- คลังความรู้
- หมอคะ พ่อนอนไม่หลับเลย...
หมอคะ พ่อนอนไม่หลับเลย...
คลี่คลายความรู้สึกเหล่านั้น เพื่อให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เรื่องโดย รอ.หญิง พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร
อาการนอนไม่หลับในคนไข้ระยะท้าย เป็นสิ่งหนึ่งที่พบได้บ่อย บางครั้งเป็นจากสับสน บางครั้งเป็นจากกังวล
วันนี้เลยจะขอเล่าเคสคุณลุงคนหนึ่งที่เป็นคนไข้มะเร็งระยะท้าย อาการค่อนข้างหนักแล้ว มีภาวะติดเชื้อแทรกซ้อน คุณลุงและครอบครัว ได้ตัดสินใจร่วมกันแล้วว่า จะไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่ทำการรักษาที่ยื้อชีวิตใด ๆ
ครั้งนี้ลุงมีภาวะติดเชื้อเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา จึงได้มานอนให้ยาฆ่าเชื้อ ลองดูกันอีกซักครั้ง แต่ครั้งนี้ดูเหมือนการติดเชื้อจะไม่ให้ผ่านไปได้เหมือนเช่นเคย อาการลุงทรุดลง แต่ลูกกลับบอกว่า ลุงไม่ยอมนอนเลย เมื่อได้ไปราวด์วอร์ด จึงสังเกตได้ว่า... ลุงดูง่วงมาก แต่กลับเหมือนหลับไปได้แว้บหนึ่งก็ลืมตาใหม่ คล้าย ๆ กังวล หรือกลัว เลยถามไปว่า
แพทย์: ง่วงนอนมั้ย
ลุง: (พยักหน้าเบา ๆ)
แพทย์: เพราะอะไรทำไมไม่นอน
ลุง: (เงียบ)
แพทย์: กังวลอะไรมั้ย
ลุง: (เงียบ)
แพทย์: กลัวอะไรมั้ย
ลุง: (เงียบ)
ในใจตอนนั้น คิดว่าลุงคงกลัว กลัวหลับแล้วไม่ตื่น กลัวที่จะต้องอยู่คนเดียว กลัวที่จะหมดความรู้สึก กลัวที่จะต้องตาย (ซึ่งเป็นการคาดเดาจากสถานการณ์)
ไม่ได้ตัดสิน ไม่ได้สอบถามจนรู้แน่ว่าลุงกลัวอะไร กังวลอะไร แค่คิดว่า ลองหาวิธีทำให้ลุงสบายใจขึ้นดีกว่า จึงลองถามลูกว่า ปกติอยู่บ้านตักบาตรทำบุญมั้ย ลุงก็พยักหน้าโดยเร็ว ลูกก็เล่าให้ฟังว่า อยู่บ้านถ้าเดินไหวก็ออกไปตักบาตรหน้าบ้าน ถ้าเดินไม่ไหวก็จบอยู่ในบ้าน แล้วลูกไปใส่ให้
เลยถามลุงว่า ลุงอยากใส่บาตร ทำสังฆทานมั้ย ...ลุงพยักหน้ารับทันที
เนื่องจากไม่ค่อยสนิทกับพระแถวโรงพยาบาลเท่าไหร่นัก จึงได้จัดการโทรหาคุณที (ลูกสาวคนไข้ระยะท้ายที่เคยดูแล และ ตอนนี้ได้จากไปแล้ว) จำได้ว่าตอนไปเยี่ยมคุณแม่คุณทีที่บ้าน มีพระที่รับเยี่ยมบ้าน ดูแลคนไข้ระยะท้ายอยู่ ประกอบ กับบ้านคุณทีอยู่ไม่ไกลโรงพยาบาลนัก จึงคาดว่าพระท่านอาจจะอยู่วัดละแวกนี้
เมื่อโทรไป คุณทีก็รับแล้วก็ตอบตกลงโดยเร็วว่า จะรีบถามหลวงพี่ให้ แต่ยังไม่ได้รับปาก เพราะหลวงพี่เองก็ติดกิจเยอะอยู่ จึงได้บอกคุณทีไปว่า ไม่เป็นไร ขอเท่าที่ได้ คนไข้น่าจะมีเวลาเหลือช่วงเป็นวันถึงสัปดาห์
แล้วด้วยความโชคดี หลวงพี่สามารถมาได้ในบ่ายวันนั้นเลย โดยคุณทีอาสาไปรับหลวงพี่ที่วัด แล้วมาส่งที่โรงพยาบาลให้
เมื่อถึงโรงพยาบาล ก็นิมนต์หลวงพี่เข้าไปเยี่ยมคุณลุง มีเล่าอาการให้ท่านฟังเบื้องต้นอยู่บ้าง เมื่อเข้าไปเยี่ยม คุณลุงดูตื่นอย่างไม่น่าเชื่อ แม้จะเบลอบ้าง แต่ตื่นดีกว่าทุกครั้ง รู้เรื่องดีกว่าทุกครั้งที่ไปราวนด์ ลูกได้เตรียมชุดสังฆทานไว้แล้ว ซึ่งลุงได้กำชับว่า มียาหอมมั้ย เพราะลุงชอบ
หลังถวายเสร็จก็พูดคุยกันเล็กน้อย ลุงบอกว่าลุงพูดไม่เก่ง แต่ลุงยิ้มกว้าง ยิ้มแบบที่ลูก ๆ เองก็ไม่ได้เห็นมาหลายวัน กว่าครึ่งชั่วโมงที่ลุงตื่นขึ้นมาพยายามนำสติอยู่กับหลวงพี่ เป็นภาพที่สวยงามมาก ๆ
ก่อนกลับได้ทำการกรวดน้ำ หลังจากนั้นลุงก็หลับ หลับได้ แบบไม่หลับ ๆ ตื่น ๆ อีก จึงออกมาจากห้อง ลูกสาวออกมาขอบคุณคุณทีที่อุตส่าห์ขับรถพาหลวงพี่มาส่ง ซึ่งดูจากท่าทางคุณที คุณทีดีใจมาก ๆ ที่ได้ทำหน้าที่นี้ และรู้ว่าการที่ได้ทำให้คนไข้ระยะท้ายจิตใจสงบนั้น มันสำคัญเพียงใด เหมือนที่คุณทีได้ทำให้คุณแม่ก่อนท่านเสียชีวิต
หลังจากลาคุณที และหลวงพี่ คุณลุงก็มีหลับ ๆ ตื่น ๆ บ้าง ต่อมาวันรุ่งขึ้น คุณลุงก็หลับเป็นส่วนมาก แทบไม่ตื่นเท่าไหร่ ช่วงตื่นก็มักเป็นช่วงสับสน ไม่ได้รู้เรื่องดีนัก
จนวันนี้ หลังจากหลวงพี่จากไป คุณลุงเรียกได้ว่าแทบไม่รู้สติอีกเลย วันนั้นเป็นวันสุดท้ายที่ได้เห็นคุณลุงตื่นรู้ตัว ด้วยเหตุปัจจัยอะไรไม่รู้ได้ แต่ดีใจที่คุณลุงได้ถวายสังฆทาน ดีใจที่ได้กรวดน้ำ และดีใจที่ตัดสินใจให้คุณทีช่วยติดต่อเรื่องหลวงพี่ เพราะเหมือนกับได้ทำให้คนมีความสุขสองต่อเลย คือครอบครัวคุณลุง และตัวคุณทีเองที่ได้ทำสิ่งดีให้คนอื่น
วันนี้คุณลุงได้จากไปแล้วอย่างสงบ สงบแบบสงบจริง ๆ
หน้าที่นี้อาจมิใช่หน้าที่แพทย์โดยทั่วไป แต่ถ้าเราเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่เห็นคนทุกข์อยู่ตรงหน้า แล้วพยายามหา หนทางให้เขาดีขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ
ความเป็นแพทย์ หรือพยาบาลนั้นเป็นสิทธิพิเศษ (Privilege) ที่เราได้รับมาในวิชาชีพ คือ มีโอกาสเห็นความทุกข์ ของคนได้มากกว่าหลาย ๆ อาชีพ ดังนั้น เราจะทำอย่างไรกับความทุกข์ที่เราเห็น ก็สุดแล้วแต่
บางคนอาจจะแค่มอง แต่ไม่ได้เห็น บางคนอาจจะเห็น แต่ไม่ได้สนใจ บางคนอาจจะเห็น แล้วมองหาสิ่งที่จะช่วยเขาได้ ฉันเป็นคนแบบที่สาม ถ้าเขาทุกข์ ฉันรับรู้ ฉันจะพยายามหาทางช่วยเขาให้ได้ ซึ่งก็มีทั้งที่ทำได้บ้าง ทำไม่ได้บ้างแล้วแต่กรณีไป แต่ฉันจะไม่หันหลังให้ความทุกข์ของเขา