Knowledge cover image
13 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. การแต่งตั้งผู้พิทักษ์และผู้อนุบาลไว้ล่วงหน้า

การแต่งตั้งผู้พิทักษ์และผู้อนุบาลไว้ล่วงหน้า

ประเด็นกฎหมายสำหรับสังคมผู้สูงวัย


เรื่องโดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

ท่านผู้อ่านคงทราบว่า ผมทำหน้าที่เป็นประธาน บริษัท ชีวามิตรวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยภารกิจหลักของชีวามิตร คือ การรณรงค์เผยแพร่ความรู้เรื่องการเตรียมตัวจากไปอย่างมีความหมาย และสนับสนุนให้มีการทำพินัยกรรมชีวิต (Living Will) เพื่อให้ผู้ป่วยระยะท้ายจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ โดยสามารถทำให้ผู้ป่วยระยะท้ายหรือแม้แต่ผู้สูงวัยที่ยังมีสุขภาพสมบูรณ์ สามารถแสดงเจตนาของตนเองให้มีกระบวนการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) รวมทั้งการจัดการเรื่องการรักษาพยาบาล และการจัดการชีวิตในขณะเจ็บป่วย หรือเมื่อถึงวาระสุดท้ายเมื่อจากไป ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคอวัยวะ การจัดงานศพ หรืองานกุศลอื่น ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อผู้ป่วยระยะสุดท้ายเหล่านั้นสามารถอยู่อย่างมีความหมาย และจากไปอย่างมีความสุขหรือ ที่เรียกว่า Happy Leaving Journey รวมถึงครอบครัวของผู้ป่วยหรือแม้แต่ผู้สูงอายุที่ไม่ได้ป่วย


จากที่ได้มีประสบการณ์การทำเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ผมได้พบประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่เกิดขึ้นสำหรับผู้สูงวัยที่เป็นทั้งผู้ป่วยระยะท้าย หรือผู้ป่วยทางด้านสมอง หรือผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่มีคนในครอบครัวดูแลว่า กระบวนการจัดการทรัพย์สินของผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุดังกล่า วกลับกลายเป็นปัญหาที่ผู้ป่วย หรือครอบครัวของผู้ป่วยต้องประสบในการบริหารจัดการทรัพย์สิน และการจัดการชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจในเรื่องการอยู่อาศัย การเลือกผู้ดูแล หรือการรักษาพยาบาล  


ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยได้รับความเจ็บป่วยระยะท้าย รวมทั้งผู้สูงอายุบางคนที่อาจจะสูญเสียความสามารถในการสื่อสาร ในการตัดสินใจ หรือการดูแลตัวเอง รวมทั้งความสามารถในการจัดการทรัพย์สิน การใช้ชีวิต ทางกฎหมายมีบุคคลสองประเภทที่กฎหมายกำหนดให้มีการตั้งผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาลผู้ป่วย ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าเป็น "ผู้ดูแล"


การแต่งตั้งผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล: อำนาจหน้าที่

ผู้พิทักษ์จะได้รับการแต่งตั้งก็ต่อเมื่อบุคคลผู้ป่วยนั้นตกเป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ โดยกฎหมายให้หมายถึงบุคคลที่มีจิตผิดปกติ สมองพิการ มีความผิดปกติในการเจริญเติบโตด้านร่างกายและพัฒนาการ ในลักษณะที่ไม่สามารถทำงานได้เช่นบุคคลธรรมดา มีความประพฤติสุรุ่ยสุร่าย เสเพลเป็นอาจิณ ติดสุรายาเสพติด ชราภาพ ซึ่งอยู่ในลักษณะที่ไม่สามารถจัดการงานได้ด้วยตนเอง หรือจัดการไปในทางที่เสื่อมเสียแก่ตนเองและครอบครัว จนทำให้ต้องตกอยู่ในความดูแลของผู้พิทักษ์ตามกฎหมาย


โดยทั่วไป ผู้เสมือนไร้ความสามารถนั้นยังสามารถทำนิติกรรมต่าง ๆ ได้ ซึ่งรวมถึงการทำพินัยกรรมก็จะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่จะมีนิติกรรมบางประเภท เช่น การนำทรัพย์สินไปลงทุน กู้ยืมเงิน หรือรับการให้โดยมีเงื่อนไข ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการจัดการทรัพย์สินเงินทอง นิติกรรมเหล่านั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำการได้ หรือต้องมีคำสั่งศาลให้ผู้พิทักษ์มีอำนาจกระทำการนั้นแทน


สำหรับกรณีผู้ไร้ความสามารถ หมายถึง บุคคลที่มีอาการไม่ปกติ สติไม่สมบูรณ์ มีอาการทางจิตผิดปกติ หรือจริตวิกลอย่างมาก ไม่สามารถตัดสินใจอะไรเองได้ ไม่สามารถประกอบกิจการงานของตน หรือประกอบกิจการส่วนตัวของตนได้ โดยอาการผิดปกตินั้นต้องเกิดขึ้นเป็นประจำ ผู้ไร้ความสามารถที่เป็นผู้ป่วยหลัก ได้แก่ ผู้ป่วยเนื้องอกในสมองที่นอนติดเตียง โรคสมองเสื่อมสมองพิการ ไม่มีโอกาสรักษาหาย ไม่มีสติสัมปชัญญะ ต้องอยู่ในความดูแลของผู้อนุบาลตามกฎหมาย


การทำนิติกรรมของผู้ไร้ความสามารถหากกระทำไปก็อาจจะมีผลเป็นโมฆียะ ซึ่งนิติกรรมนั้นอาจจะถูกบอกล้าง หรือการให้สัตยาบันได้โดยผู้อนุบาล ดังนั้น การทำนิติกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำพินัยกรรมหรือโดยการทำสัญญาอื่น ๆ จะต้องกระทำโดยผู้อนุบาลเท่านั้น


ใครที่ยื่นคำร้องและเป็นผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาลได้บ้าง และศาลจะแต่งตั้งใครได้บ้าง

การยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อแต่งตั้งผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ตามกฎหมายไทย บุคคลที่จะมีสิทธิร้องขอต่อศาลเพื่อเป็นผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาลนั้น ได้แก่ คู่สมรสที่จดทะเบียนกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้สืบสันดาน ได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื้อ หรือบุพการี ซึ่งได้แก่ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด หรือผู้ปกครอง (อาจเป็นญาติหรือไม่ก็ได้) หรือผู้พิทักษ์ในกรณีที่จะร้องขอให้บุคคลที่เสมือนไร้ความสามารถเป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือพนักงานอัยการ (โปรดสังเกตว่า พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ก็ไม่มีสิทธิจะยื่นคำร้อง)


ขณะนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น และเป็นประเทศที่ผู้สูงวัยเหล่านั้นจะอยู่ในสถานะโสด โดยอาจจะไม่ได้แต่งงาน มีครอบครัวลูกหลานที่จะดูแลจัดการทรัพย์สิน จึงเกิดมีคดีความที่มีคนใกล้ชิดผู้สูงวัยเข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินของผู้สูงวัยเหล่านั้น โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีเงินทอง และมีอาการป่วยรุนแรงจนถึงขนาดที่ไม่สามารถจัดการดูแล หรือตัดสินใจได้ด้วยตนเอง หรือถึงแม้มีลูกหลาน แต่พอเวลาเจ็บป่วย การฝากถอนเงิน หรือการจัดการทรัพย์สินก็ไม่สามารถกระทำได้ด้วยตนเอง ต้องให้บรรดาคู่สมรส ลูกหลาน หรือพ่อแม่จัดการให้ ก็จะยื่นคำร้องขอศาลแต่งตั้งให้บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ การแต่งตั้งผู้ดูแล หรือผู้พิทักษ์นั้น ในช่วงก่อนการแต่งตั้งก็อาจจะมีปัญหาการเบิกถอนเงินได้ เว้นแต่บางท่านจะให้บัตร ATM และรหัสกับญาติพี่น้อง ซึ่งก็นับว่ามีความเสี่ยง


การแต่งตั้งผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาลตามกฎหมายไทย จะต้องเป็นการแต่งตั้งไปตามลำดับชั้นตามกฎหมายคือ ต้องให้คู่สมรสชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้อนุบาลเสียก่อน หากไม่มีจึงค่อยตั้งบิดามารดาแทน หากไม่มีบิดามารดา หรือผู้สืบสันดาน ศาลจึงจะตั้งบุคคลอื่นตามที่ศาลเห็นสมควร ซึ่งอาจรวมญาติพี่น้องคนอื่นได้


ยิ่งถ้าหากผู้ป่วยเหล่านั้น ศาลถือว่าเป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน มีคู่สมรส โดยกฎหมายแล้ว ถ้าไม่มีผู้มีส่วนได้เสีย หรืออัยการร้องขอกฎหมาย พ่อแม่ หรือญาติจะขอให้ศาลตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ไม่ได้เลย ต้องตั้งคู่สมรสเท่านั้น และหากกรณีที่คู่สมรสเหล่านั้นอยู่ในสภาวะที่ทะเลาะเบาะแว้งกันในเรื่องทรัพย์สิน หรือแยกกันอยู่ หรือกำลังจะหย่ากัน ก็จะเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมากต่อคู่สมรสที่อยู่ในสภาพเป็นคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน ซึ่งกรณีแบบนี้ก็จะเป็นปัญหาที่เกิดข้อพิพาทมาก


สำหรับครอบครัวที่มีความรักสามัคคีกัน การแต่งตั้งให้ใครคนใดคนหนึ่งให้เป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาล ก็ย่อมไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่ที่ปรากฏเป็นปัญหาพบกันมากก็คือ บิดา มารดา หรือผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสที่ทะเลาะขัดแย้งกัน ต่างก็จะมีข้อพิพาทในการแย่งกันเป็นผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาลในการจัดการทรัพย์สินของผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีสถานะเป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ หรือไร้ความสามารถ เพราะในขณะนั้นบุคคลดังกล่าวไม่สามารถจะตัดสินใจได้เอง เพราะความบกพร่องทางจิตใจและความเจ็บป่วย ข้อพิพาทดังกล่าว หากต้องพึ่งกระบวนการทางศาลก็ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายอย่างมาก และผู้ที่ได้รับผลกระทบคือผู้ป่วยเอง


ปัจจุบัน ผู้เจ็บป่วย หรือผู้สูงวัยหลายคนที่ยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์ จึงอยากจะมีสิทธิในการเลือกว่า จะให้ใครเป็นผู้ดูแลเมื่อถึงเวลาที่ตนเองเจ็บไข้ได้ป่วย และไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สิน เรื่องการรักษาพยาบาล และการดูแลชีวิตประจำวัน และตัดสินใจในการที่จะยื้อชีวิตต่อไปหรือไม่ โดยกฎหมายไทยไม่มีการรับรองสิทธิของการทำเป็นหนังสือเหล่านี้ เพียงแต่ศาลอาจรับฟังเป็นหลักฐานเบื้องต้นหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้น เพราะหากขัดแย้งกัน ทายาท หรือคู่สมรส หรือผู้สืบสันดาน คงไม่ยินยอมให้คนอื่นที่ไม่ใช่พี่น้องมาเป็นผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาลอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าผู้ป่วยอาจเลือกบุคคลอื่นให้เป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาล


ผู้สูงวัย หรือผู้ป่วยจึงอยากจะมีทางเลือกในแต่งตั้งผู้พิทักษ์ผู้ดูแล หรือผู้อนุบาลไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้ ในทางกฎหมายไทยไม่สามารถกระทำได้ เพราะการแต่งตั้งผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาลจะต้องกระทำเมื่อเกิดเหตุขึ้นเสียก่อน กล่าวคือ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือผู้สูงอายุนั้นจะต้องเข้าเงื่อนไขทางกฎหมายว่า บุคคลนั้นควรจะเป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ หรือไร้ความสามารถ ทั้งนี้ โดยมีความเห็นของแพทย์ที่เป็นผู้ชำนาญ หรือแพทย์ผู้รักษาพยาบาลในการเบิกความต่อศาล เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าบุคคลดังกล่าวควรจะถูกสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ หรือไร้ความสามารถ ศาลก็จะต้องแต่งตั้งบุคคลที่กฎหมายกำหนดให้เท่านั้น เว้นแต่จะมีพฤติการณ์พิเศษว่าบุคคลที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรส ผู้สืบสันดาน บุพการี ผู้ปกครอง หรือผู้พิทักษ์ ไม่สามารถเป็นผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ได้ จึงอาจตั้งบุคคลอื่นได้


การแสดงเจตนาตั้งผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาลไว้ล่วงหน้านี้ ต่างกับการแสดงเจตนาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะวาระสุดท้ายของชีวิตที่เรียกว่า หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามกฏหมายมาตรา 12 ของ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 หรือที่เรียก "พินัยกรรมชีวิต (Living Will)" นั่นเอง


ข้อพิพาทที่เกิดขึ้น

ปัญหาเรื่องข้อพิพาท หรือความขัดแย้งกันในการแต่งตั้งผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ หรือผู้ดูแลของผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือผู้ป่วยที่ติดเตียง หรือเป็นอัมพาต โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคสมองเสื่อม มีทั้งในกรณีที่สมาชิกในครอบครัวอยากจะแย่งชิงทรัพย์สินกันเอง หรือการตัดสินใจในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย เพราะส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเงินทองทรัพย์สินของผู้ป่วย ปัญหานี้กำลังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และสังคมที่มีผู้สูงวัยมากขึ้น


การที่กฎหมายไทยไม่อนุญาตที่จะให้บุคคลสูงอายุ หรือผู้ป่วยที่ยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนอยู่ ตัดสินใจในการที่จะแต่งตั้งผู้ดูแลที่ไม่ว่าจะเป็นผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ไว้ล่วงหน้า โดยแม้จะทำเป็นหนังสือ ย่อมจะกระทบต่อสถานภาพของบุคคลเหล่านั้น และไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ป่วย และยังจะทำให้ข้อพิพาทระหว่างสมาชิกในครอบครัวนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะครอบครัวของผู้มีสถานะทางการเงิน หรือกลุ่มคนรวยที่มีธุรกิจครอบครัวที่มีมูลค่าสูง


นอกจากนี้ ปัญหาของผู้สูงวัย หรือคนป่วยที่ไม่มีสมาชิกในครอบครัวดูแล ก็จะเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญว่า เมื่อผู้สูงวัย หรือผู้ป่วยเหล่านั้นจำเป็นจะต้องเข้ารับการดูแลรักษา หรือเข้าสถานรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ หรือเรียกที่ว่า "สถานที่ดูแลผู้สูงวัย" ว่าจะมีใครที่จะดูแลการบริหารทรัพย์สิน การจ่ายเงิน แม้ว่าบุคคลเหล่านี้มีเงิน แต่ถึงเวลานั้นก็ไม่สามารถจัดการทรัพย์สินของตนเองได้ รวมถึงการใช้จ่ายเพื่อรักษาตัว โดยเฉพาะเมื่อตกอยู่ในสภาพเป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ หรือไร้ความสามารถ อันจะทำให้คนใกล้ชิดฉวยโอกาสหลอกลวง หรือปลอมแปลงเพื่อโอนเงินต่าง ๆ เข้าเป็นประโยชน์ของตนเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ


ใครที่เคยดูภาพยนตร์ใน Netflix เรื่อง I do care a lot ก็คงเคยเห็นสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นของธุรกิจประเภทนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี เนื่องจากกฎหมายไทยยังไม่มีบทบัญญัติที่จะให้หมอ หรือแพทย์ให้ความเห็นไปยังศาล เพื่อแต่งตั้งผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ซึ่งเป็นคนนอกได้


การแต่งตั้งผู้ดูแลหรือผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ไว้ล่วงหน้า จึงเป็นประเด็นที่จะต้องได้รับการพิจารณาแก้ไขกฎหมายอย่างเร่งด่วน เพราะในต่างประเทศที่มีสังคมผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ต่างมีกฎหมายที่รองรับการแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าของบุคคลใด ๆ ในการที่จะให้ใครมาดูแลทรัพย์สิน ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพ รวมทั้งมีกฎหมาย Trust ที่เปิดโอกาสให้เจ้าของทรัพย์สินมอบหมายให้ Trustee เป็นผู้จัดการทรัพย์สิน รวมทั้งการดูแลความเป็นอยู่ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายยามแก่ชราหรือเมื่อเจ็บป่วยได้ รวมถึงแม้จะเสียชีวิตลงก็อาจไม่ต้องมีปัญหาเรื่องการตั้งผู้จัดการมรดก หรือความถูกต้องของพินัยกรรมที่มีอยู่ได้


ผมได้เคยเขียนเรื่องการจัดการทรัพย์สินโดยการจัดตั้งทรัสต์ (Trust) ต่างประเทศ: กฎหมายไทยควรแก้ไขในหนังสือภาษีการรับมรดกฉบับสมบูรณ์ไว้ (สำนักพิมพ์อมรินทร์ พ.ศ. 2559 หน้า 134-144) ผู้สนใจหาอ่านได้ครับ


ผมได้มีโอกาสได้ศึกษาวิทยานิพนธ์หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิตของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2558 ของคุณกิตธิ นาคะนิธิ หัวข้อเรื่อง "การแสดงเจตนาล่วงหน้าในการจัดตั้งผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินและดูแลบุคคล: ศึกษาเฉพาะกรณีบุคคลวิกลจริตและจิตฟันเฟือน" ผมคิดว่าวิทยานิพนธ์นี้เป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อเสนอที่ให้ประเทศไทยมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย เพื่อที่จะให้บุคคลผู้สูงอายุผู้สูงวัย หรือผู้เจ็บป่วยที่ยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ สามารถแต่งตั้งให้ใครคนใดคนหนึ่งที่บุคคลนั้นไว้วางใจให้ดูแลและจัดการทรัพย์สิน ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ และสุขภาพของตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการมอบอำนาจต่อเนื่อง หรือกฎหมาย Trust หรือสัญญาตั้งผู้อนุบาลล่วงหน้า เช่น ในประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส ซึ่งจะมีการคุ้มครองบุคคลวิกลจริตและจิตฟั่นเฟือนเป็นอย่างดี เพราะมีหน่วยงานที่ตรวจสอบการทำงานของผู้รับมอบอำนาจ หรือผู้อนุบาลตามสัญญาโดยศาล หรือเจ้าพนักงานของรัฐ


เพื่อให้ผู้สูงวัย ผู้ป่วย และครอบครัวผู้ป่วย สามารถจัดการเรื่องการจัดการทรัพย์สิน การใช้ชีวิต และการรักษาชีวิตตามความประสงค์ของตนเองได้ ผมจึงขอเสนอให้รัฐบาลได้โปรดพิจารณาดำเนินการดังนี้ 


1. ให้มีการปรับปรุงกฎหมายเรื่องผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาล ให้สามารถมีการมอบอำนาจ หรือแต่งตั้งผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาลไว้ล่วงหน้าได้ โดยมีการจดทะเบียนไว้กับหน่วยงานของรัฐ อาทิ ศาล อัยการ หรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง ในลักษณะของการทำพินัยกรรมฝ่ายเมือง รวมทั้งให้มีหน่วยงานภาครัฐในการตรวจสอบการทำงานของผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาล หรือผู้รับมอบอำนาจดังกล่าว โดยอำนาจในการจัดการของผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาลนั้น ให้ครอบคลุมทุกมิติ ไม่ว่าเรื่องจัดการทรัพย์สิน การทำนิติกรรม การใช้ชีวิตครอบครัว การรักษาพยาบาล รวมถึงการทำหนังสือการปฏิเสธรับการรักษาหากเป็นเพียงการยื้อความตาย


2. ให้มีการจัดทำกฎหมายทรัสต์ (Trust law) โดยนำร่างที่กระทรวงการคลัง และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้เคยจัดทำไว้แล้วมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อสามารถให้มีหน่วยงานเอกชนเข้ามาดูแลจัดการทรัพย์สิน การทำนิติกรรม และการใช้ชีวิตของครอบครัว รวมถึงการรักษาพยาบาลได้ การมีกฎหมายนี้จะลดข้อพิพาทเรื่องการที่ต้องตั้งผู้จัดการมรดก หรือข้อพิพาทเรื่องความถูกต้องของพินัยกรรมอีกด้วย ทำให้คดีครอบครัวมรดกจะลดลงไปได้อย่างมาก การออกกฎหมายทรัสต์อาจจะรวดเร็วกว่าการปรับปรุงกฎหมายผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาลใหม่ทั้งหมด เพราะมีการร่างกฎหมายไว้แล้วและปรับปรุงให้สมบูรณ์


ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีครอบครัว หากไม่มีการแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ไว้ล่วงหน้า สังคมไทยก็จะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน ผมอยากได้เสียงสนับสนุนจากทุกท่านครับ


ศาสตราจารย์ (พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์  avatar image
เรื่องโดยศาสตราจารย์ (พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานคณะกรรมการ ชีวามิตร อดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันการเงิน ด้านตลาดทุน การซื้อควบรวมกิจการ การปรับโครงสร้างกิจการ กองทุนส่วนบุคคล การวางแผนภาษีอากร และกฎหมายธุรกิจครอบครัว นักกฎหมายหนึ่งเดียวของไทยที่ได้รับการยกย่องจาก Chambers Asia Pacific เป็น Senior Statesmen ในสาขาตลาดทุน ภาษี การควบรวมกิจการ และการปรับโครงสร้าง และนักกฎหมายไทยคนแรกที่ได้รับยกย่องจากวารสาร Euromoney Publication ให้เป็นนักกฎหมายชั้นนำด้านการปรับโครงสร้างหนี้และล้มละลายระดับโลก (World's Leading Restructuring and Insolvency Lawyer)

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads