อสารระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ควบคู่กับ Health Literacy และการเตรียมตัวที่ดี เพื่อเราจะได้ออกเดินทางไปด้วยกัน สู่เป้าหมายคือความต้องการที่แท้จริงของทุกคน


อยากถามทัศนะส่วนตัวของคุณหมอ ทำไมถึงสนใจสาขาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัว และนำมาสู่เรื่องการดูแลแบบประคับประคองได้อย่างไร

ตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ตอนผมเป็นนักศึกษาแพทย์ สมัยนั้นเวชศาสตร์ครอบครัวถือว่าเป็นช่วงเริ่มของสาขาวิชานี้ ผมเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวรุ่นที่สามของรามาธิบดีที่จบมาทางสาขานี้ ผมสนใจเพราะเห็นว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาไปไกลมาก เช่น เรามีหมอมะเร็ง มีเคมีบำบัด มีหมอเฉพาะทางมากขึ้น มีความชำนาญพิเศษในสาขาที่แต่ละคนสนใจ ผู้ป่วยเคสหนึ่ง ๆ ก็จำเป็นต้องมีหมอเฉพาะทางอย่างน้อยสี่ หรือห้าหน่วยเข้ามาช่วยกันดู การดูแลหลายหน่วยไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี เพียงแต่ว่ามันต้องการความเชื่อมโยงด้วย ยกตัวอย่างเช่น หมอไตอาจจะบอกว่าผู้ป่วยต้องจำกัดโปรตีน แต่หมอโภชนาการบอกว่าคุณผอมไป ควรเพิ่มโปรตีนหน่อย ญาติก็จะมาถามผมว่าตกลงเขาควรจะตัดสินใจเลือกทางไหน กินหรือไม่กิน บางทีจะมีเคสที่ยาตีกันเอง หรือความเห็นของคุณหมอไม่ตรงกัน การแพทย์จึงควรช่วยผู้ป่วยและญาติในการมองภาพรวมด้วย ผมคิดว่าสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวช่วยทำหน้าที่ให้เราได้


ตอนนั้นที่ผมเป็นแพทย์ประจำบ้าน ได้ออกไปเยี่ยมบ้าน ซึ่งถือเป็นทักษะหนึ่งของหมอครอบครัว การไปเยี่ยมบ้านคือ ต้องไปประเมินอาการ หรือไปช่วยเหลือต่าง ๆ และสิ่งที่หมอทุกคนจะได้พบแน่นอนคือ เคสคนไข้มะเร็ง เคสแรกในชีวิตของผม คือคนไข้มะเร็งปอดอายุประมาณหกสิบกว่า ๆ ยังจำได้ดีบ้านเขาอยู่แถวราชเทวี เป็นครอบครัวคนจีน และก็มีปัญหาแบบที่เรารู้กันดี คือเราไม่อยากจะพูดเรื่องความตายกันในบ้านหรอก ช่วงแรกลูก ๆ ก็เข้ามาปรึกษาถึงอาการทั่วไปของพ่อ เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ แต่พอคุยไปคุยมาก็เลยทราบข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า เขาเป็นมะเร็งปอด แล้วหมอก็บอกว่า ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ไม่ตอบสนองต่อยาแล้วก็เลยให้กลับมาอยู่บ้าน แล้วพ่อก็มีอาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ เหนื่อย ก็เลยมาถึงสถานการณ์นี้ว่าเราจะตัดสินใจเดินทางต่อไปอย่างไร


ตอนนั้นสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว เรามี อาจารย์สายพิณ หัตถีรัตน์ ซึ่งอาจารย์เป็นคนแรก ๆ ที่ไปศึกษาดูงาน Palliative Care ที่ประเทศแคนาดา แล้วอาจารย์ก็เอาแนวคิดนี้มาสอนพวกเรา ตอนนั้นผมก็เพิ่งรู้ว่ามันมีวิธีการดูแลแบบนี้ด้วย มีการให้ยาบางอย่างที่เราไม่เคยได้เรียนตอนที่เป็นนักศึกษาแพทย์ เราก็ลองทำตามนั้นดู ปรากฏว่าคนไข้ดูมีความสุขมากขึ้น และเราไปช่วยการสื่อสารในครอบครัว ทำให้ลูก ๆ คุยกับคนไข้ได้ว่าต้องการอะไร แล้วสุดท้ายเขาก็จากไปด้วยดีที่บ้าน


หลังคนไข้เสียชีวิต ลูกสาวเขามาเชิญผมไปร่วมงานศพ ผมก็ถามว่าทำไมมาเชิญล่ะ เขาก็บอกว่าหมอได้ดูแลคุณพ่อมา แกคงดีใจถ้าหมอไปงานแก แล้วนั่นก็เป็นครั้งแรกที่ผมไปงานศพของคนไข้ในฐานะของหมอ การไปงานศพนั้น ส่วนหนึ่งเราก็มีโอกาสได้เจอครอบครัวของคนไข้ ทำให้รู้ว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร ปรับตัวได้ไหมในฐานะที่เราได้เคยดูแลกันมา


พอได้เห็นกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ ในฐานะของหมอประจำบ้าน ผมก็เห็นว่าระบบงานสุขภาพยังมีช่องว่างอยู่ ยังไม่ค่อยมีคนมาทำตรงนี้ถ้าเรามีระบบตรงนี้ดี ๆ ที่คนไข้กลุ่มนี้และครอบครัวจะได้ทำตามความต้องการ มันจะดีแค่ไหนถ้าเราตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมในทุกทางเลือกว่า จะพามาเข้าห้องฉุกเฉินไหม เข้าไอซียูไหม นี่ก็เป็นสาเหตุที่ผมเลือกไปเรียนสาขานี้


การมององค์รวม มองความเป็นมนุษย์เป็นมุมมองที่เหมาะสมสำหรับช่วงระยะท้ายของชีวิตใช่ไหม 

เวชศาสตร์ครอบครัวมองเรื่อง humanism เป็นแก่นอยู่แล้ว เรามองความต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเชิงตะกอนตั้งแต่คนไข้เข้าระยะท้าย จนถึงหลังจากเขาจากไป ตัวอย่างที่ผมเล่ามาก็เป็นเคสเบสิกของหมอเวชศาสตร์ครอบครัวทุกคน แต่ในส่วน Palliative Care เป็นอีกส่วนที่ต้องเรียนเพิ่มอีก เพราะว่าในเชิงการแพทย์เอง การจัดการอาการมันมีความซับซ้อนกว่านั้น ถ้าจบแค่เวชศาสตร์ครอบครัวคงยังไม่พอ มันคือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ 


ผมมองว่าพอวิทยาศาสตร์วิวัฒนาการมากขึ้น คนเราก็จะมีทางเลือกเยอะขึ้น นี่เป็นจุดแข็งของเทคโนโลยีที่ทำให้คนอายุยืน เช่น เรามีอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แทนปอด สำหรับคนไข้ที่ปอดมีปัญหา อย่างช่วงที่โควิด - 19 ระบาดหนัก คนไข้เข้าห้องฉุกเฉิน เพราะมีปัญหาเรื่องปอดอย่างหนัก เราก็ต้องการอุปกรณ์มาซัพพอร์ตเขา เพื่อรอให้ปอดเขาฟื้นฟูดีขึ้น นี่คือเทคโนโลยีสามารถยืดอายุคนได้มากขึ้น


ในขณะเดียวกัน เมื่อมีทางเลือกมากขึ้น สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อให้อายุยืนยาวขึ้นเท่านั้น แต่เรายังต้องการชีวิตที่มีคุณภาพด้วย การดูแลคนไข้ก็เลยต้องมีทั้งสองด้านนี้ เราใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว เรายังต้องมีศิลปะด้วย ศิลปะจะทำให้วิทยาศาสตร์เหมาะกับชีวิตมากขึ้น ไม่เฉพาะหมอเวชศาสตร์ครอบครัว จริง ๆ หมอทุกคนก็มีทั้งสองด้านนี้อยู่แล้ว เราตอบโจทย์ทั้งสองฝั่งพยายามดูว่าอะไรที่ลงตัวดีที่สุด



ปัญหาอะไรที่ทำให้คนไข้และญาติๆ ไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

เรื่องการดูแลคนไข้ในระยะท้าย สิ่งสำคัญที่สุดคือการสื่อสาร พูดง่าย ๆ คือ หมอเองหรือทีมที่ดูแล ถ้าเราได้เข้าใจความต้องการของคนไข้และญาติ ถ้าเราได้มองในมุมของคนไข้แต่ละคนว่า เขามีความต้องการให้ดูแลอย่างไรบ้าง เราจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ความต้องการโดยทั่วไป เมื่อชีวิตเราเริ่มเข้าสู่ระยะท้าย อาการเจ็บป่วยก็จะแย่ลงในหลายจุด สิ่งที่ต้องทำคือ เราจะตัดสินใจเลือกทางใดต่อไป เช่น จะใส่เครื่องปั๊มลมหายใจไหม แล้วเราจะใส่ท่อช่วยหายใจหรือเปล่า แล้วถัดไปเราจะเจาะคอหรือเปล่า เป็นต้น


ตลอดระยะเวลาของการดูแลมา ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ เราก็ต้องผ่านการตัดสินใจมาหลายเรื่อง ถ้าเราได้สื่อสารกันมาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ เป็นการสื่อสารแบบที่ทุกคนกล้าพูดความต้องการของตัวเองออกมาในเรื่องความตาย เมื่อสถานการณ์แย่ลง เขากล้าบอกว่าอยากจะได้อะไร ยังไงบ้าง โดยตัวคนไข้เองควรจะมีโอกาสเลือกได้เองว่า ชีวิตที่เขาอยากเป็นคืออย่างไร รวมถึงคนรอบข้างว่า ลักษณะการดูแลที่เราคาดหวังว่า อยากให้เป็นไปกับคนที่เรารักเราคาดหวังอะไรบ้าง 


เรื่องนี้สอดคล้องในเชิงกฎหมาย และเรื่องของ living will หรือหนังสือแสดงเจตนา แต่นั่นจะเกิดขึ้นกับคนที่เขาได้ตกผลึกแล้ว และมองภาพได้ชัดเจนแล้วว่าเขาอยากได้อะไร จึงแสดงออกมาในรูปแบบลายลักษณ์อักษร แต่สำหรับคนทั่ว ๆ ไปเรายังจำเป็นต้องมาคุยกันเพื่อคนไข้จะได้สื่อสารให้คุณหมอที่ดูแลได้ทราบ คุณหมอก็สื่อสารกับคนไข้ หรือคนรอบข้างว่า เขาสามารถบอกเรื่องนี้ได้ ต้องมีใครสักคนที่กล้านำเรื่องนี้ขึ้นมาพูดกันให้ชัดเจน อาจจะเป็นฝั่งหมอเอง หรือเป็นฝั่งคนไข้ หรือครอบครัว


ในสถานการณ์จริง เมื่อเราถึงทางแยกที่ต้องตัดสินใจ แต่ละฝ่ายจะเกรงใจกันหรือกลัวที่จะพูดออกมา 

ใช่ครับ ดังนั้น ผมเลยคิดว่าการเริ่มพูดความต้องการออกมาตรง ๆ จากฝั่งคนไข้และครอบครัวจะเหมาะสมกว่า เหตุผลคือ เคยมีงานวิจัยที่ถามบุคลากรทางการแพทย์ว่า เขารู้สึกอย่างไรกับการที่เราจะต้องพูดถึงสถานการณ์ของสิ่งที่เราเรียกว่า การพยากรณ์โรคว่าไม่ค่อยดี และก็เหลือเวลาอีกไม่มาก


สิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์กังวลก็คือ มันทำคนไข้หรือญาติรู้สึกไม่ดีกับสิ่งที่เราพูดหรือเปล่า เช่น บอกไปแล้วก็อาการทรุดลง หรือเขาท้อแท้ หรือเขาไม่เชื่อ เรากังวลว่า มันอาจจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้และครอบครัวมีปัญหา ในมุมที่แย่สุด คนไข้อาจจะมองว่าเป็นเรื่องของนโยบายสามสิบบาทฯ หมอก็เลยไม่รักษาผมใช่หรือเปล่า ซึ่งจริง ๆ มันไม่เกี่ยวเลยว่า คุณมีฐานะอย่างไร หรือมีสิทธิ์การรักษาอย่างไร มันเป็นมุมการแพทย์จริง ๆ ที่เรามองการพยากรณ์โรคว่า ดีหรือไม่ดี


เพราะฉะนั้น ถ้าคนไข้และครอบครัว กล้าดึงประเด็นนี้ขึ้นมา แต่ละครั้งที่ผมได้รับฟีดแบ็กในเรื่องนี้ ผลออกมาก็ดีนะ นี่มันเป็นจุดแรกในเชิงการแพทย์นะครับ คือการที่เราทราบความต้องการของคนไข้และครอบครัวก่อน นี่เป็นมิติที่สำคัญ แต่คนไข้และญาติเองก็ไม่มีข้อมูลความรู้ เราจึงไม่มั่นใจเลยว่า ถ้าเข้าโรงพยาบาลรัฐแล้ว คุณหมอจะทิ้งเราหรือเปล่า หรือถ้าไปโรงพยาบาลเอกชน แล้วคุณหมอจะเลี้ยงไข้เราหรือเปล่า เรื่องแบบนี้เกิดจากประสบการณ์ เกิดจากคนรอบข้างเล่าให้ฟังอะไรต่าง ๆ ทำให้เราก็มีความเชื่ออย่างหนึ่ง แต่ผมกำลังจะบอกว่า จริง ๆ แล้วเราควรจะกลับมา ณ จุดที่ว่าปัจเจกแต่ละคนสามารถบอกความต้องการของเราได้ ในเมื่อเรามี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ เรามีมาตรา 12 เราให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า autonomy เพราะฉะนั้น ผมแนะนำว่า เราควรจะมีจุดยืนของตัวเอง ไม่ว่าจะอย่างไร เราสามารถบอกได้ว่าต้องการจะรับการรักษาแบบไหน 


แม้ในมุมของคุณหมอที่ทำงานในโรงพยาบาลเอกชน คุณอาจจะเคยได้ยินว่าเป็นการเลี้ยงไข้ แต่เราอย่าเรียกว่าการเลี้ยงไข้ มันคือการรักษาไปอย่างเต็มที่ เพราะในมุมมองของหมอเอง สิ่งที่เรากังวลคือ ถ้าไม่ทำเต็มที่ ก็อาจจะเกิดกรณีฟ้องร้อง สมมติมีลูกคนหนึ่งในครอบครัวบอกว่า ทำไมไม่แอดมิตไอซียู ทำไมไม่เจาะนั่นเจาะนี่ แบบนี้ก็จะเกิดปัญหากับตัวหมอ เพราะฉะนั้น หมอก็ต้องรักษาไปให้เต็มที่ สิ่งที่ช่วยหมอได้ เพื่อให้หมอรู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเหมาะ หรือไม่เหมาะกับคุณ


ก็คือคนไข้พูดบอกเราได้เลย

บางทีเราอาจจะไม่รู้ด้วยว่า ควรจะให้นอนดูแลอยู่ที่บ้านต่อ หรือจะส่งเข้าห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล ปัญหานี้เป็นเพราะตอนนี้การดูแลทางการแพทย์ของเรามีแค่สองบริบท คือ บ้าน กับโรงพยาบาล ถ้าถึงระยะท้ายแล้วพามาโรงพยาบาล โดยที่คุณไม่เคยแสดงเจตจำนงอะไรมาก่อน หมอก็จะดูแลคุณไปตามปกติ คือถ้าจำเป็นก็เข้าไอซียู แล้วก็เริ่มเจาะอะไรไป แต่ถ้าคุณเคยแสดงเจตจำนงไว้ว่า ไม่อยากยื้ออะไรแล้ว แค่อยากอยู่โรงพยาบาลแบบให้หมอจัดการไปตามอาการ แบบนี้ก็โอเค เราก็จะช่วยเหลือในเบื้องต้น 


แล้วส่วนใหญ่เรามองว่า บ้านน่าจะเป็นที่ที่เหมาะกว่า เราก็สนับสนุนให้คนไข้กลับบ้าน ถ้าเราบอกให้คนไข้กลับบ้าน จนจุดหนึ่งที่อยู่บ้านไม่ได้ จุดที่อาการวิกฤตจริง ๆ เขาก็เลือกที่จะมาโรงพยาบาลอยู่ดี อย่างน้อยก็มีหมอ มีพยาบาลคอยดู แต่ว่าด้วยโรงพยาบาลของเรา พอจัดการเสร็จอาการดีขึ้น ก็ต้องกลับบ้านไปอีก แต่โรคมันไม่ใช่มาแล้วจบ มันมาแล้วก็เรื้อรัง ต้องทำนู่นทำนี่เพิ่ม หรืออยู่ยาวจนกระทั่งติดเตียง ในหลาย ๆ ประเทศก็เลยมีระบบสถานดูแลที่เหมาะกับคนไข้ที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น บ้านเราก็เริ่มคุยเรื่อง hospice 


ผมมองว่าในอนาคต hospice จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก คือไม่ใช่ว่าสุดท้ายแล้วทุกคนต้องมาเข้า hospice มันแค่เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ไม่สามารถดูแลอยู่ที่บ้านได้จริง ๆ เราก็สามารถที่จะให้คนไข้มาพัก ทำให้เขามีคุณภาพ มีความสุขที่สุดเท่าที่จะทำได้จนกระทั่งเสียชีวิต หรือจนครอบครัวพร้อมที่จะรับกลับบ้าน หรือบางครั้งอาจจะอยู่อาทิตย์สองอาทิตย์นี้เพราะลูกไม่ว่างจริง ๆ ก็มาฝากไว้ก่อน


สำหรับสังคมแบบชนบท ถ้าโครงสร้างชุมชนมีความเข้มแข็งพอ การอยู่บ้านก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะมีสังคมรอบบ้าน มีทีมสาธารณสุขเข้าไปเยี่ยม แต่ว่าในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ผมคิดว่าพอสภาพสังคมเป็นเมืองมากขึ้นมันจะไม่เหมาะจะให้ผู้ป่วยอยู่ที่บ้าน เพราะการสนับสนุนไม่เพียงพอ แล้วเราคงจำเป็นต้องมีสถานดูแลพวกนี้เพิ่มขึ้น นี่จะเป็นจุดที่ทำให้เราอาจจะเปลี่ยนมิติของการดูแลคนไข้มากกว่าการให้ยา ผ่าตัด ลักษณะของการแพทย์ในมิติเดียว มันก็เป็นการแพทย์ที่มีการผสมผสาน มีองค์รวมมากขึ้น


ในแต่ละทางเลือก เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราตัดสินใจไปได้ดีที่สุดแล้ว 

การตัดสินใจนั้นไม่ใช่การเอาสองทางเลือกมาหารสอง แต่ว่าเป็นมุมมองของแต่ละคนว่ามีความต้องการในเฉดใด คนไข้นี่แหละต้องเป็นคนเลือกว่าเขาอยู่เฉดไหน นี่เป็นเรื่อง health literacy ของคนไทย สำหรับคนไข้บางคนที่พยายามศึกษา เขาก็อาจจะไปหาการวิจัยมาให้หมออ่านเลย ว่าข้อมูลมันมีแบบนี้นะ หมอมีความคิดเห็นว่าอย่างไร


บางทีคุณหมอก็อาจจะอธิบายว่าสถานการณ์ประมาณนี้ มันมีทางเลือกแบบนี้ เช่น มียาสูตรนี้ให้ คนไข้อยากจะได้หรือไม่ โอกาสที่จะดีประมาณเท่านี้ โอกาสแย่เท่านี้ แต่คนไข้บางคนก็มาถามผมเป็นความเห็นที่สอง ซึ่งข้อมูลเราก็มักจะสอดคล้องกับหมอคนแรกนั่นแหละ เพียงแต่มันเป็นเรื่องของการสื่อสาร การอธิบายให้ง่ายขึ้น


สิ่งสำคัญของการสื่อสาร คือเราไม่ได้เน้นให้ข้อมูลทางการแพทย์อย่างเดียว แต่เราดึงความต้องการของเขาขึ้นมา ต้องการให้เขาเห็น ให้เขาฟังตัวเองว่า ต้องการเห็นภาพใหญ่คือแบบนี้ แล้วตอนนี้เขามีทางเลือกประมาณนี้ไหม แต่ละครั้งที่เราตัดสินใจ มันไม่มีถูกที่สุดและผิดที่สุด มันอยู่ที่สถานการณ์ อยู่ที่ข้อมูลที่เรามี การตัดสินใจของเราจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้วในบริบทนั้น ๆ ซึ่งอาจารย์ของผมเรียกว่าเป็น journey เปรียบเหมือนเราเดินทางไปเที่ยว เราต้องรู้ว่าปลายทางจะไปที่ไหน และเราต้องทำอะไร เราวางแผนสร้างโปรแกรมเที่ยว วันที่หนึ่งอยากไปที่นั่นที่นี่ แต่พอไปถึงพบว่าเขาปิดร้าน จะทำอย่างไรต่อดีล่ะ?


เพราะจริง ๆ ในชีวิตเรา ย่อมมีความไม่แน่นอนในทุกงาน ทุกแผน ทุกการตัดสินใจ เพียงแต่เรื่องนี้มันเป็นการจะตัดสินใจ life & death ซึ่งหนักและยากกว่า สิ่งที่ทำได้คือเราอยากให้ทุกคนคิดถึงปลายทางก่อน ว่าเราเห็นภาพใหญ่ ๆ ของชีวิตว่าจะเป็นแบบนี้ นั่นคือทิศทางที่เราจะมุ่งไปตลอดทาง เราอาจจะต้องเลี้ยวซ้าย ขวา หรือเราต้องเปลี่ยนแผนใหม่เมื่อเดินมาถึงกลางทาง อันนั้นเป็นสิ่งที่หมออยากเดินไปกับเขา แล้วก็ช่วยให้เขาหยุดดูว่า โอเคไหม มันมีทางแยกตรงนี้ เราจะเลี้ยวไปทางไหนดี นี่คือสิ่งที่เราช่วยตัดสินใจร่วมกันคนไข้และครอบครัว ต้องการหมอที่ช่วยให้เขาคิดตรงนี้


ตลอดการเดินทาง มันจะมีทางเลือกเยอะแยะและจุกจิกมาก มันจะสร้างความรำคาญให้กับหมอไหม ที่จะต้องมาคอยอธิบายอยู่เรื่อย ๆ 

ไม่เลยครับ เราต้องช่วยซัพพอร์ตเขาไป แต่คุณเชื่อไหม เมื่อเราซัพพอร์ตเขาไปสักระยะหนึ่ง เหมือนเราดูสถานการณ์ไปควบคู่กับเขา มันจะคล้าย ๆ เราเป็นโค้ชให้เขา แล้วเขาก็จะค่อย ๆ ตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง 


จริง ๆ แล้วในตอนนี้ที่เขาตัดสินใจไม่ได้ก็เพราะรู้สึกกลัว ความกลัวนั้นมาจากไหน ความลังเลนี้ก็มีที่มาของมันอยู่ เช่น ไม่กล้าตัดสินใจเพราะเกรงใจคนอื่น อยู่ที่บ้านก็ไม่พูดอะไร เพราะว่าลูกคนนี้เสียงดังหน่อย เพราะฉะนั้น เราก็ต้องเข้าไปดูว่าในครอบครัวของเขามีปัญหาเรื่องการสื่อสารหรือเปล่า สิ่งที่เราเรียกว่า เป็นการทำ family meeting

ก็คือการที่หมอเชิญทุกคนในครอบครัวมานั่ง แล้วเราก็ค่อยคุยกันว่าภาพเป็นแบบนี้อยู่นะ คนไข้กำลังลำบากใจมากเลยว่าเขาจะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาดี แต่ตรงนี้แทนที่เราจะไปให้เขาต้องหนักใจอยู่ฝ่ายเดียว เป็นไปได้ไหมที่เราจะมานั่งมองกันว่าเราจะไปทิศไหนดี ซึ่งจริง ๆ เราไม่ได้คุยแค่เลี้ยวตรงนี้ เราคุยถึงปลายทางโน่นเลย มันต้องมีการตัดสินใจตามจุดต่าง ๆ เพื่อให้เรามั่นใจว่าไปถึงปลายทางเราอยากได้


ความกลัวที่สุดของคนที่อยู่ในระยะท้ายคืออะไร 

มันมีหลายมิตินะ คือคนส่วนหนึ่งอาจจะกลัวความเจ็บปวด ทรมาน คนส่วนหนึ่งอาจจะบอกไม่เป็นไร คือตัวผมเจ็บไม่ว่า แต่ผมห่วงคนอื่น เช่น ถ้าผมอยู่ภาวะที่อยู่บนเตียง แล้วให้คนรอบข้างมานั่งดูแลผมอย่างนี้ ผมไม่โอเคเลย ไม่สบายใจ หรือบางคนก็บอกว่าขอมีชีวิตอยู่ข้ามปีงบประมาณ เพราะมันมีผลต่อเรื่องเงินบำเหน็จบำนาญ เพราะฉะนั้น คนแต่ละคนมี value ในตัวเขาที่มันต่างกัน จุดตรงนี้มันเป็นจุดสำคัญในฐานะของหมอที่ต้องดึงตัวนี้ออกมาให้ได้ 


คุณหมอเองเคยคิดถึงระยะท้ายของตัวเองบ้างไหม 

ผมเหรอครับ ก็เคยคิดนะ เวลาเห็นคนไข้วัยเดียวกัน คนวัยเราเข้าระยะท้ายก็เยอะ จริง ๆ การเข้าใกล้ความตาย ผมก็รู้สึกโอเค ปล่อยวางได้ดีขึ้น ถ้าตายก็ไม่เป็นไร


อันนี้ขึ้นอยู่กับการจัดการชีวิตของตัวเองนะ เพราะแต่ละคนก็มีความห่วงแตกต่างกัน แต่ผมโอเคว่า ณ จุดนี้ อยู่มาถึงในระดับนี้ ได้ทำหลายอย่างที่เราอยากทำ ถามว่าตอนนี้ก็โอเค คือไปแล้วก็ไม่ได้ห่วงอะไร อาจารย์ผมบอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดของคนที่กำลังจะไป คือการวางเรื่องต่าง ๆ ที่ทำให้เรายังห่วง ถ้าวางได้หมดไม่ว่าด้วยวิธีอะไรก็ตาม อาจจะใช้ศาสนา การปฏิบัติ หรือมีการวางแผนที่ดี เมื่อถึงวันนั้นจริง ๆ เราไปได้โดยที่ไม่ต้องห่วงอะไร อันนั้นคนไข้ก็สามารถไปได้อย่างสงบ ในขณะเดียวกัน คนที่ยังอยู่ก็ต้องตอบให้ได้ว่า วันหนึ่งเมื่อไม่มีคนไข้คนนี้อยู่แล้ว เขาจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร สองประเด็นนี้มันก็เลยเป็นหลักที่เราดูกันว่า พอเข้าไปสื่อสารกับแต่ละคน นอกจากความต้องการแล้ว เราก็ต้องไปดูว่าถ้าเขาอยู่ในจุดที่เขายังวางไม่ได้ เรื่องอะไรบ้างที่เขาวางไม่ได้


แล้วคุณพ่อคุณแม่ของคุณหมอได้บอกไว้หรือยังว่าระยะท้ายต้องการอะไร

คุณแม่ผมสั่งไว้เลยว่า ห้ามทำอะไร อันนี้เราคุยกันได้ครับที่บ้าน ไม่ได้มีประเด็นอะไรเลย คือแบบที่ผมดูแลอยู่ ไม่เจาะนู่น ไม่เจาะนี่ มองไปว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติที่ควรจะเป็น อะไรที่มันเป็นการเกินเลยไป แล้วเป็นการยื้อ คุณแม่บอกแล้วว่าไม่เอา ซึ่งจริง ๆ แล้วคนส่วนใหญ่ที่ยอมรับไม่ได้คือตัวลูกมากกว่า 


ผมรู้สึกว่าการทำตามความต้องการของคนที่เรารัก น่าจะเป็นหน้าที่ที่เราพึงปฏิบัติมากกว่าการที่เราพยายามยื้อเขา เพราะว่าบางทีการยื้อเขา มันก็วนมาที่ความรู้สึกของเราเอง

a day BULLETIN avatar image
เรื่องโดยa day BULLETINชีวามิตรเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดี และจากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads