- คลังความรู้
- จัดการอาการเหนื่อย ลดความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วย
จัดการอาการเหนื่อย ลดความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วย
คำแนะนำในการจัดการอาการหอบ เหนื่อย หนึ่งในอาการที่ก่อให้เกิดความไม่สุขสบาย และทุกข์ทรมานกับผู้ป่วย
เรื่องโดย พญ.จิราภา คชวัฒน์
อาการเหนื่อย เป็นอาการที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ของผู้ป่วยระยะท้าย ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีอาการหอบเสมอไป อาจมีประวัติว่า รู้สึกหายใจไม่อิ่ม หายใจไม่เต็มปอดก็ได้ และบางครั้งต้องแยกให้ชัดกับอาการเพลีย ล้า เพราะการดูแลรักษาต่างกัน อาการเหนื่อย เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักสร้างความวิตกกังวลแก่ผู้ป่วยและครอบครัวเป็นอย่างมาก
ความกังวลอาจที่เกิดอาจจะเป็นความกังวลเรื่องตัวโรค ครอบครัว หน้าที่การงาน หรือกังวลว่าอาการเหนื่อยที่เกิดขึ้นนั้น แปลว่าตนเองใกล้เสียชีวิตก็เป็นได้ ทั้งหมดนี้ล้วนกระตุ้นให้อาการเหนื่อยเป็นมากขึ้นไปอีก ดังนั้น การจัดการอาการดังกล่าวจึงต้องจัดการทั้งสาเหตุทางกาย ใจ สังคม จิตวิญญาณ เพราะทั้ง 4 ด้านล้วนเชื่อมโยงถึงกัน
เมื่อผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อย แพทย์มักจะแก้สาเหตุที่พอแก้ได้ก่อนเสมอ หากสาเหตุดังกล่าวเกิดจากตัวโรคที่รุกรานมากขึ้น ไม่สามารถแก้ได้ จะเริ่มมีการรักษาอาการเหนื่อยทั้งแบบที่ใช้ยา และไม่ใช้ยาเข้ามาช่วย โดยยาที่ใช้เพื่อจัดการอาการเหนื่อยคือ ยามอร์ฟีน และยาคลายกังวล การใช้ยา 2 ตัวนี้ร่วมกันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการลดอาการเหนื่อยได้ดี
วิธีการปฎิบัติตัวของผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อย
1. จัดสิ่งแวดล้อมในบ้านให้มีลักษณะโปร่ง โล่ง สบาย เปิดหน้าต่างในห้องให้อากาศถ่ายเท หลีกเลี่ยงอากาศร้อน
2. จัดวางเตียงให้อยู่กลางห้อง ไม่ชิดด้านใดด้านหนึ่ง และอยู่ใกล้ห้องน้ำ จัดของที่ใช้ประจำอยู่ใกล้ตัว หยิบง่าย
3. ใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ ไม่คับ หรือพอดีตัวจนเกินไป ปลดกระดุมคอเพื่อให้หายใจสะดวกขึ้น
4. จัดกิจกรรมในชีวิตประจำวันให้สอดคล้องกับสมรรถนะตัวเอง
...เลือกกิจกรรมที่อยากทำมากที่สุดใว้ช่วงแรกของวัน
...จัดให้มีการพักเป็นระยะระหว่างทำแต่ละกิจกรรม เช่น อาบน้ำ พัก แต่งตัว พัก ทานอาหาร พัก ล้างจาน เป็นต้น
5. หากมีอาการเหนื่อย ให้จัดท่านั่งอยู่ในท่าเอนตัวไปข้างหน้า หรือนอนยกหัวสูง สามารถใช้พัดลมเป่าหน้า หรือผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้า ช่วยบรรเอาการได้
6. ฝึกการหายใจแบบเป่าปาก นั่นคือ หายใจเข้าทางจมูกนับ 1 2 3 หายใจออกทางปากพร้อมกับทำปากจู๋ นับ 1 2 3 4 5 จะช่วยลดอาการหอบเหนื่อย และทำให้ผู้ป่วยมีสติมากขึ้น ไม่กระวนกระวายเวลามีอาการ การฝึกหายใจสามารถทำได้ตลอด ไม่จำเป็นต้องรอให้เหนื่อยก่อน
7. การใช้ออกซิเจน สามารถให้ช่วยบรรเทาอาการได้ หากวัดปริมาณออกซิเจนแล้วต่ำกว่า 92 เปอร์เซนต์ ในกรณีที่ผู้ป่วยออกซิเจนอยู่ในระดับที่ดี แต่มีอาการเหนื่อย การให้ออกซิเจนจะไม่ช่วย และยังทำให้ลดการเคลื่อนไหวของร่างกายอีกด้วย
8. การกินยามอร์ฟีนตามแพทย์สั่ง เมื่อมีอาการหอบเหนื่อย
ผู้เขียนหวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและครอบครัวที่กำลังเผชิญกับอาการหอบเหนื่อย ให้อยู่ร่วมกับโรคที่แม้จะรักษาไม่หาย แต่สามารถอยู่ได้อย่างสุขสบายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยการจัดการอาการอย่างมีประสิทธิภาพ