- คลังความรู้
- มรดกของพ่อ
มรดกของพ่อ
วางแผนชีวิตให้จากอย่างไม่ทิ้งภาระให้ลูกหลาน
เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร
การเจ็บป่วยและความตายของหนึ่งคนส่งผลกระทบไม่ใช่แค่กับเพียงคนเดียว แต่ยังส่งผลกับทั้งครอบครัว นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องวางแผนให้ครอบคลุมทุกเรื่อง โดยเฉพาะด้านการเงินและเศรษฐกิจของครอบครัว ดังเช่นประสบการณ์ของ คุณชาญชัย สุนันท์กิ่งเพชร ในวันที่เสียพ่อ ผู้สร้างทุกอย่างไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน
“ได้เห็นป๊าดูแลอากงตั้งแต่เด็ก ดูแลจนถึงวาระสุดท้าย มันเลยซึมเข้าไปในใจว่า การดูแลบุพการีไม่ใช่เป็นแค่หน้าที่ แต่มันเป็นจิตวิญญาณ แล้วป๊าชอบพูดเสมอว่า ทำงานเพื่อสร้างอนาคต ความจริงแล้ว ไม่ได้สร้างอนาคตเพื่อตัวป๊าเอง แต่เพื่อลูก ซึ่งมันส่งผลถึงการวางแผนก่อนที่ท่านจะเสียด้วย ทำให้เห็นว่า ถ้าไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องการเงิน จะทำให้มีความสุขได้ในบั้นปลายชีวิต
ต้นตระกูลของป๊ามาจากเมืองจีน มาขายกาแฟอยู่ในซอยกิ่งเพชร ป๊าเป็นลูกคนสุดท้องจึงมีความคิดว่า ในครอบครัวมีพี่น้องหลายคน ร้านกาแฟร้านเดียว ถ้าโตไปก็ไม่น่าจะตกทอดมาถึง เลยแอบไปหารายได้ของตัวเอง แอบไปขายเรียงเบอร์ ทำมาหากินหลายอย่าง จนมีเงินให้พี่ชายออกรถแท็กซี่ ทั้งที่ตอนนั้นป๊าอายุแค่ 14 – 15
ต่อมาป๊าทำธุรกิจหนังสือให้เช่า จนตั้งเป็นแผงใหญ่ และมีเงินเซ้งตึกแถวได้ตอนอายุแค่ 21 ลุยทำงานจากส่งหนังสือพิมพ์ ขายนิตยสาร พออินเตอร์เน็ตเข้ามา ป๊าก็มองว่า อีกหน่อยจะเข้ามาแทนที่ร้านหนังสือ ต้องทำธุรกิจเกี่ยวกับที่อยู่ที่กิน เพราะสองอย่างนี้คือสิ่งจำเป็นในเมืองหลวง จึงมาเริ่มสร้างอพาร์ตเม้นในซอยกิ่งเพชร ตอนนั้นลูก ๆ ยังคิดว่าต้องกู้เงินมาสร้าง แต่ป๊าไม่กู้เลย เงินเป็น 10 ล้าน ย้อนไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อนถือว่าไม่ใช่น้อย แต่ป๊ามี และอพาร์ทเม้นที่ลงทุนไว้อีกหลายแห่งก็เป็นรายได้ของครอบครัวมาจนวันนี้
ป๊าสอนลูก ๆ เสมอให้เราไม่มี ให้รู้จักความลำบาก ทั้ง ๆ ที่ท่านมี สอนให้เราหิว เพราะท่านเคยหิว เคยอด ป๊าบอกว่าถ้าเราหิว เราจะหา จะไม่รู้สึกหนื่อยในการสะสม ป๊าเป็นคนมีความคิดสมัยใหม่ วางอนาคต แต่ก็แลกมาด้วยสุขภาพเพราะไม่ดูแลตัวเอง เวลากินก็จะกินอร่อยเลย แล้วก็ไม่ค่อยนอน มานั่งคิดบัญชี สุดท้ายป่วยเป็นความดัน และเป็นโรคไต
ช่วงที่ป๊าป่วย ลูก ๆ เตรียมพร้อมอยู่แล้วในการดูแล เพราะรู้ว่าอาการจะเป็นไปแบบไหน ด้วยความที่เรามีเงินในการรักษา มันก็ช่วยได้มาก เพราะการดูแลก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต้องฟอกไตสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ช่วงกลางคืนก็จ้างคนมาดูแล ต้องดูแลเรื่องยา ลูก ๆ แต่ละคนก็ช่วยกัน เรียกว่าแย่งกันดูแลป๊าเลย เพราะทุกคนคิดว่าอยากทดแทน ทำแล้วมีความสุข ภาคภูมิใจ
ตอนเข้าโรงพยาบาลครั้งสุดท้าย หมอบอกว่า หัวใจป๊าไม่ไหวแล้ว ฟอกไตไม่ได้อีก ถ้าฟอกไตไม่ได้ น้ำก็จะท่วมปอด โปรแตสเซียมจะเยอะขึ้น จะหายใจไม่ออก และค่อย ๆ เสียชีวิต ถ้าให้จากไปแบบไม่ทรมานก็มียาที่ช่วยบรรเทาอาการ แต่พวกเราไม่ยอม คิดว่าป๊ายังไหว จนสุดท้ายป๊าหมดลม
หมอก็ปั๊มหัวใจแล้วเรียกลูก ๆ เข้าไป พอเห็นป๊าแล้วน้ำตาไหล หมอบอกว่าท่านเจ็บปวดมากนะ และถามว่าถ้าหมดลมอีกจะให้ปั๊มไหม เราพี่น้องก็คุยกันว่า อย่าดีกว่า เพราะป๊าไม่รู้สึกตัวแล้ว ตาก็ลืมไม่ยอมปิดจนตาแห้ง
หมอบอกว่าป๊ายังมีความรู้สึกรับรู้อยู่ อยากพูดอะไรก็ให้พูด ก็เลยเข้าไปบอกว่า ไม่ต้องเป็นห่วง ป๊าทำไว้ให้ลูกพร้อมแล้ว ป๊าเป็นพ่อที่ประเสริฐมาก ป๊าดูแลอากงอย่างดี จนวาระสุดท้ายก็ยังทิ้งสมบัติไว้ให้ลูกมากมาย พอพูดแบบนั้นสักพักป๊าก็จากไป
ป๊าเป็นต้นแบบทั้งเรื่องความคิด การทำงาน สอนเสมอว่าอย่าไปคิดซ้ำคนอื่น เพราะเราจะได้แค่ต่อแถวเขา ให้คิดต่าง แม้ทำแล้วไม่สำเร็จก็ไม่ใช่ความล้มเหลว แต่เป็นประสบการณ์ให้เรียนรู้ว่าจะปิดช่องตรงไหนบ้าง และให้ระมัดระวังเรื่องอนาคตให้มาก ไม่ใช่มีวันนี้ก็ใช้หมดแบบไม่ทันข้ามคืน ต้องรู้จักสะสม
เพื่อให้จากไปด้วยความสุข ไม่ใช่จากไปด้วยความคิดว่าติดหนี้ ไม่ได้ทำอะไรไว้ให้กับคนรุ่นหลัง”