- คลังความรู้
- ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้มอร์ฟีน
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้มอร์ฟีน
เพื่อบรรเทาทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยระยะท้าย
เรื่องโดย พญ.จิราภา คชวัฒน์
สำหรับการดูแลประคับประคอง เลี่ยงไม่ได้เลยที่ต้องพบเจอการจ่ายยามอร์ฟีนจากแพทย์ เพราะยาดังกล่าวช่วยจัดการอาการปวดและเหนื่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่เมื่อเราพูดถึงยามอร์ฟีน เชื่อว่าความคิดที่พรั่งพรูเข้ามาของคนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องลบ ๆ เกี่ยวกับยาตัวนี้ ทั้งเรื่องการเสพติด ผลข้างเคียงที่กดการหายใจ หรือความเชื่อที่ว่า เมื่อนำยาดังกล่าวมาให้ผู้ป่วยหนักจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้มีทั้งส่วนที่จริงและไม่จริง
เพื่อให้ไม่ให้กลัวการใช้ และพลาดโอกาสในการเข้าถึงยา ผู้เขียนจะค่อย ๆ อธิบายสิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดเกี่ยวกับยามอร์ฟีนให้ได้เข้าใจกันมากขึ้น
ได้ยามอร์ฟีน แปลว่าใกล้ตายแล้วใช่ไหม
ตอบ ไม่เป็นความจริงเลย ยามอร์ฟีนเป็นยาแก้ปวดที่ใช้ในผู้ป่วยในรายที่ปวดรุนแรง ผู้เขียนชอบแนะนำผู้ป่วยว่า เหมือนเรากินพาราแก้ปวดนี่แหละ ไม่จำเป็นว่าต้องใกล้ตายถึงจะค่อยได้ยา ยิ่งได้ยาเร็วขึ้น ยิ่งช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย
ได้มอร์ฟีนแล้วจะง่วงมากใช่ไหม
ตอบ ใช่ ผู้ป่วยที่ได้มอร์ฟีนจะง่วง และอาจมีคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย แต่จะเป็นประมาณ 2-3 วันแรกเท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อร่างกายปรับตัวกับยาได้ อาการก็จะกลับมาเป็นปกติ
ได้มอร์ฟีนนาน ๆ แล้วจะติดยาใช่ไหม
ตอบ ถ้าใช้มอร์ฟีนในการจัดการอาการ และขนาดอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ โอกาสติดน้อยมาก บางครั้งเราอาจสังเกตเห็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายขอยาบ่อยขึ้น นั่นเป็นเพราะตัวโรครุกรานมากขึ้น ทำให้อาการมากไปด้วย จึงจำเป็นต้องใช้ยาเยอะขึ้น ไม่ใช่ภาวะติดยา
มอร์ฟีนทำให้ผู้ป่วยตายเร็วขึ้น เพราะกดการหายใจ
ตอบ มีทั้งส่วนที่ใช่และไม่ใช่ มอร์ฟีนใช้เพื่อจัดการอาการปวดและเหนื่อย ปริมาณยาที่แพทย์จ่ายให้นั้นเป็นปริมาณที่ใช้ในการรักษา หากผู้ป่วยอาการดีขึ้นก็จะไม่ปรับยาเพิ่ม หรือถ้าตัวโรคดีขึ้นจนไม่มีอาการก็สามารถหยุดได้ ยาไม่มีผลในการเพิ่มหรือลดระยะเวลาที่เหลือของผู้ป่วย แต่ถ้าหากนำยาไปใช้ในทางที่ผิด ปรับขนาดยาผิด ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของแพทย์ จะทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกดการหายใจ เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้
หากได้ยามอร์ฟีน เพื่อจัดการอาการตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของการดำเนินโรค จะทำให้ยาไม่มีประสิทธิภาพในช่วงท้าย
ตอบ ไม่ใช่ ความปวดในช่วงท้ายจะคุมได้ดีหากเราสามารถจัดการอาการได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ยามอร์ฟีนไม่มีขนาดสูงสุด เราสามารถเพิ่มขนาดยาได้เรื่อย ๆ หากผู้ป่วยยังไม่มีผลข้างเคียงของยา และถ้าหากผู้ป่วยเกิดดื้อยา (Tolerance) คือภาวะที่ต้องการปริมาณยาเพิ่มขึ้นเพื่อให้คุมอาการได้เท่าเดิม ในทางการแพทย์มียาตัวอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับยามอร์ฟีน สามารถใช้ทดแทนกันได้
จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนคาดหวังอย่างมากที่จะให้ผู้ป่วย ครอบครัวและบุคคลทั่วไป ไม่กังวลกับการใช้ยามอร์ฟีน หากใช้อยู่ภายใต้คำแนะนำของบุคคลากรทางการแพทย์ เพราะยาตัวนี้จะช่วยจัดการอาการที่ทุกข์ทรมาน และยังช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยระยะท้ายด้วย