- คลังความรู้
- วางแผนสุขภาพล่วงหน้าเพื่อปลายทางที่เป็นสุขใน 5 มิติ
วางแผนสุขภาพล่วงหน้าเพื่อปลายทางที่เป็นสุขใน 5 มิติ
เพื่อเป้าหมายของการ “อยู่ดี” และ “ตายดี”
เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชีวามิตรเผยแพร่องค์ความรู้ทั้ง 5 มิติ คือ มิติการแพทย์ มิติจิตใจ มิติสังคม/สื่อสาร มิติกฎหมาย และมิติเศรษฐกิจ เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนชีวิตให้ “อยู่ดี” และนำไปสู่ลมหายใจสุดท้ายที่เป็นสุข หรือ “ตายดี” ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งแนวทางนี้สอดคล้องกับการวางแผนสุขภาพล่วงหน้า (Advance Care Planning) ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care)
โดยในเบื้องต้น เราจะมาทำความเข้าใจกับวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้า ผ่าน 5 ขั้นตอนง่าย ๆ ซึ่งเป็นคำแนะนำที่เป็นประโยชน์มากจากวิดีโอ GSF Advance Care Planning (คลิกดูที่ https://youtu.be/i2k6U6inIjQ) ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 คิด วางแผนอนาคตด้วยการตั้งคำถามกับตัวเอง ...ถ้าฉันเจ็บป่วยจะทำอย่างไร ...ใครจะตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ แทนฉัน
ขั้นตอนที่ 2 คุย พูดคุยแผนต่าง ๆ กับคนใกล้ชิด ครอบครัว ญาติ เพื่อน แพทย์ หรือที่ปรึกษาด้านสุขภาr
ขั้นตอนที่ 3 บันทึก บันทึกสิ่งที่ต้องการ สิ่งที่ไม่ต้องการ หากเจ็บป่วย สิ่งที่อยากให้คนใกล้ชิด หรือครอบครัวทำ หรือดูแลให้
ขั้นตอนที่ 4 ปรึกษา หารือกับที่ปรึกษาด้านสุขภาพ และด้านอื่น ๆ ในประเด็นหลักคือ หากเจ็บป่วยต้องการให้ทำอะไร ไม่ต้องการให้ทำอะไร และใครจะเป็นผู้ตัดสินใจแทน
ขั้นตอนที่ 5 สื่อสาร สื่อสารเรื่องแผนดูแลสุขภาพที่ทำไว้ให้คนที่เกี่ยวข้องทุกคนรับรู้ และเข้าใจในทิศทางที่ตรงกัน
เมื่อเราได้ 5 ขั้นตอนนี้แล้ว จากนั้นก็มาลงรายละเอียดในการวางแผนแต่ละมิติ ดังนี้
มิติการแพทย์
คิด - ถ้าเจ็บป่วยจะดูแลรักษาตามแนวทางไหน แพทย์ หรือทีมสุขภาพที่ดูแลคือใคร สิ่งที่ต้องการหรือไม่ต้องการในการดูแลรักษาคืออะไร
คุย - ให้ครอบครัว ญาติ คนใกล้ชิด เพื่อน แพทย์หรือทีมสุขภาพ รับรู้แผนการดูแลรักษาที่คิดไว้
บันทึก - เขียน หรือพิมพ์ความต้องการและไม่ต้องการในการได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์ เช่น ไม่ต้องการให้ยื้อชีวิตด้วยเครื่องมือต่าง ๆ หากถึงวาระสุดท้าย เป็นต้น
ปรึกษา - นำแผนมาหารือกับทีมสุขภาพ พร้อมด้วยครอบครัว และคนจะตัดสินใจแทนเมื่อสื่อสารไม่ได้
สื่อสาร - ทำความเข้าใจเรื่องแผนกับครอบครัว ญาติ คนใกล้ชิด เพื่อน แพทย์ หรือทีมสุขภาพให้ตรงกัน
มิติจิตใจ
คิด - สิ่งที่ยึดเหนี่ยวด้านจิตใจ สิ่งที่ทำแล้วมีความสุข สิ่งที่ติดค้างในใจคืออะไร
คุย - พูดคุยกับครอบครัว ญาติ คนใกล้ชิด เพื่อน แพทย์หรือทีมสุขภาพ ให้รับรู้ถึงความสุข ความต้องการที่แท้จริง รวมถึงการพูดคุยเพื่อปลดล็อคสิ่งติดค้างในใจ
บันทึก - เขียนหรือพิมพ์ความต้องการ และไม่ต้องการในการได้รับการดูแลด้านจิตใจ เช่น ต้องการเสียชีวิตที่บ้านเพื่ออยู่กับครอบครัวและลูกหลาน เป็นต้น
ปรึกษา - ทบทวนความคิดและแผนกับผู้ที่มีบทบาทด้านจิตใจ เช่น ผู้นำทางศาสนาที่นับถือ จิตแพทย์ บุคคลที่ไว้วางใจ เป็นต้น
สื่อสาร - ทำความเข้าใจกับครอบครัว ญาติ คนใกล้ชิด เพื่อน แพทย์ หรือทีมสุขภาพให้ตรงกัน
มิติสังคม/สื่อสาร
คิด - คนที่อยากให้อยู่ด้วย สถานที่ที่อยากอยู่ในระยะท้าย คนที่จะตัดสินใจแทนคือใคร
คุย - พูดคุยกับครอบครัว ญาติ คนใกล้ชิด เพื่อน แพทย์หรือทีมสุขภาพ ให้รับรู้ถึงแผนที่วางไว้
บันทึก - เขียนหรือพิมพ์ความต้องการ และไม่ต้องการให้ชัดเจน
ปรึกษา - ทบทวนความคิดและแผนกับครอบครัว แพทย์ และทีมสุขภาพ
สื่อสาร - ทำความเข้าใจกับครอบครัว ญาติ คนใกล้ชิด เพื่อน แพทย์ หรือทีมสุขภาพให้ตรงกัน
มิติกฎหมาย
คิด - ต้องการและไม่ต้องการอะไรในการดูแลรักษาเมื่อเข้าสู่ระยะท้าย คนที่จะตัดสินใจแทนเมื่อสื่อสารไม่ได้คือใคร ต้องทำพินัยกรรมไหม จะจัดเอกสารทางกฏหมายต่าง ๆ ล่วงหน้าอย่างไร
คุย - พูดคุยกับครอบครัว ญาติ คนใกล้ชิด เพื่อน แพทย์หรือทีมสุขภาพให้รับรู้ถึงแผนที่วางไว้
บันทึก - ทำหนังสือแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิต (Advance Directive) หรือ Living Will
ปรึกษา - นำ Living Will มาหารือกับครอบครัว ผู้มีความรู้ด้านกฎหมาย แพทย์และทีมสุขภาพ
สื่อสาร - ให้ครอบครัว ญาติ คนใกล้ชิด เพื่อน แพทย์ หรือทีมสุขภาพรับรู้ และมีเอกสารสำเนา Living Will ฉบับล่าสุด
มิติเศรษฐกิจ
คิด - แผนการเงินสำหรับกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือระยะท้าย สิทธิด้านสุขภาพของภาครัฐที่มีอยู่จะใช้ในการดูแลรักษาอย่างไร แผนประกันชีวิต การจัดการมรดกเมื่อเสียชีวิต
คุย - พูดคุยกับครอบครัว ญาติ คนใกล้ชิด เพื่อน แพทย์หรือทีมสุขภาพให้รับรู้ถึงแผนที่วางไว้
บันทึก - เขียนหรือพิมพ์แผนต่าง ๆ ให้ชัดเจน รวมถึงรายละเอียดอื่น ๆ ด้านเอกสาร และการจัดการทรัพย์สิน
ปรึกษา - นำแผนมาหารือและทบทวนอีกครั้งกับครอบครัว ผู้มีความรู้ด้านการเงิน
สื่อสาร - ให้ครอบครัว ญาติ คนใกล้ชิด เพื่อน และคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องรับรู้
แม้ว่าการวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้า (Advance Care Planning) จะเป็นกระบวนการที่เน้นในมิติการแพทย์ แต่การทบทวนและวางแผนให้ครอบคลุมในมิติอื่น ๆ ด้วย จะทำให้แผนดูแลสุขภาพล่วงหน้านั้นมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น