Knowledge cover image
11 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. Hospice สถานบริบาลเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะสุดท้าย

Hospice สถานบริบาลเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะสุดท้าย

กับเป้าหมายของการดูแลแบบประคับประคอง


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

Hospice คือ สถานบริบาลเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ โดยเน้นคุณค่าและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจนจากลาอย่างสงบ สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และใช้การดูแลแบบประคับประคอง การจัดการอาการปวดและความไม่สุขสบายทางร่างกาย ครอบคลุมถึงดูแลด้านจิตใจและจิตวิญญาณของผู้ป่วย ผู้ดูแล และครอบครัวด้วย



ซิเซลี ซอนเดอร์ส (Dame Cicely Saunders) พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ และนักเขียน เป็นผู้ก่อตั้ง Hospice สมัยใหม่ขึ้นที่ เซนต์คริสโตเฟอร์ฮอสพิซ (ST Christopher’s Hospice) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2510 เพื่อให้เป็นสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย สถานที่ฝึกอบรม และวิจัยพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย 


ซอนเดอร์สมีความสนใจในเรื่องของการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) มาตลอด เธอทำงานวิจัยถึงการฟังเรื่องราวและความรู้สึกของผู้ป่วยอย่างลึกซึ้ง บันทึกข้อมูล และวิเคราะห์ จนเห็นถึงบทบาทสำคัญของบุคลากรผู้ให้การดูแลผู้ป่วยว่า มีผลต่อคุณภาพชีวิตช่วงสุดท้ายของผู้ป่วยอย่างมาก จากจุดเริ่มต้นนี้ได้ทำให้ระบบการบริบาลผู้ป่วยระยะสุดท้ายขยายตัวสู่ประเทศอื่น ๆ และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั่วโลก


สำหรับ Hospice ในประเทศไทยอาจยังไม่เป็นที่รู้จักกันมาก และยังขาดการพัฒนาที่เป็นระบบ แต่การเป็นสังคมผู้สูงวัยของไทยในปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้สูงอายุในประเทศจะเพิ่มอย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้ สถานที่ลักษณะนี้จึงมีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้น ที่ผ่านมา เราได้เห็นตัวอย่างที่มีอยู่บ้าง เช่น วัดพระบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี ที่ให้การดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ หรืออโรคยศาล (สถานอภิบาลพักฟื้นผู้ป่วยด้วยสมุนไพรตามธรรมชาติ) วัดคำประมง จังหวัดสกลนคร เป็นสถานที่พักฟื้นและดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป็นต้น แต่เรายังไม่ค่อยเห็นสถานที่ในลักษณะกึ่งบ้านกึ่งโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายมากนัก


อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นรูปแบบ Hospice ที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เน้นคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยได้จากไปอย่างสงบตามวิถีธรรมชาติ โดยบูรณาการศาสตร์ทางการแพทย์ การพยาบาล และนิติศาสตร์เข้าด้วยกัน

.


อาจารย์ พญ.เรือนขวัญ กัณหสิงห์ อาจารย์สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมแพทย์ประจำศูนย์ฯ เล่าถึงแนวคิดหลักว่า 


“สถานที่แห่งนี้จะไม่ให้การดูแลเพื่อยื้อชีวิต แต่จะเน้นให้ความสำคัญอย่างเข้มข้นเรื่องของการดูแลอาการ การจัดการเรื่องยา ตามแนวทางการดูแลแบบประคับประคอง มีกระบวนการประชุมครอบครัว เพื่อให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา และเพียงพอจนทำให้แน่ใจว่า เมื่อมาที่นี่แล้วจะได้รับการดูแลที่ตรงกับเจตนารมณ์ของผู้ป่วยและครอบครัวจริง ๆ”


ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมของศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ ได้ที่ Facebook Fanpage ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ หรือคลิก https://bit.ly/3Bkx2kE โทร. 029269040, 0954649783 และอีเมล thammarak.tu@gmail.com

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก https://cicelysaundersinternational.org และเพจศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads