Knowledge cover image
11 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. วางแผนดูแลชีวิตด้วยสิทธิในระบบประกันสุขภาพของรัฐ

วางแผนดูแลชีวิตด้วยสิทธิในระบบประกันสุขภาพของรัฐ

รู้จักสิทธิ 3 กองทุนหลัก เพื่อประโยชน์ในการวางแผนดูแลสุขภาพและการเงินในบั้นปลายของชีวิต


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

สิทธิในระบบประกันสุขภาพ ที่รัฐมีให้กับคนไทยนั้นมีอยู่ 3 กองทุนหลัก คือ

...กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง)

...กองทุนประกันสังคม

...สวัสดิการข้าราชการ


ปัจจุบัน คนไทยกว่าร้อยละ 99 อยู่ภายใต้สิทธิของกองทุนใดกองทุนหนึ่ง ซึ่งแต่ละกองทุนก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียด จึงเป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนควรเรียนรู้ เพื่อใช้สิทธิได้อย่างถูกต้อง และสามารถนำมาใช้ในการวางแผนดูแลคุณภาพชีวิตระยะท้ายไปจนถึงลมหายใจสุดท้ายได้


คุณพิสิษฐ์ ศรีอัคคโภคิน นักกฎหมาย และผู้ชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อธิบายเพิ่มเติมว่า สาระสำคัญของทั้ง 3 กองทุน คือ การเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลกับรัฐ จึงเป็นนโยบายรัฐสวัสดิการในรูปแบบหนึ่งที่ช่วยลดต้นทุนให้กับประชากร โดยเป็นสวัสดิการเฉพาะในเรื่องการรักษาพยาบาลเท่านั้น ซึ่งทั้ง 3 กองทุนครอบคลุมการรักษาพยาบาลตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิตเหมือนกัน


เมื่อมาดูในรายละเอียดในแต่ละกองทุนจะพบว่ามีความแตกต่างกันในรายละเอียด  เช่น สวัสดิการข้าราชการและกองทุนประกันสังคม กำหนดให้ใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเท่านั้น ส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ครอบคลุมการรักษาพยาบาลทั้งในโรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือนอกสถานพยาบาล ผู้ป่วยระยะท้ายสามารถเลือกได้ว่าจะรับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล หรือนอกโรงพยาบาล (ที่บ้าน/สถานที่อื่น)


ดังนั้น สิทธิบัตรทองจึงมีจุดเด่นสำหรับการดูแลระยะท้าย หรือดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ติดเตียง เพราะผู้มีสิทธิจะเลือกไม่ไปสถานพยาบาล แต่ดูแลอยู่กับบ้านได้ โดยอยู่ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์ และใช้กระบวนการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) หรือการดูแลระยะยาว (Long Term Care) และต้องยอมรับว่าจะไม่มีกระบวนการรักษาเพื่อยื้อชีวิต โดยกองทุนจะจ่ายเงินให้ทีมเยี่ยมบ้าน ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ หรืออาสาสมัครในพื้นที่ ผู้ป่วยก็จะได้รับการดูแลทางการแพทย์แม้ออกมาดูแลที่บ้าน ทำให้การดูแลระยะสุดท้ายที่บ้านสามารถทำได้จริงภายใต้สิทธินี้


ในขณะที่กองทุนประกันสังคมก็มีจุดเด่นแตกต่างออกไป คือ เป็นการออกเงินช่วยจาก 3 ส่วน คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ ทำให้มีเงินก้อนหนึ่งสำหรับผู้ประกันตนตอนเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี  รวมทั้งมีเงินชดเชยเมื่อคลอดบุตร พิการ หรือตายในระหว่างประกันตนอีกด้วย ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมจึงควรประเมินว่าจะมีเงินก้อนเมื่อเกษียณเท่าไหร่ เพียงพอต่อการดูแลชีวิตหลังเกษียณหรือไม่ เป็นต้น  


ผู้มีสิทธิภายใต้กองทุนที่แตกต่างกัน จึงต้องวางแผนเพื่อชีวิตระยะท้ายต่างกัน โดยควรศึกษารายละเอียดกองทุนที่ตนเองอยู่ภายใต้สิทธินั้นให้เข้าใจว่า ครอบคลุมบริการสาธารณสุขใดบ้าง มีเงื่อนไขอย่างไร แล้วนำมาวางแผนร่วมกับแผนทางการเงิน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้จนถึงลมหายใจสุดท้าย


ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรชีวามิตรเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีคุณภาพชีวิตระยะท้ายที่ดี และจากไปอย่างมีความสุข

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads