- คลังความรู้
- ตัวเบาเข้าไว้
ตัวเบาเข้าไว้
บทความสะท้อนแง่มุมงดงามของชีวิตที่อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข
เรื่องโดย ปะการัง
สุภาพสตรีท่านหนึ่งได้ยินเสียงมอเตอร์ไซค์ดังคำรามอยู่ตรงลานจอดรถ เธอเดินตรงเข้าไปหา เอ่ยปากขอซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ขึ้นไปชมวิวบนภูเขาบริเวณนั้นในราคา 20 เหรียญได้ไหม? เธอบอกว่า นี่เป็นหนึ่งใน Bucket List (รายการสิ่งที่อยากทำก่อนตาย) เธอตาบอด และต้องการส่งภาพเธอนั่งบนมอเตอร์ไซค์ให้ลูกชายของเธอดู...
ชายหนุ่มเจ้าของมอเตอร์ไซค์บอกว่า เขาไม่ใช่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่ยินดีทำตามสิ่งที่เธอต้องการ และปฏิเสธที่จะรับเงิน เขาแค่ขออนุญาตถามว่า คุณตาบอดแล้วจะขึ้นไปชมวิวบนภูเขาทำไม? เธอบอกว่า การชมวิวไม่จำเป็นต้องผ่านทางสายตาเท่านั้น เธอรับรู้ได้ผ่านการรู้สึกขึ้นที่สูง ผ่านสายลมที่สัมผัสผิว และผ่านลมหายใจที่สดชื่นกว่าปกติ สำหรับเธอ มันเป็นการท้าทาย ทำสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน และเป็นความสุข!
ชายหนุ่มถามต่อไปว่า แล้วทำไมถึงอยากส่งรูปให้ลูกชายดู?
เธอตอบว่า เพราะเขาไม่มีชีวิตชีวา! - -
“ฉันต้องการให้เขาดูฉันเป็นตัวอย่างว่า แก่แล้ว สามวันดีสี่วันป่วย แถมตาบอด ฉันยังใช้ชีวิตอย่างดี ทำสิ่งที่อยากทำอย่างมีความสุข แต่ละวันจากนี้ไปของฉัน ไม่มีอะไรน่ากลัว ทุกวันที่ตื่นแล้วยังมีลมหายใจ ก็นับเป็นกำไรที่จะได้มีความสุขเพิ่มขึ้นอีกนิดในแต่ละวัน...”
ผมเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนฟัง- - หลังจากที่ถามเขาว่า หลังเกษียณแล้วจะทำอะไรต่อ มีอะไรที่อยากทำไหม? เขามีสีหน้าแปลกใจอย่างเห็นได้ชัด ตอบว่า ก็เกษียณแล้ว จะทำอะไรต่อล่ะ รอความตายอย่างเดียว หวังแค่ว่าให้ตายดีเท่านั้น...
คำพูดของเพื่อนทำให้ผมนึกถึงนักบุญโรเบิร์ต แบลลาร์มิน ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การตายดี คือการใช้ชีวิตอยู่อย่างดี” ฉะนั้น ถ้าต้องการตายดี ก็ต้องใช้ชีวิตอย่างดีด้วย ไม่ใช่แค่ตั้งตารอเฉย ๆ - - ทุกวันที่กำลังเดินทางไปสู่วันสุดท้ายจึงสำคัญและมีความหมาย! ขึ้นอยู่กับเราว่าจะใช้แต่ละวันอย่างไร - -
ผมนึกไปถึงเดียรี่ เพื่อนอาวุโสซึ่งรู้จักกันเมื่อครั้งผมยังทำงานที่แซน ดิเอโก สหรัฐอเมริกา เดียรี่เป็นโปรเฟสเซอร์สอนที่มหาวิทยาลัยชั้นนำ UCSD หลังเกษียณ เขาน่าจะใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย แต่กลับมีความฝันที่มุ่งมั่นจะทำให้เป็นจริง!
ตอนนั้น ผมก็เคยแปลกใจอย่างเพื่อนผม - ก็เกษียณแล้ว จะทำอะไรต่อล่ะ
เดียรี่ฝันที่จะสร้างมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นหลักสูตรผลิตนักศึกษาให้จบออกมาแล้วเป็นผู้ที่สามารถดำเนินธุรกิจได้เอง ไม่ต้องวิ่งหางานทำ เพราะในช่วงเวลานั้น เศรษฐกิจกำลังตกต่ำ (เวลานี้ยิ่งแย่หนักกว่าเดิม) หลายคนไม่สามารถหางานตามสาขาอาชีพที่ตัวเองจบมาได้- - นั่นเป็นความคิดที่น่าสนใจ แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่าแปลกเป็นพิเศษกว่าที่อื่นคือ เขาเน้นที่จะสร้างนักศึกษาให้จบออกมาอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม ไม่ใช่นักธุรกิจที่เก่ง แต่เอารัดเอาเปรียบ คิดถึงกำไรตัวเลขเพียงอย่างเดียว...
เดียรี่กับผมเป็นคาทอลิก เรารู้จักกันที่โบสถ์ เขาจึงคิดบรรจุหลักคำสอนจากพระคัมภีร์ไบเบิลใส่ไว้ในหลักสูตร โดยสอนควบคู่กันไป ไม่ใช่มุ่งเน้นที่วิชาการเพียงอย่างเดียว เขาฝันที่จะสร้างนักธุรกิจที่ดี มีจิตสำนึก และเกรงกลัวต่อบาป! ต้องขอสารภาพว่า ตอนนั้น ผมแอบนึกในใจว่า ฝันแบบนี้ คงแค่ฝันเล่น ๆ เอาสนุก ไม่น่าจะเป็นจริงได้...
ผมคิดผิด! จนถึงขณะที่เขียนนี้ - - มหาวิทยาลัยเล็ก ๆ ที่เขาสร้างขึ้นตามฝันได้สำเร็จและเปิดสอนมาสิบกว่าปีแล้ว... มหาวิทยาลัยแห่งนั้นชื่อ John Paul The Great Catholic University
เดียรี่ สอนให้ผมรู้ว่า บางที ชีวิตก็เพิ่งเริ่มต้นจริงจังตอน 60!
บิลล์ ก็เป็นเพื่อนอาวุโสอีกคนที่ผมนึกถึง- - เขาเป็นผู้ชายรูปร่างสูงใหญ่ แข็งแรงแบบนักกีฬา เมื่อหลายปีก่อน บิลล์เกิดอาการสโตรค (Stroke) ภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงสมองโดยฉับพลัน ทำให้ระบบประสาทบกพร่อง ร่างกายซีกขวาเป็นอัมพาต!
ระหว่างที่นอนนิ่งโดดเดี่ยวบนเตียง ขยับเคลื่อนไหวไม่ได้ พูดไม่ได้ สายตาของเขาจับจ้องแต่เพดานด้วยความโกรธหงุดหงิด แต่แล้ววันหนึ่ง แทนที่จะแค้นเคืองตลอดเวลา เขาเริ่มคิดใคร่ครวญถึงชีวิตที่เหลือของเขา และตัดสินใจครั้งสำคัญที่เป็นเสมือนสัญญาต่อตัวเองสองประการ หนึ่ง-เขาจะทุ่มเทพลังทั้งกายและใจ เพื่อกลับคืนมาเหมือนเดิมให้ได้ สอง-หากเขาหาย เขาจะอุทิศตนเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น!
ตั้งแต่นั้นมา บิลล์มุ่งมั่น อดทน เอาชนะความเจ็บปวด เขาใช้เวลานานถึง 8 เดือนกว่าจะแค่ขยับนิ้วได้ และต้องนั่งอยู่บนรถเข็นอีก 4 เดือน แต่เพียงแค่สองปีผ่านไป... บิลล์ก็แทบจะไม่เหลือร่องรอยของคนที่เป็นอัมพาตอีกเลย! เขาเริ่มทำตามสัญญา อุทิศแรงกายและเวลาทั้งหมดของเขาช่วยเหลือคนไข้สโตรครายอื่น ๆ ด้วยการไปเยี่ยมเยียน พูดคุย ปลุกเร้าคนไข้เหล่านั้นที่โรงพยาบาล ให้มีพลังและกำลังใจที่จะกลับมาดีเหมือนเดิมให้ได้ บิลล์พูดเสมอว่า “การจะกลับมาหายดีได้นั้น ขึ้นอยู่กับตัวเราเองที่ตั้งมั่นว่าจะสู้!”
มิเพียงช่วยเหลือผู้คน ทุกเช้า บิลล์ยังไปให้อาหารฝูงเป็ดและนกที่ริมทะเลสาบใกล้บ้านผมด้วย เรารู้จักกันที่ทะเลสาบแห่งนั้นนั่นเอง - - เขาบอกผมเสมอว่า “การใช้ชีวิตเพื่อผู้อื่นนั้น มีความสุข!”
ทั้งเดียรี่และบิลล์ ต่างใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างดี มีชีวิตชีวา เต็มความสุข และเปี่ยมความหมาย ที่สำคัญพวกเขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง! คริสตชนทุกคนรู้ดีว่า พระเยซูเจ้าสอนให้เราช่วยเหลือแบ่งปัน รักผู้อื่นเหมือนรักตัวเอง รักเพื่อนบ้าน รวมไปถึงรักศัตรู ถ้าทำเช่นนั้นได้ เราก็จะขึ้นสวรรค์ไปอยู่กับพระองค์ ซึ่งนั่นเป็นเป้าหมายสูงสุดของทุกคน!
คุณพ่อไมเคิล บาทหลวงประจำโบสถ์ที่ผมไปทุกวันอาทิตย์ เคยอธิบายเพิ่มเติมให้ฟังว่า
“ถ้าจะช่วยเหลือผู้อื่นได้ เราต้องไม่สะสม ลองคิดดูสิ หากในมือของเราเองเต็มไปด้วยสมบัติข้าวของส่วนตัวที่ต้องหอบหิ้ว แล้วเราจะเอามือที่ไหนไปช่วยเหลือผู้อื่นล่ะ? - - ความดีจะช่วยทำให้เราเบาสบายตัว ในขณะที่กิเลสความชั่วทั้งหลายมีแต่จะคอยถ่วงดึง กดเราให้ต่ำลง... ฉะนั้น พวกเราควรต้องทำตัวเบา ๆ เข้าไว้ เมื่อถึงวันสุดท้าย จะได้ลอยขึ้นสวรรค์ง่ายหน่อย”
ผมยิ้มให้กับคำเปรียบเปรยของท่าน ฟังดูง่าย ๆ แต่ก็เห็นภาพเข้าใจทันที!
ไม่ว่าที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตอย่างไร แต่หากต้องการจากไปอย่างมีความหมาย เราก็ต้องเริ่มต้นใหม่ในวันนี้ ทำแต่ละวันให้มีชีวิตชีวา มีค่าต่อตัวเองและผู้อื่น
ที่สำคัญ-ทำตัวเบาเข้าไว้!