Knowledge cover image
11 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. เตรียมพร้อมวันนี้ เพื่อวันสุดท้าย

เตรียมพร้อมวันนี้ เพื่อวันสุดท้าย

การวางแผนจนถึงปลายทางชีวิตเป็นสิ่งที่ควรทำเสียตั้งแต่วันนี้


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

ประสบการณ์จาก คุณนัทยา ธาราฉัตร ที่ย้ำให้เราตระหนักเสมอว่า การวางแผนเตรียมตัวตายนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย 



“การวางแผนล่วงหน้าเอาไว้ก่อน อย่างน้อยทำให้เราได้คิดใคร่ครวญอย่างรอบคอบในเวลาที่มีสติเพียงพอจะคิดได้ เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น คนเรามักขาดสติ ตั้งตัวไม่ทัน จนอาจตัดสินใจอะไรไปด้วยอารมณ์ ความเกรงใจ หรือค่านิยม แม้กระทั่งเพื่อรักษาภาพพจน์​ดี ๆ เอาไว้

เราทุกคนรู้ดีว่า วันหนึ่งก็ต้องจากโลกนี้ไป การเตรียม​ชีวิตให้พร้อมจนถึงวันสุดท้ายย่อมดีกว่าต้องมานึกเสียใจย้อนหลังที่ไม่ได้เตรียมการอะไรไว้เลย


ประสบการณ์นี้เป็นความทรงจำเมื่อ 7 ปีก่อน แต่ยังแจ่มชัดในความทรงจำ ยังรู้สึกเจ็บปวดลึก ๆ อยู่ในใจ และยากที่จะเล่าออกมาโดยไม่เสียน้ำตา


ตอนนั้นพ่อป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล คุณหมอได้ประชุมลูก ๆ และแจ้งข่าวร้ายว่า พ่อเป็นมะเร็งปอดขั้นสุดท้าย และคงไม่ได้กลับบ้าน พวกเราไม่ได้บอกให้พ่อรู้ แต่เมื่อต้องเทียวไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ พ่อก็ถามคุณหมอเองเลยว่า ...ผมเป็นมะเร็งใช่ไหม และบอกว่า ...ถ้าถึงเวลา ผมก็อยากกลับไปหาพ่อแม่ผมเหมือนกัน เมื่อได้ยินอย่างนั้น เรารู้สึกเศร้ามาก


หมอรักษาพ่อตามขั้นตอน และเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ พ่อสู้ทุกอย่าง ทำทุกอย่างที่มีแนวทางการรักษามาเสนอ จนมาถึงการเจาะคอ ตอนคุณหมอถาม เรายังไม่ค่อยเข้าใจถึงผลกระทบ พอพูดคุยกับพี่น้องและญาติ ญาติสนิทบางคนไม่เห็นด้วย มองว่าเป็นการทรมาน แต่พ่อยินดีทำ เราจึงทำตามความต้องการของพ่อ


ตอนนั้นการตัดสินใจทุกอย่างไม่มีแม่ร่วมด้วยเลย เพราะแม่เริ่มเป็นอัลไซเมอร์แล้ว เวลาตามพ่อไปโรงพยาบาล แม่ก็จะพาพ่อกลับบ้านให้ได้ เสียงดังกับคุณหมอและพยาบาล พ่อจึงตัดสินใจไม่ให้แม่มาเยี่ยมหรือมาเฝ้า เพราะกลัวว่าแม่จะดึงสายอะไรต่าง ๆ ออก


เราพาแม่กลับคอนโด แม่ยังจำได้ว่าทิ้งพ่อไว้ที่โรงพยาบาล จะกลับไปโรงพยาบาลให้ได้ แม่ใช้เล็บข่วนและจิกเราเต็มแขน ทั้งที่ไม่เคยตีเรามาก่อนเลยในชีวิต เราทั้งตกใจและเสียใจ โทรหาน้องชายให้ปลอมเสียงเป็นคุณหมอของพ่อ สั่งให้แม่รอที่บ้าน แม่ถึงยอม


ส่วนพ่อเมื่อเจาะคอก็พูดไม่ได้ แต่มีสมุดหนึ่งเล่มไว้เขียนสั่งสิ่งที่เป็นห่วงอยู่ หรือพอคิดออก เราทำบัตรคำง่าย ๆ เช่น คัน ปวด เรียกหมอ เอาไว้เพื่อให้สื่อสารกันง่ายขึ้น ลูก 4 คนผลัดกันมาเฝ้า เราพลิกดูสมุดของพ่อ หลัง ๆ มีประโยคซ้ำ ๆ เช่น อยากกลับบ้าน อยากกลับบ้านมาก จะกลับบ้าน ช่วงท้าย ๆ ของชีวิต พ่อก็ยังเขียนประโยคเดิม แต่ตัวหนังสือเริ่มโย้เย้ตามเรี่ยวแรงที่ถดถอยลง 


พ่อเขียนให้บอกคุณหมอว่า ขอกลับบ้าน แต่คุณหมอบอกว่าทำไม่ได้เพราะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ พ่อจึงเขียนบอกว่า จะขอซื้อกลับบ้านเครื่องหนึ่ง คุณหมอบอกว่าเครื่องราคาแพงมากเป็นสิบล้าน พ่อก็อึ้งไป


พ่อรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ 3 เดือนก็จากไป เมื่อพ่อจากไปได้สัก 2 ปี เราไปทำบุญรวมรุ่นให้เพื่อนและอาจารย์​ที่ล่วงลับ ได้พบคุณหมอเมย์ (ศาสตราจารย์ ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร) เล่าให้ฟังเรื่องเยือนเย็น ตอนนั้นแปลกใจมากว่ามีองค์กรแบบนี้ด้วยหรือ เป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้กลับบ้านไปเสียชีวิตที่บ้าน ยังนึกเสียดายว่า นี่ตรงตามความต้องการสุดท้ายของพ่อเราจริง ๆ


เราจึงคิดเรื่องการดูแลแม่ แม่เป็นอัลไซเมอร์มา 9 ปีแล้ว อาการแย่ลงอย่างช้า ๆ ลืมชื่อลูกบ้างบางเวลา แต่ยังยิ้มเวลาถูกแซว ยังดีใจเมื่อได้ออกไปนั่งรถเที่ยว ยังเอ็ดเสียงดังใส่แหววผู้ดูแลได้เมื่อไม่สบอารมณ์ 


ย้อนไปเมื่อตอนงานศพพ่อ เราสงสารแม่มาก เพราะแม่ตกใจใหม่ทุกวันตลอดงานศพว่า พ่อไม่อยู่แล้ว และยังตกใจต่อทุกวันเป็นเวลานับเดือน 


แม่เรียนจบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และไปเรียนต่อต่างประเทศเมื่อจบปี 2 แม่ชอบอ่าน ชอบเขียน เป็นครูสอนวรรณคดีอังกฤษ เป็นนักเขียน และเป็นบรรณาธิการ​หนังสือหลายเล่ม รวมถึงนิตยสารชื่อ “อาวุโส” ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และยังเป็นจิตอาสาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ​ทำกิจกรรมให้ผู้ป่วยสูงอายุ แม่เคยเล่าอย่างภาคภูมิใจว่า สามารถหาทุนจนได้รถตู้มา 1 คันไว้รับส่งผู้สูงอายุจากชุมชนคลองเตย มาร่วมกิจกรรม ฝึกความจำ ไม่ให้ลืมง่าย เรารู้สึกสะท้อนใจว่า แม่เคยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้คนแก่ฝึกความจำแท้ ๆ สุดท้ายกลับเป็นอัลไซเมอร์เสียเอง



จำได้ว่าตอนมัธยมปลาย (ประมาณ 36 ปีก่อน) แม่เคยเรียกไปหาแล้วบอกว่า เขียน Liiving Will ไว้ ให้อ่านแล้วเซ็นชื่อด้วย เราเอามาอ่านดูก็ยังไม่เข้าใจ คาดว่าตอนนั้นแม่คงแปลและได้ไอเดียมาจากบทความของหมอต่างประเทศ เพราะแม่ต้องหาข้อมูลเพื่อเขียนลงนิตยสารอาวุโส


ตอนนั้นเราอ่านแล้วก็ไม่ค่อยสบายใจ เพราะมันเกี่ยวกับความตาย การเลือกจะไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจ และอะไรอีกมากมาย แต่เห็นแววตาจริงจังของแม่จึงลงชื่อไป แม่เก็บกระดาษแผ่นนั้นใส่ลิ้นชัก และไม่ได้เรียกใครมาเซ็นอีก


วันที่ได้พบคุณหมอเมย์ เราเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง หมอยังบอกว่า 30 กว่าปีเชียวหรือ ถือว่าคุณแม่ทันสมัยมาก พอกลับบ้าน เราไปหากระดาษแผ่นนั้นก็ไม่เจอเสียแล้ว 


มาถึงวันนี้ เราเล่าเรื่องนี้ให้พี่น้องฟัง และบอกว่าควรรีบให้แม่ทำ Living Will ไว้ มานั่งพูดคุยกันสบาย ๆ ในตอนที่แม่ยังพอเข้าใจและตัดสินใจเองได้ รวมถึงตัวพวกเราเองด้วยก็ควรทำไว้เหมือนกัน เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่จนวันนี้ยังไม่มีลูกคนไหนอยากจับเรื่องแผนการตายดีขึ้นมาพูดกับแม่เลย


ประสบการณ์ทั้งจากพ่อและแม่ ทำให้คิดว่า ใครจะไปรู้ว่าชาติหน้ากับวันพรุ่งนี้ อะไรจะมาถึงก่อนกัน ทุกคนควรเตรียมตัวไว้เพื่อความสบายใจของตัวเอง และคนรอบข้างที่เรารัก นี่ทำให้เราสมัครคอร์ส “วิถีสู่ความตายอย่างสงบ สมศักดิ์ศรี” ของชีวามิตร และคิดว่าจะได้รื้อฟื้นการวางแผนชีวิต โดยรู้ทั้งแง่มุมทางการแพทย์และกฎหมาย เพื่อเตรียมการสำหรับช่วงสุดท้ายของชีวิตได้ดียิ่งขึ้น”

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรเรียบเรียงจากเรื่องเล่าของ คุณนัทยา ธาราฉัตร

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads