Knowledge cover image
11 สิงหาคม 2565
  1. คลังความรู้
  2. What makes life worth living in the face of death

What makes life worth living in the face of death

ประสบการณ์ชีวิตของ พอล กาลนิธิ ผู้อยู่กับโรคมะเร็งปอดนานถึง 22 เดือน


เรื่องโดย ทีม Content ชีวามิตร

Lucy Kalnithi เล่าเรื่องราวของสามี พอล กาลนิธิ นักประสาทศัลยแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือเรื่อง เมื่อลมหายใจกลายเป็นอากาศ หลังจากได้รับวินิจฉัยว่า เป็นมะเร็งปอดลุกลามไปถึงกระดูก และเขาได้บอกกับเธอเมื่อกลับถึงบ้านว่า ‘ทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี’

 

พอลเป็นแพทย์ประสาทวิทยาที่ฉลาด ใจดี มีอารมณ์ขัน ใส่ใจผู้ป่วย เขามักกลับบ้านค่ำเพราะใช้เวลาคุยกับคนไข้นาน สำหรับพอล การรักษาไม่ใช่แค่เรื่องทางเทคนิค แต่รวมถึงการทำความเข้าใจประสบการณ์ความเจ็บป่วยผ่านมุมมองของคนไข้ด้วย

 

เราพบกันเมื่อฉันเป็นนักศึกษาอายุรแพทย์ศาสตร์ ตอนที่เขาเห็นฉันร้องไห้หน้าเครื่อง EKG เพียงเพราะคลื่นหัวใจของคนไข้ไม่เป็นไปตามจังหวะที่ควร เขาก็หลงรักฉัน แม้เรายังอยู่ในวัยหนุ่มสาว แต่เราก็เรียนรู้ว่า ความรักสามารถเบ่งบานได้ในท่ามกลางการเผชิญความทุกข์ร่วมกัน

 

พอลเริ่มเจ็บหลังเมื่อเขาจบการศึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทศัลยวิทยา กว่าเขาจะตรวจพบมะเร็ง เนื้อร้ายก็ลุกลามจากปอดไปถึงกระดูกแล้ว หลังจากที่เรารักษาโรคให้คนไข้มากมาย คราวนี้ก็ถึงตาเราบ้าง

 

พอลอยู่กับโรคได้นาน 22 เดือนหลังจากนั้น และฝากหลายสิ่งหลายอย่างไว้ เขาเขียนหนังสือ When Breath Becomes Air (เมื่อลมหายใจกลายเป็นอากาศ) เป็นอนุสรณ์แห่งการเผชิญความตาย พอลยังให้กำเนิดลูกสาว เคดี้ เรายังได้เรียนรู้ประสบการณ์การตัดสินใจที่ยากลำบากหลายหน ที่ยากที่สุดคือตอนที่ส่งพอลเข้าโรงพยาบาลครั้งสุดท้าย ครั้งนั้นเขาบอกว่า ‘ผมพร้อมแล้ว’

 

ฉันรู้ว่านั่นไม่เพียงเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญ แต่ยังถูกต้อง พอลบอกว่าไม่ต้องการเครื่องช่วยหายใจ หรือการกู้ชีพยื้อชีวิต สิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลานั้นคือ ขอให้พอลได้อุ้มลูกสาวไว้ในอ้อมแขน เก้าชั่วโมงหลังจากพอลได้อุ้มเคดี้ เขาก็จากไป

 

ในฐานะที่ฉันเป็นแพทย์และผู้ดูแลพอล ช่วยเหลือในสิ่งที่เขาต้องการ เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงร่างกายและจิตใจพร้อมไปกับโรคที่พัฒนาไปเรื่อย ๆ ในฐานะที่ฉันเป็นพยานรับรู้การยอมรับความเจ็บปวดและความตาย รับรู้ความคิดและการเลือกเส้นทางชีวิตของเขา ฉันบอกได้ว่าสำหรับผู้ผ่านพ้นการพลัดพรากแล้ว จะฟื้นคืนสู่ชีวิตก่อนเก่านั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มันยากมาก เจ็บปวด สับสนอลหม่าน แต่ชีวิตก็เป็นเช่นนั้น

 

การอยู่กับพอลในช่วงเวลาที่เหลือน้อยเต็มที ฉันเรียนรู้ว่าเราต้องซื่อสัตย์ต่อกัน มีอะไรก็พูดออกมาดัง ๆ จะทำให้เราได้รับในสิ่งที่ต้องการ ภารกิจที่ควรจะทำเช่น การเขียนพินัยกรรมและการเขียน Living Will (ซึ่งมักเป็นสิ่งที่เราขอผัดผ่อนไปเรื่อย ๆ) กลับเป็นสิ่งที่ฉันตระหนักว่าคือ ‘การกระทำแห่งรัก’ ไม่ต่างกับการขอแต่งงาน 

 

เพราะการตระเตรียมสิ่งต่าง ๆ ให้พร้อมสำหรับการตาย คือการให้สัญญาต่อกันว่า เราจะอยู่ด้วยกันจนกว่าความตายจะทำหน้าที่ของมัน ‘เมื่อเวลานั้นมาถึงและฉันจำเป็นต้องปกป้องคุณ ฉันจะพูดแทนคุณ ฉันจะทำในสิ่งที่คุณต้องการ’ การทำเอกสารเหล่านั้น คือส่วนสำคัญในเรื่องราวแห่งความรักของเรา

 

ตอนที่พอลพูดว่า “ทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี” จึงไม่ได้หมายความว่า พอลจะหายดีและแข็งแรง ในท่ามกลางความสูญเสีย ฉันเรียนรู้ที่จะยอมรับทั้งความสุขและความทุกข์ในเวลาเดียวกัน เรียนรู้ความงดงามและความหมายในระหว่างสุดปลายทั้งสอง ในช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าและค่ำคืนที่นอนไม่หลับยังมีความสุขสงบให้ค้นพบ 


ในวันที่พอลอยู่ในสุสาน ลูกสาววัยสองขวบของเราวิ่งเล่นอยู่ใกล้ ๆ ฉันก่อกองไฟบนหาดทรายและมองอาทิตย์อัสดงกับเพื่อน ๆ เคดี้โตขึ้นทุกวัน ฉันคิดเสมอว่าเมื่อถึงเวลา ฉันคงจะบอกเธอว่า 

 

“เคดี้ การมีชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมนั้น อยู่ในท่ามกลางการอยู่และการตาย การพบและการพลัดพราก ชีวิตที่เต็มเปี่ยมนั้นรู้สึกได้แม้ขณะที่เป็นทุกข์ เมื่อเราไม่ปกปิดหรือหนีความทุกข์ หากพร้อมเผชิญไปด้วยกันนั้น ชีวิตหาได้หดน้อยด้อยค่า มีแต่จะเบ่งบานและเติบโต”

 


รับชมวีดีโอฉบับเต็มได้ที่ https://www.ted.com/talks/lucy_kalanithi_what_makes_life_worth_living_in_the_face_of_death

ทีม Content ชีวามิตร avatar image
เรื่องโดยทีม Content ชีวามิตรเรียบเรียงจาก การบรรยายของ ลูซี กาลนิธิ “What makes life worth living in the face of death – Lucy Kalnithi” ในงาน TEDMED แคลิฟอร์เนีย

COMMENT

ความคิดเห็น 0 รายการ

User avatar image

RELATED

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด Krungthai ads