- คลังความรู้
- ดูแลพ่อแม่แบบมนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่
ดูแลพ่อแม่แบบมนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่
เตรียมพร้อมรอบด้านแบบคนวัยทำงาน
เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร
คนในวัยทำงานจำนวนไม่น้อยในวันนี้ เป็นผู้ที่รับบทบาทในการดูแลพ่อแม่ที่สูงวัย บางคนอาจเตรียมพร้อมอย่างดีมาก่อน แต่บางคนที่แทบไม่ได้เตรียมพร้อมล่วงหน้า แน่นอนว่าต้องเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ไม่ว่าจะเรื่องการเงิน หรือสภาพจิตใจ
ชีวามิตรมีโอกาสพูดคุยกับ ดร.รพีรัฐ ธัญวัฒน์พรกุล ที่ปรึกษาธุรกิจมืออาชีพ อาจารย์พิเศษในหลายสถาบัน รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งเพจ “มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม” และ The Practical.co ซึ่งมีแนวคิดและมุมมองดี ๆ สำหรับมนุษย์เงินเดือนในการวางแผนเตรียมพร้อม หากต้องรับบทบาทผู้ดูแลพ่อแม่ในยามสูงวัย มาฝากกัน
“ในชีวิตเรา มีครอบครัว พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือแม้แต่พี่น้อง ที่เราเป็นผู้ได้รับเกียรติในการดูแลในยามที่พวกเขาเหล่านั้นสูงวัย หรือเจ็บป่วย เป็นการดูแลทั้งในเรื่องการเงิน สุขภาพ จิตใจ” ดร.รพีรัฐ กล่าว “ในมุมมองของผมคิดว่า การวางแผนไว้แต่เนิ่น ๆ เป็นเรื่องที่ดีที่สุด ถ้าพ่อแม่ยังอยู่ในวัยที่ทำประกันได้ ก็ควรทำให้ท่านไว้เลย เพราะค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุนั้นสูงมาก เพราะผู้สูงอายุมีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย ถ้าทำประกันอย่างมาตลอดก็จะช่วยค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ แต่ก็มีหลายคนที่พ่อแม่ไม่ได้ทำประกันเอาไว้ หรือสูงวัยมากจนประกันไม่รับแล้ว ตรงนั้นเราก็ต้องมีการวางแผนไว้ด้วย”
ดร.รพีรัฐ ให้แนะนำต่อไปว่า “ให้เราแบ่งเงินรายได้ที่มีไว้สัก 5-10% ของทุกเดือน เพื่อเป็นกองทุนสำหรับบุคคลที่เรารักในยามเจ็บป่วย แต่ถ้าท่านไม่เจ็บป่วยอะไร เงินกองนี้ก็ยังอยู่ โดยอาจนำไปลงทุนในกองทุนรวม หรือสินทรัพย์อะไรก็ได้ให้ออกดอกออกผล ปกติเวลาพ่อแม่เข้าโรงพยาบาล เราอาจจะใช้บัตรเครดิตจ่ายเงินไปก่อน แล้วเราค่อยนำเงินที่สะสมไว้ในกองนี้มาชำระค่าบัตรเครดิตอีกทีภายหลัง ซึ่งยังใช้ได้ในกรณีที่ทำประกันไว้แล้ว ประกันสุขภาพครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ระดับหนึ่ง แต่เกิดมีค่าใช้จ่ายที่เกินกว่านั้นต้องจ่าย เงินสำรองส่วนนี้ก็จะนำมาใช้ได้
“ในมุมมองส่วนตัวของผม หากเจ็บป่วยมาก แล้วต้องยื้อชีวิตโดยใช้เงินจำนวนมากมาย แล้วมันไม่จำเป็น หรือรักษาโรคที่เป็นให้หายไม่ได้ ผมเลือกที่จะไม่ยื้อ เพราะผมคำนวณในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้วว่า ถ้าต้องนำเงินที่มีทั้งหมดมารักษาตัวผม มันก็ไม่ยุติธรรมกับคนข้างหลัง ครอบครัวน่าจะมีชีวิตที่สุขสบายหากผมจากไปแล้ว ผมเคยอยู่ในสภาพที่มีคนในครอบครัวเจ็บป่วย ทุกคนก็ทุกข์ทรมาน เสียใจ ทั้งคนป่วย ทั้งคนในครอบครัว แน่นอนว่าไม่มีใครอยากป่วย แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้ว เป็นโรคที่รักษาหายยาก หรือไม่หาย แล้วต้องเห็นคนที่อยู่รอบตัวเสียอกเสียใจไปกับเราด้วย เรานี่แหละจะเป็นคนที่เสียใจหนักที่สุด”
สำหรับแง่คิดดี ๆ ที่ ดร.รพีรัฐ ฝากไว้ให้กับเหล่ามนุษย์เงินเดือน หรือคนทำงานนั้น ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก
“ผมคิดว่ามันต้องเป็นข้อตกลงร่วมกันกับสมาชิกในครอบครัวว่า ถ้าเกิดเรื่องแบบนี้กับพ่อแม่ หรือพี่น้องเรา จะเลือกทางไหน พ่อแม่อยากให้เลือกทางไหน ตกลงกันตั้งแต่วันนี้ดีที่สุด ในวันที่ยังพูดคุยเตรียมการกันได้ สำหรับผม ผมขอเลือกแบบนี้ เพราะอยากให้คนที่ยังอยู่ มีความทรงจำที่ดีและไม่เดือดร้อนกับการจากไปของเรามากกว่า
“อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ผมมองว่า การเจ็บป่วยของผู้สูงอายุ สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เรื่องของจิตใจ เมื่อถึงวัยที่ต้องเจ็บป่วย ต้องตาย ก็อยากมีความสุขมากที่สุด ถ้าร่างกายมันสู้ไม่ไหว จิตใจก็ต้องยอมรับให้ได้ มันจึงจะเป็น End of life หรือปลายทางชีวิตที่มีความสุข มากกว่ามานั่งคิดแต่ว่า ทำไมเราต้องเป็นแบบนี้ ทำไมต้องเจ็บป่วยแบบนี้
“ถ้าชีวิตคนเราเกิดมา ควรต้องเป็นตำนานสักบทหนึ่ง ไม่ใช่ตำนานที่ยิ่งใหญ่อะไร แค่อยากให้ลูก ภรรยา หรือคนที่อยู่ใกล้ชิด รู้สึกว่าเราคือคนที่ดีที่สุดสำหรับเขา อย่างน้อยความทรงจำทั้งหมดคือเรื่องดีงามที่สุด ผมคิดว่าควรทำสิ่งที่ดีต่อกันในวันที่ยังมีชีวิตอยู่ดีกว่า วางแผน คุยกัน อย่ามาบอกรักกันในวันที่ต้องนอนบนเตียงแล้ว”