- คลังความรู้
- การฝังศพในที่ดินส่วนบุคคล
การฝังศพในที่ดินส่วนบุคคล
ข้อกฎหมายและปัญหาในทางปฏิบัติ
เรื่องโดย ไพศาล ลิ้มสถิตย์
การฝังศพญาติหรือคนในครอบครัวของคนไทยเป็นธรรมเนียมของคนเชื้อสายจีนในสมัยก่อน รวมถึงผู้นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม แต่ด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น การบำรุงรักษาในระยะยาว ทำให้คนไทยเชื้อสายจีนและผู้นับถือศาสนาคริสต์ส่วนใหญ่จะเลือกการเผาศพมากกว่าการฝังศพ ยกเว้นมุสลิมที่ยังคงธรรมเนียมการฝังศพเพราะการเผาศพถือว่าเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักการอิสลาม การขออนุญาตฝังศพในที่ดินส่วนบุคคลตามกฎหมายไทย มีหลักเกณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติตามหลายประการ และอาจมีข้อยุ่งยากหรือปัญหาในทางปฏิบัติอีกด้วย ซึ่งแตกต่างจากกรณีศึกษาต่างประเทศที่จะมีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากกว่า
การขออนุญาตฝังศพในที่ดินส่วนบุคคลตามกฎหมาย
โดยปกติแล้ว การฝังศพจะดำเนินการที่สุสานของมูลนิธิหรือสมาคมที่ดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งถือเป็น “สุสานและฌาปนสถานสาธารณะ” แต่หากญาติของผู้เสียหายประสงค์จะฝังศพ หรือเก็บศพผู้เสียชีวิตในบริเวณที่ดินของตนเองแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายคือ พระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ. 2528 ซึ่งบัญญัติห้ามการเก็บ ฝัง หรือเผาศพในสถานที่อื่นที่มิใช่สุสานและฌาปนสถานสาธารณะ หรือสุสานและฌาปนสถานเอกชน หรือเก็บศพในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล หรือเคหสถานเป็นการชั่วคราว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เช่น การเก็บศพ 100 วันในบ้านตนเองสามารถทำได้เพราะเป็นการเก็บไว้เป็นการชั่วคราว เพื่อรอการทำพิธีทางศาสนา
ฉะนั้น หากญาติของผู้เสียชีวิตประสงค์ที่จะฝังศพในที่ดินของตนเอง จะต้องยื่นขออนุญาตจัดตั้งบ้านตนเองเป็น “สุสานและฌาปนสถานเอกชน” และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดหลายประการเช่น
1) ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในที่ดินที่จะใช้เป็นที่ตั้งสุสานและฌาปนสถาน และต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 1 ไร่
2) สถานที่จะจัดตั้งสุสานและฌาปนสถานเอกชนสำหรับเก็บหรือฝังศพเป็นการถาวร ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้
2.1) ต้องไม่เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร
2.2) ต้องไม่อยู่ในเขตพื้นที่อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหรือเขตพื้นที่อันจัดสรรเป็นพื้นที่เพื่อนันทนาการ หรือเขตอนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย
2.3) สถานที่ตั้งต้องไม่อยู่ในบริเวณที่เป็นเอกลักษณ์ หรือสัญลักษณ์ของท้องถิ่น หรือมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี
2.4) สถานที่ตั้งต้องอยู่ห่างจากทางหลวงที่เป็นทาง หรือถนนสำหรับประชาชนใช้ในการจราจรสาธารณะอย่างน้อย 50 เมตร และห่างจากทางน้ำซึ่งประชาชนใช้ในการจราจรสาธารณะห้วยแม่น้ำคลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณะประโยชน์อื่นอย่างน้อย 400 เมตร เว้นแต่ในกรณีที่มีการป้องกันมิให้กลิ่นและสิ่งปฏิกูลรั่วไหลสถานที่ตั้งนั้นจะต้องอยู่ห่างจากทางน้ำไม่น้อยกว่า 100 เมตร
เมื่อผู้ยื่นขออนุญาตจัดตั้งสุสานเอกชนได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว ก็ยังไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ เพราะการดำเนินการจะต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นอีกเช่นกัน รายละเอียดตามกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติฉบับนี้
นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจแก่กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาลหรือเมืองพัทยา มีอำนาจออกข้อบัญญัติ ข้อบัญญัติจังหวัด เทศบัญญัติในรายละเอียดได้ เช่น “ข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร เรื่อง สุสานและฌาปนสถาน พ.ศ. 2546 และฉบับที่ 2” กำหนดให้บริเวณสถานที่สำหรับเก็บศพหรือฝังศพ ต้องมีกำแพงทึบสูงไม่น้อยกว่า 2.5 เมตรโดยรอบ และทางเข้าออกต้องมีประตูปิดกั้น หรือมีการดำเนินการใด ๆ เพื่อปิดบังความไม่น่าดูของสถานที่เก็บศพและได้สุขลักษณะ และที่เก็บศพต้องห่างจากกำแพงไม่น้อยกว่า 2 เมตร สถานที่ฝังศพนั้นต้องมีสภาพที่น้ำท่วมไม่ถึง และห่างจากทางน้ำซึ่งประชาชนใช้ในการจราจรสาธารณะห้วยแม่น้ำคลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณะประโยชน์อื่นอย่างน้อย 400 เมตร เว้นแต่ในกรณีที่มีการป้องกันมิให้กลิ่นและสิ่งปฏิกูลรั่วไหล สถานที่ตั้งนั้นจะต้องอยู่ห่างจากทางน้ำไม่น้อยกว่า 100 เมตร
ผู้รับอนุญาตจัดตั้งสุสานเอกชนจะต้องทำตามข้อกำหนดในการฝังศพเพิ่มเติมคือ (1) ที่ฝังศพอยู่ห่างจากแนวเขตสถานที่สำหรับฝังศพไม่น้อยกว่า 4 เมตร (2) หลุมฝังศพแต่ละหลุมอยู่ห่างกันไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร (3) ฝังหีบศพ หรือสิ่งที่บรรจุหรือห่อศพ อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดินไม่น้อยกว่า 1 เมตร (4) การฝังศพผู้ตายด้วยโรคติดต่ออันตรายต้องทำลายเชื้อโรคที่ศพโดยวิธีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนด
อย่างไรก็ดี กฎกระทรวง ข้อ 4 (5) ตาม พ.ร.บ.สุสานและฌาปนสถาน กำหนดข้อห้ามการจัดตั้งสุสานและฌาปนสถานเอกชน คือ สุสานหรือที่ฝังศพเอกชนจะต้องไม่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา หรือเทศบาล กล่าวคือ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถขออนุญาตฝังศพญาติ หรือคนในครอบครัวในที่ดินของตนเองได้ หากอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครเมืองพัทยาหรือเขตเทศบาลในจังหวัดอื่น ๆ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
แม้ว่าเจ้าของที่ดินจะได้รับอนุญาตให้ฝังศพในที่ดินส่วนบุคคลจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว โดยตั้งเป็นสุสานและฌาปนสถานเอกชน แต่ก็เคยมีกรณีเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันใช้สิทธิฟ้องศาลเพื่อขอให้รื้อสุสานฝังศพโดยฟ้องว่าเจ้าของที่ดิน (จำเลยที่ 1) ได้ทำละเมิดต่อเพื่อนบ้าน (โจทก์) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 1337 โดยการสร้างหลุมฝังศพ หรือฮวงซุ้ยเพื่อเก็บศพของสามีในที่ดินของภริยาผู้ขออนุญาตในบ้านตนเอง ซึ่งห่างจากบ้านของโจทก์ที่อาศัยอยู่ประมาณ 10 เมตร ก่อให้เกิดความหวาดกลัวในเรื่องภูติผีวิญญาณ แม้ว่าจำเลยจะได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.สุสานและฌาปนสถาน แล้ว
ศาลฎีกาตัดสินว่า การก่อสร้างหลุมศพและนำศพมาฝังไว้ ทำให้ความเป็นอยู่ของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งเดิมเคยอยู่กันอย่างสงบสุขต้องหมดสิ้นไป เพราะเกิดความหวาดกลัวนอนไม่หลับเสียสุขภาพจิตย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายและอนามัยของโจทก์ทั้งสอง และข้อเท็จจริงก็ปรากฏต่อศาลว่า ประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณเดียวกันก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ทั้งที่ดินในบริเวณดังกล่าวก็เป็นที่อยู่อาศัยไม่เคยมีหลุมศพมาก่อน กรณีนี้จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้รับความเดือดร้อนในการอยู่อาศัย การสร้างหลุมศพในที่ดินของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ศาลสั่งให้จำเลยที่ 1 รื้อหลุมฝังศพ หรือฮวงซุ้ยตามฟ้อง และเคลื่อนย้ายศพที่ฝังออกไปจากสถานที่ดังกล่าวตามฟ้อง ไม่มั่นใจว่ามีย้ายหลุมฝังศพหรือฮวงซุ้ยออกไปจากที่ดินหรือไม่
กล่าวโดยสรุปคือ การฝังศพในที่ดินของตนเองตามกฎหมายไทย จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สุสานและฌาปนสถาน พ.ศ. 2528 กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และข้อบังคับของท้องถิ่นซึ่งมีขั้นตอนในการขออนุญาตที่ยุ่งยากหลายประการ โดยไม่สามารถทำการฝังศพในที่ดินส่วนบุคคลในเขตกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา หรือเขตเทศบาลได้ และแม้ว่าจะมีการขออนุญาตฝังศพตามกฎหมายแล้ว ก็ยังเสี่ยงที่จะถูกเพื่อนบ้านใกล้เคียงกัน หรือคนในชุมชนไม่ยอมรับ หรือฟ้องร้องทางแพ่งในคดีละเมิด เพราะเกิดความหวาดกลัววิตกกังวลของเพื่อนบ้าน และอาจทำให้มีข้อจำกัด หรือเป็นอุปสรรคในการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินดังกล่าวในอนาคต ทางเลือกอื่นที่น่าจะเหมาะสมกว่าคือ การนำศพไปฝังในสุสานสาธารณะทั่วไป หรือนำอัฐิของผู้ตายมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การลอยอังคาร การนำอัฐิไปบรรจุที่วัด หรือสุสาน
บุคคลทั่วไปสามารถปรึกษาหารือกับคนในครอบครัว หรือผู้ใกล้ชิด เพื่อระบุความประสงค์ในเรื่องการประกอบทางศาสนาเมื่อเสียชีวิต การจัดการกับร่างกายตนเองเมื่อเสียชีวิต เช่น การบริจาคอวัยวะให้แก่สภากาชาดไทย การบริจาคร่างกายให้แก่โรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ โดยสามารถระบุเจตจำนงค์ได้ในเอกสาร Living will ตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
ข้อสังเกตเกี่ยวกับกฎหมายไทยคือ มีเนื้อหาที่ล้าสมัย สร้างภาระที่เกินความจำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการฝังศพในที่ดินส่วนบุคคล ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นในการพิจารณาอนุญาต แตกต่างจากกฎหมายและแนวปฏิบัติต่างประเทศที่จะมอบหมายให้หน่วยงานหรือเจ้าพนักงานสาธารณสุขเป็นผู้พิจารณาอนุญาต เพราะเกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค อีกทั้งยังมีการจัดทำคำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในการฝังศพ
การฝังศพในที่ดินส่วนบุคคลในต่างประเทศมีความแตกต่างกันไปตามกฎหมายแต่ละประเทศ จากการศึกษา 3 ประเทศที่น่าสนใจ คือ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา พบว่า ประเทศเหล่านี้มีรายละเอียดกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันไป แต่ก็มีสิ่งที่เหมือนกันคือ โดยหลักการแล้ว การพิจารณาอนุญาตให้มีการฝังศพในที่ดินส่วนบุคคล จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กำหนดระยะห่างจากทางน้ำ บ่อน้ำในบริเวณใกล้เคียง สภาพของที่ดินอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมหรือไม่ รวมถึงสาเหตุการตายหากเป็นโรคติดต่อด้วยหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้จะใช้การพิจารณาอนุญาตของเจ้าหน้าที่ การขออนุญาตจากเจ้าของที่ดินกรณีผู้ขออนุญาตเป็นผู้เช่า
สหราชอาณาจักร
แต่ละปีมีการขออนุญาตในอังกฤษเพียงไม่กี่ราย เนื่องจากไม่สอดคล้องกับประเพณีปฏิบัติของคนทั่วไปที่จะฝังศพในสุสานสาธารณะ หรือสมัยใหม่นิยมการเผาศพเพื่อนำอัฐิของผู้ตายมาเก็บไว้ในสุสานแทน หรือนำไปฝังในที่ดินส่วนบุคคลซึ่งไม่ต้องขออนุญาตแต่อย่างใด
ในสหราชอาณาจักร การฝังศพในที่ดินส่วนบุคคลจะต้องขออนุญาตต่อหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environment Agency) ผู้ที่จะทำการฝังศพได้จะต้องมีใบอนุญาตการฝังศพ (a Certificate of Authority for Burial) ที่ออกโดยนายทะเบียนจดแจ้งการเกิดและการตาย และต้องส่งเอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับการฝังศพให้นายทะเบียนภายใน 96 ชั่วโมงภายหลังจากการฝังศพ ตั้งแต่ปี ค.ศ.2002 เจ้าของที่ดินไม่จำต้องจดแจ้งข้อมูลการทำหลุมฝังศพ (burial register) ในที่ดินเอกชนเหมือนในอดีตแล้ว
ข้อกำหนดที่ผู้ขออนุญาตจะต้องปฏิบัติตามในการขออนุญาตจะเกี่ยวข้องกับการป้องกันแหล่งน้ำใต้ดิน มีหลายประการ ได้แก่
1) ตั้งอยู่นอกเขตน้ำใต้ดินที่เรียกว่า SPZs ที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคตามที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันการปนเปื้อน
2) อยู่ห่างจากบ่อน้ำ น้ำพุ หรือบ่อน้ำบาดาลที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค หรือใช้ในการผลิตอาหาร เช่น ฟาร์มโคนม ไม่น้อยกว่า 50 เมตร (กรณีที่เป็นสุสานสาธารณะจะมีระยะห่างไม่น้อยกว่า 250 เมตร)
3) อยู่ห่างจากน้ำพุ หรือทางน้ำที่มิได้ใช้ในการอุปโภคบริโภค หรือการผลิตอาหารของมนุษย์ไม่น้อยกว่า 30 เมตร
4) อยู่ห่างจากทางระบายน้ำไม่น้อยกว่า 10 เมตร และควรมีการขุดหลุมศพให้ลึกเพียงพอคือ ฝาโลงศพควรมีระยะห่างจากหน้าดินไม่น้อยกว่า 1 เมตร เพื่อป้องกันการรบกวนหลุมศพ การฝังศพในที่ดินเอกชนนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องใช้โลงศพแต่ประการใด และไม่จำเป็นต้องใช้ผู้ดำเนินการประกอบพิธีศพที่ได้รับอนุญาต
ทั้งนี้ หน่วยงานท้องถิ่นในอังกฤษจะมิได้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตในเรื่องนี้ แต่ผู้ขออนุญาตก็มีหน้าที่แจ้งให้หน่วยงานท้องถิ่นทราบว่าจะมีการดำเนินการฝังศพภายในบริเวณบ้านด้วย
ออสเตรเลีย
ในออสเตรเลีย การขออนุญาตฝังศพในที่ดินส่วนบุคคลจะขึ้นอยู่กับกฎหมายของรัฐบาลมลรัฐต่าง ๆ เช่น มลรัฐวิคตอเรียในออสเตรเลียจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายชื่อ Cemeteries and Crematoria Act 2003 ซึ่งบัญญัติว่า การฝังศพบุคคลนอกสุสานสาธารณะถือเป็นข้อห้าม ยกเว้นจะได้รับอนุญาตจาก The Secretary to the Department of Health (ผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุข) โดยมีหลักการสำคัญคือ ศพของมนุษย์จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมและมีศักดิ์ศรี ถูกกฎหมาย และศพจะต้องสามารถติดตามและระบุตัวบุคคลได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการฝังศพในสุสานสาธารณะหรือสุสานส่วนบุคคล
ในทางปฏิบัติแล้ว การฝังศพในสุสาน หรือที่ดินส่วนบุคคลกฎหมายจะไม่ได้รับการอนุมัติตามกฎหมาย Cemeteries and Crematoria Act สาเหตุเพราะกระทรวงสุขภาพของมลรัฐวิคตอเรียมีจุดยืนที่จะไม่อนุญาตในเรื่องนี้ คือ การฝังศพในที่ดินส่วนบุคคลอาจทำให้ไม่มีผู้รับผิดชอบในการดูแลหลุมศพอย่างเหมาะสม ไม่มีหลักประกันว่าเจ้าของที่ดินจะไม่เปลี่ยนมือไปยังบุคคลอื่นในอนาคต เพราะอาจมีการนำที่ดินไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นที่กระทบต่อหลุมศพนั้น มีความยากในการปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการฝังศพ กรณีที่จะได้รับอนุญาตให้ฝังศพในที่ดินส่วนบุคคลจะต้องเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น ในขณะที่สุสานสาธารณะจะได้รับการดูแลจากผู้ดูแลสุสาน (Cemetery trusts) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าการรัฐวิคตอเรีย
คำแนะนำของผู้ที่ประสงค์จะฝังศพญาติ หรือบุคคลในที่ดินส่วนบุคคล หากเป็นกรณีที่ผู้นั้นจะอยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวในเวลาไม่นานเพียง 2-3 ปี จึงไม่เหมาะสมที่ฝังศพในที่ดิน เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ปัญหาการขายที่ดินดังกล่าวให้ผู้อื่นทำได้ยาก หรือเมื่อมีการขายที่ดินไปแล้วก็จะไม่สามารถเข้าไปในที่ดินดังกล่าวได้อีก หรือในกรณีที่ต้องการขุดศพออกจากหลุมศพ ก็มีขั้นตอนยุ่งยากมากถ้าเวลาผ่านไปนานหลายปี อีกทั้งยังต้องได้รับใบอนุญาตขุดศพ (Exhumation licence) จากหน่วยงานชื่อ Home Office เจ้าของที่ดินใหม่อาจไม่ต้องการให้มีศพในที่ดินตนเอง ก็อาจดำเนินการขุดศพออก ซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยากเช่นกัน และอาจไม่ได้รับความยินยอมจากญาติของผู้เสียชีวิต หรือในกรณีที่มีการพัฒนาที่ดินในบริเวณนั้น ข้อมูลการฝังศพก็จะระบุในเอกสารซื้อขายที่ดินด้วย
หากญาติของผู้เสียชีวิตประสงค์ที่จะนำเถ้าอัฐิของผู้ตายมาฝังในที่ดินของตนเองในมลรัฐวิคตอเรีย ออสเตรเลีย ในกรณีนี้ไม่ต้องขออนุญาตแต่อย่างใด ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากกว่าการฝังศพผู้ตายในที่ดินของตนเอง
สหรัฐอเมริกา
กฎหมายสหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวกับการฝังศพในที่ดินหรือบริเวณบ้านส่วนตัว จะขึ้นอยู่กับกฎหมายของมลรัฐต่าง ๆ การนำอัฐิไปฝังไว้ในบริเวณบ้านนั้นสามารถทำได้โดยไม่มีกฎหมาย หรือข้อจำกัดแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นกรณีที่ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือบุคคลอื่น สำหรับกรณีการฝังศพนั้นจะมีกฎหมาย ระเบียบที่กำหนดไว้ค่อนข้างเข้มงวด เช่น มลรัฐนิวยอร์ค ภายหลังจากที่นายทะเบียนได้พิจารณาใบรับรองการตายแล้ว นายทะเบียนที่รับแจ้งการตายจะอนุญาตให้มีการดำเนินการฝังศพ หรือเคลื่อนย้ายศพไปยังสุสาน โดยให้ Funeral director เป็นผู้ดำเนินการทำพิธีฝังศพได้ คนส่วนใหญ่จะฝังศพในสุสานสาธารณะ หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดพิธีศพและสุสานสาธารณะ คือ Division of Cemeteries and the New York State Cemetery Board
กรณีการฝังศพในที่ดินส่วนบุคคลในนิวยอร์คสามารถดำเนินการได้ โดยสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นคือ Town หรือ County clerk และหน่วยงานสาธารณสุขของท้องถิ่น ผู้ขออนุญาตจะต้องจัดทำแผนที่ตำแหน่งที่จะฝังศพ และยื่นเอกสารพร้อมกับเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อที่จะมีการบันทึกไว้ในเอกสารสิทธิดังกล่าว เพื่อให้ผู้รับโอนที่ดินทราบข้อมูลนี้ ตามกฎหมายของมลรัฐนิวยอร์ค บุคคลทั่วไปสามารถใช้ที่ดินในการเป็นที่ฝังศพของคนในครอบครัวได้ เพราะไม่มีกฎหมายของมลรัฐที่กำหนดในเรื่องนี้ไว้เป็นการเฉพาะ แต่ก็มีข้อกำหนดทางกฎหมายของหน่วยงานท้องถิ่นที่ต้องปฏิบัติตาม คือ จะต้องมีระยะห่างของหลุมศพกับแหล่งน้ำ ซึ่งมีระยะแตกต่างกันไปตามระเบียบของรัฐบาลท้องถิ่นในนิวยอร์ค
สิ่งที่น่าสนใจคือ การฝังศพบุคคลในที่ดินส่วนบุคคลนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องยื่นขออนุญาตจัดตั้งเป็นสุสานเอกชนหรือสุสานของครอบครัวเหมือนกับกฎหมายไทย เพราะจะมีขั้นตอนยุ่งยากและต้องดำเนินการจัดตั้งเป็นสุสานเอกชน (Private cemetery corporation) โดยมีกฎระเบียบหลายประการ เช่น จะต้องมีผู้ร่วมก่อนตั้งไม่น้อยกว่า 7 คน มีพื้นที่ไม่เกิน 3 เอเคอร์ (1 เอเคอร์ มีพื้นที่ราว 4,047 ตารางเมตร) และอยู่ห่างจากบ่อน้ำ แหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 1,650 ฟุต