Knowledge cover image
16 ตุลาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. เมื่อผู้ดูแลต้องดูแลตัวเอง

เมื่อผู้ดูแลต้องดูแลตัวเอง

ผู้ดูแลเป็นคนสำคัญในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่จำเป็นต้องดูแลตัวเอง หรือได้รับการประคับประคองจากคนรอบข้างด้วยเช่นกัน


เรื่องโดย พญ.จิราภา คชวัฒน์

เวลาเราขึ้นเครื่องบิน สิ่งหนึ่งที่มักได้ยินเสมอ คือ เมื่อมีเหตุที่ทำให้ความดันอากาศในเครื่องเปลี่ยน ให้ท่านสวมหน้ากากออกซิเจนกับตัวเองก่อน แล้วค่อยใส่ให้เด็ก นั่นเป็นเพราะการดูแลตัวเองให้พร้อมเป็นสิ่งสำคัญ และไม่ควรลืมก่อนที่เราจะไปดูแลผู้อื่น 


มีงานวิจัยในต่างประเทศที่พูดถึงการเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิต ระหว่างคนที่เป็นผู้ดูแล กับคนที่ไม่ได้เป็นผู้ดูแล ในอายุที่เท่ากัน พบว่าคนที่เป็นผู้ดูแลมีอัตราการการเสียชีวิตที่สูงกว่า ถึง 63% ซึ่งเป็นผลพวงจากสุขภาพที่เสียไป ความเครียด การเผชิญกับความสูญเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ดูแลอายุมากที่มีโรคประจำตัว ผู้ดูแลให้ข้อมูลว่า มักพบปัญหาเรื่องการนอน นิสัยการกินที่ดีเสียไป ไม่มีเวลาได้ออกกำลังกาย การขาดนัดแพทย์ และยังพบปัญหาการสูบบุหรี่และใช้แอลกอฮออล์มากขึ้นอีกด้วย


6 แนวทางในการดูแลตัวเองสำหรับผู้ดูแล


1. ลดความเครียด

ผู้เขียนเชื่อว่าทุกการดูแลมีความเครียดเกิดขึ้นได้เสมอจากหลาย ๆ เหตุผล เช่น เราไม่สามารถตอบสนองความต้องการให้ผู้ป่วยได้ มีความสัมพัน์ที่ไม่ดีกับผู้ป่วยอยู่เดิม หรือไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องบางเรื่องได้ สำหรับการจัดการกับความเครียด/ปัญหา สามารถทำได้ดังนี้

- สังเกตตัวเองเสมอว่ามีสัญญาณเริ่มแรกของความเครียดหรือไม่ เช่น อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ หลงลืมบ่อย ๆ 

- พยายามถามตัวเองว่าเครียด หรือกังวลเรื่องอะไร แล้วเขียนปัญหาออกมา

- พิจารณาดูว่าปัญหาไหนสามารถแก้ไขได้ ปัญหาไหนไม่สามารถแก้ไขได้

- พิจารณาถึงวิธีแก้ปัญหา ว่าสามารถทำอย่าไรได้บ้าง แล้วเขียนออกมา

- ลงมือแก้ปัญหา ถ้าทำทุกทางที่คิดแล้วยังไม่สามารถจัดการได้ ให้ยอมรับมัน แล้วหาเวลามาจัดการใหม่ในครั้งหน้า

- จัดการกับความเครียดตามที่ตนเองถนัด เช่น ทำงานอดิเรก ทานอาหารที่ชอบ ไปเที่ยว หาเวลาพักผ่อน ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ เป็นต้น


2. ตั้งเป้าหมายการดูแลตัวเองใน 3-6 เดือนข้างหน้า 

โดยตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ และวางแผนการปฏิบัติแบบชัดเจน เช่น เป้าหมายคือมีสุขภาพที่ดีขึ้น มีแผนคือไปพบแพทย์ตามนัด หาเวลาพักจากการดูแล 1 - 2 ชั่วโมงต่อวัน ออกไปเดิน 15 นาทีต่อวัน 3 วันต่อสัปดาห์ เป็นต้น


3. มีการสื่อสารที่ดี

การสื่อสารที่ดีจะทำให้คนรอบตัวรับทราบความต้องการของเรา และยังช่วยระบายอารมณ์ ความรู้สึกในใจได้ เช่น ฝึกบอกความรู้สึกหรือความต้องการอย่างตรงไปตรงมา โดยเคารพสิทธิและความรู้สึกของผู้ฟัง และในขณะเดียวกันเราเองก็ต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย


4. กล้าที่จะขอความช่วยเหลือ

เมื่อเราไม่สามารถจัดการปัญหาได้ มีคำแนะนำดังต่อไปนี้

- ควรเลือกคนที่เราจะขอความช่วยเหลือ ให้เหมาะสมกับงาน 

- ควรคิดมาแล้วว่าต้องการความช่วยเหลือด้านใดบ้าง แบบเฉพาะเจาะจง เช่น ขอให้มาดูแลผู้ป่วยช่วงที่เราไปพักทานข้าวเที่ยง เป็นต้น

- หากถูกปฎิเสธแล้ว ให้หลีกเลี่ยงการขอความช่วยเหลือซ้ำจากคนเดิม

- เผื่อใจใว้เสมอสำหรับการถูกปฎิเสธ


5. พูดคุยกับแพทย์

อาจเป็นแพทย์ประจำตัวเราหรือผู้ป่วยก็ได้ บางครั้งการพบแพทย์นอกจากการตรวจรักษา รับยาแล้ว เราสามารถพูดคุยขอความเห็น คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยได้ เพื่อให้เรามั่นใจในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น


6. ตระหนักถึงอารมณ์ของตัวเอง

เช่น รู้ตัวว่ารู้สึกโกรธ เศร้า น้อยใจ และเรียนรู้ที่จะจัดการอย่างเหมาะสม เมื่อเรารู้ตัวว่าโกรธ ให้เวลาพักอยู่คนเดียว จนรู้สึกดีขึ้นก่อนที่จะมาดูแลผู้ป่วย หรือเมื่อเรารู้สึกเศร้า เบื่อหน่ายสิ่งที่เคยสนใจ แม้ไม่สามรถบอกได้ว่าเป็นอะไร แต่เรารู้ว่าต่างไปจากปกติที่เคยเป็น จะได้ขอความช่วยเหลือจากแพทย์ได้


ทั้งหมดนี้สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อนั้นคือ การให้ความสำคัญกับตัวเองก่อนนั้น ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว หากแต่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการดูแลผู้ป่วย เราจะสามารถดูแลคนอื่นได้ดี ก็ต่อเมื่อผู้ดูแลเองต้องมีความแข็งแรงทั้งกายและใจ 

พญ.จิราภา คชวัฒน์ avatar image
เรื่องโดยพญ.จิราภา คชวัฒน์คุณหมอจบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับวุฒิบัตรผู้มีความรู้ความชำนาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัวการบริบาลแบบประคับประคอง ปัจจุบัน เป็นคุณหมอ Palliative Care ประจำโรงพยาบาลสิรินธร เจ้าของเพจ Basic Palliative ที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนงานการดูแลแบบประคับประคองอย่างจริงจัง

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads