Knowledge cover image
31 มกราคม 2566
  1. คลังความรู้
  2. กาลครั้งหนึ่ง...ที่จากกัน

กาลครั้งหนึ่ง...ที่จากกัน

ชวนเด็ก ๆ มาทำความเข้าใจกับการจากลา ผ่านหนังสือนิทาน 5 เล่ม


เรื่องโดย เฟิร์น ศรีปุงวิวัฒน์

การสูญเสียไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยเท่านั้น เด็ก ๆ เองก็ต้องพบเจอกับการสูญเสียและการจากลาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ สัตว์เลี้ยงที่รัก หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัวและคนใกล้ชิด 


ในช่วงอายุ 2 - 5 ขวบ เด็ก ๆ จะเริ่มเข้าใจในเรื่องความตายผ่านสัตว์รอบตัว แต่ยังไม่สามารถเข้าใจเรื่องนามธรรมอย่างการจากไปอย่างถาวรได้ คิดว่าความตายเป็นเรื่องชั่วคราว และอาจจะตั้งคำถามว่าเมื่อไหร่ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วจะฟื้นกลับขึ้นมา 


เมื่อย่างเข้าสู่ปีที่ 5 - 7 พวกเขาจะเริ่มเข้าใจเรื่องของความตายมากขึ้น ว่าเป็นสิ่งถาวรและหลีกเลี่ยงไม่ได้ วัยนี้จะอยู่ในช่วงที่เด็กช่างจินตนาการ และอาจจะคิดว่าความตายที่เกิดขึ้นรอบตัวนั้น เป็นผลมาจากการกระทำของตัวเอง และอาจจะมีความรู้สึกผิดเกิดขึ้น เด็ก ๆ ในวัยนี้ต้องการคำตอบที่ซื่อสัตย์และจริงใจ เพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจแนวคิดของความตายและการสูญได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง


การพูดคุยเรื่องความตายไม่ใช่เรื่องง่ายแม้แต่กับผู้ใหญ่ แล้วเราจะคุยเรื่องความตายกับเด็ก ๆ อย่างไรดี?


หนังสือนิทานสำหรับเด็ก อาจจะเป็นวิธีหนึ่ง ที่ทำให้เด็ก ๆ เริ่มต้นที่จะเรียนรู้และซึมซับแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการสูญเสียและความตายอย่างเหมาะสมกับวัย โดยหนังสือนิทาน 5 เล่มนี้ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของการสูญเสีย และการจากลาออกมา ผ่านมุมมองที่หลากหลาย เหมาะกับเด็ก ๆ ในวัยที่แตกต่าง ส่วนผู้ใหญ่เองนั้น ถ้าได้อ่านเรื่องราวเหล่านี้ให้เด็ก ๆ ฟัง ก็จะได้ข้อคิดดี ๆ กลับไปอย่างแน่นอน



The Invisible String by Patrice Karst (3+)


“People who love each are always connected by a very special string made of love…even though you can’t see it with your eyes, you can feel it with your heart”


หนังสือนิทานเล่มนี้ พูดถึงเรื่องของการจากลาอย่างนุ่มนวล แผ่นไอเดียของสายใยบาง ๆ แห่งความรัก ที่คอยเชื่อมโยงเรากับคนที่เรารักเข้าด้วยกัน แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลกันคนละประเทศ ทวีป หรือไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้กับเราแล้ว โดย Patrice แต่งเรื่องนี้ขึ้นมาให้ลูกชายของเธอ ซึ่งมีความวิตกกังวลจากการต้องแยกจากกับแม่ เมื่อเริ่มเข้าเรียนเตรียมอนุบาล ต่อมานิทานเรื่องนี้เริ่มเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย และเป็นสื่อที่ช่วยให้เด็ก ๆ รับมือการการจากลาและการสูญเสียได้ง่ายขึ้น



The Flat Rabbit by Bardur Oskarsson (5+)


เมื่อสุนัขและหนูผ่านมาเจอกับกระตายที่นอนแบบราบอยู่บนถนน พวกเขาทั้งสองจะทำอย่างไร?


นักเขียนและนักวาดภาพประกอบชาวฟาโรคนนี้ ถ่ายทอดเรื่องราวของความตายภาพภาพประกอบง่าย ๆ และเรื่องราวที่มีทั้งความขบขันและซื่อตรงแฝงอยู่ หนังสือนิทานเล่มนี้เต็มไปด้วยคำถามง่าย ๆ ตรงไปตรงมาเหมือนเด็ก ๆ และบางคำถามก็ยังคงไม่มีใครรู้คำตอบที่แน่ชัด ไม่ต่างอะไรจากสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเราต้องจากโลกนี้ไปเลย



What Happens Next by Shinsuke Yoshitake (5+)


ตายแล้วไปไหน?


นิทานเรื่องนี้เป็นหนึ่งในสื่อดี ๆ ที่ชวนให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาสำรวจคำตอบที่หลากหลายของคำถามนี้ไปด้วยกัน 


ในหนังสือเล่มนี้ เรื่องราวหลังความตายถูกเล่าผ่านสมุดบันทึกที่หลานชายเพิ่งไปค้นเจอหลังจากที่คุณตาเสียชีวิต ในสมุดบันทึกเล่มนั้น คุณตานำพาผู้อ่านเข้าไปยังโลกแห่งจินตนาการ ว่าเมื่อตายแล้ว คุณตาอยากจะไปที่ไหน และอยากจะทำอะไร ชวนกันมาคิดว่าตายแล้วไปไหนได้บ้างนะ


Yoshitake ชวนให้ผู้อ่านทำความสร้างสันติสุขกับความตาย เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตทุกวันอย่างมีคุณค่า


หนังสือนิทานเล่มนี้มีแปลเป็นฉบับภาษาไทยแล้วด้วย ในชื่อว่า "ต่อจากนี้ จะเป็นอย่างไรนะ"



Little Tree by Katsumi Komagata (5+)


"The seed was carried somewhere unknown. Surely it will exist for someone even though no one notices such a small presence at the beginning."


หนังสือ pop-up สุดมินิมอล โดยกราฟฟิกดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นเล่มนี้ เล่าเรื่องราววงจรชีวิตของต้นใหม่ต้นหนึ่ง ตั้งแต่ยังเป็นเมล็ดพันธุ์เล็ก ๆ ที่ซ่อนอยู่ใต้หิมะที่ไม่มีใครมองเห็น จนค่อย ๆ เติบโตผ่านช่วงฤดูต่าง ๆ ร่วมไปกับนกที่มาอาศัยทำรังอยู่บนต้นไม้ เป็นเรื่องราวเรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง ที่นำเสนออย่างสวยงาม ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถดื่มด่ำไปกับไปกับงานศิลปะบนแผ่นกระดาษนี้ได้ไม่ต่างกัน



Duck, Death and the Tulip by Wolf Erlbruch (6+)


ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นภาพของหัวกะโหลกหรือความตายในหนังสือนิทานของเด็ก แต่ Erlbruch ก็สามารถนำเสนอเรื่องราวการเผชิญหน้ากับความตายของเป็ดได้อย่างไม่น่ากลัว ผ่านเรื่องราวการพบเจอและทำความรู้จักกับเจ้า ‘ความตาย’ ของเป็ด จนทั้งสองนั้นได้กลายเป็นเพื่อนกัน ผ่านบทสนทนาของเป็ดน้อยและความตายนี้เอง ที่ทำให้เราได้เห็นว่าความตายเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 


หนังสือเล่มนี้มีแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ในชื่อ "เป็ด ความตาย และดอกทิวลิป"



ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ:

https://www.themarginalian.org/2015/03/23/best-childrens-books-death-grief-mourning/

https://www.childbereavementuk.org/information-childrens-understanding-of-death


เฟิร์น ศรีปุงวิวัฒน์ avatar image
เรื่องโดยเฟิร์น ศรีปุงวิวัฒน์นักเดินทาง ทั้งภายในและภายนอก นักเล่าเรื่องผ่านรูปภาพและตัวหนังสือ นักเรียนรู้ ที่กำลังศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและจิตใจ และการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนต่อตนเองและโลกภายนอก

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads